ทำความรู้จัก ‘Peace Poll’ โพลล์หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

‘อ.สุวรา แก้วนุ้ย’ นักวิจัย CSCD พาไปทำความรู้จัก “ โพลล์สันติภาพ” ความต่างระหว่าง โพลล์สันติภาพกับ โพลล์ทั่วไปพร้อมตัวอย่างผล โพลล์หนุนเสริมสันติภาพ “CSCD Peace Survey 2015” และ “SUARA POLL เสียงสะท้อนชายแดนใต้” พร้อมข้อคำนึงและความท้าทายในการทำโพลล์สันติภาพในชายแดนใต้/ปาตานี

อ.สุวรา แก้วนุ้ย นักวิชาการและนักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

อ.สุวรา แก้วนุ้ย นักวิชาการและนักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอบทความทำความรู้จัก โพลล์สันติภาพคืออะไร ความต่างระหว่างโพลล์สันติภาพกับโพลล์ทั่วไปพร้อมตัวอย่างผลการทำโพลล์หนุนเสริมสันติภาพในชายแดนใต้/ปาตานี ทั้ง “CSCD Peace Survey 2015” และ “SUARA POLL เสียงสะท้อนชายแดนใต้” ของมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา พร้อมทั้งความท้าทายในการทำ โพลล์สันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้

ทำความรู้จัก “ โพลล์ (Poll)”       

อ.สุวรา กล่าวว่าเมื่อได้ยินคำว่า “โพลล์” หลายคนคงมีความสงสัยและตั้งคำถามว่า โพลล์คืออะไร? ทำ โพลล์ไปทำไม? ใครควรเป็นผู้ทำ โพลล์? ประเด็นที่ทำ โพลล์มีอะไรบ้าง? และมีวิธีทำ โพลล์อย่างไร? หรืออีกหลายคำถามที่อาจจะเกิดขึ้น หากทำความเข้าใจง่ายๆ สามารถสรุปประเด็นต่างๆ ได้ ดังนี้

โพลล์ คือการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งมีเป็นจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อทราบและเผยแพร่สถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจและการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว เช่น ประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ให้สาธารณชนทราบและเพื่อใช้ตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการได้เสียประโยชน์ของสาธารณชน

รูปแบบในการทำโพลล์จะเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่เป็นแบบสัมภาษณ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยลักษณะคำถามแต่ละเรื่องที่ต้องการทราบอยู่ในรูปมาตรวัดระดับความคิดเห็นซึ่งมีจำนวนที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ตอบและต้องไม่เป็นคำถามนำ สำหรับจำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการทำโพลล์ขึ้นอยู่กับขอบเขตของการสำรวจ และกลุ่มผู้ตอบเป็นสำคัญ

สำหรับข้อมูลที่ได้มาจากการการทำโพลล์นั้น อ.สุวรา กล่าวว่าอาจจะเป็นเพียงแค่ภาพปรากฏทางสังคม (social phenomena) ไม่ใช่ “ความเป็นจริงทางสังคม” (social reality) ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปฏิเสธหรือมองข้ามผลสำรวจจาก โพลล์โดยสิ้นเชิงเพราะโพลล์เองก็มีประโยชน์ในฐานะที่สำรวจมาจากตัวอย่าง (sample survey)  ซึ่งถ้ามีกระบวนการเลือกตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากรเป้าหมายและมีการควบคุมคุณภาพการสำรวจอย่างดี ผลสำรวจจากตัวอย่างก็จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามหาศาล

โพลล์สันติภาพ (Peace Poll)

โพลล์สันติภาพ คือ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่การสอบถามความคิดเห็นในภาพรวมการดำเนินงานกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข การสำรวจมุมมองต่อสาเหตุความขัดแย้ง การสอบถามทางเลือกต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา ไปจนกระทั่งถึงข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับข้อตกลงและการนำข้อตกลงไปสู่การปฏิบัติ

โพลล์สันติภาพแตกต่างจากโพลล์ทั่วไปคือ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งหลักจำเป็นต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น โดยมีคุณลักษณะเฉพาะ 1 คู่ขัดแย้งหลัก และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้ว่าจะมีการทำโพลล์สันติภาพ และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ 2 ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนในการร่วมร่างแบบสอบถามและมีความเห็นชอบกับทุกคำถามที่นำไปสอบถามประชาชน 3 การประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูล จะดำเนินการโดยคณะทำงานหรือนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งจะเผยแพร่ผลการสำรวจสู่สาธารณะในวงกว้างต่อไป

โพลล์สันติภาพยังแตกต่างจากการทำประชามติ (referendum) ตรงที่โพลล์สันติภาพไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ แต่เป็นการหาทางเลือกให้เห็นหลายระดับให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ/ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ประชามติเป็นการตัดสินซึ่งวางอยู่บนฐานของเสียงข้างมาก/น้อย แต่โพลล์สันติภาพเป็นการหาจุดลงตัวให้ทุกๆฝ่ายพอยอมรับได้

ตัวอย่างโพลล์หนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ CSCD Peace Survey 2015 ในงานวิจัยชื่อ “การสำรวจแนวโน้มทัศนคติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ ความยุติธรรม ปัญหาสังคม และการสร้างสันติภาพ” การลงภาคสนามดำเนินการในห้วงระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในเดือนรอมฎอน

การสำรวจนี้มีชุดคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับภาพรวมความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีซึ่งมีผลคะแนนที่สำคัญเช่นคะแนนต่อการยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และคะแนนความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข ของรัฐบาลไทยกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ และรัฐบาลมาเลเซีย รวมทั้งข้อเสนอของประชาชนที่มีต่อการพูดคุยสันติภาพด้วย

สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาจัดทำ “SUARA POLL เสียงสะท้อนชายแดนใต้” สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “จุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจ, ความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล และความสุขของประชาชนในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14 – 15 มีนาคม 2558 จากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวน 5,057 ตัวอย่างที่ล้วนมีคำตอบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ข้อคำนึงเมื่อนำโพลล์มาใช้ในชายแดนใต้/ปาตานี

อ.สุวรา กล่าวถึงสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อจะทำโพลล์ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้โพลล์สะท้อนความเห็นของกลุ่มศาสนาและชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างสมดุลได้อย่างไร? เพราะพื้นที่นี้มีสัดส่วนมุสลิมกับพุทธ 80:20 ทำอย่างไรให้การสำรวจไม่เป็นการมองข้ามความเห็นของกลุ่มคนพุทธเป็นต้น จะทำให้โพลล์เป็นอิสระและเป็นกลางได้อย่างไร? จะใช้วิธีทำโพลล์อย่างไรให้คนกล้าแสดงความคิดเห็นที่แท้จริง? รวมถึงจะมีคำถามเรื่องเอกราช (Merdeka) ในการทำโพลล์ (สันติภาพ) ได้หรือไม่? เพราะการเรียกร้องเอกราชเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไทย และที่สำคัญจะนำคู่ขัดแย้งเข้ามาสู่กระบวนการร่างคำถามสำหรับโพลล์สันติภาพได้อย่างไร? การนำเอาบุคคล/หน่วยงานต่างๆของ ‘Party A’ และ ‘Party B’ มาร่วมกันออกแบบโพลล์ จะเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง

 

คลิกอ่านบทความฉบับเต็ม

“ โพลล์ (Poll): เครื่องมือในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท