Skip to main content
sharethis

หลังจากที่การร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา นอกสถานที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ผ่านไปได้ 4 วัน ได้มีประเด็นการกล่าวถึง และวิพากษ์ วิจารณ์ หลักการในรัฐธรรมนูญอยู่ไม่น้อย โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การระบุให้การศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยตาม มาตรา 7 (เดิมในรัฐธรรมนูญ 2550) โดยหลายฝ่ายเห็นว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญ

 “มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอด โดยเฉพาะช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล มักมีการอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 มาใช้อยู่เสมอ เช่น เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2557 ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารโดย คสช. ในการชุมนุมทางการเมืองของ กลุ่ม กปปส. สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ปราศรัยที่สวนลุมพินีโดยกล่าวถึงเป้าหมายการเคลื่อนไหวว่า ต้องการให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองร่วมกันปรึกษาหารือภายใน 3 วันเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเฉพาะการให้ประธานวุฒิสภาใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 (อ่านข่าวที่นี่)

ก่อนหน้านี้ มีการหยิบ มาตรา 7 มาใช้ โดยเริ่มต้นมาจากการชุมนุมขับต่อรัฐบาลทักษิณในช่วงต้นปี 2549 เปิดฉากโดยการที่ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ได้ออกมาเปิดเผย เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2549 ว่า

"ส.ว.กลุ่ม อิสระจำนวนหนึ่ง เตรียมทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรัฐบาลพระราชทานตามมาตรา 7 เพื่อเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นการผ่าทางตันในขณะนี้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความชอบธรรมแล้ว"

จากนั้น ในวันที่ 5 มี.ค. 2549 ส.ว.กลุ่มดังกล่าว ร่วมกับนักวิชาการ ราชนิกูล แพทย์อาวุโส ศิลปินแห่งชาติ ฯลฯ รวม 96 คน ได้ไปยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานรัฐบาลชั่วคราวและนายกฯ คนใหม่ แทนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7

อีกทั้ง สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่ม พันธมิตรฯ กล่าวระหว่างการชุมนุมที่หน้าห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2549 ว่า

“เรามาที่นี่ เพื่อมารวมพลังให้เห็นว่าเราเป็นของจริง ไม่ใช่พวกแขวนป้ายที่คอ พอตอนเช้า ก็มาลงชื่อรับเงิน เรามาเพื่อให้เห็นว่า ทักษิณต้องออกไป และเพื่อแสดงประชามติขอบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อขอนายกพระราชทาน” (อ่านรายงานจากอิศราที่นี่)

นั้นจึงกลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างมากในช่วงหนึ่ง ว่าการอ้างมาตรา 7 เพื่อขอพระราชทานนายกนายกรัฐมนตรี นั้นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการหรือไม่อย่างไร และหากมีจะมีการอ้างใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวจริง ใครจะเป็นผู้วินิจฉัย

ล่าสุด 11 ม.ค. 2559  ในการประชุมร่างรัฐธรรมนูญของกรรการร่างรัฐธรรมนูญได้ระบุชัดเจนแล้วว่า มาตรา 7 เดิมในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นปัญหาการตีความมายาวนาน ที่ประชุมเห็นว่าจะนำถ้อยคำในมาตรา 7 ไปสอดแทรกในบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญแทนที่เป็นผู้วินิจฉัย และมีแนวทางปรับเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ ไม่ใช้คำว่าประเพณีการปกครอง เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่มีปัญหาในอดีต และจะพยายามบัญญัติช่องทางแก้ปัญหาต่างๆ ไว้รอบด้านเพื่อให้การตีความทุกเรื่องมีช่องทางที่ชัดเจน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการมอบอำนาจในการวินิฉัยให้กับ ศาลรัฐธรรมนูญ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ก็ได้มีการเขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจน เพื่อเป็นการผ่าทางตัน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้น ได้แสดงความเห็นในหลายประเด็น โดยเฉพาะการเทียบเคียงช่วงวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา ที่มีการขอนายกฯพระราชทานตามมาตรา 7 แต่ไม่สามารถทำได้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบในหลักการเพิ่มวรรคสอง กรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติในรายละเอียดประเพณีปกครอง ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ ฝ่ายบริหาร หรือคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น สามารถร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ในกรณีที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ได้ออกมาให้เหตุผลของการ เพิ่ม วรรค 2 ใน มาตรา 7 ว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองมักมีการนำมาตรา 7 มาแอบอ้างในหลายรูปแบบ ส่งผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง และมักเป็นประเด็นปัญหาที่ไม่มีองค์กรใดมาตัดสินหาข้อยุติได้ จึงจำเป็นต้องเปิดช่องทางให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมาทำหน้าที่ตัดสินและให้ได้ ข้อยุติ เพื่อไม่ให้กระทบหรือนำสถาบันมาแอบอ้างอีก

เมื่อกลับมาที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์  ต่อข้อถกเถียงว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีชัย ได้แสดงความเห็นผ่านสื่อ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2559 ว่า ไม่ได้พิจารณาเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญจนกลายเป็นซุปเปอร์องค์กร เพราะที่ผ่านมาอำนาจเหล่านี้มีอยู่แล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพียงหยิบมาจัดสรรให้เข้าที่และมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตีความผิด ขณะเดียวกันจะกำหนดให้ที่มาและคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเข้มข้น และหลากหลายมากขึ้น ไม่ยึดโยงการเมือง ซึ่งอาจจะใช้วิธีการทาบทามบุคคลที่เหมาะสมควบคู่กับการรับสมัคร และจะมีการขยายอายุเกษียณราชการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็น 75 ปี จากเดิม 70 ปี แต่อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะลดวาระการดำรงตำแหน่งเหลือ 7 - 9 ปี

              

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net