Skip to main content
sharethis

พระไพศาล วิสัชนาความเชื่อเรื่อง 'ชง' ไม่มีอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา ที่จริงกลับสวนทางกับคำสอนด้วยซ้ำ ระบุแทนที่จะเชื่อฤกษ์ยาม แนะให้มั่นคงในความดี มีความเพียร และใช้สติปัญญา จะประสบความสำเร็จ 

ช่วงก่อนสิ้นปีจนกระทั่งขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมากระแส 'ปีชง' มีการกล่าวถึงกันจำนวนมาก โดยในวันนี้(4 ม.ค.59) เว็บไซต์เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า ประชาชนจำนวนมากเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อแก้ปีชง เปิดศักราชใหม่ ปี2559 และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว พร้อมทำบุญสะเดาะเคราะห์ที่วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ตามความเชื่อส่วนบุคคล พร้อมระบุด้วยว่า โดยปีชง2559 (ปีวอก) ได้แก่ 1. ปีขาล (ชงเต็ม100%) 2. ปีวอก (ชง 75%)  3. ปีมะเส็ง (ชง 50%) และ 4. ปีกุน (ชง 25%)  

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่อง 'ปีชง' นั้น พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ได้เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo' ไว้ตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2557 ดังนี้

 
ปุจฉา - กราบนมัสการพระคุณเจ้า อยากกราบเรียนถามพระคุณเจ้าในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับการชงว่า เท็จจริงในศาสนาพุทธมีหลักคำสอนเกี่ยวกับในเรื่องนี้อย่างไร ว่าควรเชื่อในการชงหรือใช้พิจารณญาณในการดำเนินชีวิตคิดตัดสินใจ
 
พระไพศาล วิสาโล วิสัชนา - พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ฤกษ์ยามนั้นไม่สำคัญเท่ากับกรรมคือการกระทำ หากทำดีด้วยความพากเพียรแล้ว ย่อมได้รับประโยชน์ดังหวัง โดยไม่จำต้องพึ่งฤกษ์ยาม คนที่เอาแต่พึ่งฤกษ์ยาม ไม่รู้จักพึ่งตนเองนั้น ถือว่าเป็นคนโง่ ดังมีพุทธพจน์ว่า “ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนโง่ผู้มัวถือฤกษ์อยู่” อันที่จริงเมื่อใดที่เราทำความดี เมื่อนั้นก็เป็นฤกษ์ดี ยามดีอยู่แล้ว ดังมีพุทธพจน์อีกตอนหนึ่งว่า “สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นย่อมชื่อว่าเป็น ฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี”
 
มาถึงตรงนี้ก็คงจะเห็นแล้วว่าความเชื่อเรื่องชงนั้นไม่มีอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา ที่จริงกลับสวนทางกับคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยซ้ำ หากจะทำอะไรก็ตาม ก็ให้มั่นคงในความดี มีความเพียร และใช้สติปัญญา รวมทั้งคำนึงถึงคำสอนของพระพุทธองค์เรื่องสัปปุริสธรรม นั่น คือ จะทำอะไรก็ตาม ควรรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน และรู้จักบุคคล หากรู้ทั้ง 7 ประการนี้แล้ว ก็ย่อมประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่เจริญงอกงาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net