รอบโลกแรงงานธันวาคม 2558

รัฐบาลฟินแลนด์กำลังพิจารณาจ่ายเงินเลี้ยงชีพรายเดือน ให้ประชาชนเดือนละ 800 ยูโร

(ที่มาภาพประกอบ : flickr.com/photos/photodeus)

5 ธ.ค. 2558 สถาบันประกันสังคมแห่งชาติของฟินแลนด์ (KELA) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินเลี้ยงชีพรายเดือนแบบไม่หักภาษีแก่พลเมืองเดือนละ 800 ยูโร โดยเงินรายได้พื้นฐานประเภทนี้สมควรถูกนำมาใช้แทนที่ระบบการจ่ายผลประโยชน์ด้านสวัสดิการรูปแบบอื่น ๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด หวังเป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชนฟินแลนด์ที่ว่างงาน ยอมหวนคืนสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง หลังจากที่อัตราการว่างงานในฟินแลนด์พุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และผู้ว่างงานส่วนใหญ่มักเลือกที่จะรอรับเงินช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบจากรัฐบาล หรือหางานพาร์ทไทม์ แทนการขวนขวายกลับไปหางานประจำทำอีกครั้ง

โดยผลการสำรวจความคิดเห็นเมื่อไม่นานมานี้ในฟินแลนด์โดย KELA ระบุว่าประชากรฟินแลนด์เกือบร้อยละ 69 เห็นด้วยกับรัฐบาลในการกำหนดอัตรารายได้พื้นฐานแห่งชาตินี้ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2016 เป็นต้นไป ถึงแม้แนวทางนี้จะส่งผลให้รัฐบาลฟินแลนด์ต้องแบกรับภาระด้านงบประมาณสูงถึง 46,700 ล้านยูโร ต่อปี

(qz.com, 5/12/2558)

สหภาพแรงงานกรีซประท้วงกลางกรุงเอเธนส์ รัฐหั่นบำนาญครึ่งหนึ่ง

2 ธ.ค. 2558 กลุ่มสหภาพแรงงานและประชาชนชาวกรีซประมาณ 15,000 คน ออกประท้วงในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เพื่อต่อต้านแผนปฏิรูประบบประกันสังคม โดยการประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงแรงงานเริ่มดำเนินตามแผนระบบประกันสังคมใหม่ที่มีการตัดเงินบำนาญลดลงครึ่งหนึ่ง และกำหนดระดับต่ำสุดที่ 384 ยูโร โดยเงินส่วนที่เหลือจะขึ้นอยู่กับรายได้แต่ละบุคคลและการชำระเงินประกันสังคม

(news.yahoo.com, 2/12/2558)

ชาวเกาหลีใต้นับหมื่นคนออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านนโยบายปฎิรูปแรงงาน

5 ธ.ค. 2558 ผู้ชุมนุมทั้งกลุ่มสหภาพแรงงานและปราชาชนประมาณ 14,000 คนจากหลายภาคส่วนออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลประธานาธิบดี ปาร์ค กึน-เฮ ซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็นการทำให้ประชาธิปไตยของประเทศอ่อนแอลง ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลส่งตำรวจประจำการตามจุดต่างๆในกรุงโซลกว่า 18,000 นาย ผู้ชุมนุมไม่พอใจนโยบายหลายอย่างของรัฐบาล เช่นการเปลี่ยนแปลงในภาคแรงงาน ที่เตรียมออกกฎให้บริษัทสามารถปลดพนักงานได้โดยดูจากผลงาน และตั้งเพดานเงินเดือนสำหรับลูกจ้างอาวุธโส เพื่อประตุ้นให้นายจ้างจ้างคนที่อายุน้อยกว่า

(bbc.com, 5/12/2558)

จำคุกสามี-ภรรยาอังกฤษใช้แรงงานทาสนาน 24 ปี

8 ธ.ค. 2558 ศาลอังกฤษ ตัดสินจำคุกชายชาวอังกฤษวัย 61 ปี และภรรยาวัย 58 ปี คนละ 6 ปี ในข้อหากักขังผู้อพยพชาวไนจีเรีย เพื่อใช้เป็นแรงงานทาสนานถึง 24 ปี โดยเมื่อเดือนที่แล้ว สามีภรรยาคู่นี้ ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาใช้แรงงานทาส ทำทารุณกรรมต่อเด็กและให้ความช่วยเหลือในการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จากการที่ทั้งคู่พาตัวชายไนจีเรียเข้ามายังอังกฤษเมื่อปี 2532 ขณะที่เขามีอายุเพียง 14 ปี โดยบอกว่าจะให้เรียนหนังสือ และให้ค่าแรงแต่กลับบังคับให้ทำงานถึงวันละ 17 ชั่วโมง โดยไม่ให้ค่าจ้าง ทั้งยังข่มขู่ว่าเขาจะต้องถูกเนรเทศ หากพยายามหลบหนีหรือติดต่อกับตำรวจ

(jamaicaobserver.com, 8/12/2558)

องค์กรสิทธิแรงงานสวีเดนเผยธุรกิจโรงแรมไทยกดขี่แรงงานข้ามชาติ

 

9 ธ.ค. 2558 องค์กรสิทธิแรงงานสวีเดนเผยผลสำรวจเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของไทย เมื่อ 10 ธ.ค. โดยสุ่มสัมภาษณ์แรงงานชาวพม่า 29 รายใน 7 โรงแรมในเขาหลัก จ.พังงา และโรงแรมอื่นๆ ใน จ.ภูเก็ต ขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์ 18 ราย เป็นพนักงานทำความสะอาด พนักงานเสิร์ฟ และผู้ดูแลสวน ส่วนอีก 11 รายทำงานในแผนกซักรีดและแผนกเบเกอรี่ โดยแรงงานทั้งหมดได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องทำงานเกินเวลา และมีวันหยุดน้อยกว่าพนักงานชาวไทย

(trust.org, 9/12/2558)

ลูกจ้างโครงการนิวเคลียร์อเมริกาเสียชีวิตมากกว่าไปรบอิรัก-อัฟกัน

11 ธ.ค. 2558 มีการเปิดเผยรายงานว่าลูกจ้างโครงการอาวุธนิวเคลียร์รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสังเวยชีวิตเพราะถูกรังสีมากกว่า 33,000 ราย ซึ่งเป็นยอดสูงกว่าทหารที่เสียชีวิตจากการไปรบในที่ประเทศอิรักและอัฟกานิสถานถึง 4 เท่าตัว

(pbs.org, 11/12/2558)

ฟิลิปปินส์ฟ้องนายจ้างสิงคโปร์ทารุณ

15 ธ.ค. 2558 แม่บ้านฟิลิปปินส์ฟ้องศาลดำเนินคดี นายจ้างสามีภรรยาชาวสิงคโปร์ทารุณ โดยให้เธอกินอยู่อย่างอดอยากนาน 15 เดือน จนน้ำหนักตัวเธอลดลงเหลือแค่ 29 กก.

(channelnewsasia.com, 15/12/2558)

แรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา ประท้วงเรียกร้องขอปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

18 ธ.ค. 2558 แรงงานงานเกือบ 30,000 คน ของโรงงาน 39 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) แมนฮัตตันและไทเส็งในกัมพูชา ได้ผละงานประท้วง เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเป็นการชุมนุมประท้วงหลังการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า ที่จะมีผลในเดือนมกราคม 2559 โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลกัมพูชาได้กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่สำหรับภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้าของปีหน้าไว้ที่เดือนละ 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากปัจจุบันที่อยู่ที่เดือนละ 128 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ผู้ประท้วงระบุว่าจำนวนเงินที่ปรับขึ้นให้ยังน้อยเกินไปและควรจะปรับเพิ่มเป็น 148 ดอลลาร์สหรัฐฯ

(phnompenhpost.com, 18/12/2558)

จีนเผยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์-ไอทีขยายตัวรวดเร็ว

20 ธ.ค. 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนเปิดเผยว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ภายในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 10.8 เทียบรายปีจาก ม.ค. - พ.ย. ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าระดับเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทั่วประเทศอยู่ประมาณร้อยละ 4.7 ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีรายได้ทางธุรกิจต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน

(news.xinhuanet.com, 20/12/2558)

ตำรวจกัมพูชาสลายการชุมนุมคนงานภาคสิ่งทอประท้วงขอเพิ่มค่าแรง

21 ธ.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชาได้จับกุมคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปหลายสิบคน ขณะเข้าสลายการชุมนุมประท้วงค่าแรงด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ในเขตโรงงานใกล้ชายแดนเวียดนาม ทั้งนี้กลุ่มแรงงานเคยได้คำมั่นว่าจะได้รับการปรับเพิ่มค่าแรงอีก 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แต่กลับได้รับการปรับเพิ่มเพียง 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ

(thestar.com, 21/12/2558)

รัฐบาลเกาหลีเหนือส่งคนงานกว่า 50,000 คนไปทำงานต่างประเทศหารายได้เข้าประเทศ

23 ธ.ค. 2558 มีการเปิดเผยว่าเกาหลีเหนือส่งแรงงานไปทำงานยังต่างประเทศกว่า 50,000 คน สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศราว 200-300 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เงินส่วนใหญ่จะตกเป็นของรัฐ ขณะที่คนงานจะรับเงินเพียงร้อยละ 10 ของรายได้เท่านั้น

(upi.com, 23/12/2558)

พนักงานภาครัฐในซิมบับเวประกาศว่าประท้วงหลังรัฐบาลไม่จ่ายเงินเดือนและโบนัสประจำปี

30 ธ.ค. 2558 พนักงานภาครัฐในซิมบับเวประกาศว่าประท้วงในเดือนมกราคม หลังจากที่รัฐบาลไม่จ่ายเงินเดือนและโบนัสประจำปีให้กับพวกเขาตามกำหนด ทั้งนี้พวกเขาไม่ได้รับเงินเดือนรวมถึงเงินโบนัสประจำปีจากรัฐบาล ที่เดิมมีกำหนดต้องถูกโอนเข้าสู่บัญชีเงินเดือนของพนักงานรัฐตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม

(iol.co.za, 28/12/2558)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท