Skip to main content
sharethis

บทความในอีสต์เอเชียฟอรั่ม จากนักวิชาการสถาบันสันติภาพฮิโรชิมาเผยถึงกรณีข้อตกลง "หญิงบำเรอ" ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นล่าสุดว่าส่งผลต่อประโยชน์ด้านการแสดงอำนาจอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา และการคืนสัมพันธ์ของประเทศพันธมิตรเพื่อกดดันจีน แต่ทั้งฝ่ายรัฐบาลเกาหลีใต้และอดีตเหยื่อถือเป็นผู้เสียผลประโยชน์ในเรื่องนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ พบกับ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ปัก กึนเฮ ที่ทำเนียบชองวาแด กรุงโซล เมื่อ 28 ธ.ค. 2558 โดยมีการหารือถึงการฟื้นฟูเกียรติและศักดิ์ศรีของหญิงบำเรอในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี)

 

คิม มีกยอง ผู้ช่วยศาตราจารย์จากสถาบันสันติภาพฮิโรชิมา มหาวิทยาลัยฮิโรชิมาซิตี้ เขียนบทความเกี่ยวกับกรณีที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทำข้อตกลงกันได้ในประเด็นเรื่อง 'หญิงบำเรอ' สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นส่งที่คาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ แต่เมื่อพิจารณาการยุติความขัดแย้งในประเด้นนี้ระหว่าง 2 ชาติแล้วผู้ที่จะได้ประโยชน์จริงๆ คือสหรัฐอเมริกา

"หญิงบำเรอ" เป็นหนึ่งในประเด็นข้อพิพาทสำคัญระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จากช่วงประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีข้อกล่าวหาว่าทหารญี่ปุ่นบังคับให้หญิงชาวเกาหลีเป็นทาสรับใช้ทางเพศ แต่ล่าสุดก็มีการเจรจาในเรื่องนี้สำเร็จโดยที่ทางการญี่ปุ่นยอมขอโทษต่อเหยื่อชาวเกาหลีและจะมีการให้ทุนช่วยเหลือพวกเธอด้วยวงเงิน 1,000 ล้านเยน

คิม มีกยอง วิเคราะห์ว่าเหตุที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเกาหลีใต้มีแรงจูงใจน้อยมากที่ยอมให้เรื่องนี้มีข้อยุติเพราะทางการเกาหลีใต้ต้องการจะใช้เรื่องนี้เพื่อสร้างให้ตัวเองดูเป็นเหยื่อและนำมันมาใช้เป็นอำนาจในทางศีลธรรม และฝ่ายญี่ปุ่นเองก็มักจะแสดงความไม่พอใจเมื่อถูกวิจารณ์ในเรื่องการแสดงออกไม่เหมาะสมต่อการกระทำผิดในอดีต ทำให้มองไม่ออกว่าต่างฝ่ายจะดีกันในเรื่องนี้ได้อย่างไร

แต่การเจรจาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นการเจรจาเพียงแค่สองฝ่ายเท่านั้น มันเป็นการเจรจาสามฝ่ายที่สหรัฐฯ มีส่วนร่วมด้วย โดยในความคิดเห็นของคิม มีกยอง แล้วเขามองว่าสหรัฐฯ คือผู้ชนะที่แท้จริงของการหารือในครั้งนี้ในขณะที่เกาหลีใต้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้

นักวิชาการจากสถาบันสันติภาพฮิโรชิมาชี้ว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ ช่วยผลักดันการเจรจาในเรื่องนี้เป็นเพราะสหรัฐฯ ไม่อยากให้ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกต้องบาดหมางกันเองจึงต้องการยื่นมือเข้ามาช่วยสะสางปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่ยังคาราคาซังอยู่ ซึ่งคิม มีกยอง มองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการให้ทั้งสองฝ่าย "สลัดความบาดหมางในอดีตออกไปเสียแล้วก็ก้าวต่อไปข้างหน้า"

คิม มีกยอง ตั้งข้อสังเกตอีกว่ามีการร้องเรียนเข้าสู่เว็บไซต์ทำเนียบขาวในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายเอเชียตะวันออกมากขึ้น โดยมีการร้องเรียนที่มีคนลงนามมากกว่า 100,000 รายชื่อ ในประเด็นต่างๆ ทั้งประเด็นข้อพิพาทด้านเขตแดน ประเด็น "หญิงบำเรอ" ที่ถูกนำเสนอผ่านทางตำราเรียนประวัติศาสตร์และเรียกร้องให้มีการสร้างอนุสรณ์หญิงบำเรอบนผืนดินของสหรัฐฯ ทำให้ประเด็นเรื่อง "หญิงบำเรอ" กลายเป็นประเด็นการเมืองในสหรัฐฯ และเป็นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำหรับสหรัฐฯ ด้วย ในบริบทนี้เองทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา หันมาเน้นเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้

บทความของ คิม มีกยอง ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ว่า นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นมีท่าทีชัดเจนที่จะสนับสนุนสหรัฐฯ ในการช่วยกันยับยั้งอิทธิพลจากจีน จากการออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่และเปลี่ยนท่าทีอ่อนข้อลงในประเด็นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อตามใจสหรัฐฯ

คิม มีกยอง เปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ของเกาหลีใต้ว่ารัฐบาล ปัก กึนเฮ ของเกาหลีใต้มีท่าทีแบบบางครั้งก็เอนเอียงไปทางจีนบางครั้งก็เอนเอียงไปทางสหรัฐฯ และผู้คนต่างก็เข้าใจว่ารัฐบาลปัก กึนเฮ มีท่าทีแบบต่อต้านญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามรัฐบาลของ ปัก กึนเฮ ก็ยอมรับข้อเสนอในเรื่อง "หญิงบำเรอ" ของญี่ปุ่นในที่สุดและมีการประกาศยุติข้อพิพาทเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2558

แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มอดีตหญิงบำเรอที่ยังคงมีชีวิตอยู่จากการที่พวกเธอไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาด้วยและกล่าวว่าข้อเสนอของทางญี่ปุ่นยังไม่มากพอจะชดใช้ให้กับความเจ็บปวดที่พวกเธอเคยได้รับมาก่อนในอดีต อีกทั้งกลุ่มเอ็นจีโอในเกาหลีใต้ยังไม่พอใจที่ญี่ปุ่นเรียกร้องให้นำรูปปั้นอนุสรณ์หญิงบำเรอออกจากหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล คิม มีกยอง มองว่าเรื่องนี้จะส่งผลเสียต่อพรรคการเมืองของ ปัก กึนเฮ เองนอกจากจะต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แล้วยังจะส่งผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ด้วย การที่รัฐบาลปัก กึนเฮ ยอมทำตามข้อตกลงนี้น่าจะเป็นเพราะแรงกดดันจากสหรัฐฯ

ทางฝ่ายญี่ปุ่น คิม มีกยอง มองว่าทางการญี่ปุ่นจะรู้สึกโล่งอกที่ทำข้อตกลงนี้สำเร็จเนื่องจากจะทำให้คนในรุ่นถัดไปไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดของคนรุ่นก่อนหน้านี้อีก จะมีภาระก็แค่เรื่องเงินเยียวยาเท่านั้น

นอกจากนี้แล้วปรากฎการณ์นี้ยังทำให้ผู้เขียนบทความวิเคราะห์ด้วยว่าเป็นเรื่องที่อำนาจการนำของทางการสหรัฐฯ ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในเอเชียตะวันออก ข้อตกลงระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นในเรื่องนี้ย้ำเตือนให้จีนเห็นว่าการให้สหรัฐฯ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเอเชียเป็นยุทธศาสตร์ที่ทำได้สำเร็จ การที่จีนอ้างใช้ประวัติศาสตร์เพื่อไล่ต้อนญี่ปุ่นจะได้รับการยอมรับจากเกาหลีใต้น้อยลง อีกทั้งยังส่งผลให้การพยายามผลักดันร่วมกันระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ให้ประเด็น "หญิงบำเรอ" ถูกจารึกอยู่ในโครงการมรดกความทรงจำของโลก (Memory of the World Project) ขององค์การยูเนสโกถูกระงับไว้ชั่วคราว

"รัฐบาลโอบามาสามารถส่งสารถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (ของจีน) ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างคงอยู่ใต้การนำของสหรัฐฯ" คิมมีเกียงระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

The US the big winner in ‘comfort women’ agreement, East Asia Forum, 07-01-2016 http://www.eastasiaforum.org/2016/01/07/the-us-is-the-big-winner-in-comfort-women-agreement/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net