Skip to main content
sharethis

ฟิลิปส์ โคแกน นักเขียนชาวออสเตรเลียผู้ศึกษาเรื่องราวทางวัฒนธรรมในกัมพูชานำเสนอบทความในวารสารมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียหรือ "นิวแมนดาลา" เกี่ยวกับเรื่องที่ศาสนาคริสต์กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในกัมพูชา 

โคแกน ระบุว่าเขาใช้เวลาหลายเดือนในช่วงปี 2557 สัมภาษณ์ชาวกัมพูชาเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาผสมกับความเชื่อเรื่องวิญญาณ (animism) ที่เป็นพื้นฐานความเชื่อทางศาสนาของชาวกัมพูชาโดยทั่วไป แน่นอนว่าชาวกัมพูชาถือว่าพุทธศาสนาของพวกเขาเป็นอัตลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งจนถึงขั้นมีคำพูดกันในวงกว้างว่า "ถ้าจะเป็นชาวกัมพูชาก็ต้องเป็นชาวพุทธด้วย" 

เรื่องนี้ทำให้น่าศึกษาว่าเหตุใดศาสนาคริสต์ถึงเริ่มแพร่หลายในกัมพูชาได้ถึงขั้นมีการสำรวจพบว่าเป็นประเทศที่มีประชากรชุมชนชาวคริสต์เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ทั้งที่ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนศาสนาจะต้องเผชิญกับความรู้สึกว่าตัวเองกำลัง "ทรยศ" ต่อความเป็นชาวกัมพูชาและนอกจากนี้ยังมีเรื่องคำสอนเรื่องการเคารพพ่อแม่ที่ศาสนาคริสต์สอนไม่เหมือนกับพื้นฐานความเชื่อในสังคมกัมพูชาที่สอนเน้นเรื่องการเคารพนับถือพ่อแม่

คำตอบอย่างแรกที่โคแกนมักจะได้ยินเป็นประจำจากคนที่เปลี่ยนศาสนาใหม่ๆ คือการที่กลุ่มสถาบันชุมชนชาวคริสต์ที่ให้มิตรภาพและความรู้สึกถึงคุณค่าความหมายในชีวิตแก่พวกเขา ไม่ใช่ระบบความเชื่อของศาสนาคริสต์เองที่คอยให้สิ่งเหล่านี้ ประการที่สองคือโบสถ์คริสต์นิกายโปรแตสแตนท์สายอิแวนเจลิคเป็นผู้ที่ร่ำรวยกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวคริสต์ที่พวกเขาสื่อสารด้วย ทำให้การขอพรเพื่อให้ได้สิ่งของต่างๆ ที่ต้องการอาจจะเป็นสิ่งจูงใจอย่างหนึ่งให้เข้าสู่ศาสนา

บทความของโคแกนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าการเข้าหาพระเจ้าของชาวคริสต์ยังมีลักษณะเหมือนกับที่ชาวกัมพูชาเข้าหาภูติผีวิญญาณคือในฐานะที่เป็นผู้ให้พรในทางวัตถุทำให้พระเจ้าของชาวคริสต์ถูกหลอมรวมเข้ากับจักรวาลวิทยาทางความเชื่อของชาวกัมพูชาในฐานะที่เป็นผู้ที่ทรงพลังที่สุดในโลกของวิญญาณ

โคแกนยังได้เปรียบเทียบเรื่องนี้กับกรณีการแพร่ศาสนาคริสต์ในเกาหลีใต้ช่วงก่อนหน้านี้ซึ่งมาจากการวางรากฐานของศาสนาคริสต์ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 โดยการให้มิสชันนารีผู้เผยแพร่ศาสนาจัดตั้งโรงเรียนและให้การศึกษาแก่ประชาชนซึ่งแต่เดิมมีอยู่แต่ในสังคมของกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น ทำให้จากเดิมที่เกาหลีใต้มีประชากรชาวคริสต์อยู่เพียงร้อยละ 2 กลับมีการเติบโตของประชากรกลุ่มนี้มากขึ้นอย่างมากในช่วงยุคคริสตทศวรรษที่ 1970-1980 ที่มีการหลั่งไหลของประชากรจากชนบทเข้าสู่เมืองจำนวนมากเพื่อแสดงหาโอกาสจากการเติบโตก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องลำดับขั้นทางชนชั้นและจิตวิญญาณถูกแทนที่ด้วยค่านิยมสมัยใหม่และวัตถุนิยม ทำให้ชาวเกาหลีใต้ครึ่งหนึ่งบอกว่าพวกเขาไม่มีศาสนา แต่ก็มีร้อยละ 30 ที่นับถือศาสนาคริสต์ สิ่งที่ฟังดูย้อนแย้งคือกลุ่มประชากรเหล่านี้มีทั้งความสำเร็จส่วนตัวและมีแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในสังคม

โคแกนมองว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในเกาหลีใต้กำลังเกิดขึ้นอีกครั้งในกัมพูชา ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะไม่มากถึงขั้นเกาหลีใต้ก่อนหน้านี้แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจก็เริ่มทำให้ชาวกัมพูชามีความหวังที่จะเจริญก้าวหน้าในชีวิตมากขึ้น ทำให้กลุ่มชาวคริสต์ที่เดิมมีอยู่แต่น้อยเห็นโอกาสตรงนี้ จึงสร้างโรงเรียนและให้ทุนการศึกษาพร้อมกับช่วยสอนเรื่องความยุติธรรมในสังคมให้กับคนที่ตกเป็นเหยื่อความไม่เป็นธรรมในสังคม อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือต่อชุมชนในแง่การจัดตั้งกลุ่มภาคประชาสังคมที่แทบจะไม่มีอยู่เลยในกัมพูชา

นอกจากนี้โคแกนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าคริสตศาสนาในกัมพูชาเริ่มมี "ความเป็นกัมพูชา" มากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ผู้นำชุมชนชาวคริสต์ในกัมพูชามักจะเป็นชาวกัมพูชามากกว่าคนต่างชาติและลักษณะการเปลี่ยนศาสนาก็มักจะมาจากการติดต่อสื่อสารกันเองระหว่างชาวคริสต์กับชาวพุทธในประเทศแทนการเผยแพร่คำสอนศาสนาผู้สอนศาสนาแบบเดิม นอกจากนี้ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวคริสต์กับชาวพุทธในกัมพูชาจะอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียวด้วย

อย่างไรก็ตามโคแกนระบุในบทความว่าคนที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ส่วนใหญ่มักจะเอาตัวออกห่างจากประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มคนกัมพูชาที่ไม่ใช่ชาวคริสต์ด้วยเหตุผลด้านหลักคำสอนและยิ่งถ้าหากมีจำนวนชาวคริสต์เพิ่มมากขึ้นจนรู้สึกว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็งพวกเขาก็จะมีความรู้สึกว่าต้องปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ชาวคริสต์น้อยลง

ถึงแม้ว่ากัมพูชาจะยังคงเป็นชาวพุทธอยู่ร้อยละ 97 แต่ศาสนาคริสต์ก็กำลังเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกปีและอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสนาครั้งใหญ่ในช่วงกลางศตวรรษนี้

 

เรียบเรียงจาก

Christianity in Cambodia, PHILIP COGGAN, New Mandala, 21-01-2016

http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2016/01/21/christianity-in-cambodia/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net