เครือข่ายคนพุทธเปิดเวทีสันติภาพมองพลวัตรจากข้างใน ดันความต้องการประชาชนขึ้นโต๊ะพูดคุย

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจัดเวทีเรียนรู้กระบวนการสันติภาพ “12 ปีความรุนแรง ศานติที่แลเห็น” ให้ภาคประชาชนเห็นพลวัตรการเปลี่ยนแปลงจากข้างใน เน้นการมองสันติภาพเชิงบวก เปิดพื้นที่ให้ความต้องการระดับล่างขึ้นสู่โต๊ะพูดคุย ย้ำยิ่งพูดคุยพื้นที่ยิ่งขยาย แต่คู่ขัดแย้งต้องมุ่งมั่นตั้งใจ และการสร้างสันติภาพต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพร่วมกับสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จัดเวทีเสวนาสาธารณะหัวข้อ “12 ปีความรุนแรง กับศานติที่แลเห็น” ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลนครยะลา มีตัวแทนชุมชนในเขตเทศบาลทั้งพุทธมุสลิมมาร่วมงาน

ให้ภาคประชาชนเห็นพลวัตรการเปลี่ยนแปลง   

นายรักษ์ชาติ สุวรรณ์ ผู้ประสานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันรวม 12 ปีมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมากมายแต่ปัจจุบันเริ่มลดลงมากทำให้นโยบายทางการเมืองท้องถิ่นเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งภาคประชาสังคมก็สามารถขับเคลื่อนได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเป้าประสงค์ของงานเสวนาครั้งนี้คือ ต้องการให้คนในพื้นที่จังหวัดยะลาเห็นพลวัตรการเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งในมิติการเมืองท้องถิ่นและ้มิติกระบวนการสันติภาพ

ประชาชนต้องรู้ข้อเท็จจริง

นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า  ช่วงเวลาที่น่าสนใจคือ 3 ปีให้หลังที่มีการลงนามพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk) ระหว่างรัฐบาลไทยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกับขบวนการบีอาร์เอ็นที่ประเทศมาเลเซียเมื่อต้นปี 2556 แต่คนที่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับการพูดคุยมากที่สุด คือคู่พูดคุยทั้งสองฝ่าย (Track 1) แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ (Track 3) และภาคประชาสังคม (Track 2) ในพื้นที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง เนื่องจากมักรับข่าวสารจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือสื่อเท่านั้นทำให้เกิดการตีความจากความรู้สึก เช่น ตีความว่าฮาซัน ตอยิบไม่ใช่ตัวจริง ทั้งที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง

ภาคประชาสังคมต้องเชื่อมกับประชาชน

นายมูฮำหมัดอายุบ กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นหรือมารา ปาตานี ต่างต้องการฟังเสียงประชาชนว่าต้องการอะไรหรืออยากเสนออะไร ดังนั้นหน้าที่ขององค์กรภาคประชาสังคม คือเมื่อมีโต๊ะพูดคุยระดับบนแล้ว ภาคประชาสังคมก็ต้องฉวยโอกาสสร้างเวทีพูดคุยหรือทำความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อมต่อกับภาคประชาชนเพื่อดึงความต้องการและข้อเสนอของประชาชน เพื่อสามารถยื่นข้อเสนอต่อโต๊ะพูดคุยระดับบนต่อไปได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลระหว่างระดับบนกับระดับล่างนั่นเอง และเป็นการสร้างเกราะป้องกัน(safety net) ให้การพูดคุยสันติภาพในระดับบนสามารถดำเนินต่อไปได้

นายมูฮำหมัดอายุบ เสนอว่า ต้องจัดเวทีลักษณะนี้ทุกเดือนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ให้เท่าทัน และต้องมีหลายๆฝ่ายมาร่วมพูดคุยด้วย ซึ่งการพูดคุยที่มีกลุ่มคนที่หลากหลายก็เหมือนเป็นการจำลองการพูดคุยในระดับบนที่มีการเปิดใจคุยกันและไว้ใจกันนั่นเอง

“สิ่งเหล่านี้คือพลังเครือข่าย ที่สามารถสร้างพลังอำนาจและพลังต่อรองกับระดับบนได้จริง” นายมูฮำหมัดอายุบ กล่าว

ยิ่งพูดคุยพื้นที่ยิ่งขยาย

นายมูฮำหมัดอายุบได้ฉายภาพให้เห็นว่า หลังจากมีการพูดคุยสันติภาพมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในหลายภาคส่วน ได้แก่ 1.ตัวเลขการสูญเสียในรอบ 3 ปีให้หลังนี้มีน้อยที่สุด โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอนปี 2556 อาจเป็นเพราะรัฐบาลกดดันฝ่ายบีอาร์เอ็นหรือฝ่ายบีอาร์เอ็น/มารากำลังทำอะไรนั้น ไม่รู้ ต้องช่วยกันวิเคราะห์ 2.คู่ขัดแย้งปรากฏตัวชัดเจน

3.คนไทยพุทธมีการเรียกร้องมากขึ้นซึ่งต้องมีการพูดคุยต่อไปเพื่อให้สามารถต่อรองได้ 4.กลุ่มผู้หญิงเติบโตมากขึ้น 5.แหล่งทุนจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น 6.มีเวทีพูดคุยเสวนามากขึ้นซึ่งบ่งบอกถึง‘พื้นที่เปิด’ให้คนเรียนรู้เกี่ยวสันติภาพมีมากขึ้น

7.เอกสารลับสามารถรับรู้ได้ง่ายขึ้นมีการแปลภาษา 3 ภาษา ต่างกับสมัยก่อนที่ข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ มักปิดลับ 8.กองทัพเปิดศูนย์สันติวิธี ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทหารมีการปรับตัว และเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าคนที่ถือปืนจะมาเปิดศูนย์สันติวิธีได้ และสุดท้าย 9.แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ฯ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

คู่ขัดแย้งต้องมุ่งมั่นตั้งใจ (Political will)

นายสัญญา สุวรรณโพธิ์ รองนายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพที่ดีนั้น ระดับการเมืองต้องชัดเจน รัฐบาลและขบวนการบีอาร์เอ็นต้องจริงใจไม่มีเล่ห์เหลี่ยม การที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นเสนอให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาตินั้นเป็นการดียิ่งเพราะการเจรจาเป็นเรื่องเปราะบางมาก

นายสัญญาได้ชวนให้ผู้เข้าร่วมมองรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า สาเหตุของความรุนแรงหลักคือการที่คนไปแบ่งแยกระหว่างพุทธ-มุสลิม ทั้งที่คนในพื้นที่นี้ต่างเป็นคน‘ชาติพันธุ์มลายู’ คือมลายูมุสลิมและมลายูที่นับถือศาสนาพุทธ

นโยบายการพัฒนาเมืองยะลา

นายสัญญา กล่าวว่า นโยบายของนายกเทศมนตรีนครยะลาคือสร้างเครือข่ายและให้ชุมชนเป็นฐาน เช่น การจัดสรรงบประมาณต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชน “เมื่อก่อนถ้าเอ่ยถึงเมืองยะลาคนจะนึกถึงสิ่งที่ดีงามมากมาย เราจะเรียกทุนเหล่านั้นกลับมาซึ่งมี 5 ด้าน คือ เมืองสะอาด ผังเมืองดี สิ่งแวดล้อมดี การศึกษามีคุณภาพ และสุดท้ายคือ ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี”

นายสัญญา เรียกร้องด้วยว่า คนในพื้นที่ต้องจุดคบเพลิงแห่งสันติภาพให้ได้ และรัฐบาลต้องสร้างสันติภาพเชิงบวกให้เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ให้ได้

สร้างสันติภาพต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

จากนั้นผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนแสดงความเห็นว่า การยุติปัญหาที่แท้จริงต้องไม่มองข้างหน้าอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน กล่าวคือ เมื่อใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบไม่อยากให้มีการเรียกร้องหรือมองการสูญเสียของตัวเอง แต่อยากให้กล้าวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง หรือมองว่าตัวเองผิดอะไรและจะผลักดันอะไรต่อไป

“การพูดคุยสันติภาพต้องทำเป็นเส้นขนาน คือ ต้องคุยระดับรากหญ้าด้วย เหมือนสมัยก่อน เรามีการพูดคุยเจรจากับครูเปาะสูด้วย” ผู้เข้าร่วมกล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท