Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ตามที่ประธาน กรธ.บอกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น บางคนวิจารณ์ว่าน่าจะเป็นการพูดประชด บ้างก็ว่าพูดเล่น

ผมคิดว่าท่านประธาน กรธ.ไม่ได้พูดเล่นแต่กำลังพูดจริง ท่านประธาน กรธ.ยังบอกด้วยว่าเมื่อไม่ผ่านก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ จะไม่มีรัฐธรรมนูญไม่ได้

ความจริงก็เป็นอย่างนั้น คือ เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดอะไรในเรื่องนี้ไว้ เมื่อร่างไม่ผ่านการลงประชามติก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันไปก่อน

แต่คงไม่ได้หมายความว่า จะต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรื่อยไปจนกลายเป็นฉบับถาวร จะต้องมาว่ากันว่าเมื่อไม่ผ่านแล้วจะทำกันอย่างไรต่อไป แต่จนบัดนี้ คสช.ก็ยังไม่ได้ว่าอะไร ปล่อยให้เรื่องนี้อึมครึมอยู่ต่อไป

ที่ว่าตลกร้ายก็เพราะว่าใครๆก็รู้ว่าการจะใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นรัฐธรรมนูญถาวรไปเลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าใครพยายามอย่างนั้นก็คงต้องแนะนำให้ไปอ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน 2-3 สัปดาห์มานี้เสียใหม่ว่า การทำอย่างนั้นเคยเป็นต้นเหตุให้ระบอบเผด็จการทหารในอดีตพังทลายมาแล้ว

แต่ทำไมท่านประธาน กรธ.พูดด้วยท่าทีขึงขังจนหลายคนพากันคิดว่าท่านจะเอาอย่างนั้นจริงๆ จนต้องมีคนออกมาแก้ให้ว่าคงจะประชดเท่านั้น

เข้าใจได้ไม่ยากว่าการพูดว่า ถ้าไม่ผ่านก็ใช้ฉบับปัจจุบันนั้นมีประโยชน์ต่อการทำให้ร่างนี้ผ่านในการลงประชามติได้ง่ายขึ้น เพราะคนย่อมกลัวว่าจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งเรื่อยไป

ว่าไปแล้วไม่ควรเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ”เลยด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นใครที่กลัวว่าถ้าร่างไม่ผ่านในการลงประชามติแล้วจะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปัจจุบันเรื่อยไปไม่ควรต้องกลัวเพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถึงอย่างไรประเทศไทยก็จะอยู่ใต้ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างทุกวันนี้เรื่อยไปไม่ได้แน่

สิ่งที่ควรให้ความสนใจ ก็คือ เมื่อร่างไม่ผ่านแล้วทำอย่างไรจะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย คือ ให้ประชาชนมาร่างกันเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มาร่างกันแบบปู้ยี่ปู้ยำตามอำเภอใจอย่างที่ทำกันอยู่ในเวลานี้

เรื่องของความอึมครึมเกี่ยวกับการลงประชามติยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือ จะใช้เสียงเท่าไหร่จึงจะผ่าน ท่านประธานก็บอกว่าไม่ต้องแก้ แล้วแต่ว่าจะมีการตีความกันอย่างไร จะแก้หรือไม่ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลและคสช.ก็ยังไม่ว่าอะไรในเรื่องนี้
คนสำคัญของรัฐบาลก็ออกมาตีความเสร็จสรรพว่า ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังมีนักวิชาการและผู้สนใจจำนวนไม่น้อยตีความตามลายลักษณ์อักษรว่า ตามที่เขียนไว้หมายความว่าต้องใช้เสียงมากถึงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง

การตีความที่ต่างกันนี้จะมีผลอย่างมากต่อการที่ร่างจะผ่านหรือไม่ผ่านในการลงประชามติ ถ้าใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าไม่มีทางผ่าน

แต่ก็อีกนั่นแหละ พอถึงเวลาจริงๆอาจมีการตีความเป็นอย่างอื่นเสียก็ได้

ที่สำคัญ ความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้จะมีผลต่อการออกเสียงของประชาชนโดยเฉพาะต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ
ถ้าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างเข้าใจว่าต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ วิธีที่จะทำให้ร่างตกไปก็ง่าย คือ แค่ไม่ไปออกเสียงหรือรณรงค์ให้ไม่ไปออกเสียงกันมากๆ คะแนนเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับจำนวนผู้ที่ไม่มาออกเสียงจะถือรวมเป็นผู้ไม่เห็นด้วยไปด้วยกัน

ปัญหามีอยู่ว่าถ้าไม่ไปออกเสียงกันมากๆ คะแนนผู้ที่เห็นด้วยซึ่งไม่มากนัก แต่ก็อาจกลายเป็นเสียงข้างมากของผู้ที่มาออกเสียง

ถึงตอนนั้นถ้ามีการตีความว่าให้ถือเอาเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ ร่างก็จะผ่านในการลงประชามติไปได้โดยง่ายทันที
กติกาในการการลงประชามติเป็นอย่างไรแน่และหากร่างไม่ผ่านในการลงประชามติจะทำอย่างไรกันต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว

ไม่ใช่ปล่อยให้คลุมเครืออยู่อย่างนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net