รายงาน: คลอง เขื่อน คน และโครงการป้องกันน้ำท่วมของ คสช. (3)

 
โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมของสำนักการระบายน้ำ กทม.ในคลองสายหลัก 3 สาย คือ คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร ความยาวทั้งหมด (ทั้งสองฝั่ง) รวมประมาณ 45 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างจำนวน 1,645 ล้านบาท ซึ่งตามแผนงานบริษัทริเวอร์เอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด ที่รับเหมาประมูลงานจะเริ่มลงมือก่อสร้างภายในเดือนธันวาคมนี้ แต่จนถึงบัดนี้การลงนามในสัญญาจ้างระหว่างรัฐและเอกชนยังไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากงบประมาณในการก่อสร้างจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานตามขั้นตอนของระบบราชการ 
 
แต่ประเด็นที่น่าสนใจอาจเป็นเรื่องที่ทาง กทม.ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างให้แก่บริษัทเอกชนได้ เพราะหากมีการลงนามในสัญญาไปแล้ว และทางบริษัทไม่สามารถก่อสร้างได้เพราะมีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ก็อาจจะทำให้โครงการนี้สะดุด บริษัทเอกชนได้รับความเสียหาย ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือ “เสียค่าโง่” ให้บริษัทเอกชนได้
 
เขื่อนสะดุด-บ้านมั่นคงสร้างไม่ได้
 
ความล่าช้าของโครงการนี้หากจะไล่เรียงไปแล้ว ต้องเริ่มจาก “คณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ” ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน มี รมว.มหาดไทย, รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, ผู้ว่าฯ กทม.เป็นรองประธาน ฯลฯ มีผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ รวมทั้งปลัดกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดกรอบแนวทาง มาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง เพื่อให้การพัฒนาชุมชนรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำดำเนินไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งไปแล้วตั้งแต่ 16 กันยายน 2558 ที่ผ่าน แต่เนื่องจากภารกิจที่หลากหลายและรัดตัวของพลเอกประวิตรจึงทำให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ยังไม่ได้จัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้แต่อย่างใด
 
นอกจากนี้การที่สำนักการระบายน้ำ กทม.ซึ่งได้สำรวจแนวคลองและวัดที่ดินของกรมธนารักษ์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เสร็จไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่ระบุหรือชี้ชัดไปว่าในพื้นที่ชุมชนใดจะสร้างเขื่อนที่มีความกว้างกี่เมตร (จากเดิมกำหนดความกว้างของเขื่อนตลอดแนวคลองที่ 38 เมตร) จะเหลือพื้นที่ให้ชุมชนได้สร้างบ้านบนตลิ่งกี่เมตร เพื่อที่ชุมชนแต่ละแห่งจะได้ทำเรื่องขอเช่าที่ดินจากหน่วยงานที่ดูแลอยู่ หรือหากชุมชนใดไม่มีพื้นที่เพียงพอชาวบ้านก็จะต้องหาที่อยู่อาศัยในที่ดินแปลงใหม่
 
ผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านก็คือ ชาวบ้านในหลายชุมชนที่เตรียมความพร้อมที่จะสร้างบ้านใหม่ตามโครงการ ”บ้านมั่นคง” ที่ดูแลโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. โดยการรื้อบ้านออกจากคลองตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะมีบ้านใหม่ที่มั่นคง ไม่ต้องกลัวจะโดนไลรื้ออีกต่อไป เพราะเช่าที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องไม่ต่ำกว่า 30 ปี กลับต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย เพราะรื้อบ้านไปแล้ว แต่ยังเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ไม่ได้ เนื่องจากกรมธนารักษ์ยังไม่รู้ว่าสำนักการระบายน้ำจะใช้พื้นที่สร้างเขื่อนกี่เมตร และจะเหลือพื้นที่ให้ชุมชนเช่าเพื่อสร้างบ้านได้เท่าไหร่
 
เมื่อเช่าที่ดินยังไม่ได้ ชาวบ้านไปขออนุญาตก่อสร้างจากทางสำนักงานเขตก็ไม่ได้ แถมยังถูกกลุ่มที่คัดค้านการรื้อย้ายรวมตัวกันไปกดดันกับทางสำนักงานเขต จนทำให้สำนักงานเขตต้องมีคำสั่งระงับการก่อสร้างบ้าน เช่น ชุมชนคนรักถิ่นและชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 ริมคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ ซึ่งรื้อบ้านไปแล้วรวมกันประมาณ 20 หลัง และได้ถมที่ ตอกเสาเข็มไปแล้ว แต่ได้ถูกคำสั่งระงับการก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535)
 
ดุสิตธร ทิวะกะลิน แกนนำชาวบ้านชุมชนคนรักถิ่น เล่าว่า ชาวบ้านอยากจะมีบ้านใหม่ที่มั่นคงจึงรวมกลุ่มกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน มีการออมต่อเดือนระหว่าง 100-500 บาท ใครมีมากก็ออมมาก มีชาวบ้านที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงจำนวน 102 หลัง ไม่เข้าร่วม 38 หลัง โดยชาวบ้านจะทำเรื่องเพื่อขอใช้สินเชื่อจาก พอช.ก่อสร้างบ้านรวมทั้งหมดประมาณ 29 ล้านบาทเศษ แบบบ้านมีตั้งแต่ขนาด 11 -15 ตารางวา ตามจำนวนสมาชิกในครอบครัวหรือความสามารถในการผ่อนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่อนชำระไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท ระยะเวลา 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
 
ส่วนกระบวนการในการเตรียมการนั้น ดุสิตธรบอกว่า เริ่มจากการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ มีการจัดทำผังชุมชนใหม่ โดยมีสถาปนิกชุมชนจาก พอช.มาช่วย และมีการประชุมชาวบ้านร่วมกันเพื่อกำหนดสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย เช่น 1.คนที่จะได้สิทธิ์จะต้องเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ 2.จะต้องเป็นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนจริง หรือหากเป็นคนที่เช่าบ้านจะต้องอยู่ในชุมชนมานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี และ 3.ถ้ามีสมาชิกในครัวเรือนมากกว่า 8 คนขึ้นไปจะได้รับสิทธิ์เพิ่ม 1 สิทธิ์ ส่วนคนที่เป็นเจ้าของบ้านเช่า หากมี 3 หลังก็จะได้สิทธิ์เพียง 1 สิทธิ์
 
“เราทำตามนโยบายของทางรัฐบาล เพื่อให้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ และชาวบ้านก็ยอมรื้อบ้านออกจากคลองแล้ว ชาวบ้านก็หวังว่าเมื่อรื้อบ้านแล้วจะได้สร้างบ้านใหม่เร็วๆ แต่ตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะนานกว่า 4 เดือนที่ชาวบ้านต้องไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ เด็กๆ และคนแก่ก็ลำบาก บางครอบครัวมีคนพิการก็ไม่สะดวกที่จะไปอาศัยคนอื่นอยู่ต้องหาบ้านเช่าทั้งๆ ที่มีรายได้ไม่มากนัก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งรัดโครงการและช่วยเหลือชาวบ้านด้วย” แกนนำชุมชนคนรักถิ่นกล่าว
 
เกมส์ยื้อเพื่อรอ คสช.หมดวาระ
 
นอกจากความล่าช้าของการดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งจากระดับนโยบายและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งส่งผลทำให้ชาวบ้านที่รื้อถอนบ้านเตรียมสร้างบ้านใหม่ยังเคว้งคว้างไม่มีที่อยู่อาศัยดังที่กล่าวไปแล้ว ขณะเดียวกันกลุ่มคัดค้านที่ไม่ต้องการรื้อย้ายบ้านออกจากคลองก็พยายามทุกวิถีทางที่จะเยื้อโครงการสร้างเขื่อนออกไป โดยหวังว่าคณะรัฐบาล คสช.ที่อนุมัติโครงการนี้จะเป็นรัฐบาลได้ถึงปี 2561 เมื่อ คสช.หมดอำนาจโครงการสร้างเขื่อนก็จะยกเลิกไปด้วย ดังนั้นจึงต้องพยายามยื้อยุดจนสุดฤทธิ์ โดยพุ่งเป้าการโจมตีไปที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อไม่ให้เดินหน้าโครงการบ้านมั่นคงต่อไปได้ เพราะหากสร้างบ้านมั่นคงได้ โดยชาวบ้านยอมรื้อถอนบ้านออกจากคลอง การก่อสร้างเขื่อนก็จะดำเนินไปได้ และทำให้กลุ่มที่คัดค้านการรื้อย้ายต้องได้รับผลกระทบไปด้วย
 
กลุ่มคัดค้านที่ไม่อยากรื้อย้ายบ้าน มีทั้งชาวบ้านที่มีฐานะยากจนจริงซึ่งไม่อยากรื้อย้าย หรือไม่อยากเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงเพราะจะต้องมีการระดมทุนเป็นเงินออมสร้างบ้าน รวมทั้งต้องกู้ยืมเงินจาก พอช.มาสร้างบ้าน เพราะรัฐบาลไม่ได้สร้างบ้านให้ฟรีๆ แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีปากมีเสียง จึงต้องเข้าร่วมกับแกนนำบางชุมชนที่เป็นเจ้าของบ้านเช่าหลายสิบหลัง รวมทั้งเจ้าของร้านอาหารในย่านดอนเมืองและหลักสี่ซึ่งบุกรุกที่ดินของกรมธนารักษ์มานานนับสิบปี 
 
ขณะที่แกนนำในฐานะที่เป็นผู้กว้างขวางในท้องถิ่น เช่น “สิระ เจนจาคะ” นักธุรกิจสร้างบ้านไม้ทรงไทยขาย อดีตผู้สมัคร สส.เขตหลักสี่ (พรรครักษ์สันติของ ร.ต.อ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์) และล่าสุดเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายหลวงปู่พุทธอิสระ ร่วมกับ “ศรีสุวรรณ จรรยา” นักเคลื่อนไหวประเด็นโลกร้อน อดีตผู้สมัคร สว.กรุงเทพฯ ในฐานะผู้นำขององค์กร “พิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย” จึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กล่าวหา ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยอ้างว่าปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างริมคลองก่อนได้รับอนุญาต 
 
ส่วนผู้อำนวยการ พอช.ในฐานะ “หนังหน้าไฟ” ก็อาจจะมีความผิดไปด้วย ฐานสนับสนุนให้มีการก่อสร้างบ้านมั่นคงโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงอาจเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ พ.ศ.2542 แก้ไข พ.ศ.2554
 
จะอย่างไรก็ตาม เกมส์การยื้อของแกนนำกลุ่มคัดค้านคงยังไม่จบสิ้นเพียงเท่านี้ เพราะหากรัฐบาลหรือสำนักการระบายน้ำเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนเมื่อใด แกนนำกลุ่มคัดค้านที่ถนัดในการฟ้องร้องอยู่แล้วก็เตรียมที่จะยื่นต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ไต่สวนหรือระงับโครงการนี้เอาไว้ โดยจะใช้เหตุผลว่าเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชน และไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
 
รัฐบาลคสช.เดินหน้าโครงการเขื่อน-บ้านมั่นคง
 
แม้ว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนและบ้านมั่นคงเพื่อรองรับประชาชนที่ต้องรื้อย้ายออกจากแนวเขื่อนในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา “คณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ” ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ได้จัดให้มีการประชุมเป็นครั้งแรกที่กระทรวงมหาดไทย โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพียง ซึ่งที่ประชุมได้ยอมรับเรื่องความล่าช้าของโครงการว่าช้าไปกว่ากำหนดประมาณ 3 เดือน เนื่องจากประธานคณะกรรมการฯ คือ พลเอกประวิตรมีภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีหลายด้าน โดยเฉพาะในการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลถึง 20 กว่าคณะ (คมชัดลึก/22 ธันวาคม/หน้า 2)
 
ถึงแม้จะล่าช้าไป 3 เดือน แต่เมื่อสตาร์ทเครื่องติดแล้ว เรือใหญ่ลำนี้ก็แล่นฉิวไปในคลองอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากประชุมครั้งแรกเพียง 1 สัปดาห์ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาริมคลอง ได้จัดตั้งและเปิด “ศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง” หรือ “ศปก.” ขึ้นมา มีสำนักงานตั้งอยู่ในบริเวณบ้านเอื้ออาทร เขตสายไหม โดยมีสยาม นนท์คำจันทร์ จาก พอช.ที่ดูแลเรื่องบ้านมั่นคงเป็นหัวหน้าศูนย์ มีทีมงานจาก พอช.อีกประมาณ 30 คนช่วยขับเคลื่อนงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจเข้าร่วมสนับสนุน ศปก.ด้วย
 
นอกจากการจัดตั้ง ศปก.ดังกล่าวแล้ว ในแต่ละพื้นที่ที่จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนและบ้านมั่นคง ก็จะมีการจัดตั้ง “ศปก.ย่อย” ในพื้นที่นั้นๆ โดยใช้สำนักงานเขตของ กทม.เป็นที่ทำการ รวม 8 เขต 5 สปก.ย่อย คือเขตห้วยขวาง วังทองหลาง ลาดพร้าว จตุจักร หลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และสายไหม โดยมีเจ้าหน้าที่ พอช. สำนักงานเขต ตำรวจ และทหารร่วมกันเกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่ มีการจัดทีมลงไปสร้างความเข้าใจกับประชาชน สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์เคหสถานเพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านและบริหารโครงการ ฯลฯ 
 
นอกจากการจัดตั้งศปก.ดังกล่าวแล้ว ในวันต่อๆ มานายทหารระดับ ผบ.กองพลยังได้ลงมาตรวจเยี่ยม ศปก.และสำรวจชุมชนริมคลองต่างๆ ด้วย เช่น วันที่ 21 ธันวาคม พลตรีณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ได้ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลชุมชนริมคลองบางบัว เขตบางเขน และสำรวจคลองลาดพร้าว ล่าสุดวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา พลตรีศรีศักดิ์ พูนประสิทธิ์ ผบ.กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์และคณะก็ได้มาตรวจเยี่ยม ศปก.และสำรวจคลองสองเขตสายไหมด้วย
 
พลตรีณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กล่าวว่า ทหารลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนริมคลองเพื่อมาดูว่าโครงการนี้ดำเนินการไปถึงไหน มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร และเพื่อให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐที่ทำงานในพื้นที่ ส่วนการที่ยังมีคนคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยก็จะต้องมีการชี้แจงสร้างความเข้าใจว่าเป็นโครงการเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม และรัฐบาลก็ไม่ได้ขับไล่ประชาชน แต่มีโครงการรองรับด้านที่อยู่อาศัย แต่หากยังมีคนขัดขวางโครงการ ทหารก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการปฏิบัติการเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้
 
“ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช.ท่านเป็นห่วงว่าประชาชนรับทราบข้อมูลโครงการนี้แล้วหรือยัง หากยังไม่ทราบ ทหารก็ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง สื่อสาร และทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนาสิ่งแวดล้อม คูคลอง ป้องกันน้ำท่วม และต่อไปก็อาจจะมีการเดินเรือเหมือนในคลองแสนแสบเพื่อแบ่งเบาภาระการคมนาคม ส่วนชาวบ้านก็มีโอกาสที่จะได้ปรับปรุงบ้านเรือนใหม่ให้ดีขึ้นและมั่นคงแข็งแรง ซึ่ง ผบ.ทบ.ท่านหวังว่าในปี 2559 นี้จะเริ่มทำในคลองลาดพร้าวเป็นโครงการนำร่องก่อน หากตรงไหนมีปัญหาหรืออุปสรรค ทหารก็จะช่วยผลักดัน และสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ” ผบ.พล 1 รอ.ชี้แจงบทบาทของทหารที่จะช่วยผลักดันโครงการจัดระเบียบคลองครั้งนี้
 
ขณะเดียวกันกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลที่ดินริมคลองก็ได้มีการลงบันทึกความร่วมมือหรือ MoU. ร่วมกับ พอช.และกทม.เพื่อให้ชาวบ้านริมคลองเช่าที่ดินระยะยาวเป็นเวลา 30 ปีสร้างบ้านมั่นคงเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน โดยในปีแรกกรมธนารักษ์จะให้ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรเช่าที่ดินก่อนจำนวน 43 ชุมชน ส่วนชุมชนและคลองอื่นๆ ก็จะดำเนินการในปีต่อไป สำหรับอัตราค่าเช่าที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคงนั้น ที่ผ่านมากรมธนารักษ์กำหนดราคาเอาไว้ 1.50 บาท/ตารางวา/เดือน ซึ่งหากชาวบ้านมีเนื้อที่สร้างบ้านเฉลี่ยครอบครัวละ 20 ตารางวาก็จะเสียค่าเช่าที่ดินประมาณ 30 บาทต่อเดือนเท่านั้น
 
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผอ.พอช.กล่าวว่า พอช.ได้จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามโครงการบ้านมั่นคง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) มีเป้าหมาย 74 ชุมชน รวม 11,004 ครัวเรือน มีผู้รับผลประโยชน์ 64,869 คน ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาทเศษ แยกเป็น 1.งบสนับสนุนสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย 880 ล้านบาท 2.ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาส 880 ล้านบาท 3.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2,200 ล้านบาท และ 4.สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาองค์กรชาวบ้าน และติดตามประเมินผล 100 ล้านบาท โดยในปี 2559 จะเริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรก่อน จำนวน 26 ชุมชน รวม 3,810 ครัวเรือน ใช้งบ 1,401 ล้านบาทเศษ 
 
ทางด้านการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม ซึ่งรับผิดชอบโดยกองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กทม.ก็มีความคืบหน้าเช่นกัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ วงเงิน 1,645 ล้านบาทไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา คาดว่าบริษัทผู้รับเหมาจะเริ่มก่อสร้างเขื่อนได้ภายในช่วงต้นปี 2559 นี้ โดยจะเริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าว ช่วงคลองบางบัว เขตหลักสี่และบางเขนก่อน เนื่องจากบริเวณคลองบางบัวมีชุมชนที่ได้จัดทำโครงการบ้านมั่นคงและรื้อย้ายบ้านที่รุกล้ำคลองออกมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้คลองสายหลักที่จะสร้างเขื่อน (ปี 2559-2561) มี 3 สาย คือ คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร ความยาวทั้งหมด (ทั้งสองฝั่ง) รวมประมาณ 45 กิโลเมตร 
 
ทั้งหมดนี้คือความเป็นมาและความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและการสร้างบ้านมั่นคงเพื่อรองรับประชาชนตามนโยบาย “การจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ” ของคสช. ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าจะไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเดินหน้าโครงการนี้อย่างแน่นอน เพราะมีชุมชนและบ้านเรือนกว่า 10,000 ครัวเรือน ประชากรกว่า 60,000 คน ซึ่งมากกว่าการย้ายชาวบ้านออกจากป่าสงวนฯ ทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายทหารระดับสูงที่ดูแลโครงการนี้ที่บอกว่า “ถ้ารัฐบาลชุดนี้ (คสช.) ทำไม่ได้ รัฐบาลชุดไหนๆ ก็ทำไม่ได้อย่างแน่นอน”
 
ดังนั้นสถานการณ์ต่อไปนี้จึงน่าจับตายิ่งนัก...นับตั้งแต่เสาเข็มสร้างเขื่อนต้นแรกตอกลงไปในคลอง และการรื้อย้ายบ้านเรือนหลังแรกเริ่มต้นขึ้น เรือลำใหญ่ที่แล่นฉิวไปในลำคลองก็อาจจะทำให้เกิดคลื่นกระแทกฝั่งซัดจนตลิ่งพัง หรือหากคนเรือไม่ชำนาญร่องน้ำก็อาจจะทำให้หัวเรือสะดุดตอหรือชนกับสิ่งโสโครกใต้น้ำก็เป็นไปได้..!! 
 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท