Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในความรู้สึกร่วมกันของประชาชน เมื่อกล่าวถึง “การเมืองไทย” ต่างมีความรู้สึกนึกคิดที่เหมือนและคล้ายๆกัน ต่อความหวังที่ว่าเมื่อไหร่การเมืองของประเทศไทยจะดี พัฒนา มีความมั่นคงเป็นหลักเป็นฐาน ที่ยั่งยืนของชาติตลอดไปอย่างประเทศที่เจริญแล้วเสียที คำถามและความหวังที่ประชาชนรอคอยนี้จะเกิดขึ้นเป็นจริงได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ความจริงใจ จริยธรรม และ เที่ยงธรรมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเขียนกติกาทางการเมืองในเวลานี้เป็นสำคัญ

ความรู้และความเข้าใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดมากกว่าอำนาจ ทั้งนี้ เพราะเป็นการพ้นวิสัยที่อำนาจจะสามารถดลบันดาล ลิขิตการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ได้อย่างใจ ถ้าเรารู้จักคิดสักหน่อยว่าการเมืองล้วน ๆ โดยปราศจากความสัมพันธ์อื่น ๆ ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ การค้า สังคมและวัฒนธรรม นั้นมีน้อย หรือเกือบแทบไม่มีเลย สุดแต่ว่าเราจะเชื่อมโยงมันได้หรือไม่   ดังนั้นใครที่พกพาสูตรสำเร็จว่าจะแก้ปัญหาการเมืองจากอำนาจการเมืองล้วน ๆ ขอให้เตรียมใจผิดหวังได้เลยเพราะเป็นการยากที่เราจะอาศัยกติกาการเมืองบางด้าน ไปตอบโจทย์อย่างอื่น เช่น  ในด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตการกินดีอยู่ดีของประชาชนได้

ในเวลานี้ สังคมการเมืองไทยเรากำลังจะอยู่ระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานร่างฯ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปฯ มีอันต้องตกไปพร้อม ๆ กับสภาปฏิรูปการเมือง จนต้องมีคณะกรรมการยกร่าง รธน. กลุ่มใหม่ขึ้นมาอีกกลุ่มนำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นัยว่าจะนำร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ให้ประชาชนโหวตผ่านการออกเสียงลงประชามติว่า จะยอมรับให้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดเป็นกรอบกติกาการเมืองของประเทศต่อไปในระยะยาวหรือไม่ เราจึงต้องรอดูว่าร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นอย่างไรประชาชนจะรับหรือไม่รับในกติกาทางการเมืองดังกล่าว ด้วยเหตุผลอย่างไร หรือถ้าจะต้องตรวจสอบคุณภาพความเหมาะสมของรัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ มีเครื่องมือชี้วัดหรือประเมินร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างไร การประเมินการชี้วัดที่ว่านี้คงไม่ใช่จะต้องตัดสินใจเหมือนการประกวดนางงาม หรือการประกวดภาพถ่าย หากแต่ประชาชนจำต้องรู้เท่าทันกฎกติกาที่ร่างมาจริง ๆ ว่า  มีที่มาที่ไป เบื้องหน้าเบื้องหลัง มีความถูกต้อง บนฐานความรู้ความเข้าใจการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ และ เป้าหมายสำคัญทางประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์อย่างไร นอกจากสาระอื่น ๆ ที่ถูกกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ในจำนวนนี้การตรวจสอบหลักการพื้นฐานที่แสดงออกจากร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะช่วยเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง ในที่นี้ผมเห็นว่า


1. มีรัฐธรรมนูญไว้ทำไม

การบริหารจัดการบ้านเมืองทั้งทางการปกครองเศรษฐกิจและสังคมของชาติ จำเป็นต้องมี กฎกติกา หรือ มีขื่อ แป ภาษาบ้าน ๆ ของเรา ที่อาจอยู่ในรูปกฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักอักษร หรือ จารีตประเพณีทางการเมืองที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งกอปรเป็นหลักการและเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกฎกติกาที่ว่านั้นคือ การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น เรามีรัฐธรรมนูญไว้เพื่อการจำกัดอำนาจรัฐเป็นสรณะ บนพื้นฐานที่อำนาจอยู่ที่ประชาชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การใช้อำนาจดังกล่าวนั้น หลุดพ้นจากการตัดสินใจโดยอำเภอใจ (arbitrary) ไม่มีกฎ ไม่มีเกณฑ์ หรือ เป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง มาอยู่ภายใต้กฎกติกาซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องและเห็นพ้องร่วมกัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้รัฐธรรมนูญจึงเป็นตัวสร้างหลักประกัน ส่งต่อให้หลักการทางกฎหมายสำคัญอื่น ๆสามารถบังคับใช้ให้ได้ผลเช่น หลักนิติธรรม (rule of law) หลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (human rights) หรือ สิทธิขั้นมูลฐานของพลเมือง (basic rights) หลักทั่วไปเกี่ยวกับความยุติธรรม (principle of justice and fairness) หลักประกันความเป็นอิสระของศาล (basic principle on the independence of judiciary) หลักการแบ่งแยกอำนาจและตรวจสอบถ่วงดุล (checks and balances and separation of power) และหลักอื่น ๆ อีกมากมายที่มุ่งและตอบสนองต่อการเป็นหลักประกันในการใช้อำนาจ และ จำกัดอำนาจ ความในข้อนี้ จึงอย่าได้เข้าใจผิด แปลความผิด หรือวินิจฉัยผิดๆว่า เจ้าตัวรัฐธรรมนูญ เป็นตัวให้กำเนิดหลักการสำคัญ ๆ ที่ว่ามานี้ เพราะจะทำให้การใช้กฎหมายเบี่ยงเบนหรือผิดเพี้ยน แบบศรีธนญชัย ในการบัญญัติหรือไม่บัญญัติหรือให้เกิดความคลุมเครือในการวินิจฉัย เช่นอย่างกรณีการบัญญัติสิทธิในข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเคยมีการวินิจฉัยตีความว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะรู้ในข้อมูลข่าวสาร แต่กฎหมายไม่บอกว่าทางราชการจะต้องส่งมอบข้อมูลข่าวสารที่ขอ เป็นต้น ทำให้เกิดข้อกังขาขาดมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐาน หรือข้อกังขาเรื่องสองมาตรฐาน อย่างที่กล่าวอ้างกันมาในอดีต  หลักการสำคัญที่ว่านี้ อย่างไรเสีย เป็นสิ่งที่มีอยู่ (existing) หรืออาจเรียกว่าถูกฝังไว้ในสังคม (embedded)  ที่ศาลและองค์กรทางการเมืองมีหน้าที่ต้องนำมาพิจารณาปรับใช้ ในฐานะที่เป็นหลักการสำคัญทางกฎหมาย จะอ้างไม่รู้ไม่เห็น ว่าไม่มี  ไม่เคยปฏิบัติ หรือ รัฐธรรมนูญไม่บัญญัติไว้ไม่ได้

ฉะนั้นโดยฐานะของรัฐธรรมนูญ หากมีลักษณะที่ขยายเพิ่มอำนาจรัฐเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไร้ขอบเขตข้อจำกัด และ ไม่นำพา ก่อให้เกิดหลักประกัน  ให้หลักการสำคัญที่กล่าวข้างต้นนี้สามารถบรรลุผลได้ เป็นต้นว่าการเขียนรัฐธรรมนูญจำกัดเขตอำนาจ (jurisdiction) และทำลายความเป็นอิสระของศาล ลดอำนาจศาลลงจนทำให้ศาลขาดความสามารถ (competence) หรือ ก่อตั้งอำนาจพิเศษให้สถาบันการเมือง กลุ่มหรือบุคคลใด ๆ มีอำนาจพิเศษก้าวก่ายเหนืออำนาจของอีกฝ่ายซึ่งมีลักษณะที่ขัดหรือสวนทาง กับหลักการแบ่งแยกอำนาจและถ่วงดุลนั้น  เป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังถือเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐ (abuse of power) ที่จะต้องรับผิดชอบกับประชาชนในท้ายที่สุด


2. ความเป็นสากล และ ความเป็นลักษณะเฉพาะ (sui generis)

สังคมวิทยาทางการเมืองไทย เราจะเคยได้ยินวาทะกรรมทางการเมืองที่ว่า ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ  สภาพปัญหาและความเป็นจริงทางการเมืองของไทย เป็นอย่างโน้นอย่างนี้  ดังนั้นจึงต้องจำเป็นมีกฎกติกาเฉพาะพิเศษ  หรือ ปฏิเสธความเป็นสากลและประชาธิปไตย จนเข้าไปรุกราน ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ทุบทิ้งทำลายหลักการรัฐธรรมนูญ สร้างมายาคติความเชื่อในเรื่อง ความยุติธรรมตามที่เขียน หรือ “ความยุติธรรมตามกฎหมาย” ปราศจากการจำแนกแยกแยะถึงความถูกต้องของ “กฎหมาย” ที่ถูกต้อง และ “คำสั่ง” ที่ถูกต้อง บังคับได้ เป็นอย่างไร

การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดกฎกติกาทางการเมือง ที่ผู้เขียน เขียนกติกาให้คนอื่นปฏิบัติหรือบังคับให้ยึดถือปฏิบัติ   ที่อ้างความเป็นพิเศษเฉพาะของสังคมการเมืองไทย ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากลนั้น อาจเป็นความเบี่ยงเบนในการใช้อำนาจ ละเลยความคิดและหลักการที่ถูกต้องเป็นเหตุเป็นผล และมีแนวโน้มที่นำไปสู่การบิดเบือนการใช้อำนาจ (abuse of power) หยุดยั้งการพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยของประเทศในท้ายที่สุด

ทั้งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เมื่ออำนาจดังกล่าวถูกนำไปใช้โดยศาลที่ถูกจัดตั้งขึ้น เพราะสังคมโลกอย่างปัจจุบัน ยุคความเป็นรัฐแบบนานาชาติ (multi state nations) ที่มีความผูกสัมพันธ์ในพันธะกรณีระหว่างประเทศ (International obligations) นั้น  เป็นเรื่องยากและพ้นวิสัยเป็นไปไม่ได้ที่รัฐชาติจะคงใช้วัฒนธรรมทางกฎหมายที่เบี่ยงเบนผิดเพี้ยนที่ว่านี้ได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องรับผิดชอบอีกต่อไป ในประการสำคัญกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือการนำไปสู่สภาวะ การขาดความน่าเชื่อถือในกฎหมายและการใช้กฎหมายของประเทศในระยะยาว เพียงเพื่อแลกกับความต้องการที่จะหลบหลีกบังคับใช้ให้การเมืองแบบไทย ๆ มีฐานะเป็นกติการัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศไทย  โดยคิดสั้น ๆ ไม่คำนึงถึงว่า วันหนึ่งเมื่อข้อพิพาทขัดแย้งนั้น ๆ  ไปตกอยู่ในเขตอำนาจทางกฎหมายนานาชาติ  (International jurisdiction) อื่น ๆ แล้ว จะใช้อ้างได้โดยถูกต้อง และ ยอมรับได้หรือไม่

การอ้างหลักการพิเศษเฉพาะ หรือ sui generis เพื่อดำรงรักษาความเป็นไทย ๆ ที่จะสร้างขึ้นมาในทางการเมืองนั้น  อาจกล่าวอ้างได้ในระดับระหว่างประเทศ แต่มิใช่บนพื้นฐานโดยอำเภอใจ (arbitrary basis) หากแต่จะต้องครอบคลุมถึงเป้าหมายปลายทาง ในหนทางที่ดี ทั้งยังเป็นการพัฒนาหลักการพื้นฐานแต่เดิมให้ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยความสุจริต (bona fide)  มากกว่าการสนองตอบต่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดตามอำเภอใจ หรือ เจตนาที่จะหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ที่คับแคบในทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงอนาคต


3. การกำหนดสถานะและพื้นที่ทางการเมือง เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สันติธรรม

อันตรายและภัยคุกคามที่ซ่อนเร้นน่ากังขาต่อประเทศไทย ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและยากต่อการเข้าใจเผชิญหน้าท้าทาย นับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสถานะและบทบาทของรัฐชาติ (Nation State) อันเป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนการจัดระเบียบโลกใหม่ หรือ New World Order ให้เข้าสู่ระบบเสรีนิยมยุคใหม่ผ่านกระบวนการโลกาภิวัตน์
(globalization process)  และ การโลกาภิวัตน์ทางสงคราม (globalization of Wars) ในภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองหลายแห่งของโลก ซึ่งประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแยกไม่ออก

ยังผลที่มีนัยสำคัญต่อรัฐชาติยุคใหม่ที่จำเป็นต้องปรับตัว ทบทวน และเปลี่ยนแปลง ให้มีความสามารถเผชิญและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเช่นที่ว่านี้ได้  โดยจำต้องเพิ่มบทบาทและสถานะพื้นที่สาธารณะทางการเมือง  ให้มีนัยตอบสนองต่อการตัดสินใจบนฐานความรู้ให้ได้จริง ๆ เท่านั้น ชาติถึงจะอยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้  ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยด้านลบที่ล้าหลังของระบบราชการ ปัญหาคอรัปชั่น และ ความไม่โปร่งใสในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ การขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของพรรคการเมือง สถาบันนิติบัญญัติ ศาลและตุลาการ รวมถึงปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทย ซึ่งจะเป็นอุปสรรค์ที่จะนำชาติเข้าเผชิญบนความเสี่ยงนี้ได้อย่างเท่าทัน มีอำนาจต่อรองที่ดี นวัตกรรมใหม่ทางรัฐธรรมนูญถ้าจะมีและพัฒนาก่อร่างสร้างขึ้นมาใหม่ ในความเห็นของผมที่ดีที่สุดคือ การแบ่งพื้นที่และกำหนดสถานะใหม่ทางการเมือง  ซึ่งแน่นอนไม่อาจเกิดขึ้นแบบมาตรการ กลไก แบบสูตรสำเร็จ หากแต่จำต้องพิจารณาเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ นอกระบบราชการ ให้เข้ามาทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม ผสมผสานเข้ากับสถาบันองค์กรทางการเมืองที่มีอยู่ให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีความรอบคอบรัดกุม เพื่อประคับประคองนำประเทศสู่จุดมุ่งหมายและแนวทางแห่งความเป็นกลางและสันติธรรมซึ่งเป็นกรอบใหญ่ให้ได้ 

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทำ ๆ กันมา จะออกมาในรูปแบบใด มีเนื้อหาสาระอย่างไรไม่อาจทราบได้ คงอีกไม่นานก็จะตกอยู่ในมือประชาชน เพื่อพิจารณาร่วมกันจะรับหรือไม่รับ ในปีพุทธศักราชใหม่ 2559 ที่กำลังจะมาถึง  จากประสบการณ์การเรียนรู้ของเราที่ผ่านมาคิดว่า ประชาชนอย่างเรา ๆ คงจับต้นชนปลาย พอมองออกว่า วิกฤติรัฐธรรมนูญ วิกฤติทางการเมือง และ ความวุ่นวายทางสังคมการเมืองที่นำชาติมาติดกับดักในเวลานี้ มาจากสาเหตุใด เมื่อได้มีการเลือกแล้วในทางการเมืองการปกครองที่ยึดการปกครองโดยรัฐธรรมนูญเป็นหลัก  จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ฐานคิดที่สำคัญของรัฐธรรมนูญ  ปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญซึ่งรัฐธรรมนูญจะต้องสร้างหลักประกัน ให้เกิดมรรคผลในการควบคุมการใช้อำนาจ ในประการสำคัญที่จำเป็นต้องกำหนดสถานะบทบาททางการเมืองใหม่ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนผ่านของรัฐชาติสมัยใหม่ให้ได้  ทั้งสามประเด็นข้างต้นนี้ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ ถ้าเราต้องการพัฒนาการเมืองไทยให้เจริญก้าวหน้ากันจริง ๆ เว้นเสียแต่เราต้องการเพียง เล่นการเมือง  เพื่อเป็นเกมส์การเมืองที่ต่างฝ่ายต่างต้องการเข้ามาเล่น ในขณะที่โอกาสของคนในชาติถูกจับมาเป็นเชลยศึก   ระวังอย่าให้ใครมาว่าทีหลังว่า ประเทศเรากำลังเดินเข้าสู่รัฐที่ล้มเหลว (failure state) ก็แล้วกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net