Skip to main content
sharethis

บทความจาก Yes! Magazine ชวนคุยเรื่องห้องน้ำและระบบสุขาภิบาล ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศอย่างอินเดียเท่านั้น แม้แต่ในสหรัฐฯ การมีห้องน้ำสาธารณะและห้องน้ำเดี่ยวเพื่อคนข้ามเพศก็เป็นเรื่องยากเย็นและกลายเป็นข้อถกเถียง นอกจากนี้ผู้เขียนชี้ว่าห้องน้ำไม่ใช่แค่เรื่องการปลดทุกข์ แต่เป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

19 ม.ค. 2559 ถึงแม้ว่าการเรียกร้องเรื่องเกี่ยวกับห้องน้ำสาธารณะอาจจะดูเป็นเรื่องน่าขันและดูไม่จริงจัง แต่บทความของโจ สก็อต บรรณาธิการฝึกหัดจากนิตยสาร Yes! ในสหรัฐฯ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของพลเมือง ระบุว่าปัญหาเรื่องสุขาสาธารณะเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนทุกคนไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม

สก็อตชี้ว่าเรื่องของห้องน้ำสาธารณะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนซึ่งนอกจากเรื่องระบบสุขาภิบาลที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโรคแล้วยังเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย ดังนั้นแล้วการกีดกันหรือบีบบังคับทางเพศสภาพต่อเรื่องการใช้ห้องน้ำที่มีการแบ่งแยกเพศเพียงสองเพศจึงถือเป็นการสร้างอคติกีดกันทางอ้อม และเรื่องของห้องน้ำนี้ก็มีการเปิดประเด็นอภิปรายเพื่อหาออกร่วมกันในสังคมน้อยมาก บทความของสก็อตจึงนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนในพื้นที่ต่างๆ ที่ต่อสู้เรียกร้องในประเด็นนี้

ถึงแม้ว่าในบางเมืองอย่างเมืองซีแอตเทิล รัฐฟิลาเดลเฟีย หรือเมืองแวนคูเวอร์ ในประเทศแคนาดา มีโครงการริเริ่มในเรื่องห้องน้ำเดี่ยวทั้งห้องน้ำส่วนตัวและห้องน้ำสาธารณะเพื่ออำนวยความสะดวกต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) แต่ก็มีคนบางกลุ่มต่อต้านพวกเขาด้วยข้ออ้างอย่างเช่นว่านายกเทศมนตรีควรจะเอาเวลาไปเน้นจัดการปัญหาอื่นๆ มากกว่า

เรื่องนี้สก็อตมองว่า การโต้ตอบความก้าวหน้าเหล่านี้กระทำไปด้วยความกลัวและความเกลียดชัง โดยยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ซึ่งมีการเสนอ "กฤษฎีกาเพื่อสิทธิความเท่าเทียมในฮิวสตัน" (Houston Equal Rights Ordinance หรือ HERO) ที่หนึ่งในนั้นคือการเสนอให้มีห้องน้ำรวมสำหรับทุกเพศ แต่ก็มีกลุ่มที่ต่อต้านกฎหมายนี้โดยทำวิดีโอโฆษณาอ้างว่าจะทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้นในห้องน้ำสาธารณะ สุดท้ายแล้วกฎหมาย HERO ก็ไม่ผ่านการพิจารณา

บทความของสก็อตระบุว่า ฝ่ายต่อต้านในรัฐฟลอริดาและวอชิงตันต่างก็ใช้วิธีการสร้างความตื่นกลัวในแบบเดียวกับของเมืองฮิวสตัน และมีการหารือกันในเรื่องนี้น้อยมาก แต่ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดการถกเถียงกันมากขึ้นเนื่องจากกำลังมีกรณีเรื่องห้องน้ำเกิดขึ้นกับโรงเรียนทั่วประเทสสหรัฐฯ เช่น ในชิคาโกมีนักกิจกรรมชื่อฮาร์เปอร์ แซคคาเรียส นักกิจกรรมเรื่องห้องน้ำพยายามเจรจาต่อรองกับผู้บริหารของโรงเรียนเพื่อให้มีการจัดตั้งห้องน้ำปลอดภัยและเหมาะสมกับกลุ่มนักเรียนที่เป็นคนข้ามเพศ ซึ่งแซคคาเรียสมองว่าต้องมีการคุ้มครองคนข้ามเพศในเรื่องนี้เพราะห้องน้ำเป็นสถานที่ซึ่งพวกเขามีความเสี่ยงเพราะห่างไกลจากสายตาของครู

สก็อตได้ยกตัวอย่างความเสี่ยงดังกล่าวในกรณีของโรงเรียนโอลิมเปีย รัฐวอชิงตัน ที่มีนักเรียนซึ่งเป็นคนข้ามเพศตกเป็นเป้าถูกทำร้ายขณะอยู่ในห้องน้ำในช่วงปีการศึกษา 2557-2558 และเนื่องจากไม่มีพยานอยู่ในห้องน้ำ จึงทำให้ผู้ที่ทำร้ายพวกเขาไม่โดนลงโทษ แซคคาเรียสเล่าถึงกรณีนี้ว่ากลุ่มคนข้ามเพศจำนวนมากหลีกเลี่ยงการเข้าห้องน้ำด้วยการไม่ดื่มน้ำเลยตลอดทั้งวันหรืออั้นปัสสาวะไว้ตลอด 7 ชั่วโมงในโรงเรียน

ครูใหญ่ของโรงเรียนเดียร์ฟิลด์ที่แซคคาเรียสไปหารือด้วยเห็นด้วยกับทางออกที่เขาเสนอคือการให้มีห้องน้ำแบบเดี่ยวสำหรับทุกเพศและควรจะมีการกระจายข่าวนี้แบบปากต่อปากเพื่อไม่ให้มีคนแห่ไปใช้ห้องน้ำที่มีความเป็นส่วนตัวนี้ โดยที่การพูดคุยนี้ต้องเป็นความลับระหว่างนักเรียนที่เป็นคนข้ามเพศกับครูใหญ่เพราะส่วนมากแล้ว เด็กๆ มักจะไม่ให้พ่อแม่รู้อัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา

ในกรณีของโรงเรียนโอลิมเปียก็เช่นกัน เหตุการณ์ทำร้ายนักเรียน 2 คน ทำให้กลุ่มนักเรียนอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องนี้จนไปถึงหูของผู้ปกครองและมีการต่อสู้ร่วมกันกับนักเรียนและการประชุมบอร์ดของผู้ปกครองจนทำให้ได้ห้องน้ำที่ไม่มีการแบ่งแยกทางเพศมาได้

นอกจากเรื่องการคุ้มครองคนข้ามเพศแล้วแซคคาเรียสยังมองอีกว่าห้องน้ำสำหรับทุกเพศเป็นสิ่งแรกๆ ที่ทำให้เด็กนักเรียนได้เห็นและเข้าถึงเรื่องเพศสภาพหรือเพศสภาวะที่ต่างจากความคุ้นชินแบบเดิม การได้เห็นหรือเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้นักเรียนสามารถเปิดรับเพื่อนของพวกเขาที่เป็นคนข้ามเพศได้ดีขึ้น

"แค่การเปลี่ยนป้ายหน้าห้องน้ำก็อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมแบบยกแผงได้" สก็อตระบุในบทความ

แล้วสถานการณ์ห้องน้ำในประเทศที่ถูกมองว่าเป็น "ประเทศกำลังพัฒนา" ล่ะ
หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Millennium Development Goals หรือ MDG) ที่ตั้งไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2543 คือการปรับปรุงระบบสาธารณสุขด้านการขับถ่ายให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามรายงาน MDG ล่าสุดยอมรับว่ายังคงมีประชากรโลก 2,400 ล้านคน (1 ใน 3 ของโลก) ที่ยังคงใช้สุขาที่ยังไม่มีการปรับปรุงดีพอ และ 1 ใน 8 ของประชากรโลกทั้งหมดยังขับถ่ายในที่โล่งแจ้งซึ่งส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาดในวงกว้าง

ในบทความมีการยกตัวอย่างกรณีของอินเดียซึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องระบบสุขาภิบาลที่ไม่ดี มีประชากรเด็กเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงจำนวน 130,000 คน ในปี 2556 จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ โดย ที อาร์ รากุนันดาน ที่ปรึกษาขององค์กรริเริ่มด้านกระบวนการตรวจสอบในอินเดียที่เป็นกลุ่มตรวจสอบการทุจริตและประสิทธิภาพของโครงการรัฐในอินเดียกล่าววิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมสุขาในอินเดียเช่นกัน
เขาบอกว่าถึงแม้จะมีการสร้างห้องน้ำจำนวนหลายล้านแห่งจากโครงการของรัฐบาล แต่วัฒนธรรมการขับถ่ายของชาวอินเดียจำนวนมากก็ยังคงไม่ยอมใช้ห้องน้ำแบบปิดซึ่งเป็นปัญหาด้านการศึกษา

ในสิงคโปร์มีองค์กรสนับสนุนการพัฒนาสุขาภิบาลห้องน้ำในชื่อว่าองค์กรห้องน้ำโลก (World Toilet Organization หรือ WTO) ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอก่อตั้งโดยแจ็ค ซิม หรือที่เรียกตัวเองในชื่อว่า 'มิสเตอร์ทอยเล็ต' (Mr.Toilet) ชายผู้นี้พูดเรื่องการขับถ่ายอย่างตรงไปตรงมาและพยายามใช้จิตวิทยาแบบทุนนิยมในการรณรงค์การใช้ห้องน้ำอย่างถูกสุขอนามัย เช่น เรื่องการออกแบบห้องน้ำที่ดึงดูดใจคนจากต่างวัฒนธรรมและมีโครงการให้การศึกษาเรื่องการใช้สุขาแก่ผู้คนและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนทำงานด้านสุขาภิบาลจากการจัดให้มีวิทยาลัยห้องน้ำโลก (World Toilet College หรือ WTC) ที่จัดให้มีนักเรียน 1,000 คนในอินเดียเข้าเรียนฟรี

ทางการอินเดียเองก็วางเป้าหมายให้มีระบบสุขาภิบาลแบบถ้วนหน้าภายในปี 2562 แต่รากุนันดานก็เตือนว่าเป้าหมายนี้จะไม่สามารถสำเร็จได้ถ้าไม่มีความร่วมมือจากประชาชน


แม้แต่ 'ประเทศโลกที่หนึ่ง' ก็ยังมีปัญหาห้องน้ำสาธารณะ
ถึงแม้ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีปัญหาด้านสุขาภิบาลในอีกแบบหนึ่ง แต่บทความของสก็อตก็ชี้ว่าในสหรัฐฯ เองก็มีปัญหาเรื่องของสุขาภิบาลอยู่เช่นกันโดยยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในซานฟรานซิสโก ปี 2557 กรณีที่บันไดเลื่อนรถไฟใต้ดินพังเพราะมีของเสียจากคนเข้าไปติดอยู่อุปกรณ์ภายในมากเกินไป ในซีแอตเทิลก็มีการทำความสะอาดของเสียจากคนและสัตว์โดยทางเทศบาลรวม 14,309 ครั้งในปี 2557-2558 และการกำหนดนโยบายของลอสแองเจลลิสในปี 2558 ก็มีการพยายามแก้ปัญหาเรื่องห้องน้ำโดยหน่วยงานเกี่ยวกับความยากจนและคนไร้บ้านซึ่งจัดเป็นวาระระดับต้นๆ ของปี ในเมืองนิวยอร์กซิตี้ก็มีการออกคู่มือนำทางเพื่อแนะนำห้องน้ำสาธารณะที่ 'ซ่อน' อยู่ตามจุดต่างๆ ของเมือง

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ คือแทนที่จะสร้างห้องน้ำสาธารณะแต่กลับผลักภาระการจัดหาห้องน้ำไปให้กับกิจการของเอกชน อย่างเช่นสตาร์บัคส์ แต่ก็มีบางเมืองที่สามารถจัดการกับปัญหาเรื่องห้องน้ำสาธารณะได้ดีอย่างเช่นซานฟรานซิสโกที่มีโครงการห้องน้ำเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ รวมถึงจุดที่มีประชากรคนไร้บ้านจำนวนมาก หรือเมืองพอร์ตแลนด์ในรัฐโอเรกอนที่เป็นโครงการราคาถูกกว่าในการสร้างห้องน้ำด้วยเหล็กกล้าที่ป้องกันการฉีดพ่นกราฟิตี้ และเน้นให้คนที่ทำงานในเมืองสามารถใช้ล้างมือได้แต่ไม่ให้ใช้อาบน้ำ

บทความของสก็อตระบุว่าปัญหาหนึ่งของห้องน้ำสาธารณะในสหรัฐฯ คือการที่คนกลัวว่าห้องน้ำเหล่านี้จะเป็นที่ปิดลับซึ่งถูกนำไปใช้ในการลับลอบค้ายาหรือค้าประเวณี ซึ่งความหวาดกลัวเหล่านี้ครอบงำผู้คนจนทำให้ไม่กล้าปล่อยให้ห้องน้ำสาธารณะมีความเป็นส่วนตัวมากนัก ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นจริงแต่ก็มีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ห้องน้ำสาธารณะของพอร์ตแลนด์มีการใช้ไฟสีน้ำเงินเพื่อทำให้หาเส้นเลือดยากขึ้น (แก้ปัญหากรณีผู้เสพยาแบบใช้เข็มฉีด) แต่ก็ยังมีการวิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบจากประชาชน

อย่างไรก็ตาม สถานที่ตั้งของห้องน้ำก็มีความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ จากการที่เมืองซานดิเอโกติดตั้งห้องน้ำใกล้กับสถานที่ๆ มีคนพลุกพล่านอย่างสนามกีฬาเบสบอลใกล้สวนสาธารณะ ทำให้มีโอกาสที่จะถูกใช้ก่ออาชญากรรมน้อยลง

สก็อตย้ำในบทความว่าห้องน้ำยังเป็นเรื่อง "ศักดิ์ศรีของทุกคน" ไม่เพียงแค่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศโลกที่หนึ่งเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนในอินเดียมีต้องเผชิญภาวะวิกฤตด้านสุขาภิบาลด้วย
"เพราะทุกคนล้วนต้องขับถ่าย แต่มันเป็นสิทธิพิเศษของคนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะมีสถานที่ขับถ่ายที่ปลอดภัยได้ ห้องน้ำเป็นสถานที่และพื้นที่ส่วนบุคคลแต่ก็เป็นที่ต้องการอย่างมาก" สก็อตระบุในบทความ


เรียบเรียงจาก

Toilets: It’s Time to Air Out the Issue, Yes! Magazine, 15-01-2016
http://www.yesmagazine.org/peace-justice/toilets-its-time-to-air-out-the-issue-20160115

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net