Skip to main content
sharethis

6 ม.ค. 2559 ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" กรณี บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จํากัด ผู้ประกอบกิจการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองและเงิน ส่งหนังสือถึงคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มมส. ให้ตักเตือนเรื่องการแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กของตนเองในกรณีเหมืองทองพิจิตรว่า เขาได้รับจดหมายเมื่อ 19 ธ.ค. 2558 ทั้งนี้ ทางคณะไม่ได้ว่าอะไร และตนเองได้ชี้แจงต่อคณบดีเกี่ยวกับการที่ตนเองและนิสิตไปพบกับประชาชนที่คัดค้านเหมืองว่า เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาสิทธิมนุษยชน และเป็นสิทธิของตนเองและนิสิตในการรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าบริษัทเดือดร้อนเรื่องอะไร

ส่วนเนื้อหาที่ตนเองโพสต์ในเฟซบุ๊กนั้น เขาชี้แจงว่า ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งความคืบหน้าจากชาวบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้สังคมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง พวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไร และเพื่อสื่อสารให้สังคมช่วยสนับสนุนชาวบ้าน เช่น ระดมทุน นำเงินไปเป็นค่าเดินทางในการร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐและไปรักษาพยาบาล รวมถึงมอบเงินให้กับครอบครัวของชาวบ้านที่เสียชีวิต ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการโพสต์ใส่ร้ายบริษัทตรงไหน พร้อมยืนยันว่าจะโพสต์ต่อไป

ไชยณรงค์ กล่าวว่า ที่สำคัญ เขามองว่า การแสดงความเห็น การนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะกรณีเหมืองทองเป็นบทบาทของนักวิชาการที่ต้องพูดถึงปัญหาเหล่านี้ หลังจากชาวบ้านสู้อย่างโดดเดี่ยวมาเป็นสิบๆ ปี

"การส่งหนังสือแบบนี้ ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ เป็นความพยายามไม่ให้ชาวบ้านมีพันธมิตร ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง" ไชยณรงค์กล่าวและว่า ที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยติดต่อตนเองโดยตรง มีเพียงเวลาลงพื้นที่ จะมีนายอำเภอมาถามว่าจะเข้าเหมืองหรือไม่ ซึ่งเขาเองมองว่าไม่จำเป็น เนื่องจากเกรงว่าชาวบ้านซึ่งอยู่อย่างเดือดร้อนลำบากจะไม่ไว้ใจ และข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองถูกนำเสนอจำนวนมากแล้ว จึงอยากได้จากชาวบ้านมากกว่า  ส่วนที่บริษัทบอกว่าอยากชี้แจงนั้น ตนเองก็ยินดีที่จะจัดเวทีให้บริษัทและชาวบ้านมาชี้แจงร่วมกันเพื่อให้นักศึกษาและคณาจารย์รับรู้ข้อมูลทั้งสองฝ่าย

ไชยณรงค์ ตั้งคำถามด้วยว่า การทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาให้มาตักเตือนหากข้อมูลที่โพสต์ไม่เป็นวิทยาศาสตร์นั้น บริษัทคงต้องพิสูจน์ว่าข้อมูลจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งตรวจเลือดชาวบ้านกว่า 700 รายแล้วพบว่ามีแมกกานีส 401 ราย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร

"วิธีการของทุนตอนนี้ ต้องการไม่ให้ประเด็นของชาวบ้านเป็นประเด็นสาธารณะ พอเป็นข่าว หรือในโซเชียลมีเดียก็ต้องหาทางปิดปากให้ได้" ไชยณรงค์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างกรณีเหมืองแร่เมืองเลยที่มีการฟ้องหมิ่นประมาทเด็ก ม.4 ที่พูดถึงปัญหาในพื้นที่  เป็นการทำให้หวาดกลัวและไม่กล้าพูดหรือเขียน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเขาจะเดินหน้าต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net