Skip to main content
sharethis

เป็นคดีประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติสหรัฐฯ (NLRB) ฟ้องร้องบรรษัทฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่จนสามารถขึ้นโรงขึ้นศาลได้ แต่ทางศาลก็ประกาศเลื่อนการพิจารณาคดีโดยอ้างเทคโนโลยีไม่พร้อม อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงว่าสาขาใหญ่ควรร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ถ้าหากแฟรนไชส์กระทำความผิด

McDonald's sur Times Square
By RMajouji at fr.wikipedia [CC BY 1.0], from Wikimedia Commons

12 ม.ค. 2559 เมื่อไม่นานมานี้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติสหรัฐฯ (NLRB) เป็นตัวแทนพนักงานแมคโดนัลด์ทั้งในอดีตและที่ยังทำงานอยู่ฟ้องร้องแมคโดนัลด์ในข้อหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมอย่างมาก โดยมีการฟ้องร้องทั้งบรรษัทสาขาใหญ่และแฟรนไชส์ในฐานะที่เป็น "นายจ้างร่วมกัน" แม้ว่ามีการฟ้องร้องเหตุการณ์จ้างงานอย่างไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในสาขาย่อยแต่ตัวบรรษัทหลักเองก็ต้องรับผิดชอบด้วย

เดิมทีแล้วมีกำหนดการพิจารณาคดีในศาลเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ทางศาลประกาศขอเลื่อนการพิจารณาคดีโดยยังไม่มีกำหนดการเวลาใหม่โดยอ้างว่าห้องพิจารณาคดีมีปัญหาด้านเทคโนโลยีที่จะใช้นำเสนอหลักฐานและให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมการพิจารณาคดีจากทางไกลได้

สำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่าในคดีนี้ฝ่ายโจกท์เป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกลุ่มรณรงค์ต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ดำเนินการรณรงค์และเคลื่อนไหวเรียกร้องมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยที่กลุ่มเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำกล่าวว่าแมคโดนัลด์ในสาขาย่อยทำการข่มขู่คุกคาม สอดแนม และในบางกรณีก็เลิกจ้าง คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเคลื่อนไหว

เดวิด ดีน ทนายความเอกชนที่เป็นตัวแทนฝ่ายคนงานบอกว่าแมคโดนัลด์สาขาใหญ่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยเนื่องจากแมคโดนัลด์ไม่ถือเป็นที่ปรึกษาของแฟรนไชส์ดังที่พวกเขากล่าวอ้างแต่ถือเป็นนายจ้างเพราะแมคโดนัลด์สาขาใหญ่ไม่สามารถถูกเลิกจ้างได้แบบที่ปรึกษา

ทางแมคโดนัลด์เองพยายามโต้แย้งในเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่าแฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ถือเป็นธุรกิจอิสระขนาดเล็กและการที่ NLRB กล่าวหาว่าพวกเขาเป็นนายจ้างร่วมนั้นถือเป็นการกล่าวโจมตี "หัวใจของระบบแฟรนไชส์"

ในข้อถกเถียงเรื่องสาขาใหญ่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของแฟรนไชส์หรือไม่นั้นมีการพิจารณาในเรื่องผลกระทบตามมาถ้าหากแมคโดนัลด์สาขาใหญ่ถูกตัดสินให้มีความผิดซึ่งอาจจะมีกฎหมายแรงงานฉบับใหม่เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบของสาขาใหญ่ต่อแฟรนไชส์ ในเรื่องนี้มีความคิดเห็นไปในสองแนวทาง โดยกลุ่มสมาคมอุตสาหกรรมแฟรนไชส์นานาชาติ (International Franchise Association) เกรงว่าการเอาผิดสาขาใหญ่ด้วยจะทำให้สาขาใหญ่เคร่งครัดต่อแฟรนไชส์มากขึ้นและทำให้พวกเขาบริหารได้อย่างอิสระน้อยลง แต่ทางนักกิจกรรมแรงงานโต้แย้งว่าบรรษัทใหญ่ควรมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้เนื่องจากบรรษัทสาขาใหญ่ได้ใช้อำนาจตรงจุดนี้อยู่แล้ว

คดีนี้ยังเป็นคดีประวัติศาสตร์ในแง่ที่ว่าคำตัดสินอาจจะส่งผลระยะยาวในฐานะเป็นพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับแรงงานในการที่จะสามารถต่อรองกับบรรษัทใหญ่โดยตรงได้ในที่สุด

แคเธอรีน รัคเคิลเชาส์ ที่ปรึกษาทั่วไปของโครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติในสหรัฐฯ กล่าวว่าการขายแฟรนไชส์คือหนึ่งในหลายแนวทางที่ผู้ว่าจ้างนำมาใช้เพื่อผลักภาระความรับผิดชอบถ้าหากมีสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม โดยมีการเปรียบกับการจ้างแบบสัญญารับเหมาช่วงว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่บรรษัทใช้กดขี่ค่าแรงและละเมิดสิทธิคนงานพร้อมกับการหลบเลี่ยงความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตามทนายความฝ่ายคนงานก็พยายามสร้างความเข้าใจว่าคดีของพวกเขาเน้นการพยายามเรียกร้องความรับผิดชอบจากบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์มากกว่าจะเป็นการโจมตีธุริจเล็กๆ แบบที่หลายคนเข้าใจและพวกเขาจะทำคดีอย่างระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นการที่บรรษัทจะพยายามควบคุมแฟรนไชส์มากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

National Labor Board takes McDonald’s to court, Aljazeera, 10-01-2016
http://america.aljazeera.com/articles/2016/1/10/national-labor-board-takes-mcdonalds-to-court.html

McDonald's trial delayed in NLRB joint employer case, Reuter, 11-01-2016
http://www.reuters.com/article/mcdonalds-labor-idUSL1N14T02120160111

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net