Skip to main content
sharethis

ดร.ศรีสมภพ ย้ำโอไอซีต้องไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระแวง ต้องไม่ทำให้พื้นที่กลางทางการเมืองเสียหาย แนะวาง 2 บทบาทในเชิงสร้างสรรค์ ต้องไม่ยุ่งการพูดคุยโดยตรง แต่หนุนเสริมงานความรู้อิสลามกับสันติภาพผ่านองค์กรในพื้นที่ได้ พร้อมช่วยแชร์ประสบการณ์สันติภาพจากประเทศสมาชิก หนุนงานสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม

ดร.ศรีสมภพ เตือนโอไอซีต้องไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระแวง

จากกรณีที่นายอิยาด อามีน มาดานิ (Iyad Ameen Madani) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) ได้พบปะอย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกมาร่าปาตานี (MARA Patani) องค์กรร่มของขบวนการชาตินิยมมลายูปาตานีจำนวน 10 คน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์(เคแอล) ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2559 ที่ผ่านมานั้น

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเคยเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นเมื่อปี 2556 ได้ให้ความเห็นต่อการเข้ามาของโอไอซีในครั้งนี้ว่า ต้องมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์และไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าฝ่ายรัฐ ฝ่ายมาร่าปาตานีหรือฝ่ายประชาชนรู้สึกไม่ดี มีความหวาดระแวงหรือมองว่าจะมาทำลายกระบวนการสันติภาพ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ในการพูดคุยในกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมด้วยกันเน้นว่า โอไอซีต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Engagement) เนื่องจาก OIC เองก็มีหลักการในการส่งเสริมการสร้างสันติภาพอยู่แล้ว

“เพราะฉะนั้นการเข้ามาของ OIC ครั้งนี้ต้องไม่กระทบกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ หรือไม่ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากฝ่ายที่อ่อนไหวมากที่สุดคือรัฐบาลไทย เพราะกระทรวงต่างประเทศ รวมทั้งกองทัพไทยกลัวว่า การเข้ามาของ OIC จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกยกระดับขึ้นไปสู่นานาชาติ ซึ่งจะยิ่งทำให้ต่างประเทศเข้ามายุ่งมากขึ้น ทั้งที่ไทยยืนยันมาตลอดว่านี่คือปัญหาภายในประเทศ เพราะฉะนั้น OIC ต้องระวังความรู้สึกนี้ให้ดี” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ต้องไม่ทำให้พื้นที่กลางทางการเมืองเสียหาย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อไปว่า ส่วนฝ่ายมาร่าปาตานีนั้น การเข้ามาของโอไอซีเป็นความต้องการของมาร่าปาตานีอยู่แล้วที่อยากให้มาหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ แต่แน่นอนนอนว่าต้องไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการ

ในขณะที่ภาคประชาสังคมนั้นต้องการที่จะให้มีการยกระดับบทบาทและความต้องการของประชาชนระดับรากหญ้าในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยภาคประชาสังคมต้องการเป็นเสียงสะท้อนให้กับประชาชนรากหญ้าในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุติธรรมหรือสิทธิมนุษยชน ต้องการให้เกิดพื้นที่ทางการเมืองหรือพื้นที่กลาง (Common Space) ในพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนในพื้นที่ขึ้นมาซึ่ง โอไอซีต้องไม่ทำให้บทบาทหรือความต้องการนี้เสียหาย

แนะวาง 2 บทบาทในเชิงสร้างสรรค์

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ดังนั้น บทบาทในเชิงสร้างสรรค์ของโอไอซีที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพขึ้นในพื้นที่นั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง ดังนี้

1.แน่นอนว่าโอไอซีไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพหรือการพูดคุยสันติสุขในระดับแทร็ค 1 (ระดับคู่ขัดแย้ง) ได้โดยตรง เพราะจะทำให้ฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่ายมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระพูดคุยเกิดความหวาดระแวงหรือไม่ยอมรับ

2.โอไอซีจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในระดับแทร็ค 2,3 (ระดับภาคประชาสังคม,ภาคประชาชน ฯลฯ) โดยตรงก็ลำบากเช่นกัน แต่สามารถหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพโดยอ้อมได้ เช่น การหนุนเสริมในทางวิชาการ วัฒนธรรมหรือศาสนา ผ่านสถาบันทางวิชาการในพื้นที่ เช่น ผ่านสำนักจุฬาราชมนตรี องค์กรภาคประชาสังคมหรือองค์กรศาสนาในพื้นที่ ตัวอย่างคือจะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนเข้าใจกระบวนการสันติภาพมากขึ้น หรือความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามกับการสร้างสันติภาพ อาจจะออกมาในรูปแบบการจัดสัมมนาทางวิชาการ เป็นต้น

ต้องแชร์ประสบการณ์-ให้ความรู้อิสลามกับสันติภาพ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า นอกจากนี้โอไอซียังสามารถหนุนเสริมในเชิงเทคนิคได้ เช่น การถ่ายทอดประสบการณ์ในการสร้างสันติภาพ โดยประเทศสมาชิกโอไอซีที่มีประสบการณ์ในการสร้างสันติภาพมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับรัฐบาลไทยหรือกระทรวงต่างประเทศ หรือถ่ายทอดบทบาทของโอไอซีในการสร้างสันติภาพ เป็นต้น

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า ส่วนต่อฝ่ายมาร่าปาตานีนั้นโอไอซีอาจจะให้ความรู้ทางวิชาการและศาสนาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพหรือกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นการแชร์ข้อมูลความรู้โดยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพโดยตรง

หนุนงานสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ถ้าทุกฝ่ายหรือโอไอซีเองยอมรับในหลักการนี้ โอไอซีก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะไม่ใช่มาเป็นคนกลางของการพูดคุยโดยตรง หรืออาจจะเข้ามาในรูปแบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ เช่น อาจจะมาส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม หรือประเด็นอื่นๆที่รัฐบาลต้องการให้ โอไอซีเข้ามาช่วย หรือมาแก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่ตามที่รัฐบาลร้องขอ แต่โอไอซีต้องยืนยันว่าไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพโดยตรง

“อย่างไรก็ตาม บทบาทของโอไอซีอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องรอจนกว่ากระบวนการสันติภาพมีความก้าวหน้ามากกว่านี้ อย่างน้อยก็ช่วยสร้างบรรยากาศในการสร้างสันติภาพที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ จากที่ไม่เคยมีมาก่อน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net