Skip to main content
sharethis

อดีตสื่อพลัดถิ่นพม่า "อิระวดี" ซึ่งกลับไปปักหลักที่ย่างกุ้งหลังเปิดประเทศ จะยุติการพิมพ์ "อิระวดีภาคภาษาพม่า" และมุ่งพัฒนาสื่อออนไลน์ ซึ่งกำลังเติบโตในพม่าแทน - โดย บ.ก. หวังว่า "อิระวดี" ฉบับพิมพ์จะกลับมาอีกครั้ง หากมีการแก้ไขนโยบายของรัฐที่เอื้อให้สื่อสิ่งพิมพ์ที่รัฐเป็นเจ้าของเหนือกว่าในการเข้าถึงแหล่งโฆษณาและการจัดจำหน่าย

หน้าข่าวของเว็บไซต์อิระวดีภาคภาษาพม่า ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมีผู้กดไลค์กว่า 3.7 ล้านคน ขณะที่ในเดือนมกราคมนี้นิตยสารอิระวดีภาคภาษาพม่า จะยุติการจัดจำหน่าย โดยอิระวดีจะมุ่งความสนใจไปสื่อออนไลน์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าแพลตฟอร์มออนไลน์จะเติบโตได้อีกในพม่า ประเทศซึ่งประชากรร้อยละ 13 เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

20 ม.ค. 2559 นับตั้งแต่พม่าเปิดประเทศและเปิดเสรีภาพสื่อ อดีตสำนักข่าวพลัดถิ่นอย่าง "อิระวดี" ได้กลับไปปักหลักที่ย่างกุ้ง ตีพิมพ์นิตยสาร "อิระวดี" ภาคภาษาพม่า จำหน่ายรายสัปดาห์มาเป็นเวลา 2 ปีนั้น ล่า สุดจากรายงานของ เมียนมาร์ไทมส์ รายงานเมื่อ 18 ม.ค. นี้ว่า อิระวดีภาคภาษาพม่ารายสัปดาห์ จะจัดจำหน่ายฉบับสุดท้ายวันที่ 21 ม.ค. นี้

โดย ตะลงเซาเต็ด บรรณาธิการอิรวะดี ภาคภาษาพม่า กล่าวว่า การตีพิมพ์อิระวดี ภาคภาษาพม่า รายสัปดาห์ไม่ตอบโจทย์ด้านต้นทุน ทั้งนี้นับตั้งแต่ตีพิมพ์ในปี 2557 ก็ยังไม่สามารถคืนกำไรได้เลย โดยเขายังหวังว่าในอนาคตหวังว่าอิระวดีรายสัปดาห์จะกลับมาอีก

"เราไม่ได้กล่าวว่าจะหยุดการตีพิมพ์ นี่เป็นเพียงการระงับชั่วคราว เพราะเราวางแผนจะกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายต่อเรื่องสิ่งตีพิมพ์"

เขากล่าวว่า หนังสือพิมพ์และนิตยสารของเอกชนได้รับการสนับสนุนจากโฆษณาเพียงเล็กน้อย ในขณะที่สิ่งพิมพ์ที่รัฐผูกขาดเข้าถึงโฆษณาและแหล่งจัดจำหน่ายมากกว่า

"เราไม่สามารถแข่งขันได้กับหนังสือพิมพ์ที่รัฐเป็นเจ้าของ" เขากล่าว "นโยบายที่เอื้อให้สื่อของรัฐผูกขาดโฆษณาและจำนวนผู้อ่าน จำเป็นต้องปรับแก้ ถ้ามีการแก้ไข เราจะกลับมาพิมพ์นิตยสารของเราแน่นอน" ตะลงเซาเต็ด ยังปฏิเสธต่อคำกล่าวที่ว่า นิตยสารไม่สามารถอยู่ได้หากไม่มีนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม เครืออิระวดีเองเห็นชอบกับการระงับการตีพิมพ์ เพื่อที่จะมุ่งความสนใจมากยัง "สื่อใหม่" ในยุคดิจิทัล อย่างไรก็จาม ตะลงเซาเต็ด คาดหมายว่าการเติบโตของภาคธุรกิจสื่อออนไลน์พม่าจะยังไม่ถึงจุดสูงสุดในทศวรรษหน้านี้

ทั้งนี้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพม่ายังอยู่ในระดับต่ำ จากผลการสำรวจยังพบว่ามีประชากรเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และโดยมากเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน

นิตยสารอิระวดี เริ่มต้นจัดจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ก่อตั้งโดยนักกิจกรรมลี้ภัยทางการเมือง นิตยสารฉบับนี้เคยถูกแบนในพม่า ในขณะที่เว็บไซต์อิระวดีเริ่มเปิดตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และเพิ่งจะสามารถเปิดอ่านในพม่าได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 นับตั้งแต่ทางการยกเลิกการบล็อกเว็บ ขณะที่นิตยสารอิระวดี ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งจำหน่ายรายเดือน เพิ่งระงับการพิมพ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

สื่อสิ่งพิมพ์ของพม่าเริ่มขยายตัวครั้งใหม่ หลังจากรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ผ่อนคลายการควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ในปี พ.ศ. 2544 ในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2556 หนังสือพิมพ์รายวันของเอกชนเริ่มเปิดตัว แต่ต่อมาหนังสือพิมพ์หลายแห่งต้องยุติกิจการเนื่องจากโฆษณาเข้าน้อยและการแข่งขันที่สูง

ทั้งนี้ กรมพิจารณาและลงทะเบียนสื่อ (PSRD) ภายใต้กระทรวงข้อมูลข่าวสารพม่า ระบุว่า มีหนังสือพิมพ์กว่า 30 ฉบับที่ได้รับใบอนุญาต นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2556 แต่มีเพียง 1 ใน 3 ของที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่จัดพิมพ์จำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Irrawaddy’ suspends Myanmar print edition, goes all-digital, Nyan Lynn Aung, Monday, 18 January 2016 http://www.mmtimes.com/index.php/national-news/yangon/18508-irrawaddy-suspends-myanmar-print-edition-goes-all-digital.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net