Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

วันที่ 1 ธันวาคม 2558 นับเป็นวันครบรอบ 1 ปี การพูดคุยสันติภาพปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นการพูดคุยรอบที่ 2 โดยนับจากวันที่มีการพบปะกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยกับดาโต๊ะ ศรีนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ในการพบกันครั้งนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดชะงักลงเมื่อปลายปี 2556 อันเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ทั้งนี้ การพูดคุยสันติภาพที่เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการลงนามในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น เราเรียกว่าการพูดคุยรอบที่ 1 โดยในครั้งนั้นนับเป็นกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างรัฐบาลไทยกับนักต่อสู้ปาตานี ซึ่งมีขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานีหรือ BRN เป็นตัวแทน

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลไทยได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ที่ให้มีกลไกการขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขใน 3 ระดับ ระดับบนคือระดับนโยบายในการกำกับดูแลการพูดคุยเพื่อสันติสุขโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระดับกลางคือคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นประธาน และระดับที่สามคือคณะกรรมการระดับพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพภาคที่ 4

ในระหว่างนั้นได้มีการจัดตั้งองค์กรร่มโดย 6 องค์กรขบวนการนักต่อสู้ปาตานีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 โดยใช้ชื่อว่า MAJLIS SYURA PATANI (มัจลิสชูรอปาตานีหรือสภาชูรอแห่งปาตานี) หรือ MARA Patani องค์กรนี้เกิดจากการริเริ่มโดยกลุ่มเคลื่อนไหว BRN กลุ่มหนึ่งที่เริ่มการเคลื่อนไหวในนาม MAJLIS AMANAH RAKYAT PATANI (มัจลิสอะมานะหฮ์ระยัตปาตานี หรือ สภาอามานะฮ์ประชาชนปาตานี) มาตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2557 และในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 สภาชูรอแห่งปาตานีก็ได้มีการประกาศการจัดตั้ง MARA Patani อย่างเป็นทางการ โดยมีตัวแทนจากทั้ง 6 องค์กรเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

ดังนั้น เป็นที่เข้าใจกันว่าการพูดคุยสันติสุขรอบ 2 ก็คือการพูดคุยระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย (ในนามฝ่าย A) กับคณะพูดคุย MARA Patani (ในนามฝ่าย B) ในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียยังคงมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกเช่นเดิม

การพบกันครั้งแรกระหว่างสองฝ่ายนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 ที่กัวลาลัมเปอร์ อันเป็นการพบกันอย่างปิดลับและไม่เป็นทางการเป็นครั้งแรก โดย พล.อ.อักษรา เดินทางมากับผู้ช่วย 2 คน คนแรกเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับนายทหารระดับนายพลอีกคนหนึ่ง ในขณะที่ฝ่าย MARA Patani มีตัวแทนจาก 6 องค์กร ประกอบด้วยนายอาวัง ญาบะ ในฐานะประธาน MARA Patani กับอีก 5 ผู้นำองค์กรหรือตัวแทนผู้นำองค์กรที่ก่อตัวเป็น MARA Patani

การพบกันครั้งแรกนี้ไม่ได้มีวาระที่เป็นการเฉพาะเจาะจงนอกจากการทำความรู้จักกันและเพื่อเป็นการเตรียมตัวของทั้งสองฝ่ายสำหรับการพบกันอีกครั้งหนึ่งในการพูดคุยสันติสุข พล.อ.อักษรา ได้ยืนยันว่าตัวท่านได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีและไม่มีกระบวนการพูดคุยในช่องทางอื่นนอกจากกลุ่มที่ท่านเองเป็นผู้นำ ทางด้านประธาน MARA Patani ได้แจ้งแก่ทางการไทยถึงการก่อตั้งองค์กร MARA Patani ที่จะเป็นผู้เข้าร่วมพูดคุยสันติภาพกับฝ่ายไทยต่อไป

ในการพบกันครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ทั้งสองฝ่ายและฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกเข้าร่วมเต็มคณะ MARA Patani (ฝ่าย B) นำโดยอุซตาซมูฮัมหมัดซุกรี ฮารี ฝ่ายรัฐไทยนำโดย พล.อ.อักษรา และฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกนำโดยดาโต๊ะศรี ซัมซามิน ฮาชิม ในการประชุมสั้นๆ ครั้งนั้น พล.อ.อักษราได้ยืนยันว่าตนเองไม่ใช่แค่เพียงเป็นตัวแทนของของรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่ได้กล่าวอ้างด้วยว่าตนเป็นตัวแทนประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดในการที่จะพูดคุยกับฝ่ายนักต่อสู้ ท่านยังได้เรียกร้องให้ฝ่าย B เห็นชอบร่วมกันสำหรับการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) ในเดือนรอมฎอนที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ตัวแทนฝ่าย B ได้ตั้งคำถามถึงข้อกล่าวอ้างของ พล.อ.อักษรา ที่ระบุว่าตัวท่านเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมดในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รวมไปถึงประชาชนมลายูปาตานีที่ได้ให้การสนับสนุนการต่อสู้ของพวกเรามาอย่างยาวนาน และยังรวมไปถึงบรรดานักต่อสู้บนโต๊ะพูดคุยแห่งนี้ด้วยหรือไม่? คำถามนี้ไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นรูปธรรมจากฝ่าย A แต่อย่างใด

สำหรับประเด็นการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในเดือนรอมฎอนนั้น ฝ่าย B ปฏิเสธข้อเสนอนั้นด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิด (10 วันก่อนถึงเดือนรอมฎอน) และประการที่สองซึ่งสำคัญกว่านั้นคือ กระบวนการพูดคุยครั้งนี้ยังไม่ได้มีสถานะที่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ฝ่าย B จะพิเคราะห์พิจารณาข้อเสนอนี้อย่างลึกซึ้งโดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัดใดๆ

การพบกันครั้งนั้นจบลงโดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการเริ่มต้นขึ้นใหม่ของการพูดคุยรอบที่ 2 นี้คือวันที่ 1 ธันวาคม 2557 และวางอยู่บนจิตวิญญาณ (semangat) ของการพูดคุยในรอบที่ 1 ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 กระบวนการพูดคุยครั้งนี้ยังคงเป็นอยู่ในขั้นการสร้างความไว้วางใจ (confidence building) และการพบปะกันทั้งหมดในระดับนี้ถือว่าเป็น “การประชุมที่ไม่เป็นทางการ”

การพบกันครั้งที่ 3 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2558 นับว่าเป็น “การประชุมที่ไม่เป็นทางการครั้งที่ 2” โดยมีผู้เข้าร่วมเต็มคณะจากทุกฝ่าย ในครั้งนี้ตัวแทนฝ่าย B ได้ให้ความกระจ่างอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ MAJLIS SYURA PATANI หรือ MARA Patani ต่อตัวแทนฝ่ายไทยอย่างที่มีการร้องขอ (อ้างอิง: http://www.deepsouthwatch.org/node/7204 ในภาษามลายู และ http://www.deepsouthwatch.org/ms/node/7211 ในภาษาอังกฤษ) โดยมีการนำเสนอเป็น "slide presentation" พร้อมกับเอกสารที่เกี่ยวข้องก็ได้มอบให้แก่หัวหน้าคณะฝ่าย A ผ่านผู้อำนวยความสะดวก

หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่าย A ได้กล่าวขอบคุณฝ่าย B เพราะได้ร่วมกันทำให้เดือนรอมฎอนที่ผ่านมามีสถิติเหตุการณ์ความรุนแรงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรอมฎอนในปีก่อน แม้ว่าจะมีสถิติเพิ่มขึ้นในช่วงท้าย ท่านยังเชิญชวนให้มีการแถลงข่าวร่วมกันสำหรับการเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการ ฝ่าย B ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวไป แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ยื่นข้อเสนอสามข้อเพื่อให้การพูดคุยเปลี่ยนเป็นกระบวนการที่เป็นทางการ ดังนี้

1.รัฐบาลไทยเห็นชอบที่จะประกาศและยอมรับ MARA Patani เป็นฝ่าย B ในการพูดคุยสันติภาพ (ไม่ใช่ในฐานะ “กลุ่มผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ”)

2.การพูดคุยสันติภาพต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติโดยรัฐบาลไทย และกระบวนการจะต้องมีความต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล, และ

3. ให้การคุ้มกันทางกฎหมาย (immunity) แก่สมาชิกคณะพูดคุยสันติสุข MARA Patani เพื่อเอื้อต่อความสะดวก รวมไปถึงการเดินทางมายังประเทศไทย

ฝ่าย พล.อ.อักษรา ได้ขอที่จะพิจารณาอย่างรอบด้านต่อข้อเสนอดังกล่าว และจะให้คำตอบที่ชัดเจนในโอกาสอื่น โดยในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้มีสามข้อเสนอ

1. ขอให้กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. กำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน (safety zone) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ

3. ให้ทุกฝ่ายเข้าถึงกฎหมาย / กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับฝ่าย B แล้วข้อเสนอทั้งสามข้อเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ และแน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเด็นสำคัญที่จะนำมาพูดคุยบนโต๊ะ แต่กระนั้นเมื่อกระบวนการนี้ยังคงมีฐานะที่ไม่เป็นทางการและอยู่ในขั้นการสร้างความไว้วางใจ ประเด็นต่างๆ คงไม่สามารถให้ความเห็นชอบและดำเนินการได้โดยที่ยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ฝ่าย B ได้ขอให้ฝ่าย A แสดงความจริงใจและความจริงจังด้วยการพิจารณาข้อเสนอ 3 ข้อ เพื่อที่ว่ากระบวนการดังกล่าวจะมีความเป็นทางการในที่สุด

ในช่วงท้ายของการพบปะกันครั้งนั้น ทั้งสองฝ่ายได้รับมอบร่างเอกสารกรอบข้อกำหนดในการทำงานร่วมกัน (Terms of Reference – ToR) ที่ฝ่ายมาเลเซียได้ยกร่างเตรียมไว้ให้ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ทั้งฝ่าย A และฝ่าย B ถูกร้องขอให้รับไปพิจารณา ใคร่ครวญ ตัดทอนหรือเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายเห็นควร ส่วนการพูดคุยเรื่องของ ToR นี้จะมีการกำหนดเวลาที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

ในช่วงเช้าของวันที่ 27 สิงหาคม 2558 สื่อมวลชนไทยหลายคนได้มีโอกาสพบกับตัวแทน MARA Patani ในการพูดคุยแบบโต๊ะกลม และในช่วงบ่ายได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่มีตัวแทนจากสื่อมวลชนไทย มาเลเซีย รวมทั้งสื่อมวลชนจากนานาชาติ การพบกับสื่อมวลชนทั้งสองครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานเป็นจำนวนมากทั้งสื่อมวลชนท้องถิ่น สื่อมวลชนนานาชาติและสื่อสังคมออนไลน์ MARA Patani ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าพร้อมสำหรับการพูดคุยสันติภาพเพื่อหาทางแก้ไขความขัดแย้งด้วยความเป็นธรรม ทั่วถึงและยั่งยืนสำหรับปาตานี และต่อสู้เพื่อกำหนดชะตากรรมของตนเองของประชาชน

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2015 ฝ่าย B ได้รับหนังสือตอบกลับจากปาร์ตี้ A ผ่านผู้อำนวยความสะดวก หนังสือที่ลงนามโดยหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่าย A ฉบับนั้นได้ให้ความเห็นและทบทวนอย่างละเอียดต่อข้อเสนอสามข้อของฝ่าย B ในการพบปะกันครั้งสุดท้าย  ดูเหมือนว่าฝ่าย A ได้ “จัดการ” ผสมผสานข้อเสนอของฝ่าย A และของฝ่าย B เข้าด้วยกันราวกับว่าเป็นสิ่งเดียวกันและดูจะสัมพันธ์กัน ดังนี้

1.การยอมรับสถานะของ MARA Patani เชื่อมโยงกับความปลอดภัยของประชาชนและการลดลงของความรุนแรง

2.ประเด็นวาระแห่งชาติจะเชื่อมโยงกับลำดับความสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

3.การให้ความคุ้มกันทางกฎหมายกับสมาชิกฝ่าย B จะเชื่อมโยงกับการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันทางกฎหมาย / ขั้นตอนการพิจารณาคดี

ด้วยเหตุว่าคำอธิบายดังกล่าวนั้นคลุมเครือและไม่มีความชัดเจน ฝ่าย B เลือกที่จะไม่ตอบกลับต่อหนังสือดังกล่าวและจะขอความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในการพบปะกันครั้งหน้า สิ่งที่พอจะเข้าใจได้คือ ฝ่าย A ยังคงไม่ยอมรับ MARA Patani ในฐานะฝ่าย B ยังไม่มีความชัดเจนในกรณีวาระแห่งชาติและข้อเสนอเรื่องการคุ้มกันทางกฎหมายก็ยังคงคลุมเครือ

การพบกันครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่มีเพียงสมาชิกของทั้งสองฝ่ายเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เข้าร่วม เป้าหมายการพบกันครั้งนี้มีขึ้นเพื่อพิจารณาข้อเสนอของฝ่าย A ที่จะจัดให้มีคณะเลขานุการร่วม (ฝ่าย A และ B) ร่วมกับผู้อำนวยความสะดวกเพื่อพิจารณาในเรื่องเทคนิค ในช่วงท้ายของการพบปะกันสั้นๆ นี้ ฝ่าย B ได้บอกปัดข้อเสนอนั้นเพราะกระบวนการยังไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุนั้น ทุกฝ่ายเห็นชอบที่จะให้มีการประชุมด้านเทคนิคในวันรุ่งขึ้น โดยให้แต่ละฝ่ายตั้งคณะทำงานฝ่ายเทคนิคของตนเองเพื่อพิจารณาร่าง ToR ที่นำเสนอโดยฝ่ายมาเลเซีย

ในวันรุ่งขึ้น 12 พฤศจิกายน 2558 คณะทำงานฝ่ายเทคนิคของทั้งสองฝ่ายได้พบกันเพื่อพิจารณาร่างเอกสาร TOR แต่เนื่องจากฝ่าย A ไม่ได้นำเสนอร่าง TOR ของฝ่ายตน จึงมีเพียงร่าง TOR ของฝ่าย B ที่เตรียมไว้เท่านั้นที่มีการพิจารณา ซึ่งพบว่ามีหลายจุดที่เป็นข้อขัดแย้งและมีความเห็นไม่ตรงกันของทั้งสองฝ่ายทั้งชื่อและเนื้อหาในร่างเอกสาร TOR ของฝ่าย B ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการโต้แย้งที่ยืดเยื้อ ฝ่าย B ได้มอบหมายให้ปาร์ตี้ A เพื่อพิจารณาและแก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอนในสิ่งที่ต้องการให้ฝ่าย B พิจารณาในภายหลัง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะมีการประชุมฝ่ายเทคนิคเพื่อพิจารณา TOR ในภายหลัง

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทย เช่น ศูนย์ข่าวอิศรา ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 รายการมอร์นิ่งนิวส์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 และคมชัดลึก วันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 ที่รายงานว่าในการประชุมครั้งนั้นทุกฝ่ายเห็นชอบที่จะให้มีพื้นที่ปลอดภัยในสองอำเภอ คือ บาเจาะและเจาะไอร้อง จ.นราธิวาสนั้น เราขอยืนยันว่ารายงานข่าวนั้นไม่เป็นความจริงและไม่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ประเด็นนี้ไม่ได้มีการพูดคุยกันเลยบนโต๊ะตลอดสองวันของการพบปะ เรื่องนี้ได้ถูกปฏิเสธโดย MARA Patani ผ่านสื่อมวลชนหลักของไทยไปแล้ว (อ้างอิง :http://www.deepsouthwatch.org/ms/node/7800) เรื่องนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความหวังปลอมๆ ให้กับประชาชนว่าสันติภาพใกล้จะเป็นจริง

ในช่วงหลังนี้ยังพบว่ามีการยืนยันจากโฆษกของทหารว่าเป้าหมายของพวกเขาในกระบวนการพูดคุยสันติสุขคือการลดความรุนแรงที่คาดกันว่าเป็นการปฏิบัติการของฝ่ายนักต่อสู่ฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่คนทั่วไปรับรู้ว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทำโดยฝ่ายรัฐ/ทหาร และกลายเป็นสิ่งที่ปกติในกลุ่มพวกเขาที่มักจะหลุดพ้นจากการพิพากษาเมื่อพบว่ากระทำความผิด

MARA Patani ขอย้ำในความมุ่งมั่นอีกครั้งหนึ่งที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เราขอให้ฝ่ายไทยอย่าได้พยายามหาวิธีที่จะเปลี่ยนจุดยืนนี้ด้วยการบิดเบือนไปจากประเด็นใจกลางที่สำคัญอันเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของความขัดแย้งในภาคใต้

มีการคิดคำนวณอย่างรอบคอบว่าหากฝ่ายไทยเปลี่ยนจุดยืนของตนโดยยอมรับสถานะของ MARA Patani ในฐานะที่เป็นฝ่าย B ในกระบวนการนี้แทนที่จะเรียกว่า “กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” หากว่าเรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจอย่างแท้จริง ก็เป็นไปได้ที่ฝ่าย MARA Patani เองก็จะเรียกฝ่าย A ว่า “ผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย” และแน่นอนว่าพวกเขาคงไม่ชอบใจเช่นกัน

กระบวนการสันติภาพปาตานีเป็นกระบวนการที่ยาวนาน หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงที่ปาตานีคือ ความยุติธรรม ที่เป็นความรับผิดชอบสำคัญของฝ่ายผู้ปกครองรัฐไทย มิใช่เพียงต้องปฏิบัติในการอำนวยความเป็นธรรมเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ประชาชนผู้ที่สิทธิของตนถูกละเมิดนั้นเห็นและรู้สึกได้ว่าตนได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่โหดร้ายถึงสามฉบับที่ยังคงเป็นโซ่ตรวนประชาชนอยู่ทุกวันนี้ ทั้งกฎหมายความมั่นคงภายใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก คำเตือนจากองค์การนิรโทษกรรมสากลเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ด้านลบของรัฐบาลไทยที่มาจากการก่อรัฐประหาร โดยเฉพาะในแง่ของสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

“ปราศจากความยุติธรรม ย่อมไม่มีสันติภาพ”

Abu Hafez Al-Hakim – จากนอกรั้วปาตานี

1 ธันวาคม 2015/19 ซอฟัร 1437 H

 

 

หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้แปลมาจาก SETAHUN  DIALOG  DAMAI-  di mana kita? ซึ่งเป็นบทความที่อัพโหลดในบล็อกของอาบูอาฟิซ อัลฮากีม เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นวันครบรอบการไปเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมพบปะหารือกับนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อสานต่อการพูดคุยเพื่อ “สันติภาพ” ที่ดำเนินมาตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ อาบูฮาฟิซยังเขียนบทความดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย (กรุณาดูที่ ONE YEAR of PEACE DIALOGUE - where are we?) การแปลครั้งนี้กองบรรณาธิการเลือกแปลจากต้นฉบับในภาษามลายูเป็นหลัก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net