มหาเถรสมาคม ส่งชื่อ 'สมเด็จช่วง' ให้นายกฯทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

14 ม.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ได้รับหนังสือจาก พศ.ที่เป็นการรายงานมติการประชุมของมหาเถรสมาคม (มส.) อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ซึ่งการเสนอชื่อเป็นมติเอกฉันท์ ที่เห็นชอบร่วมกันของกรรมการที่เข้าร่วมประชุมทุกคน เว้นแต่มีพระภิกษุ 3 รูปที่ไม่ได้เข้าร่วม ประกอบด้วย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ที่ชราภาพ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มติดังกล่าวจึงถือว่าชอบทั้งระเบียบและวิธีปฏิบัติของสงฆ์แล้ว และขั้นตอนต่อไป ต้องส่งรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ในเมื่อยังมีปัญหาอยู่จะมีการหารือร่วมกันระหว่าง พศ. คณะสงฆ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจน ครอบคลุมในทุกเรื่องที่ยังมีปัญหาและเป็นข้อสงสัย  เพราะเรื่องการแต่งตั้งสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องทำให้เกิดความรอบคอบที่สุด  คาดในสัปดาห์หน้าจะประชุมได้

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะนำรายชื่อของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีได้เมื่อใด  ในขั้นตอนการทำงานของรัฐบาลจะทำทุกอย่างบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่คลุมเครือ  โปร่งใส  ตรงไปตรงมา ส่วนกระแสต้านการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช รัฐบาลได้ประเมินอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะดูแลได้

วิษณุ ชี้หากยังมีเสียงค้านไม่นำนามสมเด็จพระสังฆราช องค์ใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯ

วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งกับสำนักข่าวไทย ถึงกรณีที่มีการยื่นคัดค้านการแต่งตั้งดังกล่าวโดยมีการลงชื่อสนับสนุนมาจำนวนมากว่า  ขอตอบย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลไม่ได้เอากระแสคัดค้านมาเป็นหลัก เพราะไม่ว่าจะมีการแต่งตั้งใดๆ ย่อมมีคนคัดค้านเป็นธรรมดา    แต่จะดูว่าผลของการคัดค้านนั้นนำไปสู่สิ่งใด หากนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยรัฐบาลก็ต้องทำให้สงบเรียบร้อย แล้วจึงจะดำเนินการ ส่วนจะใช้วิธีใดคงไม่ขอตอบ รัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม จะไม่นำเรื่องที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เป็นเรื่องที่มีคนยังวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน เกิดความไม่สงบ ขึ้นกราบบังคมทูลฯ เป็นอันขาด

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาลแล้ว ไม่มีกรอบกำหนดว่า จะต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลฯ เมื่อไร และนายกรัฐมนตรีได้พูดชัดว่า จะต้องให้เรื่องสงบก่อน และว่า  “ผมกับนายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดขัดกัน  และได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้โดยละเอียดตลอดเวลา ทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้หนักใจ”
 
ต่อกรณีคำถามถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชว่าถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลหรือไม่นั้น  นายวิษณุ กล่าวว่า หากตอบคำถามดังกล่าว ก็อาจถูกตีความเป็นอย่างอื่น เพราะถ้าตอบว่าไม่เร่งด่วน ก็จะถูกตีความว่าจะดองเรื่อง แต่ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็จะถูกตีความว่าจะอาศัยทีเผลอ แล้วเสนอทันที เป็นการเชิญแขกทั้งสองคำตอบ ดังนั้น ขอให้เป็นกุศโลบาย   คำนี้มาจากคำว่ากุศลบวกอุบาย  ซึ่งรัฐบาลจะต้องรู้สำหรับกุศโลบายนี้
 
“เป็นไปได้ทุกอย่าง เพราะที่ผ่านมา เมื่อครั้งสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณา ยกใช้เวลาห่างจากการสิ้นพระชนของสมเด็จพระสังฆราชวัดราชบพิตร 8 เดือน เมื่อครั้งตั้งพระสังฆราชวัดราชบพิตร ห่างจากการสิ้นพระชนของสมเด็จพระสังฆราชวัดพระเชตุพนฯ (สมเด็จป๋า)  ประมาณ 6 เดือน   และเมื่อครั้งตั้งสมเด็จป๋า ห่างจากวันที่สิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชวัดมกุฏ 7 เดือน” นายวิษณุ กล่าว
 
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ในอดีต เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 7 ของไทยสิ้นพระชนม์ ได้ใช้เวลาห่างจากองค์ก่อนหน้านั้น 37 ปี และเมื่อผ่านไป 2 รัชกาล (5-6) จึงได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศ และเมื่อท่านเป็นได้ 2 ปี ก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นทิ้งไปอีก 11 ปี จึงได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระญาณสังวรฯ ดังนั้น หากจะเอาตามประเพณีแล้วก็มีทุกแบบ จึงจะมาอ้างว่าต้องเร็วหรือช้าไม่ได้ เพราะในทุกคราวต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องดูความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรักษาการ สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจทุกอย่างได้ทั้งหมด
 
“กรณีที่ยังมีกระแสคัดค้าน จะต้องมีการหาทางแก้ปัญหาว่า ขัดข้องอะไร จำเป็นอะไรที่จะต้องตั้ง หากยังมีความขัดแย้งอยู่   การรักษาการต่อไป แล้วจะเกิดความไม่สะดวกอย่างไร เป็นปัญหาอย่างไร ถ้ารักษาการต่อไป จะเกิดความเข้าใจผิด หรือแตกแยกอย่างไร เมื่อเทียบกับการตั้ง แล้วจะเกิดอะไร ทั้งหมดนี้ต้องนำมาดู แล้วทำความเข้าใจ” นายวิษณุ กล่าว
 
นายวิษณุ กล่าวว่า ในความเป็นจริง ต้นเหตุเป็นความผิดของใคร เมื่อวันนี้มีข้อคัดค้านสมเด็จวัดปากน้ำ ก็ต้องดูว่าเพราะอะไร  รัฐบาลอาจจะยังทราบไม่แท้จริงก็ได้ นอกจากนี้ ก็ยังไม่เห็นหนังสือพระพุทธอิสระที่ยื่นมา ว่าตั้งข้อกล่าวหาอย่างไร เพราะ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ส่งมาให้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหานั้นเสียก่อน   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท