ข้อตกลงญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เยียวยา 'หญิงบำเรอ' ถูกวิจารณ์ไม่เข้ามาตรฐานสิทธิมนุษยชน

เอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน และอดีตผู้ตกเป็นเหยื่อกรณีหญิงบำเรอสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงล่าสุดของรัฐบาลเกาหลีใต้-ญี่ปุ่นที่จะมีการเยียวยาเรื่องนี้ ทั้งเรื่องกระบวนการที่เหยื่อไม่มีส่วนร่วม ในข้อตกลงไม่ระบุการเยียวยาหญิงบำเรอที่ไม่ได้มีเชื้อสายเกาหลี ข้อตกลงเยียวยาไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตลอดจนข้อเรียกร้องให้มีการรับผิดทางกฎหมาย

7 ม.ค. 2558 บทความโดย ไมเคิล โซลิส นักทำงานพัฒนา เผยแพร่ในสำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่าถึงแม้การทำข้อตกลงเรื่อง 'หญิงบำเรอ' ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ โดยที่ญี่ปุ่นยอมขอโทษที่กองทัพญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยบังคับให้ผู้หญิงในเกาหลีใต้มาเป็นทาสทางเพศและเสนอให้เงินช่วยเหลือเยียวยาแก่เหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ข้อตกลงดังกล่าวนี้ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ที่ไม่ได้ให้เหยื่อจากเหตุการณ์มีส่วนร่วมและไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของพวกเขาอย่างเหมาะสม

หนึ่งในกลุ่มที่วิจารณ์เรื่องนี้คือกลุ่มสภาชาวเกาหลีเพื่อผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทาสทางเพศโดยกองทัพญี่ปุ่น (Korean Council for the Women Drafted for Military Sexual Slavery by Japan) ซึ่งวิจารณ์ในหลายเรื่อง เช่น เรื่องการให้เงินช่วยเหลือเยียวยานั้นกลุ่มอดีตหญิงบำเรอบอกว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้องของพวกเธอ โดยก่อนหน้านี้พวกเธอยังเคยปฏิเสธเงินเยียวยาที่ไม่ได้ให้ด้วยจิตวิญญาณของการสำนึกในความผิดมาแล้ว สิ่งที่พวกเธอต้องการคือการชดเชยทางกฎหมาย

คิมบ็อกดอง อดีตหญิงบำเรอที่ถูกบังคับให้เป็นทาสทางเพศตั้งแต่อายุ 15 ปีกล่าวว่าพวกเธอต่อสู้มาเป็นเวลานานไม่ใช่เพราะโลภต้องการเงิน แต่พวกเธอต้องการการชดเชยทางกฎหมายซึ่งหมายความว่าญี่ปุ่นจะต้องยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขากระทำถือเป็นอาชญากรรม

ทางด้านนักกิจกรรมชื่อ ฮีทเทอร์ อีแวนส์ ผู้ทำงานประเด็นหญิงบำเรอมานานกว่าสิบปียังได้ชี้ให้เห็นถึงเรื่องที่อดีตหญิงบำเรอเองไม่ได้เข้าร่วมเจรจาข้อตกลงด้วย ขณะที่แองเจลา ไลเทิล จากสถาบันเพื่อการศึกษาสิทธิมนุษยชนในสตรีกล่าวว่าข้อตกลงนี้ไม่เพียงแค่เป็นการดูถูกผู้หญิงเหล่านี้แต่ยังเป็นการดูถูกมาตรฐานสิทธิมนุษยชนด้วย

ไลเทิลชี้ว่าข้อตกลงนี้ไม่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยสิทธิในการได้รับการชดเชยเยียวยาสำหรับเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง หลักการดังกล่าวนี้หมายรวมถึงความสามารถในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ มีการช่วยเหลือเยียวยาจากความเสียหายอย่างทันท่วงทีโดยเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิและการเยียวยา ซึ่งข้อตกลงระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นไม่มีการนำหลักการเหล่านี้มาใช้เลย

บทความของโซลิสระบุอีกว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นทำให้กับเรื่องนี้มากที่สุดเป็นแค่การขอโทษโดยบอกผ่านทางตัวแทนทางการทูต โดยที่รัฐสภาของญี่ปุ่นเองไม่เคยขอโทษอย่างเป็นทางการเลย นอกจากนี้ในการขอโทษครั้งล่าสุดยังสื่อในทำนองว่าเป็นความผิดของ "เจ้าหน้าที่กองทัพญี่ปุ่น" แทนที่จะเป็นความผิดของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งสะท้อนมุมมองของพวกเขาว่าพวกเขามองกรณีหญิงบำเรอเกิดขึ้นจากการกระทำของปัจเจกเพียงบางคนแทนที่จะเป็นเพราะระบบทั้งหมด

นอกจากนี้โซลิสยังวิจารณ์ว่าเงินเยียวยาของญี่ปุ่นมาช้าเกินไปเพราะในตอนนี้มีอดีตหญิงบำเรอเพียง 46 คน เท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่จากจำนวนหญิงบำเรอทั้งหมดราว 200,000 คน นอกจากนี้ในข้อตกลงยังระบุว่าจะไม่มีการชดเชยเยียวยาให้กับคนที่ไม่ได้มีสัญชาติเกาหลีใต้ ทั้งที่นอกจากเกาหลีใต้แล้วยังมีกรณีหญิงบำเรอเกิดขึ้นจากกองทัพญี่ปุ่นในที่อื่นๆ ของเอเชีย เรื่องนี้โซลิสมองว่าแสดงให้เห็นถึงการที่ญี่ปุ่นไม่ได้มีความจริงใจต่อการแก้ไขประเด็นเรื่องหญิงบำเรอ

ทั้งนี้ยังมีการวิจารณ์เรื่องที่ญี่ปุ่นไม่ยอมแก้ไขประวัติศาสตรืในตำราเรียนให้มีการระบุถึงความโหดร้ายที่ทางการญี่ปุ่นเคยกระทำในช่วงสงครามโลก และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการไต่สวนดำเนินคดีใดๆ กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้หญิงบำเรอเป็นทาสทางเพศในช่วงสงครามเลย

ในข้อตกลงฝ่ายญี่ปุ่นยังเรียกร้องให้มีการนำรูปปั้น "อนุสรณ์สันติภาพ" ซึงเป็นรูปปั้นเด็กผู้หญิงเท้าเปล่าสัญลักษณ์แทนหญิงบำเรอออกจากหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล เรื่องนี้ก็ถูกวิจารณ์เช่นกัน โดยคิมบ๊อกดองกล่าวว่าเธอไม่เข้าใจทำไมญี่ปุ่นถึงต้องการให้นำรูปปั้นนี้ออกทั้งที่มันตั้งอยู่ในพื้นที่เขตแดนเกาหลีใต้อีกทั้งยังเป็นอนุสรณ์เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดในอดีตเพื่อให้มันไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง

ไลเทิลวิจารณ์ในเรื่องนี้เช่นกันว่าการนำรูปปั้นเด็กหญิงเท้าเปล่าออกถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและรัฐบาลเกาหลีใต้เองก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในการให้คำมั่นว่าจะกระทำตามคำขอร้องในการนำอนุสรณ์สถานที่ตั้งขึ้นในที่สาธารณะออก ซึ่งถือเป็นการปิดหูปิดตาทางประวัติศาสตร์

ไลเทิลบอกอีกว่าที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นมีความพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับคำแนะนำจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มในประเด็นเรื่องหญิงบำเรอมาโดยตลอด แต่ถ้าหากรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการจะมีตำแหน่งการนำที่ดีขึ้นในสหประชาชาติและในระดับสากลพวกเขาก็ควรจะเผชิญหน้ากับประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาและส่งสัญญาณเป็นผู้นำในทางสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ทุกรัฐหันมาแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตัวเองในอดีตแล้วจะได้ก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้

 

เรียบเรียงจาก

Japan and South Korea's Non-Solution for the "Comfort Women", Michael Solis, Huffington Post, 05-01-2016 http://www.huffingtonpost.com/michael-solis/japan-and-south-koreas-no_b_8908868.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท