นักกฎหมายลั่นพร้อมฟ้องศาล หากคำสั่ง ม.44 'ยกเว้นผังเมือง' ละเมิดชุมชน-สิ่งแวดล้อม

22 ม.ค. 2559 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท เมื่อวันที่ 20 ม.ค. (ดูล้อมกรอบด้านล่าง)

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้สัมภาษณ์ว่า แม้คำสั่งนี้เขียนเหตุผลไว้ค่อนข้างชัด แต่มีคำถามว่า เป็นเหตุผลที่รับได้หรือไม่และต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44 หรือไม่ ส่วนตัวเขามองว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะควรใช้ระบบทั่วไปมาจัดการ

กรณีคำสั่งที่ 4/2559 เขากังวลว่าจะเป็นการใช้คำสั่งเพื่อยกเว้นกฎหมายผังเมืองซึ่งจะกระทบกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะกฎหมายนี้เกี่ยวกับการจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมนำเสนอความต้องการของชุมชนด้วยในการกำหนดพื้นที่ต่างๆ ของเมืองและเป็นไปตามหลักวิชาการ การใช้อำนาจไปยกเว้นเช่นนี้เท่ากับเป็นการลดมาตรฐานการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กฎหมายผังเมืองจะบังคับให้ทุกพื้นที่ต้องมีการจัดทำผังเมืองรวมซึ่งจะแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินตามความเหมาะสม สีและสัญลักษณ์ในผังเมืองแบ่งเป็นหลายสี และโดยหลักการแล้วไม่สามารถใช้ผิดประเภทได้ เช่น สีฟ้าหมายถึงที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาสุขภาพสิ่งแวดล้อม สีม่วงอ่อนหมายถึงที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ สีเขียวหมายถึงที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม เป็นต้น  (ดูที่ http://eservices.dpt.go.th/edocument/data/brochure/b012/b012.pdf)

สุรชัย กล่าวต่อว่า เท่าที่ทีมงานได้ตรวจสอบดู แทบไม่มีอะไรที่ไม่เข้าข่ายการยกเว้นตามประกาศนี้ ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงกำจัดขยะ เท่ากับยกเว้นหลักประกันคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการโรงไฟฟ้าทั้งหลาย ตอนนี้เวลาจะสร้างโรงไฟฟ้าไม่ต้องดูผังเมืองแล้ว

สุรชัย ขยายความว่า เวลาชุมชนต่างๆ กรณีเทพา กระบี่ ต่างข้อเรียกร้องในการจัดการใช้ประโชยน์ที่ดินเพื่อมั่นคงทางอาหาร  มีการเสนอผังเมืองวางแผนว่าต่อไปพื้นที่จะเป็นอะไร เน้นอะไร โดยไม่ได้เน้นพัฒนาอุตสาหกรรม มันจึงเป็นช่องทางให้ประชาชนเลือกและผลักดันการรับรองสิทธิตัวเองผ่านการวางผังเมือง แต่เมื่อถูกยกเลิก เพิกถอน โดยคำสั่ง คสช. เท่ากับลดทอนหลักประกันไปและเป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นอกจากนี้คำสั่งลักษณะนี้ยังจะส่งผลต่อระบบกฎหมายทั้งหมด โดยในข้อ 1(1) เขียนยกเว้นถึงกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมปรับปรุงแผนด้วย เท่ากับว่าหากมีการปรับปรุงแผนก็ให้มีผลบังคับใช้เป็นการยกเว้นไปด้วยเลย ในมุมมมองนักกฎหมายแล้วมันเหมือนมีกฎหมายให้อำนาจลอยไว้ ซึ่งผิดจากหลักกฎหมายทั่วไป ตรงนี้จะทำให้ระบบกฎหมายมีปัญหามาก

เขาย้ำว่า จริงอยู่ว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไม่ควรใช้แต่ต้น แต่หากจะใช้ก็ต้องถูกต้องตรวจสอบได้ด้วย มาตรา 44 ควรต้องมีขอบเขตในการใช้พอสมควร อย่างน้อยเท่าที่เขียนไว้ต้องถูกตรวจสอบ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของชุมชน

เขาชี้ว่า มาตรา 44 กำหนดให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจสั่งการ หากเห็นว่าจำเป็น "เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร" ถามว่าตรงนี้เข้าข่ายอย่างไร ต้องถูกตีความหรือไม่ว่าคำสั่งจะนำสู่ประโยชน์หรือปฏิรูปอะไร
สุรชัย กล่าวต่อว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อชุมชนมาก ต้องรอดูว่า คสช.จะชี้แจงอย่างไร และประชาชนรับได้ไหม หากมีการละเมิดชุมชนและสิ่งแวดล้อมเกินสมควร  EnLaw ก็พร้อมนำเรื่องนี้สู่ศาล ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

กรณีคำสั่งที่ 3/59 เขาชี้ว่า เป็นเรื่องพิสดารทางระบบกฎหมาย เพราะไม่เป็นไปตามลำดับศักดิ์ของกฎหมาย เหมือนให้เอาประกาศมาแทนกฎกระทรวง ในทางระบบจะก่อให้เกิดปัญหา การจัดการในเรื่องนี้สามารถใช้ระบบทั่วไปได้ เพราะผังเมืองรวมในเขตเศรษฐกิจพิเศษก็สามารถไปตามเส้นทางรับฟังความเห็น นอกจากนี้ยังมีข้อ 3 ที่ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยเร็ว การกำหนดเช่นนี้จะมีการมีส่วนร่วม รับฟังความเห็นตามกฎหมายผังเมืองหรือไม่ เหมือนเป็นการล็อคผลมาแล้ว

"นักวิชาการผังเมือง นักกฎหมาย ต้องออกมาให้ความเห็น เราไม่อาจหนุนมาตรา 44 อย่างกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบ ละเมิดสิทธิประชาชนอีกต่อไป" สุรชัยกล่าว

"กระบวนการสำคัญเช่นเดียวกับเป้าหมายที่จะบรรลุ ถ้าไม่ใส่ใจ จะรู้ได้อย่างไรว่าดีจริง และจะอยู่ในสังคมรู้ดี ที่มาบอกว่าดี แล้วก็มาจัดการให้หมด ไม่น่าใช่ในความหมายของระบอบประชาธิปไตย" สุรชัยกล่าว

 

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559
เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

      
       “โดยที่รัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพิ่มการจ้างงานและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนโดยมีการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นที่มีศักยภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้สามารถก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ แต่เนื่องจากข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและข้อกำหนดเกี่ยวกับอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารบางประการที่ใช้บังคับอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการและบริหารจัดการพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการและการบริหารจัดการพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ
      
       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
      
       ข้อ 1 ให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม กฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (10) มาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และประกาศกรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 (3) แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 เมื่อได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดบริเวณห้ามการก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และประกาศกรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 (3) แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ขึ้นใช้บังคับ ในพื้นที่ดังต่อไปนี้
      
       (1) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ 1/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษลงวันที่ 19 มกราคม พุทธศักราช 2558
      
       (2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ 2/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2558
      
       ข้อ 2 ให้ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกรมโยธาธิการและผังเมืองตามข้อ 1 ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้ายและใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเพื่อใช้บังคับในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามข้อ 1 (1) และ (2)
      
       ข้อ 3 ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ตามข้อ 2 ให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยเร็ว
      
       ข้อ 4 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
      
       สั่ง ณ วันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2559
       พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
       หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”

 

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559
เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท

โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยได้ประสบปัญหาความมั่นคงในการจัดหาพลังงานและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตเนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือปัญหาขยะล้นเมือง การบริหารจัดการขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จนนำไปสู่การกำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ซึ่งในความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับปรากฏข้อขัดข้องหรืออุปสรรคจากข้อกำหนดทางกฎหมายบางประการ จึงจำเป็นต้องระงับและแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
      
       ข้อ 1 ให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่มีคำสั่งนี้ หรือที่จะมีผลใช้บังคับภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคำสั่งนี้ สำหรับการประกอบกิจการดังต่อไปนี้
      
       (1) การประกอบกิจการคลังน้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงและการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 88 ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2558 - 2579 และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 - 2579 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 และกิจการอื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ขนส่งและระบบจำหน่ายพลังงานตามแผนดังกล่าว ทั้งนี้ ให้รวมถึงกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงแผนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในภายหลังด้วยให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการหรือกิจการที่อยู่ในแผนซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วตามวรรคหนึ่ง
      
       (2) การประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 89 โรงงานลำดับที่ 101 โรงงานลำดับที่ 105และโรงงานลำดับที่ 106 ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2535 และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการกำจัดมูลฝอย
      
       ข้อ 2 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

  สั่ง ณ วันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2559
       พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
       หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
       

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท