Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปร่วมงานกับองค์กรแห่งหนึ่งในระยะเวลา 3-4 เดือน เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้เขียนสังเกตเห็นบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับกิจกรรมยามว่างชุดหนึ่งที่น่าสนใจ ของผู้คน สมาชิก และเจ้าหน้าที่ประจำขององค์กรดังกล่าว ก็คือ กิจกรรมการ “เล่นหวย” หรือหากเรียกอย่างเป็นทางการก็คือ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ซึ่งอาจจะมิใช่การเล่นหวยในมุมธรรมดาๆ ตามที่หลายๆคนในสังคมเคยเข้าใจมาก่อน แต่จะเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของการเล่นหวยจากประสบการณ์ภาคสนาม (field work) ของผู้เขียนในฐานะนักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ที่ได้เข้าไปทำการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมภายในองค์กรแห่งนี้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

เป็นที่ทราบดีเป็นปกติว่าในทุกๆกลางเดือนและปลายเดือนนั้นจะเป็นช่วงของการประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล (lottery) ของทางกองสลากฯ และกิจกรรมที่เรียกว่า การเล่นหวย นี้สำหรับหลายๆคนมันอาจเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ อาจถึงขั้นการผิดศีล หรือเป็นเรื่องด้านลบในเชิงจริยศาสตร์สำหรับหลายๆคน แน่นอนผู้เขียนก็เคยคิดเช่นนั้น ในวัยเยาว์ ผู้เขียนมักจะพร่ำบ่นเวลาเห็นเหล่าผู้ใหญ่ตัวโตทั้งหลาย นิยมซื้อกระดาษเปล่าๆ มานั่งฟังประกาศผลทุกๆเดือนเช่นนี้ว่า บ้าพนันเสมอๆ แต่เมื่อได้พบกับประสบการณ์ใหม่ ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป ก็ช่วยให้มีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวนี้ในแง่มุมที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
จึงจะขอใช้โอกาสนี้ในการนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของวัฒนธรรม “การเล่นหวย” ที่อาจถือได้ว่าเป็น “วัฒนธรรมป๊อป” (Popular Culture) อย่างหนึ่งของสังคมไทยเลยก็ว่าได้ ผู้เขียนพบว่า ช่วงเวลาของการรอลุ้นผลสลากกินแบ่งฯ ในออฟฟิศแห่งนั้นไม่ได้มุ่งเพื่อผลเชิงการพนันเสียทีเดียว เพราะในระหว่างที่ทุกๆคนกำลังรอลุ้นการประกาศผลรางวัลอยู่นั้นพวกเขาก็ไม่ได้มีเจตนาหรือเจตจำนงและความหวังอย่างสุดโต่งในการจะได้มาซึ่งรางวัลจากสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีมูลค่ามากถึงหลักล้านบาทแต่อย่างใด

จากการซักถามพูดคุยเป็นครั้งคราวและการสังเกตการณ์กว่าหลายเดือน ผู้เขียนพบว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยแสดงออกหรือสื่อออกมาถึงความรู้สึกเสียใจเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าผลการประกาศรางวัลของทางกองสลากที่ประกาศออกมาจะไม่เป็นไปตามที่พวกเขาคาดหมาย หรือคาดหวังเอาไว้ตั้งแต่แรกก็ตาม พวกเขาก็ยังยืนยันที่จะซื้อหาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาติดตามผลในครั้งถัดๆไปด้วยจิตใจที่แจ่มใส สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็อันเนื่องมาจากว่า ความสุขของกิจกรรมดังกล่าวนี้สำหรับพวกเขา จริงๆแล้วไม่ได้อยู่ที่ว่า ผู้ซื้อจะได้รับรางวัลขนาดใหญ่ๆแต่ขนานใด

หากแต่ว่าความสุขที่ซ่อนอยู่ภายในกิจกรรมนี้ จริงๆแล้วอยู่ที่ขั้นตอนหรือช่วงเวลาระหว่างการรอประกาศผล (in-between) ที่ทุกๆคนภายในองค์กรจะมานั่งรวมกัน ณ จุดจุดหนึ่งของสถานที่ทำงาน โดยวางมือจากทุกกิจกรรม หรือทุกงานที่กำลังปฏิบัติอยู่แล้วมารวมตัวกันในเวลาเดิม ของทุกๆครั้งที่มีการรอประกาศผลจากทางกองสลากฯ ซึ่งเป็นอีกเวลาหนึ่งที่ทุกๆคนจะมีโอกาสพูดคุยกันมากที่สุดเวลาหนึ่ง (รองลงมาจากเวลารับประทานอาหารร่วมกัน)

เวลาดังกล่าวนี้จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ทุกๆคน ได้พูดคุยและเล่าถึงความปรารถนาของตนเองภายหลังจากได้รับรางวัลจากกองสลากฯ อย่างหลากหลาย และมีสีสัน ไปพร้อมๆกับการรอลุ้นผลจากทางกองสลากฯ ด้วยความตั้งอกตั้งใจ และเมื่อผลจากทางกองสลากฯ ประกาศออกมา แม้จะไม่มีผู้ใดได้รับรางวัลเลย ก็จะไม่มีใครแสดงออกถึงความเสียใจหรือความเสียดายในเงินที่สูญเสียไปกับตัวสลากกินแบ่งฯ ตลอดเวลาแห่งความพ่ายแพ้เหล่านี้ จะมีคนใดคนหนึ่ง พูดออกมาเสมอว่า “ครั้งหน้ายังมีเว่ย” ซึ่งทุกๆคนในนั้นก็เห็นพ้องต้องกัน และกลับไปทำงานต่ออย่างยิ้มแย้ม

แต่ในกรณีหากเมื่อมีคนใดคนหนึ่งได้รับรางวัล (แม้เพียงมูลค่าจำนวนเล็กน้อย) คนผู้นั้นก็จะนำเงินรางวัลส่วนหนึ่งไปจับจ่ายซื้ออาหารมาล้อมวงรับประทานร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีความสุขปรากฏขึ้นในระหว่างการทำกิจกรรม (in-between) คือ ช่วงระหว่างการนั่งรอลุ้นผลการประกาศรางวัลเสียมากกว่า ไม่ได้อยู่ที่ผลของกิจกรรม (การประกาศรางวัล) เสียทีเดียว ดังจะเห็นได้จากการมารวมตัวกันเพื่อรอประกาศผลรางวัล พร้อมกับพูดคุย แลกเปลี่ยนถึงความฝัน ความต้องการของตัวเองอย่างมีความสุข (sense of companionship) และทุกๆครั้งแต่ละคนก็จะมีความหวัง ความปรารถนา รูปแบบใหม่ๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอๆ ส่วนผลของกิจกรรมที่อาจมีคนใดคนหนึ่งได้รับรางวัลนั้นกลายเป็นเพียงผลพลอยได้ของกิจกรรมที่เป็นเหมือนทางเลือกที่เกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ (optional) ไม่มีผลกระทบต่อความรู้สึกหรือด้านจิตใจมากเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรม หรือ พฤติกรรมที่มีร่วมกันภายในวิถีปฏิบัติในชีวิตการทำงานร่วมกันของมนุษย์ในสังคมที่ผู้เขียนได้เข้าไปสัมผัสนี้ แม้จะเป็นเพียงการจัดรูปแบบสังคมในระดับย่อย (sub-society) ภายในองค์กรแห่งหนึ่งก็ตาม แต่ก็สามารถทำให้เกิดภาพอีกภาพหนึ่งที่จะช่วยแสดงให้เห็นเกี่ยวกับกิจกรรม วิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของการทำงานของเหล่าสมาชิกในองค์กร เรื่อง “หวย” ที่มิได้มีแต่ในด้านของการพนัน หรือแง่มุมที่เป็นแสงไฟดึงดูดแมลงเม่าเท่านั้น การเล่นหวย โดยเฉพาะกับการมารวมกัน ณ จุดๆหนึ่งเพื่อรอลุ้นผลการประกาศรางวัลหวย ยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมย่อยที่น่าสนใจ ในส่วนของการใช้ “เวลาว่าง” (leisure) อันนำมาซึ่งความสุขที่ไม่เพียงจะซื้อหามาได้ในราคาที่ย่อมเยา และง่ายๆเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างความสุข ความสนุกชั้นที่ 2 ได้อีก คือ การเกิดความรู้สึกและความสุขที่ทุกๆคนมีร่วมกันในขั้นตอนระหว่างการรอลุ้นการประกาศผล (the in-between-activity)

 


หมายเหตุผู้เขียน: ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นข้อเสนอทางมานุษยวิทยา ที่ได้รับผลพลอยได้ทางประสบการณ์ภาคสนามที่มาจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามในการทำวิจัยของผู้เขียนภายในหัวข้ออื่นๆ กับองค์กรแห่งหนึ่งเท่านั้น คำอธิบายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหวยครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นปกติของงานทางด้านมานุษยวิทยา ที่ศึกษา และสร้างคำอธิบายทางสังคมผ่านการกรณีศึกษาใดกรณีหนึ่ง ทำให้งานชิ้นนี้อาจให้ได้เพียงภาพเล็กๆ ชุดหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นหวยเท่านั้น แต่อาจจะไม่สามารถใช้อธิบายภาพรวมการเล่นหวยของสังคมไทยได้ทั้งหมด เพราะทุกๆสังคมย่อยย่อมมีลักษณะวัฒนธรรมเชิงสัมพัทธ์ (cultural relativism) เป็นของตนเอง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net