กังขากระบวนการตั้ง-คุณสมบัติ ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ พนง.เตรียมเรียกร้องผู้บริหารชี้แจง

พนักงานไทยพีบีเอสตั้งคำถามกระบวนการตั้ง-คุณสมบัติ ผอ.คนใหม่ เตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กรรมการนโยบายชี้แจง ก่อน “หมอกฤษดา” รับตำแหน่ง ก.พ.นี้ 

กรณีคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ซึ่งมีนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นประธานฯ ลงมติ 6 ต่อ 3 เลือก ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการกองสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอสคนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด (24 ม.ค.) แหล่งข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสระบุว่า ขณะนี้พนักงานไทยพีบีเอส จำนวนหนึ่งเตรียมเคลื่อนไหวเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายฯ ชี้แจงกระบวนการแต่งตั้งดังกล่าว ก่อนการรับตำแหน่งของ ทพ.กฤษดา ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

แหล่งข่าวระบุว่า ข้อกังขาทั้งจากคนในและสังคมภายนอกที่สำคัญคือ เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครที่อาจจะขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 มาตรา 32 (3) ที่ระบุว่า “ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการวิทยุโทรทัศน์หรือการสื่อสารมวลชน”

“ตลอดการทำงานของนายกฤษดา ไม่เคยผ่านงานด้านนี้มาก่อน ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาและกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอสว่าโปร่งใสหรือไม่ เพราะจากผู้สมัครจำนวน 13 คนมีเพียงนายกฤษดาคนเดียวที่ไม่มีเคยทำงานด้านสื่อมวลชนมาก่อน แต่กลับคัดเลือกและออกประกาศจะให้เริ่มงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ พนักงานจึงจะยื่นหนังสือเพื่อให้กรรมการนโยบายชี้แจงเร็วๆ นี้” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า การสรรหาผู้อำนวยการไทยพีบีเอสก่อนหน้า ล้วนแล้วแต่ได้บุคคลที่มีประสบการณ์ทำงานในวงการสื่อสารมวลชน เนื่องจากไทยพีบีเอสเป็นสถาบันสื่อสาธารณะ ผู้นำสูงสุดต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบรรณาธิการฯ ดูได้จากวิกฤตการณ์ทางสังคมที่ผ่านมา ที่องค์กรฯ ต้องตัดสินใจทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยอิงบนผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่แค่ประโยชน์เฉพาะองค์กรฯ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสต้องมีประสบการณ์ด้านสื่อมวลชน

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสสองคนที่ผ่านมา คือ นายเทพชัย หย่อง และ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ซึ่งต่างก็มีประสบการณ์ด้านสื่อมวลชนมานานหลายสิบปี โดยนายเทพชัย ก่อนมาดำรงตำแหน่ง เคยทำหน้าที่บรรณาธิการในเครือเดอะเนชั่นและผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ส่วนนายสมชัยเคยเป็นบรรณาธิการข่าววิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย ประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ รายงานข่าวจากไทยพีบีเอสระบุด้วยว่า ช่วงเดือนสิงหาคม 2558 นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หนึ่งในกรรมการ สสส. ได้เคยขอร้องให้นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่า องค์กรฯ เกิดปัญหาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน อีกทั้งมีปัญหาบริหารงานสื่อสาธารณะ ไม่เป็นการขับเคลื่อนสังคม แต่นายสมชัยไม่ยินยอม ต่อมา มีการร้องขออีกครั้งจากนายณรงค์ ด้วยเหตุผลว่านายสมชัยบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ จนนำมาสู่มติของคณะกรรมการนโยบายฯ ปลดนายสมชัยจากตำแหน่งในที่สุด เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2558

อนึ่ง คณะกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส ประกอบด้วย ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานฯ, ปราณี ทินกร, ธีรภัทร สงวนกชกร, ลดาวัลย์ บัวเอี่ยม, สมพันธ์ เตชะอธิก, สมศรี หาญอนันทสุข, ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, รุ่งมณี เมฆโสภณ และ พิพัทธ์ ชนะสงคราม 

สำหรับรายชื่อผู้สมัครรับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอสคนใหม่ 13 คน ประกอบด้วย
1. พัฒนะพงศ์ จันทรานนทวงศ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ในเครือโพสต์พับบลิชชิง จำกัด
2. นลินี สีตะสุวรรณ อดีตกรรมการบริหารด้านสื่อสารมวลชนของ ส.ส.ท.
3. สุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท (MCOT)
4. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตรองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.    
5. วีระยุทธ โชคชัยมาดล ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ อาร์เอสยู วิสดอม ทีวี (RSU Wisdom TV) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
6. ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค สื่อมวลชนอาวุโส
7. สะหะศักดิ์ กลิ่นสุวรรณ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
8. อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายข่าว บริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด
9. สุวรรณา บุญกล่ำ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวและรายการสถานีข่าวโทรทัศน์ TNN24
10. สุรภากร ศรีวุฒิวงศ์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการบริหาร บริษัท ไททีวี วิทยุโทรทัศน์ จำกัด
11. ธนกร ศรีสุกใส ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. อดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ TITV ก่อนเปลี่ยนเป็นไทยพีบีเอส 
12. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการกองสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
13. ยุทธนา วรุณปิติกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยพีบีเอส 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท