Skip to main content
sharethis

พล.อ.อักษรา เผยความคืบหน้าพูดคุยสันติสุขอยู่ระหว่างจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมด้านธุรการและการสนับสนุน ส่วนเรื่องพื้นที่ปลอดภัย(Safety zone)ยังเป็นชุดความคิดที่เตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการ คาดแนวโน้มสถานการณ์ปี 2559 จะมีพัฒนาการที่มีความก้าวหน้าโดยลำดับจนอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล

31 ธ.ค. 2558 พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะรองโฆษกคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (the Peace Dialogue Panel) เปิดเผยคำชี้แจงของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นสำคัญคือ การสร้างความไว้วางใจ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย และแนวโน้มสถานการณ์ปี 2559 ซึ่งถือเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของภาคส่วนต่างๆ ในขณะนี้

โดยคำชี้แจง ระบุว่า การสร้างความไว้วางใจ (Confidence building) ตามที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (The Steering Committee for Peace Dialogue) ได้กำหนดกรอบเป้าหมายและทิศทางการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ไว้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การสร้างความไว้วางใจ ระยะที่ 2 การลงสัตยาบัน ระยะที่ 3 การบรรลุฉันทามติของทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและจัดทำ Roadmap

ในส่วนระยะที่ 1 นั้นนับว่ายากที่สุดในการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ของทั้ง 3 ระยะที่กำหนดไว้ โดยในระยะดังกล่าวนี้จะเป็นการพูดคุยเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างคณะพูดคุยฯ กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการคือ การให้ความเห็นชอบบันทึกข้อตกลงร่วมด้านธุรการและการสนับสนุน และการให้ความเห็นชอบในการจำกัดความรุนแรงเป็นรายประเด็น

ยังพูดคุยไม่เป็นทางการ-เพิ่งตั้งคณะทำงานเทคนิคร่วม
“ที่ผ่านมายังคงเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ กิจกรรมที่สำคัญของการพูดคุยในระยะนี้คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนภายในประเทศ การตรวจสอบและกำหนดตัวแทนที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยฯ การรับฟังสภาพปัญหาและความคับข้องใจของกลุ่มผู้เห็นต่างฯ”

ล่าสุดได้จัดตั้งคณะทำงานทางเทคนิคร่วม (Joint Technical Team) เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมฯ ซึ่งเสมือนเป็นกติกาของการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ขณะนี้ได้ดำเนินการประชุมหารือผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาหลายครั้ง หากเมื่อได้ร่างบันทึกข้อตกลงร่วมฯ แล้ว ผู้แทนคณะทำงานทางเทคนิคร่วมจึงจะนำผลไปรายงานขอความเห็นชอบต่อระดับนโยบายของแต่ละฝ่าย

Safety zone ยังเป็นชุดความคิด เตรียมเสนอเข้าวงพูดคุยทางการ
“การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (Safety zone) เป็น 1 ใน 3 ชุดความคิดของคณะพูดคุยฯ ที่เตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพูดคุยฯ อย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบของการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ระยะที่ 1”

ห้วงหลายปีที่ผ่านมาได้เคยมีความพยายามกำหนดพื้นที่ปลอดภัยมาแล้วหลายครั้ง แต่แนวความคิดในครั้งนี้จะใช้รูปแบบที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะหยุดความรุนแรงด้านความมั่นคงทั้งหมดในพื้นที่ที่กำหนดอย่างชัดเจน เพื่อต้องการลดระดับความรุนแรงในพื้นที่บางแห่งก่อน โดยเคารพหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อันถือเป็นมาตรการหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อกระบวนการพูดคุยฯ

ให้ทุกฝ่ายยอมรับและจะเดินหน้าพร้อมการพูดคุย
การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยต้องเตรียมความพร้อมอย่างดีและจำเป็นต้องคิดถึงความท้าทายที่จะตามมาภายหลัง ปัจจัยความสำเร็จอันสำคัญคือ ความเห็นพ้องต้องกันระหว่างภาครัฐกับกลุ่มผู้เห็นต่างฯ และต้องได้รับการยอมรับและเห็นด้วยจากคนในพื้นที่ รวมถึงวัฒนธรรมของภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้สูญเสียอันเป็นเสียงแห่งความชอบธรรมให้ภาครัฐสามารถเดินหน้ากระบวนการพูดคุยฯ และรักษาพื้นที่ปลอดภัยไปพร้อมกันได้ด้วย

เชื่อแนวโน้มสถานการณ์ปี59 ดีขึ้นจนไม่น่ากังวล
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนในภาคใต้ ปี 2559 ตามการคาดการณ์ของคณะพูดคุยฯ สถานการณ์คาดว่าน่าจะมีพัฒนาการที่มีความก้าวหน้าโดยลำดับจนอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล ตรงกับความคาดหวังของประชาชนทั้งประเทศ โดยความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุยฯ ย่อมส่งผลมาสู่การลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ ผ่านมาทางชุดความคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับการลดทอนเจตจำนงหรือความตั้งใจ (Intention) ในการก่อเหตุ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของคณะพูดคุยฯ ในการโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการพูดคุยฯ ร่วมกันปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และมุ่งสู่เป้าประสงค์เดียวกันคือ สันติสุขอันแท้จริงอย่างยั่งยืนที่จะบังเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยของภาครัฐนั้น กอ.รมน.ภาค 4 สน. ในฐานะคณะประสานงานระดับพื้นที่ (The Area-based Inter-agency Coordination Working Group) จะรับผิดชอบดูแลตามแผนงานประจำปี ในทุกมิติของทุกกลุ่มภารกิจงาน โดยป้องกันไม่ให้มีฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขใหม่ รวมถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อกระบวนการพูดคุยฯ อย่างสอดคล้องกัน

การพูดคุยยังเดินหน้าตามเจตนารมณ์นายกรัฐมนตรีไทย-มาเลเซีย
คำชี้แจงสรุปว่า การดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ยังคงดำเนินการต่อไปตามเจตนารมณ์ร่วมกันของนายกรัฐมนตรีไทย และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะยุติความรุนแรง และนำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว ความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุยฯ ย่อมส่งผลมาสู่การลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีนัยสำคัญ ความคืบหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมด้านธุรการและการสนับสนุน

สำหรับการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนั้น ยังคงเป็นชุดความคิดที่คณะพูดคุยฯ เตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพูดคุยฯ อย่างเป็นทางการต่อไป นอกจากนั้นในปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงนี้คาดว่า แนวโน้มสถานการณ์น่าจะมีพัฒนาการที่มีความก้าวหน้าโดยลำดับจนอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล

สำหรับคำชี้แจงดังกล่าว พล.ต.บรรพต ถูกเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก บรรพต พูลเพียร พร้อมกับภาพถ่ายพล.อ.อักษรา(ขวา) ที่ถ่ายพร้อมกับ ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฝ่ายมาเลเซีย(ซ้าย) และพล.อ.กิตติ อินทสร หนึ่งในคณะพูดคุยสันติสุขฯ  (กลาง)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net