ศาลฎีกาเลื่อนอ่านคำพิพากษา คดีที่ดินแพะใต้ จ.ลำพูน รอการเจรจาไกล่เกลี่ยก่อน

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Prachatham สำนักข่าวประชาธรรม

29 ธ.ค. 2558 ที่ศาลจังหวัดลำพูน ได้มีการนัดรับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีที่บริษัทอินทนนท์การเกษตร โดยนพรัตน์ แซ่เตี๋ยว และยุทธนา แซ่เตี๋ยว เป็นโจทก์ฟ้องคดีชาวบ้านแพะใต้จำนวน 10 คน ประกอบด้วย 1.สุแก้ว ฟุงฟู 2.พิภพ หารุคำจา 3.สองเมือง โปยาพันธ์ 4.วัลลภ ยาวิระ 5.วัลลภ ไววา 6.คำ ซางเลง 7.บัวไร ซางเลง ส่วนอีก 3 รายเสียชีวิตไปแล้ว โดยมีการฟ้องในข้อหาร่วมกันบุกรุกยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของของผู้อื่น ซึ่งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2540

ในศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2549 โดยพิพากษาว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 10  จึงพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาและศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 พิพากษาแก้เป็นว่า  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 9 และที่ 10  มีความผิดตามมาตรา 356(3) ประกอบมาตรา 362 จำคุกคนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 9 และที่ 10 ฎีกา ศาลจังหวัดลำพูนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 29 ธ.ค. 2558

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้มีคำสั่งให้เลื่อนการคำพิพากษาออกไปก่อน จนกว่าจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ตามการเสนอของฝ่ายจำเลย ทั้งนี้เนื่องจากศาลเห็นว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้มีความเห็นคัดค้าน จึงให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปก่อน

ความเป็นมาของปัญที่ดินที่ทำกินกรณีชาวบ้านแพะใต้

ในกรณีของชาวบ้านกลุ่มปัญหาที่ดิน จ.ลำพูน ปัญหาที่ดินบ้านแพะใต้ อ.เวียงหนองล่อง นับเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่ริเริ่มเข้าปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนด้วยแนวคิดที่ว่าที่ดินแปลงเหล่านั้น เป็นที่ดินสาธารณะ และชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในการ ทำการเพาะปลูกได้ แต่ทว่าเมื่อลงมือปฏิรูปที่ดินกลับมีนายทุนมาแสดงความเป็นเจ้าของ กรณีที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านแพะใต้จึงร่วมกันตรวจสอบการถือครองที่ดินเหล่านั้น ของนายทุนและพบว่า กระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้นมิชอบด้วยกฎหมาย

กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2533 กลุ่มนายทุนจาก จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวตามโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดิน โดยการเดินสำรวจ ทั้งนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรซื้อที่ดิน สค.1 และนส.3 จากชาวบ้านบางส่วนประมาณไม่กี่สิบไร่ แต่ฉวยโอกาสนำไปออกโฉนดที่ดินครอบคลุมพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของบ้านแพะใต้ ทั้งหมดกว่า 600 ไร่ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีส่วนรู้เห็นการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว

หลังจากนั้น บริษัทนำพื้นที่ทั้งหมดไปจัดสรรเป็นรีสอร์ท สวนเกษตรขนาดใหญ่เพื่อแบ่งแปลงขาย และยังมีการมอบที่ดินที่กว้านซื้อนี้ให้ก่อตั้งศูนย์ราชการคือ อ.เวียงหนองล่องเพื่อกระตุ้นการซื้อที่ดินในแปลงจัดสรรของบริษัท นอกจากนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรยังนำโฉนดที่ดินเข้าจำนองกับบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ และธนาคารกรุงไทยมูลค่าอย่างน้อย 40 ล้านบาท จนเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ดินดังกล่าวก็ถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า

ดังนั้นปี 2540 ชาวบ้านแพะใต้จำนวน 99 ครอบครัวจึงเข้าไปปฏิรูปที่ดินในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่บริษัทปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ เนื่องจากที่ดินไม่เพียงพอ หลายครอบครัวยากจน และไม่มีที่ดินทำกิน และจากการเข้าทำการปฏิรูปที่ดินครั้งนั้นจึงนำไปสู่การค้นพบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ลำดับเหตุการณ์ ในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อรัฐบาล

1.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2554 คณะรัฐมนตรีประชุมเห็นชอบให้มีการดำเนินงานโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรรายย่อยไทยเข้มแข็ง ภายใต้นโยบายกองทุนธนาคารที่ดิน และต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2554 ได้พิจารณากรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5 หมู่บ้าน ให้ดำเนินโครงการดังกล่าวในกรอบวงเงิน 167 ล้านบาท โดยดำเนินการในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน ได้แก่

1.1) บ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

1.2) บ้านแม่อาว หมู่ที่ 3 ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

1.3) บ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

1.4) บ้านท่ากอม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปลาสวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

1.5) บ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 

ต่อมา ปี พ.ศ. 2554  ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 128 ตอนที่ 33 ก ลงวันที่ 3 พ.ค 2554

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมาจะเห็นได้ชัดว่ามีการพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด มีคำสั่งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ที่ 3/2556 เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร และการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินโดยมิชอบของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 9 คณะ ในส่วนจังหวัดลำพูนอยู่ในคณะทำงานลำดับที่ 1.5 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเป็นประธาน ได้มีการประชุมและมีการเจรจาตกลงซื้อที่ดินกับกลุ่มเอกชนผู้ถือครองเอกสาร สิทธิ์ ในพื้นที่บ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จำหวัดลำพูน (ปัจจุบันแยกหมู่บ้านเป็นบ้านใหม่ป่าฝาง หมู่ที่ 15 ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) ใช้งบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. จำนวน 10 แปลง ราคา 3,800,000 บาท คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 8 มี.ค 2554 รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างและเหมืองแร่ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) เป็นประธานในคณะอนุกรรมการ ได้เสนอให้มีการจัดซื้อที่ดิน เพื่อดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องในรูปแบบของธนาคารที่ดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ โดยให้การสนับสนุนงบประมาณ เป็นเงินจำนวน 167,960,000 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554 อนุมัติงบประมาณรายจ่าย งบกลางรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ "โครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยไทยเข้มแข็งภายใต้ นโยบายกองทุนธนาคารที่ดิน แต่เนื่องจากในขณะนั้นสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินยังไม่มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้

ต่อมาเมื่อ วันที่ 21 พ.ค. 2556 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษารับทราบและเห็นชอบในหลักการการแก้ไข้ปัญหาของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กรณีการดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ทั้งนี้ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เร่งดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย โดยประสานรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณในการดำเนินการกับสำนักงบประมาณแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

จนถึงรัฐบาลปัจจุบันโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดตั้งธนาคารที่ดิน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร, ผู้อำนวยการสถาบัน และบรรจุพนักงานเพื่อดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 โดยมี สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.)

เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย. 2558 ทางสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน นำโดย สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) พร้อมกับที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เดินทางเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สำรวจสภาพพื้นที่ และลักษณะทั่วไปของชุมชนตามโครงการนำร่องธนาคารที่ดินพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ในการลงพื้นที่ครั้งนี้สถิตย์พงษ์ ได้รับทราบปัญหาที่ดินและอีกปัญหาสำคัญคือเรื่องคดีความ โดยสถิตย์พงษ์ ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านที่มาร่วมฟังเรื่องแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6-8 เดือนหากได้รับการอนุมัติให้ใช้งบประมาณจาก ครม. และเรื่องคดีความทางสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมให้ความร่วม มือในการแถลงต่อศาล ให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ทั้งนี้ขอความเมตตาต่อศาลในการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท