ประยุทธ์คืนความสุขฯ ลั่นปฏิรูปตัวเอง ปีใหม่จะเป็น Good Guy คุมอารมณ์-พูดให้น้อยลง

ขอคนไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง ส่วนคดีใช้กฎหมายที่เป็นอิสระ แจงมาตรการแก้ปัญหาราคายาง แนะไร่นาสวนผสม เล่าเรื่อง 'มนุษย์เพนกวิน' สร้างแรงบรรดาลใจ และตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

1 ม.ค.2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ปีใหม่ขอคนไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง ส่วนคดีใช้กฎหมายที่เป็นอิสระ

สวัสดีปีใหม่ครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ปีใหม่นี้ผมขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันก้าวข้ามความขัดแย้ง คดีความต่างๆ ก็ใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ดำเนินการเป็นอิสระ พวกเราทุกคนต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ขอให้ปีใหม่นั้นเป็นปีแห่งความสุข มีแต่ความสุขความสมหวัง อนาคตที่สดใส เป็นปีแห่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ  เพื่อจะช่วยกันสร้างสรรค์และพัฒนาบ้านเมืองของเราให้มีความสงบสุข ร่มเย็น ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร สำหรับรัฐบาลนั้น ขอความเข้าใจ ความร่วมมือ จากประชาชนทุกคน ทุกฝ่าย ทุกพวก ที่เป็นทรัพยากรมนุษย์สำคัญของชาติ และจากทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศของเรา ภายใต้ฟันเฟือง “ประชารัฐ” ของเรา  เพื่อจะสร้างบ้านแปลงเมือง ให้เจริญรุดหน้าในทุก ๆ ด้าน  เพื่อความมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ประชาชนทุกคนมีความพึงพอใจ มีความสุข

เล่าเรื่อง 'มนุษย์เพนกวิน' สร้างแรงบรรดาลใจ 

ในศักราชใหม่นี้ ผมขอนำเรื่องดี ๆ มาฝากพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เพื่อเป็นกำลังใจ เป็นเครื่องยืนยันว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไม่ได้”  ทุกคนคงจำ “มนุษย์เพนกวิน” ได้ คือนายเอกชัย วรรณแก้ว ที่แม้ไร้แขนทั้งสอง แต่เป็นตัวอย่างของการไม่ยอมแพ้ สู้ชีวิต คิดบวก และที่สำคัญคือ ไม่ทำตนให้เป็นภาระสังคม แต่กลับสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติให้งดงาม ในขีดความสามารถและข้อจำกัดด้านร่างกายของตนเอง ไม่ให้เป็นอุปสรรค วันนี้เขาได้พิชิตยอดเขาคิลิมันจาโร เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปแอฟริกา มีความสูงกว่า 5,895 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เพื่อวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา และร้องเพลงสดุดีมหาราชา ด้วยน้ำตาแห่งความปลื้มปิติ จนลืมความเหนื่อยและความหนาวไปชั่วขณะหนึ่ง สิ่งที่คุณเอกชัยฝากบอกกับสังคมไทยและชาวโลกคือ ความสำเร็จครั้งนี้มาจากศรัทธาอันแรงกล้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว เขาบอกอีกด้วยว่า “อย่าเพิ่งท้อแท้ ตราบใดถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ” และ “การปีนเขา ไม่ได้ใช้ร่างกายเป็นหลัก แต่ว่าใช้ใจ ถ้าใจถึง อย่างอื่นจะตามมาเอง”  ซึ่งผมเห็นว่าเป็นพลังในการทำงานของผมต่อไป เพื่อประเทศชาติ และอยากจะเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย ได้อดทน แม้จะทำในสิ่งที่ยาก หรือยากขึ้น ก็ขอเพียงมีศรัทธา มีความหวัง มีกำลังใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมอบให้แก่กันและกันในเวลานี้ เพื่อจะเป็นพลังขับเคลื่อนในการปฏิรูปประเทศต่อไป

แจงมาตรการแก้ปัญหาราคายาง ยก Rubber City 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางลงพื้นที่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา พร้อมกับคณะ เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล อาทิเช่น โครงการ Rubber City มูลค่ากว่า 1,670 ล้านบาท ณ ศูนย์บริการการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่  จ.สงขลา ที่ได้มีการจัดตั้งมานานแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จสูงสุด รัฐบาลนี้ก็เข้ามาสานต่อ ผลักดัน ขยายผล การสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่ต้องอาศัยการเชื่อมโยงภาคธุรกิจอื่น ๆ ด้วย เริ่มจากในพื้นที่ ขยายไปสู่จังหวัด ภูมิภาค และทั่วประเทศ และไปต่างประเทศให้ได้ จึงจะเรียกได้ว่าเป็น “ฐานการผลิตยางพารา” ที่เต็มรูปแบบสามารถรองรับการลงทุน จากนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ทั้งภายในและนอกประเทศได้ในอนาคต เราได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2564 เราจะมีนักลงทุน เข้ามาลงทุนโรงงานยางพารา ไม่ต่ำกว่า 70 ราย รวมมูลค่าการลงทุน ไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท  ผลดีที่ตามมามากมาย อาทิเช่น การจ้างงานกว่า 7,000 คน การเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา ไม่ต่ำกว่า 1 – 2 แสนตัน/ปี และมูลค่าการผลิต 6,000 – 14,000 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น ทั้งหมดนั้นเป็นวิธีการแก้ปัญหายางอย่างยั่งยืนโดยการใช้ภายในประเทศให้มากขึ้น

มาตรการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างครบวงจรนั้น เราจะต้องเดินหน้า Rubber City ของรัฐบาลให้ได้ผลอย่างจริงจัง โดยเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เราจะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ (1) กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมยางสำหรับรถยนต์ อุตสาหกรรมท่อยาง อุตสาหกรรมถุงมือยาง อุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น รวมทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา เป็นต้น (2) ก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น โครงการนำร่อง “สวนยางในอนาคต”  โครงการวิจัยและพัฒนาร่วม  การจัดทำศูนย์ข้อมูล – ศูนย์แสดงสินค้า – โลจิสติกส์ – ตลาดกลาง – คลังสินค้า  รวมทั้ง สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม พัฒนาบุคลากร ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ในทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้เพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพทางการแข่งขัน ในอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ  รวมไปถึงแผนการลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องของการสร้างถนน ระบบไฟฟ้า ระบบประปา เพื่อจะรองรับการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการในปีหน้าและในอนาคต เกษตรกรเองก็ต้องเร่งพัฒนาตนเอง รัฐจะสนับสนุนให้ได้มากที่สุด ขอให้มีการรวมกลุ่ม พัฒนาพันธุ์พืชที่ปลูก วิธีการปลูกพืช การใช้น้ำ การเลี้ยงสัตว์ และการปลูกพืชที่แซมสวนยางไปด้วย ซึ่งเมื่อวานนี้ก็ได้ไปตรวจเยี่ยมมาแล้ว และตลอดจนเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือว่าไม่มีการบุกรุกป่าในการทำสวนยาง หรือการทำการเกษตรอีกต่อไป

ปัจจุบัน ได้รับรายงานว่ามีบริษัทผู้ผลิตล้อรถยนต์รายใหญ่ของจีน  2 บริษัท ให้ความสนใจและติดต่อเพื่อเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตยางคอมปาวด์  เนื่องจากเห็นศักยภาพด้านวัตถุดิบและการขนส่ง ที่สำคัญคือนโยบายและทิศทางการส่งเสริมของภาครัฐที่แสดงออกถึงความจริงใจ ชัดเจน ในการที่จะขับเคลื่อนโครงการ Rubber City  นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลยังคงต้องส่งเสริมการสร้างโรงงานขนาดเล็ก ในการแปรรูปยางพาราในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการ SMEs  การหาแหล่งเงินและสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน สำหรับผู้ประกอบการดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตล้อยาง หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพาราในอนาคต ก็อยากขอข้อมูลโดยเร็ว ทุกคนต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านในเรื่องระบบเศรษฐกิจของไทยในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ผมก็ได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หาช่องทางและสร้างแรงจูงใจ ในการดึงดูดนักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพาราแห่งนี้  เราได้มีการพิจารณาสิทธิพิเศษ มาตรการด้านภาษี การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล  ตลาดในการส่งออก และด้านแรงงาน รวมทั้งการวิจัยและต่อยอดอุตสาหกรรมยางเพื่อจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่  สำคัญที่สุดเวลานี้ก็คือ เราจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ครบวงจร โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็น “อุตสาหกรรมเขียว” เพื่อยกระดับฐานะ รายได้  และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่  ในการสร้างงานและความมั่นคงในอาชีพ

แนะไร่นาสวนผสม ปลูกกล้วยหอมทองแซมในสวนยาง

นอกจากนั้น ผมและคณะยังได้ไปเยี่ยมชมโครงการปลูกกล้วยหอมทอง แซมในสวนยางพารา ที่บ้านของนายวิสูตร คันธรักษา  สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด เป็นโครงการที่น่าชื่นชมน่ายินดี น่ายกย่อง แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลในปัจจุบัน ในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยความสมัครใจ ที่จะไม่ยึดติดกับการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่เรียกว่าเกษตรเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะข้าว ไม่ว่าจะยาง อะไรก็แล้วแต่ ด้วยความสมัครใจ โดยการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้สูงสุด ไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่า ใช้พื้นที่ปลูกยางน้อย ใช้ยางพันธุ์ดีที่ให้ปริมาณยางมาก พื้นที่ที่เหลือใช้เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชอื่น

สำหรับไร่นา สวนผสม ก็สามารถทำได้ อันนี้ผมรวมไปถึงเรื่องสวนยาง สวนผลไม้ แม้กระทั่งการทำนาข้าว ทั้งนี้เพื่อจะเอาพืชที่ปลูกแซมไว้ หรือการเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นอาชีพเสริม เป็นรายได้เสริม ซึ่งจะได้คู่ขนานไปกับรายได้จากพืชผลหลัก ซึ่งต้องรอเวลาในการที่จะผลิตออกมา แปรรูปอีกมากมายไปหมด เพราะฉะนั้นบางอย่าจะต้องปลูกพืชที่ จำหน่ายได้อย่างรวดเร็วขึ้น ราคาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่เรียกว่าปลูกพืชอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยอินทรี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เราจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตให้มากขึ้น เพราะความต้องการของท้องตลาดมีเป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพ ในเขตเมืองแม้กระทั่งต่างจังหวัด ในโลกใบนี้ก็เช่นเดียวกัน เขาก็สนใจให้ราคาผลิตผลทางการเกษตรที่สืบเนื่องมาจากการไม่ใช้สารเคมี เราจะได้ลดความเสี่ยงจากราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวนตลอดเวลา มีการสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกร ไม่ออกไปทำอาชีพอื่น  ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนมีเกียรติยศ มีศักดิศรี ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ก็เป็นคนไทยเป็นอาชีพที่สุจริต ทุกคนก็ภูมิใจในการเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน  แต่รายได้มันน้อยลง เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไรให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่พอเพียง สมศักดิศรีของเขา

สำหรับคุณวิสูตรฯ นั้น เป็นเกษตรกร ประกอบอาชีพสวนยางมายาวนาน ก็ไม่ได้เรียนอะไรสูงมากนัก  แต่เมื่อประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร เพื่อร่วมโครงการปลูกกล้วยหอมทอง ตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมาโดยการสนับสนุนของสหกรณ์ประกอบกับการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง ทำให้สามารถแบ่งพื้นที่ ที่มีอย่างจำกัด มาเพาะปลูกกล้วยหอม จำนวน 13 ไร่ ได้รับผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ส่งออกขายไปยังประเทศญี่ปุ่น ได้รับกำไรจากการขายกล้วยหอมทอง ซึ่งเป็นรายได้เสริม 2 หมื่นกว่าบาท/ไร่  ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันคุณวิสูตรฯ หันมาทำ “เกษตรแบบปราดเปรื่อง” คือ นอกจากปลูกกล้วยหอมทองแล้ว ได้แบ่งพื้นที่ทำสวนยางพาราจำนวน 30 ไร่ กรีดยางขายรายวัน มีรายได้ประมาณ 1,100 บาท และปลูกปาล์มน้ำมันขายอีกจำนวน 15 ไร่ มีรายได้เดือนละ 7,000 – 8,000 บาท เห็นไหมครับ ถ้าเราแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกมาเป็นส่วน ๆ แล้วทำพืชแต่ละชนิด หรือเลี้ยงสัตว์ จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเอง ไม่อย่างนั้นเราจะต้องฝากความหวังไว้กับพืชเชิงเดี่ยวราคาตกก็ตกไปทั้งหมด แล้วก็ทำให้รายได้ลดลง แล้วครอบครัวจะอยู่กินอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะให้พี่น้องชาวเกษตรกรเข้าใจ ไม่ต้องการจะไปบังคับให้ท่านเปลี่ยนพฤติกรรมแม้แต่นิดเดียว เป็นเจตนาของผมที่ต้องการจะให้ทุกคนนั้นมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพในวันนี้ และในอนาคต นอกจากนั้น ยังแบ่งพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจด้วย เพื่อให้ร่มเงารักษาความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการดำรงชีวิต ดำรงวิชาชีพของตน เท่าที่ทราบ ไม้ที่ปลูกรู้สึกจะเป็นไม้ มะฮอกกะนี  ถือว่าเป็นธนาคารไว้ให้ลูกหลาน วันหน้าก็ ใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะเจริญเติบโตเป็นไม้เนื้อแข็ง มีลายงดงาม ทำเฟอร์นิเจอร์ก็ได้ หรือว่าทำตอนนี้ที่เขาใช้กันอยู่ก็ทำ ด้ามปืนพก ทำอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ที่สวยงาม

ถ้าหากว่าเรารู้จักว่าเราจะคิดอะไร จะทำอะไรใหม่ เราจะทำอะไรที่มีความแตกต่าง แต่ไม่มั่นใจก็ไปถามเจ้าหน้าที่เขา เราพร้อมจะให้คำแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เกษตร ทั้งหมดที่มีอยู่ทั่วไป ประจำอำเภอ หรือแม้กระทั่งในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ทั้งหมดจะต้องมีข้อมูลเหล่านี้ให้ ผมสั่งไปแล้ว ว่าอาจจะต้องมีการรวบรวมเล่ม รวบรวมเอกสาร หนังสือ วิธีการ ตัวอย่าง ในการที่จะปลูกพืชแซม อะไรบ้างที่ควรจะปลูก ตลาดเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร เพื่อเขาได้เกิดความมั่นใจ กระทรวงพาณิชย์ก็เข้าไปดูแลเรื่องการตลาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย กระทรวงมหาดไทยก็จะไปทำให้เกิดความทั่วถึง เพราะฉะนั้น วันนี้ผมอยากจะกราบเรียนว่า อยากให้แนวทางไว้ว่า ทุกกระทรวงที่เป็นเจ้าภาพหลัก ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงมหาดไทยก็ตาม น่าที่จะต้องไปทำแปลงตัวอย่าง เกิดขึ้นในทุกหมู่บ้าน ตรงไหนที่จะปลูกพืชแซม ตรงไหนที่จะปลูกไม้ยืนต้น หรือเลี้ยงสัตว์ อะไรเหล่านี้ ถ้าทำตัวอย่างตามหมู่บ้านเหล่านี้ วันหน้าผมคิดว่าทุกคนก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเองแหละ แต่ถ้าเราไปกำหนดล่วงหน้าบังคับเขา อะไรเขามันก็เป็นปัญหาหมด คนไทยไม่ค่อยชอบการบังคับ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เราต้องเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินและทรัพย์สินที่มีอยู่เดิม อย่าไปขาย ถ้าไม่ทำแบบนี้ วันหน้าก็ต้องขายที่ดินอยู่ดี แล้วก็ต้องไปเช่าเขากลับมาอีก มันเป็นทางเลือกวันนี้ ขอให้ทุกคนพยายามศึกษารายละเอียด

Smart Farmer ยกตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

มีอีกหลายตัวอย่าง ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วก็ทำจนประสบความสำเร็จ บางคนก็จบปริญญามา ปริญญาตรี ปริญญาโท วันนี้กลับมาทำการเกษตรหมดแล้วหลายราย แล้วก็ร่ำรวย ผมก็บอกว่าฝากไปดูคนอื่น ๆ ด้วยรวมกลุ่มให้ได้ ไปพัฒนาเกษตรกรรายอื่น ๆ ด้วย ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผมเห็นจากที่มานำเสนอให้ผมทราบในงานต่าง ๆ ที่ผ่านมา ก็อยากจะฝากให้สื่อทุกสื่อช่วยกันสร้างสรรค์ นำเสนอเป็นทางเลือกเหล่านี้ เสนอเป็นข้อมูล ให้กับพี่น้องชาวไร่ชาวสวน ถ้าไปมองในจุดอ่อน จุดบกพร่อง เช่น แล้วจะขายใคร ตลาดที่ไหน ก็เขามีเจ้าหน้าที่แนะนำอยู่ วันนี้เราต้องพยายามเชื่อฟังบ้าง แล้วก็นำให้ตัวเองนั้นเข้าสู่การพัฒนาตนเองในระบบที่ต้องใช้ความรู้ ใช้เทคโนโลยี ต่าง ๆ เหล่านั้นมาประยุกต์ มาปฏิบัติตาม ให้เหมาะสมกับตนเอง ตามขีดความสามารถของตนเองด้วย เช่น

(1) การปลูกแตงกวา คุณประคองฯ เกษตรกร บ.วังนาแหน ต.บ่อไทย อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์  สร้างรายได้เดือนละ 2 แสนบาท เห็นไหมครับ ถ้าทำนาอย่างเดียวจะได้ไหม 2 แสนบาท เริ่มแต่ยกร่องขึ้นแปลง วางสายระบบน้ำหยด ก็มีลงทุนเล็กน้อย คลุมพลาสติกแล้วเจาะหลุม หยอดเมล็ดพันธุ์ ปักไม้ไผ่ขึงตาข่ายให้ต้นแตงกวาเลื้อยขึ้นไป ลงทุน 30,000-50,000 บาท ปีหนึ่งปลูกแตงกวาได้ 3-4 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 1-2 ตันมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าสวน ราคากิโลกรัมละ 10 บาท ต่อไปถ้าสมมุติว่าทำเรื่องการขนส่งเอง ทำการตลาดเอง แล้วก็สร้างเครือข่ายเองผมว่าก็จะทำให้เกษตรกรทั้งกลุ่มแถวนั้น คือไม่จำเป็นต้องเป็นแตงกวาอย่างเดียว อะไรก็ได้ ที่ปลูกแล้วเป็นรายได้ ทั้งหมดก็เป็นสินค้าที่สามารถที่เผื่อแผ่ แบ่งปัน การค้าขาย แลกเปลี่ยน แล้วก็ตั้งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ เป็น SME เชื่อมโยงกับ ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ต่อไป เรียกว่าเป็นการพัฒนาตนเองทางด้านการเกษตร

(2) อีกเรื่องหนึ่งคือการเลี้ยงปลาหนังลูกผสมบึกสยามแม่โจ้ ของเกษตรกร ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ก็เป็นพันธุ์ปลาที่ได้มีการวิจัยพัฒนาขึ้นมา นำเอาข้อดีของปลาสวายและปลาบึกมารวมกัน เป็นที่น่าชื่นชม ในการพัฒนาของแม่โจ้มารวมกัน ลงทุน 4 เดือน ปลาพันธุ์ใหม่นี้ จ่ายค่าอาหารเม็ดเพียง 2,500 บาท รวมค่าพันธุ์ปลาตัวละ 40 บาท รายได้ รวม 500 ตัวนั้นเลี้ยงได้ 4 เดือน มากกว่า 30,000 บาท เห็นได้ว่าต้นทุน น้อยกว่าการทำการเกษตรแบบเดิม ๆ มาก แล้วก็ผลกำไรมันมากขึ้น ก็ลองคิดดูแล้วกัน ผมไม่อยากบังคับ  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมพูดมาแล้วนี่ ตลาดยังต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทั้งกล้วยหอม ทั้งแตงกวา ทั้งปลาอะไรเหล่านี้ มีอีกหลายอย่าง

(3) ต่อไปก็คือการปลูกดาวเรือง ของชาวบ้าน ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลาใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่ สร้างรายได้มากถึง 50,000 บาทต่อเดือน หลายครอบครัวก็หันมาปลูกดอกดาวเรืองเป็นอาชีพหลักแทนการทำนา จะปลูกเป็นหลัก เป็นรองก็ได้ทั้งนั้น ทำนาก็ได้ แล้วก็เสริมด้วยตรงนี้ หรือจะทำอันนี้เป็นหลักแล้วทำนาเสริมเพื่อใช้รับประทาน ก็แล้วแต่ ท่านตัดสินใจเอาเอง ภายใต้การส่งเสริมขององค์การบริหารส่วนตำบล รำแดง และนักพัฒนาชุมชน ที่ยังคอยดูแลและประสานงานบางครอบครัวก็ทำควบคู่กับการทำนา โดยการแบ่งแปลงปลูกเป็น 2 แปลงเท่า ๆ กัน เมื่อปลูกแปลงแรก เก็บผลผลิตได้ แล้วก็ทยอยปลูกในแปลงที่สอง สลับไป สลับมา ใช้ที่เท่าเดิม ไม่ต้องไปบุกรุก ไม่ต้องไปขยาย ไม่ต้องไปซื้อเพิ่ม ปรับปรุงดินให้ดี สลับหมุนเวียนกันไป ก็จะทำให้ได้ผลผลิตต่อเนื่อง แล้วก็มีเวลาในการปรับปรุงดินด้วย ก็มีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึงที่ ในช่วงเทศกาลงานบุญต่าง ๆ ราคาอาจพุ่งสูงขึ้นอีก 1 เท่าตัว สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ลองดู ศึกษาดู อยากจะปลูกอะไรเป็น ในอินเตอร์เน็ตก็มี เราให้ความรู้ไปทาง ไอที ด้วย

(4) ต่อไปฟาร์มเห็ด ในเขตหนองจอก กรุงเทพฯ เห็ดนางฟ้าฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฏาน และเห็ดโคนญี่ปุ่น ส่งรายได้เดือนละ 70,000-80,000 ก้อน ๆ ละ 6-8 บาท  ก็คูณตัวเลขเอาแล้วกัน

(5) ต่อไปคือการปลูกผักนานาชนิดส่งขายตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไท วันนี้ผมก็ให้มีการจัดตั้งตลาดชุมชน ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดกลางทุกจังหวัด กำลังขยายอยู่ ถ้าสามารถปลูกกันได้ เอามาขายที่นี่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ส่งพ่อค้าคนกลางไป คัดดี ๆ มาขายให้ได้ราคา เพื่อจะเลี้ยงชีพรายวัน ที่เหลือก็ขายส่งไป อะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่ารัฐบาล เจ้าหน้าที่ พยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะส่งเสริมท่าน ก็ขอความร่วมมือให้สนใจ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เราด้วย ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน  ถ้าข้าราชการเขาให้ความรู้ท่านก็ให้กำลังใจเขาหน่อย ชมเขาบ้าง อะไรเขาบ้าง เขาก็ทำให้ท่านทั้งนั้น เพราะฉะนั้น วันนี้ในส่วนของชาวนาในหมู่บ้านที่ ต.บึงนาราง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ได้มาร่วมกันสร้างรายได้เข้าหมู่บ้านได้วันละกว่า 2 แสนบาท ผมกราบเรียนแล้วว่า เราน่าจะต้องใช้วิธีการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็คือในเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มี 3-3-1  แต่ไม่จำเป็นต้อง 3-3-1 ในบ้านของตัวเอง ท่านก็ไปแบ่งพื้นที่เป็นเพื่อนบ้านของท่าน อาจจะเป็น 3 แรก 3 ที่สอง แล้ว 3 ที่สาม 1 ก็คือบ้านของตัวเอง ก็ว่าไป แล้วถึงจะเกิดเครือข่ายในกลุ่มของท่าน สร้างความเข้มแข็งของท่านเอง มีอำนาจในการต่อรอง อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิดไว้แล้ว ต้องทำแล้วตั้งแต่วันนี้

วันนี้ที่ผมกล่าวไปเมื่อสักครู่นั้น ยกตัวอย่างมาสร้างรายได้ เข้าหมู่บ้านโดยรวมวันละกว่า 2 แสนบาท อาจจะดีกว่าไปทำอย่างอื่น ตั้งหลายอย่าง ที่ต้นทุนสูง ขายได้น้อย ราคาตกต่ำ ทำไมเราจะต้องไปทำสิ่งที่ เป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ให้เลิก คงต้องทำอยู่ อย่างไรเราก็ต้องอยู่ต้องใช้ ต้องกิน  แต่ต้องมี่รายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น นายธนนน ธีระวงศ์ไพศาลกุล จบการศึกษาปริญญาตรี กลับมายึดอาชีพทำการเกษตร ตามรอยบรรพบุรุษที่บ้านเกิด ผมเห็นหลายรายแล้ว บางคนก็จบวิศวกรบ้าง จบคุรุศาสตร์ อักษรศาสตร์ อะไรเหล่านี้ หรือจบนิติศาสตร์ ตอนนี้หลายรายกลับมาทำการเกษตร เกษตรแนวใหม่ Smart Farmer อะไรก็แล้วแต่ ที่เราเรียกกัน เพื่อเป็นการสืบสานตามรอยของบรรพบุรุษที่บ้านเกิด แล้วก็รู้ถึงความอะไร ปัจจัยต่าง ๆ ในเรื่องของปัญหาภัยแล้ง-ราคาข้าวที่ตกต่ำ การใช้ปุ๋ยเคมีที่มีพิษ ก็หันมาปลูกเมลอนปลอดสารพิษ ในโรงเรือนขนาด 72 ตารางเมตร ก็ไม่ได้ใหญ่มากมายอะไร ลงทุนไม่มากนัก ใช้ระบบน้ำหยด สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก จะทำอะไรก็แล้วแต่ถ้าจะใช้สารเคมี ท่านจะใช้ยาฆ่าแมลง นึกถึงคนรับประทานเขาด้วย แล้ววันหน้าเราปลูกได้ เรารับรองได้ กำหนดมาตรฐานได้ กำหนดพื้นที่ได้ ราคามันสูงเอง ขายต่างประเทศเขาก็ต้องการหมด เขาจะดูว่าเราใช้สารเคมีหรือเปล่า ก็พยายามหน่อย ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เมล่อนที่ว่านี่ถูกจองไปหมดแล้ว จองล่วงหน้า ยังไม่ออกผล ก็จองแล้ว หรือออกมาเล็ก ๆ น้อย ๆ เขาก็จองหมด  แล้วมีออเดอร์เข้ามาไม่ขาดสายเลย

นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้นเอง ผมคิดว่าเราทำได้มากกว่านั้น อย่าไปกลัวการตลาด อย่าไปกลัวว่าไม่มีเงินทุน ก็มารวมกลุ่มกันให้ได้  รัฐบาลก็พร้อมที่จะเข้าไป แต่ถ้าเข้าไปทุกราย ๆ มันคงเป็นไปไม่ได้ ก็สมัครใจกันมาแล้วกัน ก็ไปเรียนรู้เอาเองจากเพื่อนบ้านที่เขาทำสำเร็จแล้ว ถ้ามันไกลไปดูลำบากก็ ผมก็เลยบอกไปทำในพื้นที่เขาได้เลย อย่างเช่นเมื่อกี้นี้ ตำบลหมู่บ้านไหนก็ตามเขามี คนในหมู่บ้านแถวนั้นก็ควรจะได้เห็นแล้วก็ทำเป็นตัวอย่าง ก็จะดีไปทั้งหมู่บ้าน นี่เขาเรียกว่า ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งจะต่อเนื่องเชื่อมโยงกับศูนย์การเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ ต้องสร้างความเชื่อมโยงแบบนี้ ของประชาชน ของรัฐ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน  เราจะได้สร้างการเรียนรู้ให้กับพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศได้ด้วย ให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ ที่สุจริต มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเอง เราต้องระวัง โลกเปลี่ยนแปลงทั้งหมด อากาศเปลี่ยนแปลง

เสริมประชารัฐ

ผมอยากเห็น การแสวงหาความรู้ มากกว่าใช้ประสบการณ์อย่างเดียว เราจะต้องส่งเสริมการทำงานร่วมกันในรูปแบบ “ประชารัฐ” ผมพูดบ่อย ประชารัฐ เพราะว่าประชาชนนี่เป็นผู้ที่กำหนดอนาคตของตนเองด้วย แล้วรัฐเป็นผู้สนับสนุน ในแต่ละพื้นที่ รัฐบาลมีศูนย์อยู่แล้ว “ศูนย์บริการประชาชนด้านการเกษตร” เป็นสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต  9 แห่ง สำนักงานเกษตรจังหวัด 77 แห่ง สำนักงานเกษตรอำเภอ 882 แห่ง บอกมาว่าสำนักงานไหนที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือว่าไปถามแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ก็ไปถามท่านผู้ว่าราชการก่อน จากนั้นก็เดี๋ยวกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯเขาจะไปดูเอง แล้วท้ายสุด ถ้ายังแก้ไขอะไรไม่ได้ แจ้งมานายกรัฐมาตรี เดี๋ยวจัดการให้ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร อีก 36 แห่ง และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยี การเกษตร 14 แห่ง  รวมทั้งสิ้น 1,018 แห่ง ทั่วประเทศ นี่ทำแล้ว บางคนยังไม่ทราบเลย บอกไม่รู้จะไปเรียนรู้ที่ไหน แต่จริง ๆ แล้วก็ไปเรียนกันบ้างแล้ว แต่ไปเรียนมาแล้ว บอกทำไม่ไหว ทำไม่เป็น ทำไม่ได้ กลับมาก็ทำแบบเดิม มันก็เสียหายอยู่แบบเดิม เราให้บริการทั้งหมด ถ่ายทอดเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการ รับเรื่องร้องเรียน ของเกษตรกรและประชาชนอีกด้วย กำลังให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ไปดูในพื้นที่เพาะปลูก ก็ไปเลือกของใครที่พร้อมอยู่แล้ว ที่เป็นอย่างที่ว่าอยู่แล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ก็ไปส่งเสริมให้เป็นตัวอย่าง อย่างที่ผมกล่าวไปเมื่อสักครู่ ให้สมัครใจกันมาก ๆ

ที่สำคัญรวมกลุ่มกันให้ได้ ประธานกลุ่มก็น่าจะมี ในพื้นที่เดียวกันก็คนเดียว ถ้าพื้นที่เดียวกัน จังหวัดเดียวกันมีไม่รู้กี่กลุ่ม ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้ากิจการเดียวกัน ไม่ใช่ว่ายาง มีนายกสมาคมเป็นสิบ ๆ คน มันไม่ได้หรอก มันเป็นการทำให้ศักยภาพในการต่อรอง การกำหนดราคานี่ลดลง แล้วก็เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ ผมไม่อยากพูดต่อไปตรงนี้

สำหรับในการลงพื้นที่ภาคใต้นั้นสรุปว่า ประชารัฐของเรา มีความคืบหน้าไปมากแล้ว เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมปัจจัยภายใน ภายนอก  แต่ที่ไม่เปลี่ยน เราต้องถือหลักการที่ว่า “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”  เป็นผู้ที่มีความพึงพอใจ เป็นผู้ที่มองเห็นอนาคตของตัวเอง ของครอบครัวตัวเอง แล้วของชุมชนด้วย เราจะต้องจัดโครงการลักษณะนี้ ทั้งอยู่กับที่ ทั้งเคลื่อนที่ มีการแลกเปลี่ยนสินค้าของแต่ละชุมชน  การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราคาถูก การเสริมสร้างความรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการลงทุนอาชีพใหม่ ตลอดจนบริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือของอันนี้ก็ตาม พร้อมให้คำปรึกษา รวมทั้งการสนับสนุนด้านการตลาด สร้างความเชื่อมโยงและเพิ่มห่วงโซ่คุณค่า มูลค่า ราคาผลิตภัณฑ์

วันนี้ทุกอย่างต้องสร้างนวัตกรรม แล้วก็เพื่อการแข่งขัน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ถ้าเราไม่สร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาจากวัสดุเดิม ราคาก็ไม่เพิ่มขึ้น ไม่น่าซื้อไม่น่าใช้ แม้กระทั่งการออกแบบกล่อง ออกแบบ ที่บรรจุภัณฑ์ เขาเรียกว่าบรรจุภัณฑ์ สินค้าทั้งหมดออกแบบไม่สวยไม่ดี ก็ไม่น่าซื้อ ถึงจะดูดีก็ตาม ข้างใน ใครจะไปเปิดดู เขาดูจากข้างนอกก่อน มี Story ของการผลิตมาบ้างก็ได้ ถ้าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ วันนี้ก็อยากให้ร่วมกันทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ รวมความถึงสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารออมสิน ธนาคาร เอส เอ็ม อี ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่สำคัญในการลงพื้นที่ครั้งนี้คือ ได้รับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่ ผมคิดว่าท่านน่ารักทุกคน ทุกพื้นที่ ทุกภาค ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ  เพราะท่านเข้าใจว่าผมมาทำอะไรให้ท่าน ผมไม่ได้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากท่านเลย ผมมาดูปัญหา แล้วผมจะแก้ปัญหา บางปัญหาแก้ง่าย บางปัญหาแก้ยาก เพราะต้องแก้พร้อมกันไป แต่จะเสร็จไม่เท่ากัน ช่วยกัน ท่านจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น จะได้สัดส่วนสมดุลกัน ราคาสินค้า สินค้าทางไฮเทค เทคโนโลยีราคาสูง แต่ผลผลิตเราต่ำ แล้วเราจะไปซื้อเขาได้อย่างไร ทุกคนก็อยากใช้ไม่ใช่หรือ ท่านต้องทำตรงนี้ให้ขึ้นมาด้วย ให้เกิดการสมดุล ลูกหลานจะได้มีความสุข

เตือนขับรถอย่าคึกคะนอง อย่าดื่มสุรา 

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการพักผ่อนในช่วงปีใหม่ วันหยุดราชการ หยุดงานหลายวัน หลายคนก็ต้องกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ เยี่ยมญาติพี่น้อง บางคนมาทำงานในกรุงเทพฯ กลับบ้านตัวเอง ภูมิลำเนา ก็ขอให้เฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่อย่างระมัดระวัง คือการมีความสุขนี่ อย่าให้มีความทุกข์ตามมาก็แล้วกัน ให้มีความสุข บางทีสุขมากเกินไปก็ตามมาด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนมีความสุข จากการพักผ่อน ในช่วงปีใหม่ ไปกราบผู้ปกครอง บิดา มารดา แล้วก็ขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ ผู้ขับรถ พลขับ ท่านต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อประชาชนด้วย ขอให้นึกถึงชีวิตผู้โดยสาร แม้กระทั่งคนในครอบครัวตัวเองด้วย อย่าคึกคะนอง อย่าดื่มสุรา เพราะชีวิตคนอื่นเขาจะเสียไปด้วย บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน เสียหาย มันเป็นภาระทั้งสิ้น อย่าให้ช่วงเวลาแห่งความสุข ในช่วงปีใหม่ของเราในปีนี้ ซึ่งผมว่าเป็นโอกาสที่ดี เห็นหน้าประชาชนทุกคนมีความสุขมากขึ้น การสัญจรไป-มา การซื้อขาย มากมายไปหมด อย่าให้ทุกอย่าง เปลี่ยนจากความสุขมาเป็นความเสียใจ ความสูญเสีย คนที่อยู่ก็สูญเสีย เป็นภาระอีกมากมาย เพราะฉะนั้น การที่เราให้เจ้าหน้าที่ออกไปนั้น ผมไม่อยากให้ไปบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว ถ้าทุกคนรู้จักบังคับตัวเอง แก้ที่ตัวเองก่อน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องใช้กฎหมาย ไม่ต้องมีการละเมิด ในเรื่องของสิทธิ์ เรื่องการเรียกผลประโยชน์ อยากให้เจ้าหน้าที่และกฎหมายนั้นเป็นมาตรการเสริม มาตรการหลักนั้นเริ่มจากตัวทุกคนเองก่อน

วันนี้ผมก็ทำของขวัญจาก คสช. ให้ท่าน ผมก็ได้คาดโทษไว้ มีการลงโทษสำหรับผู้ที่ทำความผิดในเรื่องที่ทำให้สังคมเดือดร้อน มีการบาดเจ็บสูญเสียในช่วงนี้ ใช้อำนาจในทางที่สร้างสรรค์ คงจะต้องมีการลงโทษพลขับ ลงโทษผู้ประกอบการ แล้วก็อะไรที่ต้องเข้าขบวนการยุติธรรมก็ไปเข้าต่อไป ไม่อย่างนั้นไม่เข็ดหลาบไม่ระวังตัวเอง สิ่งที่ผมคาดหวัง สิ่งที่ผมกำลังออกไป คำสั่งผม จะดูแลในเรื่องของอุบัติเหตุ เรื่องของความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ แล้ก็เรื่องเด็กแว้น เรื่องการตีกัน การสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมโดยรวม ผมต้องการให้ทุกคนเรียนรู้ว่า สิทธิมนุษยชน หรือว่าสิทธิเสรีภาพนั้น จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือละเมิดชีวิตของคนอื่นเขา นั่นแหละคือสิ่งที่ผมต้องการ ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าไม่มีแล้วจะทำยังไง ก็เป็นแบบเดิม ปี ๆ หนึ่งสูญเสียไม่รู้เท่าไร เสียเงิน เสียเจ้าหน้าที่ ลงทุนง่ายที่สุดคือด้วยตัวของท่านเอง ช่วยกันลงทุนชีวิตของท่านทั้งนั้น ก็เป็นผลดีโดยรวม

ประกาศปฏิรูปตัวเองจะเป็น Good Guy 

ขอให้เดินทางสัญจรโดยปลอดภัย มีความสุข สดชื่น ผมก็จะเตรียมพร้อมดูแลท่าน ผมคงไม่ได้ไปไหนอยู่แล้ว ปีหน้าผมก็จะให้ของขวัญตัวเองเหมือนกัน ปีหน้าผมจะพูดให้น้อยลง หงุดหงิดน้อยลง ทะเลาะกับนักข่าวน้อยลง ต้องทำตัวเป็น Good Guy แล้ว ไม่ได้แล้ว 2 ปี แล้ว ที่ผมดุเดือดหน่อย 2 ปีเพราะว่าเป็นช่วงเริ่มต้น เพราะฉะนั้นช่วงปีต่อไปเป็นเรื่องการปฏิรูป ผมบอกแล้วทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ผมปฏิรูปตัวผมเองด้วย ทุกคนที่ทำให้ผมหงุดหงิด ทำให้ผมต้องพูดเยอะ ปฏิรูปตัวเองด้วย อย่าให้ผมทำคนเดียว ขอให้ปลอดภัย มีความสุข ร่วมกันเดินหน้าประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท