จับตายุบสถาบันฯธนาคารที่ดิน: จุดจบของธนาคารที่ดินจะเป็นจุดจบของทางออกปัญหาคนจนไร้ที่ดินทำกินได้อย่างไร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัญหาที่ดินทำกินถือเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน นอกจากนั้นยังได้ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของพื้นที่ป่า การอพยพประชากรจำนวนมากเข้าสู่ภาคแรงงาน

ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่นำเสนอทางออกของปัญหาที่ดินทำกิน ไม่ว่าจะเป็นจากนักวิชาการ ภาคประชาสังคมและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ และหนึ่งในข้อเสนอที่เกิดขึ้นและได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลนั่นคือ นโยบายธนาคารที่ดิน

สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกร
จากรายงานของสำนักงานสถิติการเกษตร และสำนักงานกองทุนพื้นฟูเกษตรกร พบเกษตรกรไทยร้อยละ 72 ไม่มีที่ดินทำกิน โดยร้อยละ 52 ต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นเพื่อทำการเกษตร ร้อยละ 20 ทำกินในที่ดินของตนเองแต่ต้องเอาที่ดินของตนเองไปจำนองกับธนาคารเพื่อให้ตนเองได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการเพาะปลูกดังนั้น จึงพูดได้ว่าที่ดินที่เขาเพาะปลูกนั้นก็ยังเป็นของธนาคาร จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารที่ตนเองกู้แทนที่จะจ่ายค่าเช่าให้กับเจ้าของที่ดินและที่ดินติดจำนองเหล่านี้อาจจะหลุดมือจากเกษตรกร โดยธนาคารยึดที่ดินได้ทุกเมื่อ หากเกษตรกรไม่มีเงินมาจ่ายหนี้สิน

เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แสดงตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรที่ยากจนที่มีที่ดิน สูญเสียที่ดินทำกินของตนเองอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2549 ประเทศไทยของเรามีจำนวนครัวเรือนยากจนที่มีที่ดิน 1.052 ล้านครัวเรือน ในปี 2554 ครัวเรือนยากจนที่มีที่ดินของไทยเหลือจำนวนเพียง 0.484 ล้านครัวเรือนเท่านั้น

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดินมากที่สุดประเทศหนึ่งของทวีปเอเชียและมีแนวโน้มว่าสถานการณ์เช่นนี้จะยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่มีการประกาศใช้นโยบายใดๆ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธนาคารที่ดินแนวทางแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินจากภาคประชาชน
จากสถานการณ์ปัญหาที่ดินทำกินหลุดลอยจากเกษตรกรยากจน ส่งผลให้มีกลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาสังคมและขบวนการการเคลื่อนไหวภาคประชาชนนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสู่สังคม โดยการเสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อเป็นกลไกให้เกษตรกรคนยากจนได้มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินสนับสนุนให้เกษตรกรได้เข้าถึงแหล่งทุนที่ดี จนได้รับการตอบรับจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้มีการจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ขึ้นในรูปแบบองค์กรประชาชน โดยให้สถาบันมีอายุ 5 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2554-2558

สถาบันธนาคารที่ดินมีวัตถุประสงค์ในเรื่องการดำเนินการให้เกิดการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ผลักดันให้เกิดโครงการนำร่องการจัดการที่ดินในรูปแบบธนาคารที่ดิน ในรูปแบบที่เหมาะสม สอง ผลักดันให้เกิดงานวิจัยรูปแบบ ธนาคารที่ดิน สาม การยกร่าง พ.ร.บ. เพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดิน ซึ่งต้องดำเนินการ ถอดสรุปบทเรียนจากการนำร่อง นำมาสู่การยกร่าง พ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน นำไปสู่การจัดการ บริหารงาน ตามเงื่อนไขที่เป็นจริง

เป็นที่น่าเสียดายที่สถาบันธนาคารที่ดินกลับไม่สามารถดำเนินงานให้เกิดการจัดตั้งธนาคารที่ดินได้ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจนเวลาล่วงเลยเป็นเวลา 5 ปี แล้วก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินนอกจากการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน

คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ถอยหลังกระบวนการการมีส่วนร่วม อีกหนึ่งเหตุผลยุบสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน
ในขณะที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ รัฐบาลได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้เป็นคณะที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มข้าราชการระดับสูงและไม่ได้มีสัดส่วนของประชาชนเข้าไปอยู่ในกระบวนการการตัดสินใจแต่อย่างใดและการมีคณะกรรมการนโยบายที่ดินก็ได้ส่งผลให้มีการยุบสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินอีกด้วย

โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้รับคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ยุบองค์กรมหาชนที่ทำหน้าทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ปรากฏว่าสถาบันธนาคารที่ดินถูก ก.พ.ร. พิจารณาว่าทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการนโยบายที่ดิน จึงมีความคิดที่จะยุบสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินพร้อมกับองค์กรมหาชนอื่นๆ อีก 9 องค์กร

ชาวบ้านที่ลำพูน 9 คน จะต้องเข้าคุกหากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินถูกยุบ
การยุบสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน นอกจากจะไม่ทำให้เกิดการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรมแล้ว ยังทำให้ชาวบ้าน 9 คน ที่ลำพูนจะต้องติดคุกอีกด้วย โดยนอกจากวัตถุประสงค์หลักของสถาบันแล้ว สถาบันยังได้รับมอบหมายให้มีการดำเนินการกับพื้นที่ บ. แพะใต้ จ.ลำพูน เพื่อให้เป็นพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน

คดีที่ดินลำพูนเกิดขึ้นจากการนายทุนฟ้องชาวบ้านที่เข้าไปจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่ของนายทุนที่ภายหลังพบว่าที่ดินเหล่านั้นถูกออกเป็นโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลชั้นต้นและอุทธรณ์มีคำตัดสินว่า ชาวบ้านมีความผิดฐานบุกรุกที่ดินเอกชนทั้งในยามปรกติและยามวิกาล

โดยก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลดีฎีกานั้น โจทก์และจำเลยได้มีการไกล่เกลี่ย โดยทางโจทก์ยินยอมให้มีการเลื่อนคำพิพากษาเพื่อให้นโยบายธนาคารที่ดินได้ดำเนินการ และเข้ามาซื้อที่ดินที่มีการพิพาท โดยศาลรับคำร้องและนัดฟังคำพิจารณาศาลฎีกาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งหากสถาบันฯธนาคารที่ดินถูกยุบ ก็จะทำให้ชาวบ้านต้องเข้าคุกในทันทีเนื่องจากไม่มีกลไกในการซื้อที่ดินจากธนาคารที่ดินอีกต่อไป

ธนาคารที่ดินแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของคนยากจน
ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของรัฐบาลคือการแจกโฉนดที่ดิน หรือการออกนโยบายจัดสรรที่ดินทำกิน ส.ป.ก. แต่ไม่เคยมีการเข้าไปแก้ไขที่สาเหตุที่แท้จริงของเรื่องนี้ นั่นคือการสะสมที่ดินเพื่อการเก็งกำไรของกลุ่มคนที่ร่ำรวย ธนาคารที่ดินจะเป็นกลไกให้ชาวบ้านกู้เงินเพื่อที่จะไปไถ่ถอนที่ดินจากธนาคาร จัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินให้ได้มีที่ดิน โดยจะต้องมีการจัดการที่ดินในรูปแบบของกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งจะทำให้ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายได้และจะเป็นการรักษาที่ดินให้คงอยู่กับเกษตรกรต่อไป และเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความหวังของธนาคารที่ดินจะหมดลงเนื่องจากการพิจารณายุบสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินในวันที่ 26 มกราคม 2559 นี้

 

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บไซต์ กฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนไทยเท่ากัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท