Skip to main content
sharethis

18 ม.ค.2559 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 เป็นประธาน ได้พิจารณาแผนการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน เรื่องแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) (ฉบับที่..) พ.ศ....

โดย พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ได้ชี้แจงว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำเสนอ ซึ่งผ่านกระบวนการตรวจสอบการเสนอกฎหมายการตรวจร่างจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาดิจิตอลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จึงจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลกิจการด้านโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้มีการทำงานที่เป็นเอกภาพเกิดความคล่องตัวในการใช้จ่ายงบประมาณ การออกใบอนุญาต ซึ่งมีการปรับปรุงรวมบอร์ดต่างๆ ให้เหลือเพียง กสทช.เพียงบอร์ดเดียว ตามมาตรา 23 การเพิ่มอำนาจหน้าที่ในการเจรจา ตามมาตรา 16 และเพิ่มการเยียวยา ตามมาตรา 31-34 จากนั้นสมาชิก สปท.ได้อภิปราย พร้อมซักถามท้วงติงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจำนวนมาก

โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะขัดต่อกฎหมาย เพราะองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จะเป็นองค์กรของรัฐและไม่ได้เป็นอิสระจริง อย่างไรก็ตามสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่พอใจการตอบข้อซักถามของ พล.อ.อ.คณิต ที่ไม่ได้รับความกระจ่าง ซึ่งในที่สุด นายอลงกรณ์ ได้ตัดบทพร้อมให้ลงมติ โดยระบุว่า สมาชิกสามารถเสนอข้อคิดเห็นต่อ กมธ. เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ ก่อนที่นำเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนดังกล่าว ด้วยคะแนน 128 ต่อ 11 งดออกเสียง 17 และให้ส่งเรื่องไปยัง ครม.ดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการลงมติ นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิก สปท. ได้ลุกขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนได้งดออกเสียงเนื่องจากไม่สบายใจต่อการทำงานของ สปท. ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา เพราะเมื่อฟังประธาน กมธ. ที่ระบุว่าเป็นการดำเนินการตามที่มีการเสนอมา ซึ่งเมื่อมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำแล้วเราจะทำอีกทำไม เป็นการทำงานซ้ำซ้อน แต่เมื่อนำเข้าสู่วาระการประชุมก็ต้องชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกให้ได้ทุกข้อ และต้องรับฟังความคิดเห็นในสภานี้ให้ได้ เราเป็นสภาปฏิรูป ไม่ได้ทำหน้าที่เขี่ยลูกอย่างเดียว ทั้งนี้ ต้องตำหนิวิป สปท.ที่นำเรื่องเข้าสู่วาระการพิจารณา ลองคิดดูว่าหากสภาไม่เห็นชอบก็เท่ากับ สปท.สวนหมัดกับรัฐบาล แต่ถ้าเห็นชอบก็ยังออกเป็นกฎหมายไม่ได้ แต่กลายเป็นแค่เสียงเชียร์รัฐบาล ซึ่งท่านกำลังเอาสภาไปเสี่ยง ถ้าเราทำเช่นนี้ก็จะเสียหาย คิดว่าวิป สปท.จะต้องมีความรอบคอบในการกำหนดวาระการประชุม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net