Skip to main content
sharethis

บล็อกเกอร์เรื่องเพลงของเดอะการ์เดียน เขียนถึงวงการเพลงสากลปี 2015 ว่าเป็นปีที่เหล่าศิลปินแสดงออกในเรื่อง "ความลื่นไหลทางเพศสภาพ" อย่างการสร้างความพร่าเลือนของพรมแดนเพศและไม่นิยามตัวเองอย่างเจาะจง มากขึ้นซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในทางวัฒนธรรมแต่การแสดงออกในเชิงหวาดกลัวคนรักเพศเดียวกันก็ยังคงมีอยู่ในวงการ

(จากซ้ายไปขวา) ไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus) แอน อิริน "แอนนีย์" คลาก (Anne Erin "Annie" Clark) หรือชื่อในวงการคือเซนต์ วินเซนต์ (St. Vincent) และชามีย์ (Shamir) (ที่มาของภาพ: Wikipedia [1], [2] และ  และ YouTube/Shamir 326)

 

อเล็ก แมคเฟอร์สัน บล็อกเกอร์และนักข่าวอิสระเรื่องดนตรีเขียนบทความลงในเว็บไซต์เดอะการ์เดียน ถึงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมในปี 2015 โดยระบุว่าปี 2015 นี้มีการพูดถึง "ความลื่นไหลทางเพศสภาพ" (Gender Fluidity) มากกว่าทุกปีทั้งในส่วนของวัฒนธรรมสมัยนิยมทั่วไปและในวงการดนตรี ซึ่งแมคเฟอร์สันมองว่าไม่ได้เป็นแค่เพียงแฟชั่นหรือเทรนด์ที่เกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น

แมคเฟอร์สันมองว่าในวงการดนตรีช่วงปี 2015 ที่ผ่านมาเริ่มมีความเปิดกว้างให้กับศิลปินผู้ที่ไม่ต้องการระบุตัวตนของตนเองแบบเป็นแค่คู่ตรงข้ามชาย-หญิง มากขึ้น เช่นการที่ไมลีย์ ไซรัส ศิลปินผู้ก่อตั้งมูลนิธิ 'แฮปปี้ ฮิปปี้' เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านและคนหนุ่มสาวที่มีความหลากหลายทางเพศประกาศตัวว่าเธอไม่ได้เจาะจงว่าตัวเองเป็นชายหรือหญิง อีกทั้งก่อนหน้านี้ในปี 2014 ศิลปินเพลงผู้เรียกตัวเองว่าเซนต์วินเซนต์ให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสารโรลลิงสโตนว่าเธอชื่อในเรื่องความลื่นไหลทางเพศสภาพและความลื่นไหลทางเพศวิถี (sexual fluidity) และไม่เจาะจงว่าตัวเธอเป็นเพศใดทั้งสิ้น

บทความของแมคเฟอร์สันยังได้ยกตัวอย่างศิลปินเพลงแร็พอีกคนหนึ่งคือชามีร์ ชาวลาสเวกัสผู้เกิดมาในครอบครัวมุสลิมแต่นิยามตนเองว่าเป็น "นักจิตวิญญาณนิยม มากกว่าผู้ถือศาสนา" ก็ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนมีนาคมนี้ว่าเขาเป็นผู้ไม่นิยามเจาะจงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่ออกมากล่าวในทำนองนี้

แมคเฟอร์สันระบุว่าจริงๆ แล้วในประวัติศาสตร์วงการดนตรีการแสดงออกในแบบที่ทำให้เส้นแบ่งเขตแดนทางเพศพร่าเลือนมานานแล้ว ไม่ว่าจะจากการแสดงออกของศิลปินชื่อดังในอดีตอย่างเดวิด โบวี และศิลปินชื่อ 'ปรินส์' ซึ่งเล่นกับภาพลักษณ์ที่มีทั้งความเป็นหญิงและความเป็นชายผสมกัน (androgyny) ในยุคต่อมาศิลปินอย่างซีอาราและบิยอนเซก็แสดงออกเชิงตั้งคำถามกับเรื่องบทบาททางเพศของชายหญิงที่ถูกสังคมกำหนดขึ้นเช่นกัน

การตั้งคำถามเรื่องเพศสภาพเหล่านี้ไม่เพียงแค่มีการแสดงออกทางการแต่งกายเท่านั้น แต่ศิลปินบางคนก็นำเสนอในเรื่องนี้ผ่านเนื้อเพลงของตนเอง อีกทั้งยังมีศิลปินบางส่วนที่ได้อิทธิพลมาจากการศึกษาในเรื่องการเมืองและเรื่องระบบโครงสร้างอำนาจอีกด้วย

บทความของแมคเฟอร์สันยังอ้างอิงงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทลอะวีฟเผยให้เห็นว่าในดลกนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "สมองในแบบของผู้หญิง" หรือ "สมองในแบบของผู้ชาย" แต่ "มีหลายวิธีในการที่จะเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย" ซึ่งแมคเฟอร์สันมองว่าเป็นความก้าวหน้าในสังคมที่สื่อสารอนุรักษ์นิยมพยายามโฆษณาชวนเชื่อแบบครอบงำว่า "ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ผู้หญิงต้องเป็นแบบนั้น" ทั้งที่ในโลกความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้ปี 2015 จะดูเหมือนมีความก้าวหน้าเรื่องเพศสภาพจากสายวัฒนธรรมป็อบอย่างมาก แต่ก็ยังมีศิลปินบางส่วนที่แสดงออกในเชิงหวาดกลัวคนรักเพศเดียวกัน และในเดือนพฤศจิกายนก็มีเหตุการณ์ที่ศิลปินเพลงชาวอังกฤษชื่อ 'ไคน์เนส' ก็ออกมาเปิดเผยว่าการข่มเหงรังแกในทำนองเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันหรือเกลียดกลัวคนข้ามเพศจากบุคคลในวงการเพลงก็เคยทำให้เขาออกจากวงการเพลงมาเป็นเวลาหลายปี

"ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าในปี 2015 แต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเดิมที่จะไม่ทำให้เรื่องนี้เป็นแค่แฟชั่นหรือจุดขาย" แมคเฟอร์สันระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Gender fluidity went pop in 2015 – and it's not just a phase, Alex Macpherson, 28-12-2015 http://www.theguardian.com/music/musicblog/2015/dec/28/gender-fluidity-went-pop-in-2015-miley-cyrus-angel-haze-young-thug

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Shamir_(musician)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net