Skip to main content
sharethis

สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย แถลงขอโทษ กรณีเคลื่อนศพปอ ทฤษฎี เผยเตรียมเรียกอบรมสมาชิกให้ทราบถึงมารยาทการทำงานและสิทธิส่วนบุคคลในการทำข่าวให้มากขึ้น 

21 ม.ค. 2559 สำนักข่าวไทย และเดลินิวส์ รายงานว่า นายสุรชัย วิเศษโสภา นายกสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย  พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯ ร่วมแถลงประเด็นข้อพิพากษ์ในโซเชี่ยลมีเดียและสื่อต่างๆกรณีสื่อมวลชนทำหน้าที่ไม่เหมาะสมในระหว่างถ่ายภาพทำข่าวการเคลื่อนย้ายศพ ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดงชื่อดัง ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ว่า เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กระทบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ในฐานะสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ขอแสดงความเสียใจและขออภัยต่อครอบครัว สหวงษ์ และประชาชน และพร้อมน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนำไปปรับปรุงการทำหน้าที่ต่อไป

นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นทางสมาคมได้เรียกสื่อมวลชนที่ปรากฎในภาพสื่อโซเชี่ยลมีเดียประมาณ 7-8 คน ทั้งเรียกมาคุยส่วนตัวและโทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริง ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าทำไปตามหน้าที่ ซึ่งสมาคมได้ชี้แจง ตักเตือนถึงการกระทำ ส่วนเรื่องการลงโทษ หรือเอาผิดเป็นอำนาจของของต้นสังกัด รวมถึงครวบครัวผู้เสียหายเพราะสมาคมไม่มีตัวบทกฎหมายที่จะเอาผิด แต่การที่สังคมได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อผ่านโซเชี่ยลถือว่าเป็นการลงโทษที่หนักมาก จนน่าจะเป็นบทเรียนให้สื่อมวลชนระมัดระวังการทำหน้าที่ครั้งต่อไปได้เป็นอย่างดีแล้ว

ส่วนเหตุใดที่ช่างภาพที่เป็นที่พูดถึงไม่ออกมาขอโทษเอง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า พวกเขาบอกว่า พวกเขาไม่ผิด ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเองเพื่อนำข่าวมานำเสนอ ไม่มีเจตนาจะทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น อย่างไรก็ตามสมาคมฯ ได้ตรวจสอบภาพเหตุการณ์แล้ว ยอมรับว่ามีเรื่องเกิดขึ้นจริงจึงได้ออกแถลงการณ์ขอโทษไปยังครอบครัวของปอและสังคม ขณะเดียว กันยอมรับเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมสื่อมวลชน เนื่องจากสื่อที่เป็นสมาชิกสมาคมฯมีแค่ประมาณ 400 คนแต่ตอนนี้มีสื่อมากมายทั้งเคเบิ้ลทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ โซเชี่ยลมีเดีย โดยเฉพาะสื่อบันเทิงมีเพิ่มจำนวนมาก ทำให้การควบคุมยาก ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดและจิตสำนึก และจรรยาบรรณของแต่ละบุคคล

จากนี้สมาคมจะเรียกอบรมสมาชิกให้ทราบถึงมารยาทการทำงานและสิทธิส่วนบุคคลในการทำข่าวให้มากขึ้น ส่วนผู้ไม่ได้สังกัด คงทำได้เพียงออกหนังสือขอความร่วมมือ หากเป็นไปได้ในอนาคตเมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น จะเจรจาหาตัวแทนแต่ละสื่อไปถ่ายภาพเพื่อมาแบ่งปันกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยจะนำเหตุการณ์ครั้งนี้มาเป็นบทเรียน

 

"แถลงการณ์ขอแสดงความเสียใจและขออภัยต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในระหว่างการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน"

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ตามที่สื่อมวลชนบางส่วนได้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในระหว่างการติดตามรายงานข่าวการเคลื่อนย้ายร่างของคุณปอ ทฤษฎี สหวงษ์ นักแสดงชาย จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของสื่ออย่างกว้างขวางว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอแสดงความเสียใจและขออภัยต่อครอบครัวสหวงษ์ ญาติ แฟนคลับและประชาชนที่ติดตามข่าวสาร และขอน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ รวมถึงข้อเสนอแนะจากประชาชนผู้มีส่วนร่วมติดตามการทำหน้าที่ขอสื่ออย่างใกล้ชิด และจะถือเป็นบทเรียนสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานในการประกอบวิชาชีพสื่อให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะดำเนินการให้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อโดยด่วน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการยกระดับการทำหน้าที่ของสื่อให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากสังคมมากขึ้น

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอยืนยันว่าการทำหน้าที่ของสื่อที่จำเป็นต้องมีมาตรฐานหลักจริยธรรม ต้องให้ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสีย ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและจำเป็นต้องให้เกียรติต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตเป็นอย่างยิ่ง สื่อมวลชนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการทำหน้าที่ให้ได้มาตรฐาน และคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
20 มกราคม 2559



เทพชัย หย่อง แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

ถึงแม้ผมจะเป็นคนในวงการสื่อสารมวลชน แต่ก็มีความเห็นที่ไม่ต่างไปจากความรู้สึกของคนในสังคมที่มีต่อการทำหน้าที่ของสื่อในการรายงานข่าวการเสียชีวิต “ปอ-ทฤษี สหวงษ์”

ภาพของการเบียดเสียดแก่งแย่งของผู้สื่อข่าวและช่างภาพในระหว่างการขนย้ายร่างของอดีตพระเอกคนดังที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อเช้าวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาเป็นพฤติกรรมที่ละเมิดจริยธรรมพื้นฐานของสื่อมวลชนเกือบทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเคารพต่อความเป็นส่วนตัวและความรู้สึกของคนในครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

แน่นอนว่าในการแข่งขันการรายงานข่าว ทุกสื่อต้องพยายามให้ได้ข่าวและ “ภาพที่ดีที่สุด” ตามหลักการสากลของสื่อสารมวลชน ข่าวและภาพที่ดีคือสิ่งที่สะท้อนอารมณ์และบอกเล่าบรรยากาศของเหตุการณ์ได้ดีที่สุด แต่ต้องนำเสนอย่างมีศิลปะและสุนทรียภาพ และวิธีการที่ได้มาก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักจริยธรรม

เพราะฉะนั้น “ภาพที่ดีที่สุด” ไม่จำเป็นต้องละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือทำร้ายความรู้สึกของคนที่ตกเป็นข่าวและคนในครอบครัว และ “ภาพที่ดีที่สุด” ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพของผู้สูญเสียที่อยู่ในอารมณ์เจ็บปวดอย่างที่สุด และไม่จำเป็นต้องซ้ำเติมความรู้สึกที่เลวร้ายให้กับคนที่เกี่ยวข้องอีก

ผมไม่เชื่อว่าใครก็ตามที่เป็นคนมีเหตุมีผล ต้องการเห็นภาพ “ศพ” ของ ปอ-ทฤษฎี ผมไม่เชื่อว่ามีคนอ่านหนังสือพิมพ์หรือคนดูทีวีเรียกร้องให้มีภาพของคนในครอบครัวที่อยู่ในภาวะที่เศร้าโศกที่สุด และผมก็ไม่เชื่อว่าจะมีใครต้องการเห็นการเสียชีวิตของดาราในดวงใจของพวกเขาถูกทำให้กลายเป็นสงครามแย่งชิง “ภาพที่ดีที่สุด" ของสื่อมวลชน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรมีข้ออ้างของคนทำสื่อว่าทุกอย่างที่ทำไปก็เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคม

เราไม่รู้ว่าคนที่รุมล้อมศพของ “ปอ-ทฤษฎี” ในเช้าวันนั้นเป็นผู้สื่อข่าวหรือช่างภาพอาชีพจำนวนเท่าไร และมีสักกี่คนที่เป็นมือสมัครเล่น หรือมีกี่คนที่แปลกปลอมเข้ามา แต่ภาพที่ออกมาทำให้คนในวงการสื่อถูกสังคมพิพากษาไปแล้ว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมได้เห็นพฤติกรรมของสื่อในลักษณะเช่นนี้ และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อทำอะไรบางอย่าง ในฐานะนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยผมเชื่อว่าองค์วิชาชีพที่มีอยู่คงรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่สื่อถูกสังคมประณาม และองค์กรสื่อเหล่านั้นก็ไม่เคยลังเลใจที่จะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของสื่อที่ละเมิดหลักจริยธรรม องค์กรวิชาชีพได้ออกแถลงการณ์ ออกคำเตือน จัดให้มีการให้ความรู้และอบรมด้านจริยธรรม จัดเวทีและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการยึดมั่นในมาตรฐานวิชาชีพ

แต่สุดท้ายการตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้บริหาร และคนที่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหรือหัวหน้าข่าวของแต่ละสื่อว่าจะเลือกเดินทางไหน แต่ผมเชื่อว่าในยุคที่คนในสังคมมีความตื่นตัวและตระหนักมากขึ้น สื่อมวลชนไม่สามารถทำตัวเป็นผู้ชี้นำกระแสสังคมโดยไม่ฟังเสียงสะท้อนที่กลับมาเหมือนที่ผ่านมา ในอดีตสื่อมวลชนอาจไม่ต้องสนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคม แต่ภูมิทัศน์สื่อทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว สื่อถูกตรวจสอบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และคนในสังคมจะไม่อยู่นิ่งเฉยอีกต่อไป

ผมจะไม่แปลกใจถ้าจะมีสักวันที่คนในสังคมหมดความอดทนและมีปฏิกิริยามากกว่าแค่แสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะตอบโต้กลับอย่างอย่างจริงจังและเป็นระบบ เพราะทุกวันนี้การสื่อสารไม่ได้ถูกผูกขาดโดยคนทำสื่ออีกต่อไป

ผมอยากให้ผู้บริหารสื่อได้บทเรียนจากกรณีของ “ปอ-ทฤษฎี” มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศรัทธาคืนให้กับบทบาทของสื่ออีกครั้ง

 


การรายงานข่าวและภาพ ‘ปอ’ ทฤษฎี สหวงษ์ เสียชีวิต
การรายงานข่าวและภาพการเสียชีวิตของ ‘ปอ’ ทฤษฎี สหวงษ์ จากโรคไข้เลือดออกเมื่อวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2559 ทำให้สื่อมวลชนตกเป็นจำเลยของสังคมอีกครั้ง เมื่อเกิดการแหวกแผงเหล็กเข้าไปถ่ายผู้เสียชีวิตและญาติขณะออกจาก ‘ห้องสุดท้าย’ ไปทำพิธีทางศาสนาที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงเช้าของวันอังคารที่ 19 มกราคม ความชุลมุนจึงเกิดขึ้นจากต่างคนต่างต้องถ่ายภาพให้ได้

เมื่อรูปการรุมล้อมขบวนศพของช่างภาพปรากฏบน ‘สื่อออนไลน์’ จึงมีถ้อยคำตำหนิจากสังคมถึงความเหมาะสมในการรายงานข่าวนี้นับจำนวนไม่ได้ อันอาจสรุปจากกลอนของชาวสื่อสังคมผู้หนึ่ง ดังนี้

สื่อมวลชน หรืออีแร้ง เข้าแย่งชิง จรรยาบรรณ ถูกทิ้ง ไว้ที่ไหน
เขาสูญเสีย ยังไม่พอ อีกหรือไร พวกมักได้ เห็นแต่ประโยชน์ตน

ภาพอย่างนี้ เกิดครั้งแล้ว และครั้งเล่า เอาใจเขา ใส่ใจเรา ดูสักหน
ฉันถามหา ศักดิ์ศรี ความเป็นคน สุภาพชน ทำเช่นนี้ ได้อย่างไร

ฐานันดร ที่สี่ ที่ได้มา เพื่อประโยชน์ ปวงประชา รู้บ้างไหม
แล้วสิ่งที่ พวกคุณทำ ประโยชน์ใคร ไว้อาลัย พฤติกรรม สุดต่ำตม

ส่วนนักวิชาการก็ย้อนสื่อให้ตั้งคำถามตนเอง ถึง (1) เส้นแบ่งที่เหมาะสมในการได้มาของข่าวระหว่าง ซื่อสัตย์ สุภาพ สุจริต กับ ละเมิด รุกล้ำ คุกคาม (2) การทิ้งเกียรติและศักดิ์ศรีวิชาชีพตนเองไปแล้ว หรือมองความหมายของอาชีพตนเองอย่างไร (3) มองเห็นหรือได้ยินเสียงร่ำไห้ของเหยื่อ และเสียงขอร้องของประชาชนไม่ให้นำเสนอข่าวนี้ในมุมไร้จริยธรรมหรือไม่ และ (4) องค์กรวิชาชีพสื่อ จะลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างกับเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด

ข้างต้น เกิดขึ้นจากคิดแต่ให้ได้ภาพดีที่สุดมารายงาน แต่ตรงกันข้าม ภาพซึ่งสื่อเห็นว่าดีที่สุดนั้น สังคมกลับมองว่าได้มาด้วยวิธีการแย่ที่สุด เพราะนอกจากก้าวล้ำสิทธิส่วนบุคคลแล้ว ยังไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิตและญาติอีกด้วย

ถึงเวลาแล้วที่เราผู้อยู่ในวิชาชีพและผู้บริหารธุรกิจสื่อ มาร่วมกันเปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาสด้วยการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวและภาพเหตุการณ์พิเศษในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะด้านบันเทิงอย่างมืออาชีพ ทั้งนี้ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของวิชาชีพสื่อมวลชน

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง
ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
19 มกราคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net