อัยการสูงสุดมาเลเซียเป่าคดี 'นาจิบ ราซัก' รอดข้อหายักยอกเงิน 681 ล้านเหรียญสหรัฐ

หลังมีข้อกล่าวหาว่ามีการยักย้ายถ่ายโอนเงินจากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซีย 1MDB เข้าบัญชีของ 'นาจิบ ราซัก' นายกรัฐมนตรีมาเลเซียนั้น วันนี้อัยการสูงสุดผู้ซึ่งนาจิบ ราซัก เพิ่งแต่งตั้งใหม่หลังจากปลดคนเก่า แถลงว่าเงินกว่า 681 ล้านเหรียญสหรัฐที่โอนเข้าบัญชีนายกรัฐมนตรีเป็นเงินที่สมาชิกราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียบริจาคให้โดยไม่ใช่การต่างตอบแทน และนายกรัฐมนตรีก็โอนคืนให้แล้ว จึงไม่สามารถเอาผิดได้

แฟ้มภาพนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ที่มาเลเซีย เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2558 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

26 ม.ค. 2559 กรณีที่หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอนัล (WSJ) ซึ่งมีสำนักงานในสหรัฐอเมริกา และหนังสือพิมพ์สืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับมาเลเซียซึ่งมีสำนักงานอยู่ในอังกฤษ "ซาราวักรีพอร์ท" ได้นำเสนอรายงานสืบสวนสอบสวนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ระบุว่า มีข้อกล่าวหาว่าเงินจากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB ถูกยักยอกออกไปกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าสู่บัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก

วันนี้ (26 ม.ค.) โมฮัมหมัด อะปันดี อาลี ซึ่งเป็นอัยการสูงสุดมาเลเซีย ได้แถลงข่าวที่ปุตราจายาว่าว่า "หลักฐานไม่เพียงพอ" ที่จะโยงไปถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

"ผมขอให้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเลเซีย (MACC) ยุติการสืบสวนเอกสารเหล่านั้น" อะปันดี กล่าว

ทั้งนี้เอกสารที่ใช้ในการสอบสวนฉบับหนึ่งแสดงการบริจาค 2.6 พันล้านริงกิต หรือ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.37 หมื่นล้านบาท และอีกสองฉบับเป็นเอกสารของบริษัท SRC อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งกู้เงิน 4 พันล้านริงกิต จากกองทุนเกษียณอายุ หรือ KWAP โดยอะปันดียังแถลงลบล้างข้อกล่าวหาต่อนาจิบในกรณีที่เกี่ยวข้องกับ SRC อินเตอร์เนชั่นแนล

อัยการสูงสุดมาเลเซีย แถลงว่า จากหลักฐานที่ได้จากพยาน และเอกสารที่ของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเลเซีย (MACC) เงินมูลค่า 681 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.08 พันล้านริงกิต ที่ถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม 2556 ถึง 10 เมษายน 2556 เป็นการบริจาคส่วนตัวให้กับนาจิบ จากสมาชิกของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย "ซึ่งเป็นการมอบให้กับเขาโดยปราศจากการต่างตอบแทนใดๆ"

โดยคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเลเซีย (MACC) อ้างว่าเป็นการบริจาคให้กับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นการส่วนตัว

อะปันดีกล่าวว่า เขาพอใจที่ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าการบริจาคเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้อามิสสินจ้างที่ทุจริต "หลักฐานที่ได้จากการสอบสวนไม่ได้บ่งชี้ว่าการบริจาคเป็นการให้อามิสสินจ้างหรือเป็นรางวัลเพื่อให้มีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี"

อัยการสูงสุดกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรี ได้คืนเงิน 620 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.03 พันล้านริงกิต ให้กับราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียเมื่อสิงหาคม 2556 เนื่องจากไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ "ไม่มีหลักฐานแสดงว่านายกรัฐมนตรีทราบหรือได้รับการแจ้งว่าเงินถูกโอนไปยังบัญชีส่วนตัวของท่าน โดยโอนมาจากบัญชีของ SRC อินเตอร์เนชั่นแนล

"ไม่มีหลักฐานว่านายกรัฐมนตรีอนุมัติการโอนเงินจากบัญชีของ SRC อินเตอร์เนชั่นแนลไปยังบัญชีส่วนตัวของเขา" อะปันดีกล่าว โดยอัยการสูงสุดเองยังระบุว่าพอใจที่ไม่มีการกระทำผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับเงิน 681 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.08 พันล้านริงกิตดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ หลังการนำเสนอข่าวของ WSJ และ ซาราวักรีพอร์ท ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคมปีก่อน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก (Najib Razak) ได้ปลดรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 มุไฮยิดดิน ยัสซิน (Muhyiddin Yassin) ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากวิจารณ์กรณีการโอนเงินดังกล่าว และแทนที่ด้วยคนสนิทของนายกรัฐมนตรี คือ อะหมัด ซาฮิด ฮามิดี  (Ahmad Zahid Hamidi) ซึ่งควบสองตำแหน่งคือทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

นอกจากนี้ นาจิบ ราซัก ยังปลดอัยการสูงสุด อับดุล กานี ปาเทล (Abdul Gani Patail) และมีการตั้งโมฮัมหมัด อะปันดี อาลี (Mohamed Apandi Ali) มาเป็นอัยการสูงสุดแทน ซึ่งเขาเป็นผู้แถลงข่าวในวันนี้

ทั้งนี้หลังการนำเสนอของ WSJ และซาราวักรีพอร์ท คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในมาเลเซีย (MACC) ก็ได้เริ่มทำการสอบสวนตั้งแต่สิงหาคมปีก่อน โดยในรายงานข่าวสอบสวนของ WSJ และ ซาราวักรีพอร์ท ได้ระบุถึงเส้นทางการเงินว่า เงินกว่า 681 ล้านเหรียญสหรัฐ ถูกถ่ายโอนผ่านธนาคารฟอลคอน (Falcon Private Bank) ในสิงคโปร์ ไปยังบัญชีเงินฝากของนาจิบ ราซัก ที่อยู่บริษัทในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ไอร์แลนด์

ที่ผ่ามา คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเลเซีย (MACC) ได้บันทึกคำให้การของพยานกว่า 100 ปากรวมทั้งนาจิบ ราซัก และบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าโอนเงิน 2.6 พันล้านริงกิต

โดยคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเลเซีย ส่งรายงานการสอบสวนครั้งแรกให้กับอัยการสูงสุดเมื่อ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา และถูกส่งกลับมาให้แสดงคำอธิบายเพิ่มเติมเมื่อ 18 มกราคม ทั้งนี้มีการส่งเอกสารกลับไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

ขณะที่โมฮัมหมัด ชุกรี อับดุล (Mohd Shukri Abdull) รองผู้อำนวยการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเลเซีย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การสืบสวนเรื่องโอนเงิน 2.6 พันล้านริงกิต ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยผู้ทำการสอบสวนมีความจำเป็นต้องรวบรวมเอกสารและคำให้การของบุคคลจากสถาบันการเงินในต่างประเทศอีกหลายแห่ง

ชุกรีกล่าวว่า คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเลเซีย (MACC) ได้ยื่นคำร้องไปยังอัยการสูงสุดให้จัดความช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมกัน (MLA) ขณะที่  โมฮัมหมัด อะปันดี อาลี อัยการสูงสุดมาเลเซียกล่าวว่า ไม่พบความผิดทางอาญา และกล่าวว่า "ไม่มีความจำเป็น" สำหรับมาเลเซีย ที่จะยื่นคำร้องเพื่อให้มีความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับรัฐต่างประเทศใดๆ สำหรับการสืบสวนของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเลเซีย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

No criminal offence over RM2.6 billion in Najib’s accounts, case closed, says A-G, Published: 26 January 2016 10:55 AM | Updated: 26 January 2016 1:37PM  http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/a-g-holds-press-conference-to-discuss-src-rm2.6-billion-probes

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท