Skip to main content
sharethis

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของสาธารณรัฐจีน หรือ “ไต้หวัน” พรรค DPP กลับมาชนะพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกนาม “ไช่ อิงเหวิน” ผู้เป็นนักวิชาการกฎหมาย คนรักแมว ผู้สนับสนุนการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน พร้อมจับตาสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน เมื่อไช่ อิงเหวิน ไม่เคยออกตัวหนุน “จีนเดียว” และ “การรวมชาติ”

17 ม.ค. 2559 ผลการเลือกตั้งทั่วไปของสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ปรากฏว่าไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้คะแนน 6.89 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 56.1 เอาชนะคู่แข่งคืออิริค จูลี่หลุน (Eri Chu Li-Luan) จากพรรคจีนคณะชาติ หรือ ก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ซึ่งได้คะแนน 3.81 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 31.0 ทำให้ไช่ อิงเหวิน กำลังจะเป็นประธานาธิบดีไต้หวันหญิงคนแรก

ไช่ อิงเหวิน (คนกลาง) ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) กล่าวกับผู้สนับสนุนเมื่อ 16 ม.ค. 2559 (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

ไช่ อิงเหวิน เลี้ยงแมว 2 ตัว คือ "เซียงเซียง" หรือ "ถิงถิง" และ "อาไช่" ซึ่งในภาพนี้คือ "เซียงเซียง" ซึ่งปรากฏตัวในคลิปกล่าวอวยพรวันตรุษจีนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2558 ที่ผ่านมา (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครประธานาธิบดีไต้หวันพรรค DPP หาเสียงโค้งสุดท้ายเมื่อ 15 ม.ค. 2559  (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ออกมาทักทาย ไช่ อิงเหวิน เมื่อ 15 ม.ค. 2559 ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

ผู้ใช้รถใช้ถนนทักทายระหว่างที่รถปราศรัยของ ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรค DPP เคลื่อนผ่าน เมื่อ 15 ม.ค. ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

 

ลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สู่นักวิชาการกฎหมายและว่าที่ประธานาธิบดี

ผู้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีไต้หวันหญิงคนแรกนี้ ปัจจุบันมีสถานะโสด พื้นเพของเธอเกิดที่กรุงไทเปเป็นลูกสาวคนสุดท้อง ในบรรดาพี่น้องร่วมมารดาและต่างมารดา 11 คน ปู่ของเธอเป็นชาวจีนฮากกา ส่วนย่าเป็นชนพื้นเมืองไผหวัน บนเกาะไต้หวัน พ่อของเธอเริ่มต้นจากการเปิดร้านซ่อมรถยนต์ ก่อนที่จะสร้างฐานะจนเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

จากรายงานชีวประวัติใน หนังสือพิมพ์เตรทไทม์ ของสิงคโปร์ และ สารานุกรมวิกิพีเดีย ระบุว่า พ่อแม่ของไช่ อิงเหวิน มีความคาดหวังสูงต่อลูก และเคยไม่พอใจที่ลูกสอบไม่ได้อันดับที่ 1 เหมือนพี่น้องคนอื่นๆ ทั้งนี้จากการเปิดเผยของไช่ อิงเหวิน ผ่านรายการโทรทัศน์ไต้หวันเมื่อปีก่อน

เมื่อถึงระดับมหาวิทยาลัย ไช่ อิงเหวิน เคยคิดอยากเรียนประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี แต่ถูกโน้มน้าวให้ไปเรียนนิติศาสตร์เนื่องจากพ่ออยากให้เธอมาช่วยทำงานด้านกฎหมายสำหรับกิจการของครอบครัว

ทั้งนี้ภายหลังจากจบปริญญาตรีด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) เมื่อปี 2521 ไช่ อิงเหวิน ไปเรียนต่อจบมหาบัณฑิตด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2523 และจบดุษฎีบัณฑิต จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2527 เมื่อศึกษาจบได้กลับมาเป็นอาจารย์กฎหมายที่มหาวิทยาลัยกฎหมายซูโจว และมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจี ในไต้หวัน

ไช่ อิงเหวิน เริ่มมีความโดดเด่นในฐานะข้าราชการด้านนโยบาย ในยุคของประธานาธิบดี ลี เติงฮุย เชิญให้มาเป็นหัวหน้าคณะวิจัย เพื่อพิสูจน์ว่าไต้หวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” และเพื่อสร้างทฤษฎี “สองรัฐ” ขึ้น

ต่อมา ไช่ อิงเหวิน ยังขึ้นมาเป็นหัวหน้าของ สภากิจการแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับคณะรัฐมนตรีไต้หวัน รับผิดชอบนโยบายที่เกี่ยวข้องระหว่างสองฟากฝั่งไต้หวัน – จีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงรัฐบาล DPP ทั้งนี้ไช่ อิงเหวิน เข้าร่วมพรรค DPP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี สมัยของประธานาธิบดี เฉิน ซุยเปียน

ไช่ อิงเหวิน เคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรค DPP ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 14 มกราคม 2555 แต่ก็แพ้ให้กับ หม่า อิงจิ่ว ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง ขณะที่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 16 มกราคม 2559 นอกจากจะทำให้ไช่ อิงเหวิน เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันแล้ว ในรายงานของเดอะการ์เดียน สื่อของอังกฤษยังเปรียบเทียบว่าไช่ อิงเหวิน จะกลายเป็นผู้หญิงที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกของผู้ใช้ภาษาจีน

 

ประธานาธิบดีคนที่ 2 จากพรรค DPP ผู้กอบกู้สถานการณ์พรรคตกต่ำหลังยุคเฉิน ซุยเปียน

ในขณะที่พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ปกครองไต้หวันแทบจะตลอดมานับตั้งแต่ จอมพลเจียง ไค เช็ค (Chiang Kai-Shek) ล่าถอยมาจากแผ่นดินใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2492 ในช่วงขับเคี่ยวสงครามกลางเมืองกับ เหมา เจ๋อ ตุง จึงนับได้ว่า ไช่ อิงเหวิน เป็นนักการเมืองคนที่ 2 จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่สอดแทรกขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของไต้หวัน ซึ่งมีประชากร 23 ล้านคน ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่ง แต่ไต้หวันก็ปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระหลายทศวรรษ

สำหรับประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้จากพรรค DPP ก็คือ เฉิน ซุยเปียน (Chen Shui-bian) ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2543 - 2551 และมีชื่อเสียงเสื่อมเสียด้วยข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน ขณะที่ไช่ อิงเหวิน ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กู้สถานการณ์ของพรรค DPP กลับมา

โดยในห้วงที่ ไช่ อิงเหวิน นำพรรค DPP ชนะการเลือกตั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่พอใจของประชาชนต่อพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งปกครองไต้หวันในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งนี้ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว ซึ่งปกครองไต้หวันระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2558 เศรษฐกิจของไต้หวันอยู่ภาวะชะลอตัว ขณะเดียวกันก็เข้าไปเกี่ยวข้องพึ่งพากับเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ความไม่พอใจต่อพรรคก๊กมินตั๋งมาถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2557 เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติผ่านข้อตกลงทางการค้ากับจีน ทำให้เกิดการตอบโต้ของขบวนการนักศึกษาที่ชื่อว่า "ขบวนการดอกทานตะวัน" รวมไปถึงการประท้วงของกลุ่มรากหญ้าก็แพร่ขยายในไต้หวัน

 

ชัยชนะของพรรค DPP ในยุคที่มีผู้นิยามตนเป็น "คนไต้หวัน" มากกว่า "คนจีน"

ทั้งนี้ไช่ อิงเหวิน และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) เองก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักจากขบวนการเคลื่อนไหวดอกทานตะวัน (Sunflower) ของหมู่เยาวชนไต้หวัน ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรครัฐบาลก๊กมินตั๋ง (KMT) มากกว่าพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจียังพบว่าปัจจุบันในหมู่คนไต้หวันเองก็นิยามตนเองว่าสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) มากกว่าพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ในขณะที่ในรอบ 10 ปีมานี้ ชาวไต้หวันเคยนิยามตนว่าสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) มากกว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

รายงานข่าวของ Quartz เปิดเผยผลสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2535 - 2558 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจี ที่ในระยะหลังพบว่าคนที่อาศัยในไต้หวัน นิยามตนเองว่าเป็นชาวไต้หวัน รองลงมาคือเป็นทั้งชาวไต้หวันและชาวจีน และนิยามว่าเป็นชาวจีนเหลือเพียงร้อยละ 3.3 เท่านั้น

 

นอกจากนี้ ชัยชนะของ ไช่ อิงเหวิน และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ยังเกิดขึ้นในยุคที่คนในไต้หวันนิยามตนเองว่าเป็นชาวจีน หรือนิยามตนว่าเป็นทั้งชาวไต้หวันและชาวจีน ในสัดส่วนที่ลดต่ำที่สุด โดยในรายงานของ Quartz ซึ่งอ้างการสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจี (National Chengchi University) ของไต้หวัน ระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2558 โดยเปิดเผยผลสำรวจทุกๆ วันที่ 6 ม.ค. พบว่าคนไต้หวัน นิยามตัวเองว่าเป็นคนจีนลดต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในปี พ.ศ. 2535 อยู่ที่ร้อยละ 25.5 และอยู่ในจุดสูงสุดเมื่อ พ.ศ. 2537 ที่ร้อยละ 26.2 และค่อยๆ ลดลงโดยในการสำรวจปี พ.ศ. 2558 คนไต้หวันนิยามว่าตัวเองเป็นคนจีนเหลือร้อยละ 3.3

ส่วนการนิยามว่าตนเป็นคนไต้หวัน ในปี พ.ศ. 2535 อยู่ที่ร้อยละ 17.6 เท่านั้น และมีแนวโน้มขึ้นมาเรื่อยๆ ในการสำรวจปี พ.ศ. 2552 อยู่ที่ร้อยละ 51.6 เป็นปีแรกที่ผลการสำรวจพบว่าประชาชนนิยามตนเองเป็นคนไต้หวันเกินร้อยละ 50 และขึ้นมาอยู่ที่จุดสูงสุดในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 60.6 ขณะที่ในการสำรวจล่าสุดปี พ.ศ. 2558 อยู่ที่ร้อยละ 59

ขณะที่ผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นทั้งคนไต้หวันและคนจีน ในปี พ.ศ. 2535 อยู่ที่ร้อยละ 46.4 และเคยขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 49.3 ในปี พ.ศ. 2539 ในช่วงก่อนรวมฮ่องกงเข้ากับจีน ก่อนที่จะค่อยๆ ลดจำนวนลงจนอยู่ในจุดต่ำสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 32.5 ขณะที่การสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2558 อยู่ที่ร้อยละ 33.7 (อ่านรายงานของ Quartz, 15 ม.ค. 2559)

 

ผู้สนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกันและคนรักแมว

 

 
〔生而平權・點亮台灣〕

“It matters not who you love, where you love, why you love, when you love or how you love, it matters only that you love.” John Lennon2015 台灣同志遊行 TAIWAN LGBT PRIDE 10/31(六)13:00集合,14:00出發集合地點/台北市景福門圓環西側(凱道旁)完整資訊:http://twpride.org/twp/

Posted by 蔡英文 Tsai Ing-wen on Thursday, 29 October 2015

 

วิดีโอจากไช่ อิงเหวิน สนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน เมื่อ 29 ตุลาคม 2558 (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

 

 
〔我是蔡英文,我支持婚姻平權〕

在愛之前,大家都是平等的。我是蔡英文,我支持婚姻平權。讓每個人,都可以自由去愛、追求幸福。──2015 台灣同志遊行 TAIWAN LGBT PRIDE 10/31(六)13:00集合,14:00出發集合地點/台北市景福門圓環西側(凱道旁)完整資訊:http://twpride.org/twp/

Posted by 蔡英文 Tsai Ing-wen on Friday, 30 October 2015

 

วิดีโอจากไช่ อิงเหวิน สนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน เมื่อ 31 ตุลาคม 2558 (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

 

นอกจากนี้ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันก็แสดงจุดยืนทางการเมืองที่เปิดกว้าง โดยในรายงานของ Quartz เมื่อ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ก่อนพาเหรดเกย์ไพรด์ของกรุงไทเป เมื่อปีที่แล้ว ไช่ อิงเหวิน ประกาศสนับสนุนการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน โดยกล่าวในวิดีโอที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊คของเธอว่า "ต่อหน้าของความรัก คนทุกคนเท่ากัน ขอให้ทุกคนมีเสรีภาพในความรักและทำให้ความสุขของพวกเขาสมหวัง ฉันคือ ไช่ อิงเหวิน และฉันสนับสนุนการแต่งงานที่เสมอภาคกัน" ทั้งนี้ไช่ อิงเหวิน ยังเผยแพร่วิดีโอที่จัดทำโดยทีมงานหลายคลิป เพื่อสนับสนุนครอบครัวของเพศเดียวกัน (อ่านข่าวใน Shanghaiist, 1 พ.ย. 2015)

 

 

祝大家新年快樂、平安幸福!

Posted by 蔡英文 Tsai Ing-wen on Wednesday, 18 February 2015

 

นอกจากนี้ ไช่ อิงเหวิน ยังเลี้ยงแมว 2 ตัว คือ "เซียงเซียง" หรือ "ถิงถิง" และ "อาไช่" ซึ่ง "เซียงเซียง" เคยปรากฏอยู่ในคลิปอวยพรวันตรุษจีนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2558 มาแล้ว (ชมวิดีโอ)

 

จับตาประเด็นจีน-ไต้หวัน: เมื่อไช่ อิงเหวิน ไม่เคยสนับสนุน “จีนเดียว” และ “การรวมชาติ”

ในรายงานของ Quartz เชื่อว่า ชัยชนะของไช่ อิงเหวิน จะทำให้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปักกิ่งอยู่ในสถานะลำบาก ทั้งนี้ ไช่ อิงเหวิน แม้จะไม่เคยสนับสนุนโดยเปิดเผยให้ไต้หวันเป็นเอกราช และดูเหมือนต้องการรักษา “สถานะปัจจุบัน” ไว้กับปักกิ่งและต่อสู้เพื่อความร่วมมือเพื่อให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มากกว่านี้

แต่ไช่ อิงเหวิน เองก็ไม่เคยแสดงความสนับสนุนการรวมชาติจีน-ไต้หวัน หรือไม่เคยแสดงออกว่ายอมรับใน “ฉันทามติ 92” ที่เคยมีข้อตกลงระหว่างจีน-ไต้หวันเมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่ว่าทั้งไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่รับรองว่ามีเพียง “จีนเดียว” อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายต่างมีการแถลงคำจำกัดความ “จีนเดียว” ของตนเอง และในขณะที่ปักกิ่งมองเห็นไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และเห็นการขึ้นมามีอำนาจบริหารของไช่ อิงเหวิน ตรงกันข้ามกับแนวคิดเหล่านี้ ในอนาคตก็อาจเกิดการโดดเดี่ยวต่อไต้หวันทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

000

ผลการเลือกตั้งทั่วไปไต้หวัน DPP ชนะทั้งเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกสภานิติบัญญัติ

แผนที่แสดงผลการลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีไต้หวัน สีเขียวคือเขตที่เลือก ไช่ อิงเหวิน จากพรรค DPP มากกว่าพรรคอื่น สีน้ำเงิน คือเขตที่เลือก อีริค จูลี่หลุน จากพรรคก๊กมินตั๋ง KMT มากกว่าพรรคอื่น สีส้ม คือ เขตที่เลือกเจมส์ ซ่ง จากพรรคประชาชนมาก่อน PFP มากกว่าพรรคอื่น โดยข้อมูลจากแผนที่พบว่าทั้งไทเป (ตอนบนสุด) และเกาสง (ชายฝั่งตะวันออกทางทิศใต้) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีประชากรหนาแน่นเทคะแนนให้พรรค DPP ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งยังรักษาคะแนนไว้ได้ในเขตชายฝั่งทางตะวันตกที่มีประชากรหนาแน่นน้อยกว่าฝั่งตะวันออก (ที่มา: วิกิพีเดีย)

สำหรับผลการเลือกตั้งทั่วไปของสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ซึ่งประกอบด้วย การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีครั้งที่ 14 และการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวัน สมัยที่ 9 รวม 113 ที่นั่งนั้น ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปรากฏว่า ไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) และแนวร่วม ได้คะแนน 6.89 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 56.1

ส่วนอิริค จูลี่หลุน (Eri Chu Li-Luan) จากพรรคจีนคณะชาติ หรือ ก๊กมินตั๋ง (KMT) และแนวร่วม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้คะแนน 3.81 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 31.0 ขณะที่เจมส์ ซ่ง (James Soong) หรือ ซ่ง ฉู่หยี พรรคประชาชนมาก่อน (People First Party - PFP) ได้คะแนน 1.58 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 12.8

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงเป็นครั้งที่ 6 โดยก่อนหน้านี้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านการเลือกของรัฐสภาจนถึงปี พ.ศ. 2539

ส่วนผลการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติสมัยที่ 9 ทั้ง 113 ที่นั่ง ประกอบด้วยแบ่งเขต 79 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 34 ที่นั่ง ผลปรากฏว่า อันดับหนึ่ง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้ ส.ส. รวม 67 ที่นั่ง (แบ่งเขต 49 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 18 ที่นั่ง) โดยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 27 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

อันดับสอง พรรคจีนคณะชาติ หรือ ก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิม ได้ ส.ส. รวม 36 ที่นั่ง (แบ่งเขต 25 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 11 ที่นั่ง) ได้ที่นั่งลดลง 28 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

อันดับสาม พรรคพลังใหม่ (New Power Party) ได้ ส.ส. รวม 5 ที่นั่ง (แบ่งเขต 3 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง) อันดับสี่ พรรคประชาชนมาก่อน (People First Party) ได้ ส.ส. รวม 3 ที่นั่ง ทั้งหมดมาจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ อันดับห้า สหภาพเพื่อความสามัคคีของพรรคไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Partisan Solidarity Union) ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง จากแบบแบ่งเขต

สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของไต้หวันครั้งนี้นั้น สถานีวิทยุไต้หวัน RTI รายงานว่า ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีจำนวน 18,786,808 คน เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว 700,353 คน แต่ในครั้งนี้ชาวจีนโพ้นทะเลลงทะเบียนเพื่อกลับมาเลือกตั้งมีจำนวน 2,425 คน อนุมัติแล้ว 2,317 คน นับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net