Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คนในคดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร และยกคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของอังคณาและบุตรรวม 5 คน 

29 ธ.ค. 2558  ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คนในคดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร และยกคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของอังคณาและบุตรรวม 5 คน 

วันนี้ โจทก์ร่วมที่ 1 และ 3 คืออังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย และประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาว และจำเลยที่ 2-5 มาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 สาบสูญ นอกจากนี้ มีเจ้าหน้าที่สถานทูตและองค์กรสิทธิฯ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน โปแลนด์ นิวซีแลนด์ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สหประชาชาติ ฮิวแมนไรท์วอทช์ สมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ  คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ ) ร่วมสังเกตการณ์

คดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำ ด.1952/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย และบุตรรวม 5 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน.ช่วยราชการกองปราบปราม (ขณะนี้หายสาบสูญ), พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อายุ 46 ปี อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป.,จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อายุ 44 ปี อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท.,ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 42 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อายุ 49 ปี อดีตรอง ผกก.3 ป. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นภันต์วุฒิ ดำรงตำแหน่ง พ.ต.อ.นภันต์วุฒิ ผกก.ฝอ.สพ. จำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และ 391 

กรณียืนตามศาลอุทธรณ์ ยกคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของอังคณาและบุตรรวม 5 คน ศาลให้เหตุผลว่า มาตรา 5 (2) ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุว่า ผู้ที่จะจัดการแทนผู้เสียหายได้ คือ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ กรณีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกันทำร้ายสมชาย แต่ไม่ยืนยันว่าเสียชีวิตหรือไม่ รวมถึงการผลักไม่ได้ความตามฟ้องว่าบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ แม้เมื่อปี 2552 ศาลแพ่งจะตัดสินให้สมชายเป็นบุคคลสาบสูญ แต่ก็เป็นการตายโดยกฎหมายไม่ใช่การถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย และไม่ปรากฏว่าถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บจนไม่อาจจัดการเองได้ และเมื่อไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา ศาลจึงไม่ต้องพิจารณาในส่วนที่เหลือ

ส่วนประเด็นว่า จำเลยทั้ง 5 คนผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลพิจารณาในประเด็น 1. มูลเหตุจูงใจ 2. พยานบุคคล ทั้งประจักษ์พยานและพยานแวดล้อม และ 3. ข้อมูลและพิกัดการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยทั้ง 5 คน

ประเด็นมูลเหตุจูงใจ ศาลระบุว่าการอ้างถึงมูลเหตุว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่พอใจสมชายที่ทำหนังสือร้องเรียนให้ผู้ต้องหาในคดีเผาโรงเรียนที่เจาะไอร้องกรณีมีการทำร้ายร่างกายและข่มขู่ให้รับสารภาพ และจำเลยที่ 2-4 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 จึงร่วมกันก่อเหตุ ว่าเมื่อพิเคราะห์แล้ว ในหนังสือร้องเรียน สมชายไม่ได้ระบุชื่อตำรวจทั้ง 5 ไว้ จำเลยซึ่งไม่รู้จักสมชายย่อมไม่ทราบว่าสมชายทำหนังสือร้องเรียน นอกจากจำเลยที่ 1 และ 5 ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว ไม่ถูกดำเนินการทางวินัยหรือสอบสวนในคดีอาญา ทั้งยังไม่เคยมีความขัดแย้งกันมาก่อน ข้อกล่าวอ้างนี้จึงเลื่อนลอย ไม่น่าเชื่อถือ

ประเด็นพยานบุคคล ทั้งประจักษ์พยานและพยานแวดล้อม โดยสรุป ศาลระบุว่า พยานทั้งสามปาก ซึ่งเป็นผู้เห็นเหตุการณ์เบิกความไม่ตรงกันในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยศาลเห็นว่า คำเบิกความในชั้นศาลนั้นดีที่สุด เพราะเปิดเผยต่อหน้าศาล ขณะที่ชั้นสอบสวน เป็นการกระทำลับหลังจำเลย ทั้งนี้ แม้มีการให้การโดยกล่าวถึงจำเลยที่ 1 ทุกครั้ง แต่ไม่เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย

กรณีข้อมูลและพิกัดการใช้โทรศัพท์มือถือในวันเกิดเหตุของจำเลยทั้ง 5 คน ซึ่งมีการโทรติดต่อกันถึง 75 ครั้ง และเมื่อนำมาเทียบกับข้อมูลพิกัดการใช้โทรศัพท์มือถือของสมชายตลอดทั้งวัน พบว่า พิกัดของจำเลยทั้ง 5 คนเป็นไปในลักษณะเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของสมชายตลอด ศาลระบุว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่พยานโจทก์ไม่ได้บันทึกได้ด้วยตนเอง แต่ได้รับข้อมูลจากบุคคลและหน่วยงานอื่น เป็นพยานบอกเล่า ต้องนำสืบให้กระจ่างว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ ประกอบกับเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ต้นฉบับ แต่เป็นสำเนาที่ถ่ายมาโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ลงนามวาถูกต้อง และไม่มีการนำเจ้าหน้าที่มาเบิกความ พยานเอกสารจึงพิรุธบกพร่อง

แม้เอกสารจะมีฝ่ายกฎหมายของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงนาม แต่ฝ่ายกฎหมายให้การว่าไม่ได้เป็นคนจัดทำเอกสาร และไม่ทราบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ เอกสารที่นำเสนอจึงไม่สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่อาจรับฟังได้

นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าจำเลยทั้ง 5 เกี่ยวข้องกับการปล้นทรัพย์และการหายตัวไป ทั้งยังไม่พบลายนิ้วมือ เส้นขน เส้นผมของจำเลย

 

อังคณาถามรัฐบาล-สตช.จะรับผิดชอบยังไง

หลังฟังคำพิพากษา อังคณาและประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาว โจทก์ร่วมที่ 1 และ 3 ปฏิเสธเซ็นรับทราบคำตัดสิน โดยอังคณาให้สัมภาษณ์ว่า เสียใจและผิดหวัง ไม่เคยคิดว่าศาลจะไม่รับฟังประจักษ์พยานและเอกสาร ไม่คิดว่าศาลจะไม่พิจารณาข้อเท็จจริง จริงอยู่ข้อกฎหมายมันไม่มีหลักฐาน ไม่มีใบรับรองแพทย์ว่าสมชายบาดเจ็บ ไม่มีใบมรณบัตร แต่ข้อเท็จจริงมันประจักษ์ ขนาดอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ยังเชื่อว่าตายแล้ว ฉะนั้นศาลพิจารณาเฉพาะข้อกฎหมาย ศาลไม่ได้ดูข้อเท็จจริง พร้อมตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานด้วยโดยระบุว่า ในคำให้การของประจักษ์พยาน บางครั้งศาลก็เชื่อคำให้การชั้นสอบสวน บางครั้งศาลบอกว่าคำให้การในชั้นศาลน่าจะถูกต้อง

อังคณากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เรายังไม่มีกระบวนการคุ้มครองพยาน ที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ว่าพยานเองก็ถูกคุกคามอย่างหนัก ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็บอกว่า พยานเบิกความไป ตาแดงๆ ร้องไห้ไปด้วยและไม่กล้าหันไปมองหน้าจำเลย เมื่อพยานไม่กล้ามองหน้า ไม่กล้าชี้ตัว แล้วเราจะหาหลักฐานได้จากไหน รวมถึงกรณีการตรวจดีเอ็นเอ ที่จำเลยทั่วๆ ไปมักจะถูกบังคับให้ตรวจ แต่กรณีนี้จำเลยทั้ง 5 ปฏิเสธการตรวจดีเอ็นเอ ผมก็ไม่ให้ ขนก็ไม่ให้ เขาอ้างว่าการถอนผม ถอนขนเป็นการไม่สมัครใจ หรืออาจจะทำให้เขาบาดเจ็บ พนักงานสอบสวนไปเก็บผมตามบ้านมาตรวจ ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าผมที่เก็บมานั้นผมใคร

กรณีที่ถูกยกคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วม อังคณากล่าวว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาจะเป็นเหมือนกฎหมาย ต่อไปนี้ถ้าเรายังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหายออกมา ครอบครัวคนหายจะไม่สามารถนำคดีขึ้นศาลได้ ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจนมาขึ้นศาลด้วยตัวเองไม่ได้ คนที่จะเป็นโจทก์คือ พนักงานสอบสวนหรืออัยการเท่านั้น ญาติจะไม่มีสิทธิแล้ว

พร้อมกันนี้อังคณาได้เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบัน เพื่อให้มีการออกกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่าไม่เช่นนั้น อาจเกิดการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่เปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมได้ นี่เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมและรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

เธอกล่าวด้วยว่า ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติ กรณีบังคับสูญหาย อายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของคนที่หาย ตอนนี้คดีสมชายกลับมาที่ศูนย์ มาที่จุดตั้งต้นเดิม ก็ต้องขอย้อนกลับไปถามรัฐบาลไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีและต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ว่าจะรับผิดชอบคดีนี้อย่างไร จะคืนความเป็นธรรมให้ครอบครัวอย่างไร

"11 ปี 9 เดือน กลับมาที่จุดตั้งต้น ไม่รู้ว่าสมชายหายไปไหน ใครต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบอย่างไร" อังคณากล่าวและว่า เมื่อปี 2555 รัฐบาลให้จ่ายเงินเยียวยาครอบครัว เพราะเชื่อได้ว่าสมชายถูกลักพาตัวไปและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่สุดท้ายก็เอาผิดใครไม่ได้ นอกจากนี้ ต้องถามสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าจะมีความเป็นมืออาชีพในการส่งเอกสารที่น่าเชื่อถืออย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เธอกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องทำหลักฐานให้รัดกุม เพราะเราไม่สามารถไปเห็นพยานหลักฐานอะไรได้ แล้วเขาเอาหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือส่งศาลได้ยังไง คำถามมันก็กลับไปที่พนักงานสอบสวน เพราะศาลบอกว่า โจทก์ไม่ได้เอาหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งโจทก์หมายถึงอัยการ

"แม้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำสมชายกลับมาได้ แต่ไม่สามารถปฏิเสธการให้ความเป็นธรรมได้" อังคณากล่าว

เธอกล่าวด้วยว่า กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม ได้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เมื่อ เม.ย. 2558 และค้างอยู่ที่ ครม. อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของปัญหาอุ้มฆ่าในไทย และผลักดันกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ


ด้าน รัษฎา มนูรัษฎา ทนายโจทก์ กล่าวว่า กรณีนี้ศาลยกความบกพร่องของกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดี จะพิเคราะห์เอาแต่ตัวบทกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพูดถึงการใช้กฎหมายให้ดูถึงหลักความเป็นธรรมด้วย หลักนิติธรรม คนเราถ้าเขายังมีชีวิต ป่านนี้ เขาก็กลับบ้านแล้ว ที่จะบอกว่าไม่มีหลักฐานการตายแล้วตัดสิทธิทายาทเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั่นก็เป็นความเห็นศาล ในความจริง ประชาชนก็เห็นแล้วว่าคุณสมชายไม่มีชีวิตอยู่ ก็ขอไว้ทุกข์ให้กับกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น คือ พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ไว้ทุกข์แทนประชาชนไทย และไว้ทุกข์แทนครอบครัวคุณสมชาย นีละไพจิตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net