ความในใจ จนท.นาซ่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย-ใช้ชีวิตที่เหลือสานต่องานวิจัยโลกร้อน

ถึงแม้ว่าอาการเจ็บป่วยจากมะเร็งอาจจะทำให้มีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน แต่นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องโลกร้อนจากนาซ่าก็เผยความในใจว่าจะยังค้นคว้าเรื่องโลกร้อนต่อไป อีกทั้งยังมองว่าอนาคตโลกยังมีความหวังจากการที่ปีที่แล้วฝ่ายการเมืองส่วนมากยอมรับข้อมูลเรื่องโลกร้อนทางวิทย์และอาจจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนกันในอนาคต

เพียร์ส เจ เซลเลอร์ส (ซ้าย) และภาพช่วงที่เขาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีอวกาศ (ขวา) (ที่มา: Wikipedia)

21 ม.ค. 2559 เพียร์ส เจ เซลเลอร์ส นักวิทยาศาสตร์อายุ 60 ปีจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซ่า (NASA) ผู้ที่ศึกษาประเด็นเรื่องเกี่ยวกับโลกร้อนเขียนบทความลงในเว็บไซต์เดอะนิวยอร์กไทม์หลังจากที่เขาได้รับการตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร้งตับอ่อนระยะที่ 4 โดยบอกว่าการตรวจพบมะเร็งของเขาทำให้เขากับมาขบคิดในเรื่องโลกร้อนอีกครั้ง

บทความของเซลเลอร์สแสดงออกให้เห็นในเชิงความคิดอ่านและความรู้สึกของเขาเอง โดยเปิดเผยว่าหลังจากที่เขาทราบเรื่องที่ตัวเองเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะที่ 4 ซึ่งถือเป็นระยะอันตรายที่โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายและมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตได้อีกไม่นานทำให้เขากลับมาขบคิดว่างานการศึกษาเรื่องโลกร้อนที่เขาอุทิศชีวิตการทำงานให้เสมอมายังเป็นสิ่งที่ควรจะทำต่อไปหรือไม่ และหลังจากที่เขาจัดการกับธุรกรรมต่างๆ ในชีวิตที่เหลืออยู่ เขารู้สึกไม่มีอารมณ์อยากไปเที่ยวในที่ๆ เขาอยากไปหรือใช้ชีวิตรื่นเริงสุดเหวี่ยง แต่กลับรู้สึกอยากใช้เวลาไปกับครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก และกลับไปทำงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

เซลเลอร์สอยู่ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์และการสำรวจของศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดและรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์โลก เขาย้ำเตือนว่าความคิดเห็นของเขาในบทความนี้เป็นขอเขาเองไม่ใช้ขององค์กรนาซ่า เขาเล่าว่างานของเขาคือการศึกษาวิจัยระบบโลกทั้งหมดด้วยเครื่องมือการสำรวจที่อยู่ในอวกาศและแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังเพื่อหาว่าถ้าหากมีก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจะส่งผลอย่างไรบ้าง ซึ่งถือเป็นงานที่ซับซ้อนและน่ามหัศจรรย์สำหรับเขา

ในปีที่ 2558 ที่ผ่านมามีการประชุมเรื่องโลกร้อนที่กรุงปารีสและมีการเจรจาที่ก้าวหน้าในเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนอยู่บ้างบางส่วน ซึ่งเซลเลอร์สมองว่าเป็นปีที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการต่อสู้เพื่อให้การเมืองและนโยบายดำเนินไปในทางเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ ในฝ่ายวิทยาศาสตร์มีการรวบรวมหลักฐานเรื่องโลกร้อนมาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว และถึงแม้ว่าจะมีคนมองข้อตกลงจากกรุงปารีสในแง่ลบอยู่บางส่วนแต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ฝ่ายการเมืองมีการอ้างอิงนโยบายโดยอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

บทความของเซลเลอร์สยังระบุไปในเชิงมีความหวังว่าแบบจำลองจากการคำนวนทางคอมพิวเตอร์ของพวกเขาจะสร้างจะช่วยประเมินผลกระทบจากโลกร้อนและเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้มากกว่าแค่การกำหนดไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส ข้อมูลจากแบบจำลองของพวกเขายังถูกคนดังๆ อย่างพระสันตะปาปาฟรานซิส นำไปอ้างอิงว่าผลกระทบของโลกร้อนจะตกแก่คนยากจนมากที่สุด ซึ่งเซลเลอร์สมองว่าเมื่อคนยากจนเหล่านี้รู้สึกถูกกดขี่จนถึงที่สุดแล้วก็จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่อาจจะร้อนระอุไม่แพ้อุณหภูมิโลก

นอกจากนี้เซลเลอร์สยังระบุว่าในปี 2558 เป็นการจบสิ้นของกลุ่มผู้ที่ปฏิเสธเรื่องโลกร้อน จากการที่ชาวอเมริกันส่วนมากและนักการเมืองต่างก็เริ่มเชื่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในประเด็นนี้ เซลเลอร์สประเมินว่าถึงแม้ในช่วงแรกๆ นักการเมืองหลายประเทศอาจจะยังไม่กล้าที่จะปรับนโยบายให้มีการลดก๊าซเรือนกระจกเพราะห่วงเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก็มีแนวโน้มว่าในระยะยาวแล้วจะมีการนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้แทนเพื่อลดคาร์บอน เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ โดยมีวิศวกรและนักอุตสาหกรรมพร้อมทำงานตรงนี้อยู่แล้วถ้ามีการลงทุนหรือมีค่าตอบแทนให้พวกเขา

"พวกเราต้องเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันจะปรากฎให้เห็นทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความเปลี่ยนแปลงของวิธีการที่พวกเราผลิตและใช้พลังงาน" เซลเลอร์สระบุในบทความ เขาระบุด้วยว่า "พวกเราต้องเตรียมตัวรับมือสิ่งเหล่านี้ด้วยการมีสติเยือกเย็น บางเรื่องอาจจะจัดการยากเช่นเรื่อน้ำทะเลหนุนสูง แต่เรื่องอื่นๆ หลายเรื่องก็อาจจะเปลี่ยนไปในทางบวก"

นักวิทยาศาสตร์จากนาซ่าระบุทิ้งท้ายในบทความในทำนองสั่งลาว่า สุดท้ายแล้วเขารู้สึกยินดีกับประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้รับบนดาวโลกดวงนี้และจากการได้ลอยอยู่เหนือผืนโลก 220 ไมล์ อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติและได้ศึกษาปรากฎการณ์ต่างๆ ของโลกจากมุมมองเบื้องบน

"ดังนั้นแล้ว พรุ่งนี้ผมจะไปทำงาน" เซลเลอร์สทิ้งท้ายในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Cancer and Climate Change, Piers J. Sellers, New York Times, 16-01-2016 http://www.nytimes.com/2016/01/17/opinion/sunday/cancer-and-climate-change.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ข้อมูลโรคมะเร็งตับอ่อน จากสมาคมโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา http://www.cancer.org/cancer/pancreaticcancer/detailedguide/pancreatic-cancer-staging

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท