สุรพศ ทวีศักดิ์: เหตุผลที่อ้าง ‘เสียงข้างมาก’ บัญญัติ ‘พุทธศาสนาประจำชาติ’ ไม่ได้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การเรียกร้องให้บัญญัติ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ เริ่มมาตั้งแต่ปี  2517  มาปรากฏอีกในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540, ฉบับ 2550 และที่กำลังรณรงค์กันอยู่ปัจจุบัน เหตุผลหลักอย่างหนึ่งคือ ข้ออ้างที่ว่า คนไทยกว่า 95 % นับถือพุทธศาสนา ฉะนั้นมองในแง่การยอมรับ “เสียงข้างมาก” ตามระบบประชาธิปไตย จึงมีความชอบธรรมที่จะบัญญัติให้ศาสนาของคนส่วนใหญ่เป็นศาสนาประจำชาติ หากมีคนเห็นต่างก็ควรทำ “ประชามติ” เสียงข้างมากเอาอย่างไรก็ควรยอมรับตามนั้น และฝ่ายเรียกร้องพุทธศาสนาประจำชาติยังคงพยายามผลักดันวาระของพวกตนด้วยเหตุผลดังกล่าวต่อไป

ปัญหาที่ไม่เคยถกเถียงให้ชัดเจนเลยคือ เราสามารถอ้างเสียงข้างมากบัญญัติให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติในสังคมประชาธิปไตยที่มีลักษณะ “พหุวัฒนธรรม” ได้หรือไม่?  ต่อไปนี้คือประเด็นปัญหาพื้นฐานที่ผมอยากจะยกขึ้นมาเพื่อชวยอภิปราย

1. อ้างเสียงข้างมากเพื่อบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญขัดหลัก “เจตจำนงทั่วไป” ตามระบบประชาธิปไตยหรือไม่? ต่อคำถามที่ว่าเสียงข้างมากสะท้อนเจตจำนงทั่วไปของประชาชน “ทุกคน” ได้หรือไม่ ในเชิงข้อเท็จจริงเป็นเรื่องซับซ้อนที่ยากจะพิสูจน์ได้ชัดแจ้ง แต่ในทาง “หลักการ” ต้องอธิบายได้ว่าภายใต้เงื่อนไขของการโหวตเสียงลงคะแนนแบบใดที่ “สามารถอธิยายได้” ว่า สะท้อนเจตจำนงทั่วไปของประชาชนทุกคนในระบบประชาธิปไตย

เช่น การลงคะแนนเสียงเลือกรัฐบาลภายใต้ระบบเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ย่อมถือกันว่าสามารถอธิบายได้ว่าเสียงข้างมากจะสะท้อนเจตจำนงทั่วไปของประชาชนได้ เนื่องจากเป็นการโหวตเลือกสิ่งที่เป็น “สากล” หมายถึง สิ่งที่ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของร่วมกัน หรือ “มีสิทธิร่วมกันอย่างเท่าเทียม” เพราะรัฐบาลที่ได้มาจากคะแนนของฝ่ายชนะ ย่อมเป็นรัฐบาลของฝ่ายแพ้โหวตเท่ากับฝ่ายชนะและทุกฝ่ายมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการบริหารงานของรัฐบาลนั้นเท่าเทียมกัน

แต่เสียงส่วนใหญ่ที่ให้บัญญัติศาสนา ก. เป็นศาสนาประจำชาติ เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่สะท้อนเจตจำนงเพื่อศาสนา ก.และศาสนิกของศาสนา ก.เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับศาสนา ข.-ฮ.และคนไม่นับถือศาสนา ฉะนั้นเสียงข้างมากที่โหวตเลือกศาสนาประจำชาติ จึง “ไม่สามารถอธิบายได้” ว่าสะท้อนเจตจำนงทั่วไปของประชาชนตามระบบประชาธิปไตย

2. เมื่อไม่สามารถสะท้อนเจตจำนงทั่วไปของประชาชนได้ จึงขัดหลัก “ความเท่าเทียมทางสิทธิ” ด้วย เนื่องจากเจตจำนงทั่วไปของประชาชนในระบบประชาธิปไตยยึดโยงอยู่กับการยืนยันความเท่าเทียมทางสิทธิ เช่นหลัก “1 คน 1 เสียง” การโหวตเลือกศาสนาประจำชาติก็คือการที่ศาสนิกของศาสนา ก.ซึ่งเป็นประชากร 95% ของประเทศกวักมือเรียกคนในศาสนา ข.- ฮ.และคนไม่มีศาสนามาลงคะแนนเสียงพร้อมกับบอกว่า “มาลงคะแนนเลือกศาสนาของพวกฉันเป็นศาสนาประจำชาติ เพื่อความภูมิใจของพวกฉันสิ ซึ่งไม่เกี่ยวใดๆกับสิทธิการเป็นเจ้าของร่วมกันและความภูมิใจร่วมกันของพวกคุณเลยนะ แต่พวกคุณ 5% มีสิทธิลงคะแนนไม่รับได้เต็มที่นะ” (ฮา ไม่ออก)

ภายใต้การโหวตแบบนี้ คนในศาสนา ข.- ฮ.และคนไม่นับถือศาสนา แม้จะมีสิทธิลงคะแนน แต่พวกเขาคือ “คนนอก” ที่ไม่มีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของหรือได้รับผลประโยชน์ใดๆจากสิ่งที่ตัวเองจะร่วมลงคะแนนตั้งแต่แรก การโหวตของพวกเขาจึงไม่ได้มีความหมายใดๆ แก่พวกเขาเลย (อีกทั้งด้วยจำนวนที่พวกเขามีเพียง 5% ของประชากรทั้งประเทศ โอกาสที่จะชนะการโหวตเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว) ฉะนั้นการโหวตภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวจึงขัดหลัก 1 คน 1 เสียง เพราะเสียงของของคนที่ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของหรือได้รับผลประโยชน์ใดๆ ในสิ่งที่เขาจะลงคะแนนเลือก (ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้) เป็นเสียงที่ “ไม่มีความหมาย” หรือ “ไม่เท่าเทียม” กับเสียงของผู้นับถือศาสนาที่จะให้บัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติ

3. ข้ออ้างที่ว่าต้องการบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญเพื่อ “ความภูมิใจ(?)” หรือยกย่องศาสนาของคนส่วนใหญ่เท่านั้น นอกจากไม่สมเหตุสมผล เพราะขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย 2 ข้อดังกล่าวแล้ว(เป็นอย่างน้อย) ยังเป็น “ข้ออ้างที่ไม่จริง” เนื่องจากการเรียกร้องพุทธศาสนาประจำชาติเป็นการเรียกร้องบนฐานของการยืนยันหลักการอื่นๆเป็น “แพ็คเก็ต” (packet)เช่น ยืนยันระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกัฐศาสนาในรูปแบบที่องค์พุทธศาสนา เช่นองค์กรปกครองสงฆ์ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ฯลฯ เป็นองค์ของรัฐ มีอำนาจรัฐ ยืนยันหน้าที่ของรัฐในการออกกฎหมายวางระบบการปกครองและการศึกษาสงฆ์ รัฐมีนโยบายส่งเสริมการนำหลักธรรมพุทธศาสนาไปพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและสังคม บังคับเรียนวิชาศีลธรรมพุทธศาสนาในโรงเรียน บนท่าทีที่ปฏิเสธการเรียนจริยธรรมสากล ฯลฯ

ฉะนั้น พุทธศาสนาประจำชาติที่มาพร้อมกับแพ็คเก็ตดังกล่าว ทำให้รัฐไทย “ไม่สามารถ” เป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้ เพราะทำให้รัฐไทยปัจจุบันมี “หน้าที่ทางศาสนา” ไม่ต่างจาก(หรือมากกยิ่งกว่า)รัฐสมัยราชาธิปไตย-สมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก ทำให้รัฐไทยแม้จะปกครองด้วยหลักการทางโลกแต่มีบทบาททางศาสนาสูงมากมีสภาพเป็น “รัฐกึ่งศาสนา (semi-religious state)”

4. ในรัฐกึ่งศาสนาไม่สามารถจะมี “เสรีภาพทางศาสนาแบบเสรีนิยม” ได้ เพราะหลักเสรีภาพทางศาสนาแบบเสรีนิยมนั้น รัฐมีหน้าที่เพียงรักษา “สิทธิ” ที่ปัจเจกบุคคลจะเลือกนับถือและไม่นับถือศาสนาใดๆ เท่านั้น

เหตุผลในการรักษาสิทธิดังกล่าว เพื่อที่จะให้ปัจเจกบุคคลมีอิสระในการเลือก “คุณค่า” ความดี หรือสิ่งที่ดีใดๆสำหรับชีวิตตนเอง ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าตามความเชื่อทางศาสนา ปรัชญา อุดมคติใดๆ หรือคุณค่าชีวิตใดๆที่ปัจเจกบุคคลเลือกกำหนดให้กับตนเอง แปลว่ารัฐเพียงรักษา “สิทธิ” ใน “กรอบที่เป็นกลาง”ทางคุณค่า รัฐไม่ได้เลือก “เนื้อหา” ของคุณค่าหรือศาสนาใดๆสำหรับบังคับปลูกฝังแก่พลเมือง รัฐเพียงแค่รักษาสิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกเท่านั้น
ฉะนั้น การจะมีเสรีภาพทางศาสนาแบบเสรีนิยมได้ รัฐจึงต้อง “เป็นกลางทางคุณค่า-ศาสนา” ในสายตาของรัฐ ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ผี ศาสนากุ๊กกิ๊ก และ ฯลฯ มีค่าเท่ากัน รัฐจะไม่ไปคิดแทนพลเมืองว่าศาสนา ก.หรือ ข.ดีสำหรับพวกเขามากกว่า เพราะปัจเจกแต่ละคนเท่านั้นคือผู้ที่จะบอกได้จริงๆว่า อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับตน

แต่รัฐกึ่งศาสนาไม่อาจรักษาสิทธิที่เป็นกลางเช่นนั้นได้ เนื่องจากรัฐต้องทำหน้าที่ทางศาสนาดังกล่าวแล้ว เสรีภาพทางศาสนาที่เรามีในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เสรีภาพทางศาสนาแบบเสรีนิยม แต่เป็น “เสรีภาพทางศาสนาแบบไทย” ภายใต้รัฐไทยที่เป็นรัฐกึ่งศาสนา ที่รัฐมีหน้าที่กำหนดคุณค่าตามความเชื่อของพุทธศาสนาเป็น “คุณค่าหลัก” ของสังคม และมีอำนาจบังคับปลูกฝังคุณค่าดังกล่าวผ่านระบบการศึกษาของชาติ

จะเห็นว่า การพยายามอ้างหลักการประชาธิปไตยคือหลัก “เสียงช้างมากเพียวๆ” มาสนับสนุนการบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติ โดยไม่พิจารณาความสัมพันธ์กับหลักการพื้นฐานอื่นๆ เช่นหลักเจตจำนงทั่วไปบนพื้นฐานของการยืนยันความเท่าเทียมทางสิทธิ และหลักเสรีภาพทางศาสนาตามกรอบเสรีนิยม เท่ากับเป็นการยืนยัน “ประชาธิปไตยแบบไทย” เพื่อปฏิเสธ “เสรีนิยมประชาธิปไตย”  ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาประชาธิปไตยในบ้านเรามากยิ่งขึ้น

ยิ่งกว่านั้น การพยายามอ้างว่า “บางประเทศ” ในยุโรปยังมีศาสนาประจำชาติ นั่นเป็นการอ้างโดยไม่เข้าใจว่าเป็นการ “ผ่อนปรน” หลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยต่อเหตุผลบางประการทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ไม่ใช่บางประเทศที่ว่านั้นได้อ้างหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยมาสนับสนุนการมีศาสนาประจำชาติตั้งแต่แรก

ยิ่งกว่านั้น นักคิดยุโรปและตะวันตกก็พยายามอ้างหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยเพื่อ “ลดอิทธิพลศาสนาลงให้มากที่สุด” ตลอดมา โดยพยายามจำกัดทั้งในแง่ “พื้นที่” ว่า ศาสนาสามารถเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ เช่นโรงเรียน สถานที่ราชการได้แค่ไหนอย่างไร หรือเข้าไปไม่ได้เลย หรือจำกัด “ประเด็น” เช่นการอ้างความเชื่อทางศาสนาในการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับสิทธิและความยุติธรรม หรือการออกกฎหมายต่างๆ ศาสนาควรเลือกความเชื่อที่ไปกันได้กับหลักการสากล หรือหลักการที่ส่งเสริม “ความเป็นมนุษย์” ของคนทุกศาสนาและไม่นับถือศาสนาอย่างเท่าเทียมเท่านั้นมาอภิปราย จะนำ “ความเชื่อเฉพาะ” ที่เป็นแนวปฏิบัติของคนในศาสนานั้นมาอภิปรายเรื่องสาธารณะไม่ได้ หรือนักคิดบางคนก็เสนอห้ามนำความเชื่อทางศาสนาใดมาอภิปรายเรื่องสาธารณะ หรือเรื่องทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง ให้ถือว่าศาสนาเป็นคุณค่าส่วนตัวของปัจเจกแต่ละคนเท่านั้น

ฉะนั้น การพยายามอ้าเสียงข้างมากเพียวๆ มาสนับสนุนการบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานอื่นๆของระบบประชาธิปไตย และเป็นการถอยหลังลงคลองอย่างน่าเศร้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท