Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตัวผมเองเกิดและเติบโตในยุคที่ปักษ์ใต้เฟื่องฟูด้วยเศรษฐกิจ "ยางพารา" ทั่วเทือกทิวเขาและที่นาเก่าต่างสมบูรณ์ไปด้วยพืชยืนต้นเขียวขจี กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางหัวบันไดไม่เคยแห้ง ใครมีที่ดิน 5 ไร่ขึ้นไปเป็นต้องปลูกยาง เพราะพิสูจน์แล้วว่าน้ำยางยุคนั้นสร้างคนให้ร่ำรวย ส่งลูกหลานไปเรียนไกลถึงเมืองหลวงและเมืองนอก สร้างคหบดีใหญ่ สร้างตำรวจ สร้างทนายความ สร้างนายอำเภอขึ้นมากมาย

คนใต้ใหญ่โตโอ่อ่าเพราะยางพารา ถือเงินสดเป็นฟ่อนไปถอยรถป้ายแดงโดยไม่ง้อไฟแนนซ์ เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ด้อยกว่าคนกรุงเทพฯ เลยแม้แต่น้อย แต่ยางพาราอีกนั่นแหละที่ทำให้คนใต้มีรูปแบบความคิดทางการเมืองเฉพาะที่แตกต่างไปจากคนไทยทั่วไป

ต้นทศวรรษที่ 30 มีนโยบาย "อีสานเขียว"เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง คนบ้านผมเอ่ยเล่นๆ ว่า ถ้าอยากเขียวจริงต้องเอายางไปปลูกสิ เพราะภาคใต้ยุคนั้นเขียวมาก ยางพาราขึ้นดกดื่นขนาดไม่มีที่โล่งให้มองดาวด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนตอนที่อีสานได้รับการสนับสนุนให้ปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ คนใต้ทั่วไปเกิดความรู้สึกไม่ค่อยพอใจนัก เพราะยางพาราถูกทำให้เข้าใจกันว่า เป็นพืชประจำถิ่นปักษ์ใต้ ปลูกที่ไหนก็ไม่ขึ้น แต่ลืมไปว่า สุดท้ายนักปรับปรุงพันธุ์ยางปรับแต่งพันธุ์จนงอกงามบนแผ่นดินแห้งแล้งทางอีสานได้ แม้จะต้นเล็กกว่า ความเข้มข้นของน้ำยางน้อยกว่า แต่ก็ให้ผลดี

คนใต้ที่พอมองอนาคตออก เริ่มกังวลนับตั้งแต่ต้น เพราะเศรษฐกิจยางพาราที่ปักษ์ใต้เคยมีอำนาจต่อรองสูงมาหลายสิบปี รัฐเริ่มเข้ามาแทรกแซง รัฐบาลไหนที่เสนอนโยบายขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราไปสู่ภาคอื่น คนใต้ไม่ค่อยชอบหรอก เพราะกลัวว่าผลผลิตที่มากเกินไปมันจะฉุดราคาให้ต่ำลง

และนักการเมืองปักษ์ใต้เองก็รู้ว่าคนใต้อ่อนไหวกับยางพารา ยางจึงถูกเอามาใช้เป็นนโนบายสำคัญของการหาเสียงทุกยุคสมัย หากใครขึ้นปราศรัยไม่พูดเรื่องยาง(ให้ถูกใจ)คืนนั้นก็เหมือนไม่ได้ปราศรัยอะไรเลย เพราะคนรอฟังแค่นั้น

จริงๆ ยุคยี่สิบสามสิบปีก่อน ไม่ต้องปราศัยเรื่องยางพาราก็ได้ เพราะเหมือนเสือนอนกินอยู่แล้ว ความต้องการในประเทศขยายตัวแต่การผลิตเท่าเดิม เพียงแต่ยุคยี่สิบปีหลังนี่เอง หลังจากพื้นที่ปลูกยางในประเทศและต่างประเทศขยายตัว ความต้องการซื้อและผลผลิตเริ่มไม่สมดุลกันแต่ละปี นโยบายยางพาราจึงกลายเป็นจุดสนใจ และคนใต้เองก็เริ่มรู้สึกไม่มั่นคง (แม้ว่าจะมีปาล์มน้ำมัน -พืชเศรษฐกิจใหม่เข้ามาเบียดแทรกพื้นที่เพาะปลูกยางพารา แต่ก็อยู่ในสถานะเดียวกัน คือขึ้นอยู่กับตลาดโลก)เพราะคิดมาตลอดว่า เรื่องยางพาราเป็นเรื่องของคนใต้ เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลต้องใส่ใจ เพราะนี่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

ยุค 30 ปีก่อนยังไม่มีการซื้อขายน้ำยาง ยังไม่มีโรงงานรับซื้อน้ำยางดิบไปผลิตยางแท่ง คนปักษ์ใต้จะกรีดยางเพื่อผลิตยางแผ่นรีด และขี้ยาง คนมีสวนเยอะทำยางแผ่น ทั้งกรีดเองและจ้างคนอีสานมาเป็นคนงาน(นั่นทำให้คนใต้รู้สึก "เหนือกว่า" คนอีสานมาตั้งแต่ตอนนั้น เพราะช่วงปี 2520-2530 ภาคอีสานประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน แรงงานอีสานจำนวนมากทิ้งที่นาสมัครเข้าโรงงานในภาคกลาง บางส่วนอพยพลงไปภาคใต้ที่อุดมสมบูรณ์กว่า ไปเป็นลูกจ้างสวนยางพารา คนอีสานจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันเอาต้นทุนความรู้การทำสวนยางจากภาคใต้กลับไปสร้างความมั่งคั่งบนแผ่นดินเกิด

แต่คนใต้ยังติดภาพเก่าก่อนที่รู้สึกว่าคนอีสานเป็นเพียงแรงงานอพยพราคาถูก อยู่ง่ายกินง่าย เหมือนที่ตาลุงคนใต้คนหนึ่งพูดในที่ชุมนุมม๊อบสวนยางเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินที่มีแค่น้ำปลาก็กินข้าวได้ เพราะแกติดภาพจากครัวเรือนแรงงานอีสานอพยพในยุคนั้น ซึ่งมันก็จริง เพราะคนอีสานยุคนั้นมากับความแร้นแค้นจึงต้องปรับตัว แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยน สิบกว่าปีให้หลังตอนราคายางถีบตัวพุ่งพรวด คนอีสานจอดรถกระบะป้ายแดงในกงสี(บ้านพัก) ของนายจ้าง และอำนาจต่อรองสูงขึ้น เพราะนายจ้างก็กรีดยางเองไม่เป็น

สุดท้ายหลังจากนโยบายขยายพื้นที่เพาะปลูกทางภาคเหนือและอีสานสำเร็จ คนอีสานส่วนใหญ่ทยอยกลับบ้าน นายจ้างคนใต้ขาดแคลนคนงานสวนยางอยู่พักใหญ่ กระทั่งต้องมุ่งไปหาแรงงานต่างด้าว เอารถกระบะไปขนกันมาจากทางระนอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่ค่าแรงถูกกว่าคนอีสานมาก)

ส่วนคนมีสวนยางน้อยก็ทำขี้ยาง กรีดสะสมในกะลาหรือถ้วยรองไว้พอเต็มถ้วยก็แคะไปขาย ราคาต่ำกว่ายางแผ่นรีด แต่ก็ลงแรงน้อยกว่า ถือว่าคุ้ม คนกลุ่มนี้แม้จะมีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าคนกลุ่มแรก แต่มีความเป็นปัจเจกสูง ทำเองลงแรงเอง ปลูกขนำในสวนยาง มีวิถีและรูปแบบความคิดเฉพาะตน แม้จะดูขาดความกระตือรือร้นทางการเมืองไปบ้าง

ยุคที่เขาขยายพื้นที่เพาะปลูกไปทางอีสานและภาคเหนือ กำลังตั้งไข่สหกรณ์เพื่อรับซื้อผลิตผลยางพารากันอย่างแพร่หลาย คนใต้หลายคนถูกเชิญไปเป็นที่ปรึกษา ไปให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเพราะมีประสบการณ์ ตอนนั้นก็โอ่อ่ากันมาก รู้สึกว่าตัวเองสำคัญ อย่างไรเสียภูมิปัญญาการเพาะปลูกและบริหารจัดการวงจรธุรกิจยางก็ยังอยู่กับคนใต้

คนใต้ส่วนหนึ่งฉีกวิธีคิดเดิมทิ้ง พอในประเทศเริ่มตัน เพราะที่ดิน สปก.ก็หมดแล้ว ภูเขาก็รุกจนเหี้ยนไม่มีเหลือ กฎหมายป้องกันบุกรุกที่ดินเริ่มบังคับใช้รุนแรง จึงเสาะหาพื้นที่เพาะปลูกยางใหม่ บางคนบินไปไกลถึงแอฟริกา กลายเป็นเศรษฐีจนถึงทุกวันนี้

แต่นั่นก็ส่วนน้อย ...ส่วนใหญ่ยังยึดติดภาพอยู่เหมือนเดิม น้ำยางเป็นเลือดของคนใต้ และนักการเมืองที่เคยตั้งสหกรณ์ควบคุมเกษตกรชาวสวนยางและสวนปาล์มไว้ในกำมือ แต่ยังมีธุรกิจขนาดใหญ่และพื้นที่การเมืองของตัวเอง ก็ยังทำให้คนใต้ยึดติดกับกรอบจินตนาการเช่นเดิม

"สวนยางเป็นของคนปักษ์ใต้" จึงยังใช้ยางพาราเป็นตัวประกันทางการเมือง สร้างอำนาจต่อรองให้คนใต้ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว หนึ่งคือชัยชนะทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ อีกหนึ่งคือคนใต้เหล่านั้นกลายเป็นมวลชนในฐานอำนาจการเมืองระดับชาติโดยอัตโนมัติ

อหังการ์ของคนใต้ และโลกทัศน์เก่าที่เคยสร้างคนใต้ให้เป็นพวกเห็นแก่ตัว ยกตัวโอ่อ่า รักแต่พวกพ้องเพื่อนฝูง สร้างวาทกรรมหลอกๆ อย่างใจถึง พึ่งได้ ไม่รบนาย ไม่หายจน เพื่อยกตัวว่าสูงส่งและใจใหญ่ ยึดติดว่าตัวเองกินดีอยู่ดีกว่าชาวบ้านภูมิภาคอื่น เพราะทรัพยากรดีกว่า เศรษฐกิจดีกว่า สร้างลูกหลานเป็นนายร้อย นายอำเภอมามากมาย

ทั้งหมดกลายเป็นโรคร้ายที่กำลังกลืนกินตัวเองในปัจจุบัน และกำลังแปลกแยก โดยไร้อาทรจากเพื่อนร่วมชาติ ในยามที่เศรษฐกิจยางพารากำลังเกิดวิกฤตอันมีต้นเหตุมาจากปัจจัยภายนอก

บางทีคนใต้เองก็ไม่ทันได้คิดหรอกว่า นอกจากน้ำยางจะสร้างนายร้อย นายอำเภอ ทนายความ ขึ้นมาประดับประดาแผ่นดินให้ดูรุ่มรวยกว่าชาวบ้านเขาแล้ว ยังได้สร้างนักการเมืองที่มีวิธีคิดและวัฒนธรรมทางการเมืองอันแปลกแยกจากวิถีประชาธิปไตยขึ้นมาด้วย

"พรรคนั้นเอาเสาไฟฟ้าลงคนก็เลือก" สำนวนที่นักการเมืองด้วยกันตัดพ้อตอนที่พยายามสร้างทางเลือกใหม่ให้คนใต้ แต่นักการเมืองพรรคใหญ่พรรคนั้นกลับหัวเราะชอบใจ เพราะเท่ากับคนใต้เป็นลูกไก่ในกำมือเรียบร้อยแล้ว

นั่นแหละ คือความคิดของนักการเมืองคนใต้ที่ยึดกรอบจินตนาการเดิม ปราดเปรื่องและเอกอุด้านวาทศิลป์ เอาตัวรอดเก่ง มุ่งสร้างกระแสสำนึกภูมิภาคนิยมเป็นเกราะกำบังทางการเมือง และสร้างผลประโยชน์ให้ตนเอง

ขณะที่คนใต้ก็ตกเหยื่อโดยไม่เคยรู้ตัว.

 


หมายเหตุ: บทความที่ปรับปรุงจากการตั้งสถานะบนเฟซบุ๊ก "ยางพารา และ คนใต้"  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net