Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ยังไม่จบนะครับ เพราะมันไปกันใหญ่แล้วต่อกระบวนการยุติธรรมไทย  ปัญหานี้คือปัญหาสำคัญในทางนิติศาสตร์ในสภาวะบ้านเมืองยุคนี้

จากกรณีศึกษา: คดีกล่าวหานายฐนกร  ศิริไพบูลย์ และคนอื่นๆ(ถ้ามี) 

"ผู้ต้องหาได้เข้าใช้เฟชบุ๊กส่วนตัวและกด "ถูกใจ"ที่รูปภาพของเฟชบุ๊ก  ชื่อว่า.."(...)"   ซึ่งมีภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม...เป็นการดูหมิ่น...  ต่อมาผู้ต้องหาได้คัดลอกรูปภาพ 3 ภาพ  มาจากทวิตเตอร์ แล้วนำไปเผยแพร่ในเฟชบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเป็นภาพมีข้อความประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง..."  

  • พฤติการณ์ที่กล่าวหาตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาว่ากระทำผิดนั้น เป็นการยกเอาข้อกฎหมายที่บัญญัติเป็นฐานความผิด( ม.14 ของพรบ.คอมฯ  และป.อ.ม.112) มาบรรยายครอบคลุมตามข้อหาที่ตั้งให้แบบคลุมเครือเคลือบคลุมไม่ชัดเจนว่า  พฤติการณ์โดยการ"กดไลค์" หรือ "ถูกใจ"  เป็นความผิด ..?  (ดูแล้วงง!)
     
  • มือกฎหมายของผู้ถืออำนาจรัฐตอนนี้ที่ดีที่สุด ที่มีส่วนสร้างระบบความคิด มีส่วนรับผิดชอบ  และออกมาสร้างความหวาดกลัว  สร้างความเครียดให้ประชาชนจนนอนไม่หลับ    ช่วยกรุณามานั่งแถลงข่าวหรือ  ชี้แจงต่อประชาชนทั้งประเทศและทั้งโลกหน่อยว่า


การกด"ไลค์" หรือ "ถูกใจ" ในเฟซบุ๊กเป็นความผิดตามข้อกฎหมายใด?

เป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดข้อใด?  และ

ถือว่าการกระทำที่ว่านั้นมีเหตุผลทางกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นความผิดได้อย่างไร?  (ขอชัดๆนะ) 
 

  • ไม่ได้ท้าทาย แต่ความเป็นรัฐ มีเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ก็ต้องให้ความรู้แก่ประชาชน ทำอะไรให้ตรงไปตรงมา ตามหลักนิติธรรม
     
  • ที่สำคัญ!  อย่ามาตอบมั่วๆนะว่า  "เจตนาประสงค์ต่อผล"หรือ "ย่อมเล็งเห็นผล"  มาพูดสองประโยคนี้แล้วจบ  มาตั้งข้อหาว่าการกระทำ "กดไลค์" หรือ  "ถูกใจ"  การกระทำนี้ย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรแล้ว   อย่างนี้จะเป็นเพียงการตอบลอยๆไม่มีเหตุผลทางกฎหมาย (เด็กเรียนกฎหมายปีหนึ่งก็ตอบได้)
     
  • ถ้าตอบไม่ได้หรือตอบไม่ชัดเจน  ก็ควรทบทวนพิจารณาหลักกฎหมายให้ดีเถอะว่า  สมควรที่จะตัดพฤติการณ์เช่นนี้ออก  การบรรยายหรือเอาพฤติการณ์เพียงเท่านี้แล้วตีความว่าเป็นความผิด ทั้งๆที่ไปไม่ได้ในทางกฎหมายที่มี เพราะมันจะกลายเป็นมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายที่จะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อบริบทสังคมประเทศ   และจะส่งผลร้ายได้ต่อผู้บังคับใช้กฎหมายเช่นกัน


นอกจากที่ตั้งคำถามข้างต้นแล้ว   ยังมีหลักกฎหมายอีกประการที่เป็น ปัจจัยหลักสำคัญที่มีผลทำให้ผู้กระทำมีความผิดและรับโทษทางอาญาได้นั้น  ต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการคือ

1. ต้องมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิด

2. ต้องมีการกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

3. การกระทำนั้นต้องประกอบด้วยสภาพทางจิตใจ หรือเจตนากระทำความผิด    (เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้ กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดย ไม่มีเจตนา)

*** ดังนั้น  จากหลักนี้  "เจตนาในการกระทำความผิด" จึงเป็นเรื่องเว้นเสียมิได้ หากจะบุคคลต้องรับผิดในทางอาญา

การกระทำที่จะเป็นความผิดนั้น ต้องประกอบด้วยสภาพทางจิตใจ หรือมีเจตนากระทำความผิด เว้นแต่บางกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ดังที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรกที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้ กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำ โดยไม่มีเจตนา”


การกระทำแม้จะโดยเจตนาหรือกระทำโดยไม่เจตนาก็ตาม ต่างก็เป็นสภาพทางจิตใจทั้งสิ้น และถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบภายในของความผิดด้วย ดังนั้น เหตุผลทางกฎหมายที่จะนำพฤติการณ์ของการกระทำ มูลเหตุจูงใจ พยานหลักฐานทุกประเภทจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสอบสวนที่ถูกต้องเป็นธรรม ยึดหลักกฎหมายจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องกระทำในทางสอบสวนและเป็นประเด็นสำคัญที่จะเตรียมข้อเท็จจริงเข้าสำนวนสอบสวนเพื่อเข้าสู่การพิจาณาของศาล  (กรณีคดีในยุคนี้คือศาลทหารที่อยู่ภายใต้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินโดยกระทรวงกลาโหม) 

           
การให้อำนาจศาลทหาร พิจารณาคดีพลเรือน (1)

ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่  37/2557 และประกาศฉบับที่ 38/2557 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557     ทั้งสองฉบับดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)   พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคบรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณี ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ กล่าวคือ

​​1)  ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของ   กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง   หรือ  International  Covenant  on  Civil  and  Political  Rights  หรือเรียกโดยย่อว่า  ICCPR   โดยการภาคยานุวัติ  (accession)   เมื่อวันที่  29  ตุลาคม  2539 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 อันถือเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ICCPR ถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตามหลักการที่ได้ประกาศไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิในการพิจารณาคดีอาญานั้น ICCPR มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ประกอบด้วย

1.1) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย และเป็นธรรมด้วยคณะตุลาการที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง อันเป็นไปตามมาตรา  14.1 ของ  ICCPR  ที่บัญญัติว่า “ All  person  shall be  equal  before  the  courts  and  tribunals.  In  the  determination  of  any  charge  against  him,  or  his  rights  and  obligations  in a suit  at  law,  everyone  shall  be  entitled  to  a  fair  and  public  hearing  by  a  competent,  independent  and  impartial  tribunal established by law.”
​​ 
1.2) สิทธิที่จะอุทธรณ์ไปยังคณะตุลาการในระดับที่สูงขึ้น อันเป็นไปตามมาตรา 14.5 ของ  ICCPR  ที่บัญญัติว่า  “Everyone  convicted  of  a  crime  shall  have  the  right  to  his  conviction or sentence being reviewed by  a  higher  tribunal  according  to law.” ปรากฏตาม  ICCPR

2)  ศาลทหารกรุงเทพ หรือศาลทหารมณฑลทหารบกต่างๆ  หาได้มีความเป็นอิสระดังเช่นศาลพลเรือนทั่วไปไม่     เพราะยังคงสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหมอันเป็นส่วนราชการของฝ่ายบริหาร     นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนตุลาการ     ทำให้ตุลาการขาดความเป็นอิสระ     ดังที่บัญญัติไว้ตั้งแต่มาตรา  5  ถึงมาตรา  12  อันเป็นบททั่วไปแห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร  พ.ศ.2498    จึงขัดกับหลักการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  14.1  ของ ICCPR   ที่ศาลต้องมีความเป็นอิสระไม่สังกัดหรือขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร
​​
3) ศาลทหารกรุงเทพที่พิจารณาพิพากษาคดีนี้     เป็นศาลทหารในเวลาที่ได้ประกาศกฎอัยการศึกอันถือเป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติตามความในมาตรา  36  แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร  พ.ศ.๒๔๙๘     ต้องห้ามมิให้มีการอุทธรณ์และฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  61  แห่งพระราชบัญญัติในมาตรา  14.5  ของ ICCPR


ข้อสังเกตุจากผลกระทบที่ให้อำนาจศาลทหารพิจารณาคดี เฉพาะกรณีคดีของนายฐนกร  ศิริไพบูลย์ และกรณีอื่นที่คล้ายกัน 

ก. จับ-สืบ-สอบ-ตัดสิน  โดยทหาร

การสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นก่อนการกล่าวหาอย่างเป็นทางการ กระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประกอบด้วยนายทหารพระธรรมนูญ เป็นนายทหารที่มีความรู้กฎหมาย เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย (ข้าราชการทหาร) ต่อมาส่งเรื่องให้ตำรวจเพราะมีประสบการณ์ในการทำสำนวนคดีอาญามากกว่า ทั้งมีหน่วยงานในสังกัด สตช.หลายหน่วยร่วมทำงาน เพื่อให้สะดวกคล่องตัวในการทำคดี แนวทางและรูปคดีจึงเป็นอย่างสอดคล้องกันตั้งแต่ต้น เมื่อสอบสวนเสร็จ แม้ในหลายคดีที่พบเห็นและได้ศึกษาจะทำได้อย่างน่ากังวลเพราะมาตรฐานการสอบสวนและพิจารณาสำนวนเป็นไปอย่างเคลือบแคลงสงสัยในทุกคดี  

ท้ายสุดคดีเหล่านั้นก็ถูกนำสู่อำนาจศาลทหาร  ตั้งแต่การออกหมายจับ ฝากขัง การคุมขัง การพิจารณาปล่อยชั่วคราว การพิจารณาคดี จนกระทั่งการพิพากษา ซึ่งในบางคดีมีข้อมูลว่าพิพากษาคดีโดยที่จำเลยยังไม่ได้ปรึกษาและได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างที่ควรจะได้   ทั้งหมดจึงจบด้วยเส้นทางที่ผมเคยเรียกว่า  "กระบวนการยุติธรรมลายพราง"


ข. ผู้ต้องหาหรือจำเลย ถูกริดรอนและไม่ได้รับโอกาสอย่างผู้บริสุทธิ์ก่อนการตัดสินว่ามีความผิดเป็นที่สุด  

จากคดีที่ยกขึ้นเป็นกรณีศึกษานี้ มิใช่คดีแรกที่เกิดขึ้น หากแต่เป็นเสมือนตรายางของการดำเนินคดีที่มีสัญญาณบอกว่า  หากเป็นคดีความมั่นคงฯ  ก็อย่าได้หวังว่าจะได้รับโอกาสการปล่อยตัวชั่วคราว  เพราะเมื่อถูกตั้งข้อหาหนักที่เกี่ยวกับความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  อาทิ ม.112 ,116, 135/1-135/4  ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ม.210,215 , ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมทั้งความผิดที่ระบุไว้ ข้อ 3. ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นต้น  เหล่านี้คือต้นเหตุของผลที่จะไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราว ซึ่งทั้งหมดพิจารณาโดยศาลทหารแทบทั้งสิ้น
          
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงกรณีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของ คสช.  ที่ไม่ได้เป็นผลงานของรัฐบาล และ คสช. เท่าใดนัก ประชาชนจะต้องอยู่ในความสุ่มเสี่ยงได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐที่บังคับใช้กฎหมายที่ดูเป็นปัญหาเช่นนี้อีกนานเท่าใด แล้วความสุขที่จะคืนให้นั้น สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่ไหน และโปรดอย่าลืมว่า "สิ่งแรกที่จำเป็นของอารยธรรมที่เจริญ คือความยุติธรรม"


อ้างอิง

(1)  ส่วนหนึ่งจากคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอำนาจพิจารณาคดีของศาล  ในคดี หมายเลขดำที่  32 ก./2557 ศาลทหารกรุงเทพ  ระหว่าง อัยการศาลทหารกรุงเทพ  โจทก์ กับ นายวรเจตน์  ภาคีรัตน์  จำเลย  ข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.  เรื่อง ให้มารายงานตัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net