Skip to main content
sharethis
อนุ กมธ. ทำแผนจัดเก็บรายได้แผ่นดิน  สนช. เสนอไอเดียอุดช่องโหว่กฎหมาย จัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการต่างประเทศอย่าง กูเกิล-เฟซบุ๊ก คาดมีเม็ดเงินค่าโฆษณาที่คนไทยใช้บริการจากต่างประเทศปีละ 12,000 – 15,000 ล้านบาท จะจัดเก็บภาษีได้ถึง  2,000 – 3,000 ล้านบาท
 
 

อนุ กมธ. ทำแผนจัดเก็บรายได้แผ่นดิน โดยสนช. เสนอไอเดียอุดช่องโหว่กฎหมาย จัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบกา...

Posted by TCIJ on 17 มกราคม 2016

 
 
18 ม.ค. 2559 เว็บไซต์ TCIJ รายงานว่าคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอว่า เพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น กูเกิล และเฟซบุ๊ก โดยไม่มีการเสียภาษีให้แก่ประเทศไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นธรรมและอุดช่องโหว่กฎหมายตามหลักสากล กรมสรรพากรอาจจะต้องแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวข้องบางมาตรา อาทิ มาตรา 70 โดยให้เพิ่มการจ่ายเงินค่าโฆษณาตาม มาตรา 40 (7) มาตรา 40 (8) เป็นเงินพึงได้ประเมินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศ แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย หรือ มาตรา 65 ตรี  โดยกำหนดให้รายจ่ายจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศกรณีที่บริษัทต่างประเทศไม่ได้ผ่านการเก็บภาษีตาม มาตรา 70 หรือ มาตรา 76 ทวิ เป็นรายจ่ายต้องห้าม มิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม มาตรา 65 ตรี
 
โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินฯ ระบุว่า ซึ่งผลจากกรณีดังกล่าวจะช่วยจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด โดยปัจจุบันกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 20 (ณ เดือนธันวาคม 2558) ก็จะสามารถนำมาประเมินจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการใช้บริการโฆษณาจากต่างประเทศปีละประมาณ 12,000 – 15,000 ล้านบาท และหากอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตก็จะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตาม รวมทั้งยังเสนอว่า กรณีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนถูกต้องในประเทศญี่ปุ่นและประเทศออสเตรเลียจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้จ่ายเงินค่าโฆษณาดังกล่าวไม่สามารถนำภาษีมาซื้อเครดิตออกจากภาษีขายของตนเองได้ กรมสรรพากรควรนำกรณีดังกล่าวมาพิจารณาศึกษาเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยด้วย
 
 
 
อ่านเพิ่มเติม:
 
ผุดไอเดียใหม่ ‘เก็บภาษีโฆษณาออนไลน์’ จากผู้ใช้บริการกูเกิ้ล-เฟซบุ๊ค 3 พันล./ปี
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net