สหภาพแรงงาน ซันโค โกเซ ชุมนุมกระทรวงแรงงาน หลังเจรจานายจ้างเหลว

เจรจาเหลว หลังสหภาพแรงงาน ซันโค โกเซ ประเทศไทย เดินทางมาปักหลักชุมนุมที่กระทรวงแรงงานเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือในการเจรจากับนายจ้าง
 
 
สมาชิกสหภาพแรงงาน ซันโค โกเซ ประเทศไทย เดินทางมาปักหลักชุมนุมที่กระทรวงแรงงานเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือในการเจรจากับนายจ้าง ตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 6 ม.ค. 2559 
 
 
6 ม.ค. 2559 เว็บไซต์ voicelabour.org รายงานว่า เวลา 02.00 น. สหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย พาสมาชิกกว่าห้าร้อยคน เดินทางจากจังหวัดระยองมากระทรวงแรงงาน เพื่อมาขออาศัยพื้นที่กระทรวงแรงงานชุมนุม เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2558 บริษัทซันโคโกเซ ประเทศไทย จำกัด ใช้สิทธิปิดงาน ทางสหภาพแรงงานจึงได้ตั้งเต้นท์ชุมนุมหน้าบริษัทฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ทางบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน ขอหมายศาลให้รื้อถอนเต้นท์ที่ตั้งชุมนุมหน้าบริษัทฯ ประกอบกับผลการเจรจาข้อเรียกร้องกับทางบริษัทฯไม่มีอะไรคืบหน้า

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความวิตกกังวลใจต่อลูกจ้างมากยิ่งขึ้นว่าอาจนำไปสู่การเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด มากกว่าการเจรจาข้อพิพาทแรงงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้วางหลักการไว้แล้ว จึงได้ตัดสินใจเดินทางมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ และนำมาสู่การประชุมในเวลา 10.20 น.

ตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน นำหารือโดยนายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน (ทำหน้าที่อภิปรายและชี้แจงคำตอบเป็นส่วนใหญ่), นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน, นายสมหวัง หมอยาดี ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง

ตัวแทนจากสหภาพแรงงานฯ นำโดย นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, นายเสมา สืบตระกูล สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, นายไพฑูรย์ บางหลง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่อมตะนคร, นายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานฯ และสมาชิกกว่า 20 คน

กระบวนการประชุมเริ่มต้นด้วยตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงานได้ฉายภาพความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐทราบสถานการณ์ หลังจากนั้นทางกระทรวงแรงงานได้ตอบข้อซักถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

สามารถสรุปประเด็นสำคัญในการตอบข้อซักถามได้ 5 ประเด็น ดังนี้

(1) นายจ้างมีความไม่ไว้วางใจสมาชิกสหภาพแรงงานว่าถ้ามีการเจรจาไปและยังคงเปิดให้สมาชิกสหภาพแรงงานทำงานในสถานประกอบการร่วมด้วย อาจมีความเสี่ยงต่อกระบวนการผลิต โดยนายจ้างอ้างว่าที่ผ่านมามีครั้งหนึ่งที่ลูกจ้างจำนวนกว่า 400 คน ได้มีการลาป่วยพร้อมกันและส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตที่ต้องส่งให้ลูกค้า จึงทำให้ต้องใช้มาตรการปิดงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้กำหนดไว้ และมีการนำพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานแทน เพื่อให้กระบวนการผลิตดำเนินไปได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

(2) นายจ้างอ้างว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามสามารถจ่ายโบนัสให้ลูกจ้างได้เพียง 0.6 เดือนเท่านั้น แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานหรือสหภาพแรงงานฯเองจะให้ข้อมูลเปรียบเทียบถึงจำนวนโบนัสที่เคยจ่ายในปีที่ผ่านมา รวมถึงตัวเลขงบดุลต่างๆ แต่ทางนายจ้างก็ยังยืนยันตามเดิมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขแต่อย่างใด ทั้งนี้นายจ้างได้อ้างเรื่องการมุ่งการแข่งขันกับสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อให้บริษัทฯสามารถอยู่รอดได้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องลดขนาดองค์กรลง และมีการนำลูกจ้างรับเหมาค่าแรงงานเข้าทำงานแทนที่พนักงานประจำ เพื่อลดต้นทุนการบริหารงานองค์กรไม่ให้ขาดทุน

(3) สำหรับในกรณีที่ทางสหภาพแรงงานฯได้ทำหนังสือถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานตามมาตรา 11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น ทางตัวแทนจากกระทรวงแรงงานได้แจ้งว่า ตามการนัดหมายจะมีการเข้าตรวจสอบในวันพรุ่งนี้ คือ วันที่ 7 มกราคม 2559 อย่างไรก็ตามตนเองได้แจ้งให้ระงับไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศที่ไม่ดีในการเจรจามากขึ้น ดังนั้นเมื่อการเจรจาได้ข้อยุติจึงจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้เห็นว่าการที่บริษัทฯได้นำแรงงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด หน้าที่กระทรวงแรงงาน คือ พิจารณาว่าบริษัทจัดสวัสดิการได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่เพียงเท่านั้น แต่ไม่สามารถห้ามการใช้แรงงานเหมาค่าแรงได้แต่อย่างใด

(4) ทางกระทรวงแรงงานได้นัดตัวแทนนายจ้างเข้ามาหารือในวันนี้ เวลา 16.30 น. อย่างไรก็ตามไม่มีข้อบ่งชี้หรือยืนยันใดๆ ว่านายจ้างจะมาหรือไม่มาแต่อย่างใด รวมถึงการเจรจาเพื่อแสวงหาข้อยุติและทางออก ทั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานแจ้งว่าสุดท้ายอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่การเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่ภาครัฐที่จะจัดการได้แต่อย่างใด นอกจากนั้นยังแจ้งว่าอำนาจทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นสำคัญเพียงเท่านั้น

(5) ทางกระทรวงแรงงานได้แจ้งเรื่องการที่ไม่สามารถอนุญาตให้สหภาพแรงงานฯสามารถอยู่ค้างคืนที่บริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงานได้ เนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ จึงแจ้งให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณภายนอกกระทรวงแรงงานแทน อีกทั้งยังได้แจ้งว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นและส่งผลเสียหายต่อทรัพย์สินภายในกระทรวงในเวลาวิกาล ทางสหภาพแรงงานฯต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น

ด้านนายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า “มีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานหลายท่าน เช่น เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดระยอง, เจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, รองปลัดกระทรวงแรงงาน, รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ นายจ้างไม่สนใจด้วยซ้ำไป และยังได้กล่าวในห้องเจรจาต่อหน้าทุกคนว่าต่อให้นายกรัฐมนตรีมาเองบริษัทฯก็ไม่มีจะให้ ดังนั้นในเมื่อสหภาพแรงงานฯได้ดำเนินการผ่านมาทุกขั้นตอนทุกระดับแล้วแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ อีกทั้งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ทางการนิคมอิสเทิร์นซีบอร์ดได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานให้แกนนำสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย รื้อถอนเต๊นท์ออกจากพื้นที่การนิคมฯเป็นการด่วน ทางสหภาพแรงงานฯจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน หวังว่าทางกระทรวงแรงงานจะช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพวกเรา แต่ทางกระทรวงแรงงานกลับให้พวกเราไปชุมนุมหน้ากระทรวงฯก่อน สี่โมงเย็น แล้วพวกผู้หญิง พวกน้องที่ท้องจะอยู่อย่างไรแล้วถ้าชุมนุมริมถนนประชาชนที่สัญจรไปมาก็เดือดร้อนอีก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา พวกเราอยากจบอยากเข้าไปทำงาน และประเด็นของปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวเงินแต่อยู่ที่ความสุจริตใจในการเจรจาของนายจ้างเช่น ถ้าอยากลดคนงานแต่ทำไมกลับจ้างพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามา เงินจ่ายโบนัสไม่มี แต่เตรียมเงินไว้สำหรับจ้างพนักงานประจำออกถึงสามสิบล้านบาท มันหมายถึงอะไร”

ล่าสุดเวลาประมาณ 16.30 น. ทางด้านผู้แทนนายจ้างนำโดย นาย นาคาโอะ ประธานบริษัทซันโคโกเซ ประเทศไทย จำกัด ได้ขึ้นไปเจรจากับทางทีมไกล่เกลี่ยของกระทรวง ก่อนที่ทางตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงาน จะร่วมเจราในเวลา 17.30 น.ซึ่งการเจรจาสิ้นลงเมื่อเวลา 19.00 น.โดยทางนายจ้างยังยืนยันเหมือนเดิมและทางฝ่ายกระทรวงแรงงาน ก็ยังยืนยันที่จะให้ทางฝ่ายลูกจ้างเลิกชุมนุม หากไม่เลิกจะใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งทางฝ่ายลูกจ้างก็ยืนยันจะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ

เวลา 19.20 น. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญ ประธานสหภาพแรงงานฯและนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้าพบและได้ใส่กุญแจมือทั้งสองคน จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน พร้อมทั้งเตรียมเจ้าหน้าที่กว่า 2 กองร้อย เตรียมสลายการชุุมนุม แต่ยังไม่มีคนงานยอมกลับบ้าน ด้วยห่วงผู้นำแรงงานที่ถูกกักตัว

เวลา 22.56 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'Nok Voice Labour' รายงานว่า ตอนนี้ปล่อยตัวแล้ว และตอนนี้ตำรวจเอารถมารับคนงานกลับแล้ว 
 
 

ตอนนี้ปล่อยตัวแล้ว และตอนนี้ตำรวจเอารถมารับคนงานกลับแล้ว เห็นประธานสหภาพชี้แจงว่ารมว.แรงงานรับปากจะนั่งไกล่เกลี่ยวันศุกร์นี้

Posted by Nok Voice Labour on 6 มกราคม 2016

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท