Skip to main content
sharethis
 
เผยสถิติยอดนายหน้าเถื่อนพุ่งหลอกไปนวดสปาที่เมืองนอก
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางานเปิดเผยว่า ได้รับการร้องทุกข์และรับแจ้งเบาะแสจากคนหางานที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศของกลุ่มมิจฉาชีพ โดยอ้างว่าสามารถส่งไปทำงานรายได้ดีในประเทศต่างๆ ได้ซึ่งตำแหน่งงานและประเทศที่มักจะชักชวนคนหางานไปทำงานมากที่สุด คืองานเก็บองุ่นหรืองานเกษตรกรรมในประเทศออสเตรเลีย รองลงมาคืองานนวดสปาหรือนวดแผนไทยในประเทศเกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ บาห์เรน รัสเซีย มัลดีฟส์ ดูไบ โอมาน และจีน งานโรงงานและงานภาคเกษตรในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ งานบริการในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรมระดับ 5 ดาว ในประเทศอังกฤษ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และงานกุ๊กในประเทศอิสราเอลและญี่ปุ่น ตามลำดับ
 
ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างว่าได้รับค่าจ้างสูงถึงเดือนละ 40,000-200,000 บาท เพื่อจูงใจให้คนหางานหลงเชื่อยอมจ่ายเงินค่าบริการจัดหางานให้ เมื่อคนหางานหลงเชื่อยอมจ่ายเงินก็จะปิดการติดต่อสื่อสารทุกชนิดแล้วหลบหนีไปโดยพฤติกรรมของคนหางานที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ เช่น ยอมโอนเงิน ให้ไปทั้งที่ไม่เคยพบเห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้ชักชวนไปทำงาน ไม่ขอหลักฐานแสดงตัวตนหรือหลักฐานการจ่ายเงินใดๆ จากกลุ่มมิจฉาชีพ แม้รู้ว่าจะต้องลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมายก็ยอมเสี่ยงจ่ายเงินให้ไป เพราะหวังในรายได้ตามที่อ้าง
 
นายอารักษ์เปิดเผยว่า คนหางานควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนสมัครงานหรือจ่ายเงินค่าบริการทุกครั้ง แต่วิธีที่ดีที่สุดคือควรเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และหากต้องการแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสผู้มีพฤติกรรมหลอกลวงคนหางาน ติดต่อได้ที่ กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน โทร.0-2245-6763 หรือสายด่วนกรมฯ โทร. 1694
 
อนึ่งในปี 2557 ได้ดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อน 134 คดี มีผู้กระทำผิด 156 คน ขณะที่ในปี 2558 ตั้งแต่เดือนม.ค.และก.พ. ดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อน ไป 41 คดี ผู้กระทำผิด 82 คน ทั้งนี้มี ข้อน่าสังเกตว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 มีผู้กระทำผิดเกินกว่าร้อยละ 50 ของปี 2557 แสดงให้เห็นว่าการหลอกลวง มีเพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีนายหน้าเถื่อนที่มีพฤติกรรมหลอกลวงจะมีโทษตามพ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 จำคุก 3-10 ปี ปรับไม่เกิน 60,000-200,000 บาท ต่อการหลอกลวงแรงงาน 1 คน
 
 
กรอ.รับมือภัยแล้ง ส่งหนังสือแจ้งเตือนโรงงาน พร้อมขอความร่วมมือกรมทรัพฯ ใช้แหล่งน้ำบาดาล
 
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ล่าสุด กรอ. ได้เตรียมรับมือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยได้ส่งหนังสือ พร้อมให้อุตสาหกรรมจังหวัด แจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีการใช้ปริมาณน้ำจำนวนมาก รวมทั้งได้ขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการอำนวยความสะดวกการจัดการแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานต่าง ๆ จะติดตามสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งอย่างใกล้ชิด
 
อย่างไรก็ตาม นายพสุ กล่าวว่า ในส่วนของภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหลักของประเทศและเคยเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แต่ภาครัฐและหน่วยงานได้มีการขุดบ่อน้ำเพิ่มเติม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบผลิตน้ำของโรงงาน ดังนั้น จึงคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก
 
 
ประกันสังคมเล็งให้ "เบิกทำฟัน" รวดเดียว 600 บาท
 
บอร์ดสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. เสนอปรับวิธีเบิกค่าทำฟัน จากปัจจุบันเบิก 600 บาทต่อปี แต่แยกเป็น 2 ครั้งๆละ 300 บาท ปรับเปลี่ยนเป็นให้เบิกได้ในครั้งเดียว 600 บาท คาดเข้าบอร์ดประกันสังคม 9 ก.พ.นี้
            
พ.ต.ต.หญิงรมยง สุรกิจบรรหาร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.ได้เห็นชอบ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกเงินสิทธิประโยชน์ กรณีทันตกรรมหรือค่าทำฟันของผู้ประกันตน จากปัจจุบัน ที่เบิกได้เป็นจำนวน 600 บาทต่อปี โดยให้เบิกได้ปีละ 2 ครั้ง แบ่งเป็นครั้งละ 300 บาท ได้ปรับเป็นให้ผู้ประกันตน สามารถเบิกค่าทำฟันได้ในครั้งเดียว 600 บาท โดยไม่ต้องแยกเบิกเป็น 2 ครั้งต่อปี
             
รองเลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า สาเหตุที่บอร์ดการแพทย์ของ สปส. ปรับเปลี่ยนวิธีการเงินค่าทำฟัน ก็เพื่อให้ผู้ประกันตน สามารถเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจาก ผู้ประกันตนอาจจะเสียค่าทำฟันมากกว่าครั้งละ 300 บาท โดยคาดว่า จะมีการนำเสนอความเห็นของบอร์ดแพทย์ เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมของบอร์ด สปส. ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ หากบอร์ด สปส.ให้ความเห็นชอบตามที่เสนอ ก็จะมีการออกประกาศการแพทย์ของ สปส. และบังคับใช้ต่อไป
 
 
หมดเขตต่ออายุแรงงานต่างด้าว 30 ม.ค. หากฝ่าฝืนมีโทษปรับถึงหนึ่งแสนบาท
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าจากการที่ได้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ในกิจการประมงทะเลใน 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ถึง 30 มกราคม 2559 มีกำหนดระยะเวลา 90 วันนั้น ซึ่งปัจจุบันใกล้หมดระยะเวลาที่กำหนดแล้ว กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนนายจ้างให้แรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนฯภายในวันที่ 30 มกราคมนี้ เพราะหากพ้นกำหนดจะเป็นการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยมีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน  คือ ตรวจสุขภาพ 500 บาท ประกันสุขภาพ 1,600 บาท ใบอนุญาตทำงาน 1,000 บาท ค่าทะเบียนประวัติ 80 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,180 บาท
 
โดยมีขั้นตอนคือนายจ้างต้องจัดเตรียมเอกสาร และพาแรงงานต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติ ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือกับกรมการปกครอง และขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รวมทั้งตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองว่าไม่เป็นโรคที่ห้ามอนุญาตให้ทำงาน และประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนแล้วจำนวน 16,832 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมาจำนวน 9,586 คน ลาว จำนวน 316 คน กัมพูชา จำนวน 6,930 คน นายจ้าง จำนวน 4,911 ราย
 
นายอารักษ์ฯ กล่าวต่อว่า นายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีความผิดปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทํางานจะมีความผิดจําคุกไม่เกิน 5  ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล เว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th หรือที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
กรมการจัดหางาน ย้ำ แรงงานไทย ไปทำงานในต่างประเทศต้องถูกกฎหมาย เตือนอย่าหลงกลโฆษณาชวนเชื่อ
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ควรไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีอยู่ 5 วิธี คือ การเดินทางโดยบริษัทจัดหางานจัดส่ง กรมการจัดหางานจัดส่ง ผู้จะไปทำงานติดต่อหางานเอง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานและนายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานกรณีที่แรงงานเดินทางไปโดยผิดกฎหมายจะมีผลเสียต่อตัวเอง เช่น อาจถูกหลอกลวง หรือเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม มีปัญหาถูกจับ ป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีข้อมูลของคนหางานที่เดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงควรตรวจสอบข้อมูล
 
ของนายจ้าง ตำแหน่งงานที่จะไปทำงานให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ และควรไตร่ตรองว่า ตนเองมีอาชีพที่มั่นคงอยู่แล้วหรือไม่ มีโรคประจำตัวร้ายแรงหรือไม่ และได้ค่าจ้างคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปหรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางาน ขอเตือนแรงงานไทยก่อนตัดสินใจสมัครไปทำงานต่างประเทศ หรือจ่ายเงินค่าบริการให้แก่ใคร ตรวจสอบกับกรมการจัดหางานก่อน โดยติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 - 10 หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
 
"มูลนิธิเมาไม่ขับ"เสนอไอเดียจ้างคนพิการทำกิจกรรม CSR
 
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการเมาไม่ขับ เปิดเผยกับ “เดลินิวส์ออนไลน์” ว่า จากที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าสถานประกอบการที่มีคนงาน 100 คนขึ้นไปต้องจ้างคนพิการ 1 คนเข้าทำงาน เป็นการส่งเสริมให้คนพิการได้มีงานทำ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ไม่ค่อยจะจ้างคนพิการ เพราะหาตำแหน่งให้คนพิการมาทำงานไม่ได้ กฎหมายจึงกำหนดว่า บริษัทจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปีละประมาณ 1 แสนบาทต่อคน ดังนั้นตนซึ่งอยู่มูลนิธิเมาไม่ขับ มีคนพิการที่เกิดจากเมาแล้วขับมาเป็นอาสาสมัครอยู่จำนวน 4,000-5,000 คนทั่วประเทศ และยังมีคนพิการที่ไม่ได้มาทำงานกับมูลนิธิอีกหลายหมื่นคน นพ.แท้จริง กล่าวว่า จะเห็นว่าในสังคมยังมีคนพิการที่ไม่ได้รับการจ้างงาน เพราะเขาทำงานไม่ได้ ซึ่งเรียกว่า พิการรุนแรง บริษัท ห้างร้าน ก็ไม่จ้าง เพราะไม่รู้ว่าจะให้มาทำหน้าที่อะไร ที่มูลนิธิฯมีคนพิการมาช่วยรณรงค์เยอะมาก จึงมีแนวคิดว่าแทนที่จะเป็นแค่อาสาสมัคร เราให้บริษัทที่จำเป็นจะต้องจ้างคน แล้วเขาต้องเสียเงินอยู่แล้วทุกปี เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำเป็นต้องจ้างคนพิการปีหนึ่งประมาณ 200 คน ถ้าไม่จ้างจะต้องจ่ายเงิน 20 ล้านบาทให้กับกองทุนทุกปี
 
“ผมได้ไปพูดคุยกับทางธนาคารไทยพาณิชย์ก็เห็นด้วยที่จะเอาเงินมาจ้างคนพิการที่เป็นอาสาสมัครของมูลนิธิ ต่อไปอาสามัครของมูลนิธิไปทำงานแล้วได้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ เขาเรียกจ้างเหมา ไม่ใช่จ้างเป็นพนักงาน เหมือนการจ้างทำกิจกรรมเป็นเวลา 1 ปี แล้วเรากำหนดว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง ธนาคารเห็นด้วยว่าถ้าเป็นCSR ของธนาคารก็ได้ แทนที่จะต้องเสียเงินทำ CSR จึงให้เงินกับคนพิการโดยตรง” นพ.แท้จริง กล่าว 
 
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า จึงได้เกิดการจ้างงานแบบใหม่ คือ การจ้างงานในการไปทำงานในชุมชน ทำงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม เช่น มูลนิธิเมาไม่ขับก็จะเป็นการรณรงค์เมาไม่ขับให้ทำหน้าที่ดังนี้ 1.ไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อรณรงค์แจกแผ่นพับแจกสติกเกอร์ 2.ไปเยี่ยมเหยื่อรายใหม่ ๆ ตามโรงพยาบาล ตามบ้านที่เป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุ ไปพูดประสบการณ์ให้เขาฟัง เพราะหมอพูดคนป่วยไม่เชื่อ แต่ถ้าคนเหล่านี้พูดเขาจะเชื่อ 3.ไปตามสถานที่โรงงานที่ให้ไปพูด เล่าประสบการณ์ตนเองให้กับคนอื่น ๆ ได้ฟัง เอาวิกฤติมาเป็นโอกาส 4.ไปกับตำรวจ ไปอยู่ตามด่านที่ตรวจแอลกกอฮอล์ เวลาตำรวจตั้งด่านให้คนพิการพูดกับคนเมา ซึ่งการทำกิจกรรมดังกล่าวเปรียบเสมือนเขาทำงาน สำหรับโครงการเมาไม่ขับทางกระทรวงแรงงานเห็นด้วย เพราะเข้าข่าย ม.35 พรบ.ส่งเสริมคุณภาพคนพิการ สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่น จ้างเหมา ช่วยเหลือคนพิการ แล้วกิจกรรมที่ทำตรงนี้ถือว่าเป็นการจ้างงานคนพิการ ไม่ต้องโยนเงินเข้ากองทุนมาจ้างคนพิการได้โดยตรง
 
 
ศธ. MOU การส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพสำหรับนักเรียนที่จบ ม.3, 6 แล้วไม่เรียนต่อ เพื่อรองรับเข้าสู่ตลาดแรงงาน
 
พันเอก รัตนะโชติ อ่างทอง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการเปิดงาน MOU การส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพสำหรับนักเรียนที่เรียนจบการศึกษาแล้วไม่เรียนต่อ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กพฐ. พร้อมด้วย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ห้องประชุม 1 อาคาร สพฐ. 4 พร้อมกันนี้มีการร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สพฐ. โดย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ. กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้านการส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จบการศึกษาแล้วไม่เรียนต่อ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนทักษะอาชีพในโรงเรียนการศึกษาภาคบังคับเพื่อการมีงานทำเฉพาะบุคคล
 
 
แรงงานข้ามชาติบุกศาลากลางเชียงใหม่ โวยถูกเบี้ยวค่าแรงกว่า 3 ล้าน
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ม.ค. 59 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสายทิพย์ อาวัน เจ้าหน้าที่มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้นำแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่เกือบ 200 คน เดินทางมาร้องเรียนต่อ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธ์ตามกฎหมาย โดยนายสายทิพย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นมีตัวแทนแรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด เปอร์เฟตโต ขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและสหพันธ์คนงานข้ามชาติ (Migrant Workers Federation) เพื่อให้ช่วยดำเนินการตามสิทธิของกฎหมาย เนื่องจากแรงงานทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกันตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 58-15 ม.ค. 59 โดยแรงงานให้ข้อมูลว่าได้ทวงถามค่าจ้างค้างจ่ายไปที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว และได้มีการผลัดจ่ายเรื่อยมา จนไม่สามารถติดต่อได้ทั้งทางโทรศัพท์และสำนักงาน เนื่องจากได้ปิดทำการสำนักงานลง พวกตนเองจึงเข้าใจได้ว่าได้ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับค่าจ้างส่วนที่เหลือ ด้วยแรงงานไม่มีความรู้และเข้าใจสิทธิและขั้นตอนของกฎหมาย จึงได้ขอความช่วยเหลือมาดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม กรณีแรงงานข้ามชาติจำนวน 121 คน จากกว่า 200 คน ที่เดินทางมาวันนี้ เนื่องจากถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับค่าจ้างจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเปอร์เฟตโต จ.เชียงใหม่ ซึ่งจ้างแรงงานทำงานก่อสร้างใน 3 โครงการ คือ 1. โครงการสตาร์ เอวินิว 5 ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านป่าตาล ม.4 ต.สันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 2. โครงการดิอามองค์ คอนโดมิเนียม ตั้งอยู่ที่ ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ 3. โครงการ The spring condominium เลขที่ 34 ม.4 ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีค่าจ้างค้างจ่าย งวดวันที่ 16 ธ.ค. 58-15 ม.ค. 59 เป็นเงินจำนวน 906,988.80 บาท และสิทธิอื่นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้แก่ ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวด เป็นเงิน 554,850 บาท และค่าชดเชยการเลิกจ้างเป็นเงิน 2,036,100 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,461,602.80 บาท และตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 59 เป็นต้นมา แคมป์คนงานที่นายจ้างได้เช่าให้เป็นที่พักอาศัยได้ถูกตัดน้ำตัดไฟ จนทำให้แรงงานไม่สามารถอยู่ต่อได้ ส่วนใหญ่แรงงานต้องไปหาที่อยู่ใหม่ด้วยตนเอง ทำให้มูลนิธิฯ และสหพันธ์คนงานข้ามชาติไม่สามารถประสานกับคนส่วนอื่นนอกเหนือจากแรงงาน 121 คนนี้ ที่ย้ายออกไปโดยยังไม่ได้รับสิทธิของตนในปัจจุบัน
 
ต่อมา ทางนายธรรศณัฏฐ์ นุชแสงพลี สวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้พาแรงงานข้ามชาติทั้งหมดไปลงชื่อร้องเรียนเอาไว้เป็นหลักฐาน และจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติทั้งหมดว่ามีใบอนุญาตการเข้าเมืองและได้รับการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และให้ตั้งตัวแทนขึ้นมาพร้อมกับเรียกนายจ้างมาทำข้อบันทึกตกลงร่วมกัน หากนายจ้างไม่มาก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
 
 
2 ศาสตราจารย์ต่างชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ระบุวัยทำงานคนไทย 40% ยังขาดนายจ้างชัดเจน สภาพแวดล้อมไม่ดี กระทบสุขภาพ
 
อาคารพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้บริหารคณะ นำศ.นพ. มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ (Professor Morton M. Mower)ศ.อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกายหรือเอไอซีดี และผู้คิดค้นหลักเครื่องรักษาหัวใจด้วยวิธีให้จังหวะหรือซีอาร์ที เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Michael Gideon Marmot)
 
และ เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Michael Gideon Marmot) ศ.ระบาดวิทยา ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักรและนายกแพทยสมาคมโลก เป็นผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาวะและแนวทางแก้ไข ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี2558พบสื่อมวลชน“Meet the Press”
 
เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต กล่าวว่า เป็นเกียรติสูงสุดที่ได้รับรางวัล และทำให้สาขาการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพคนสนใจมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการเกี่ยวกับปัจจัยทางสังคมที่จะแก้ปัญหาช่องวางด้านสุขภาพ จะต้องมองตลอดเส้นทางตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงตาย จะต้องทำให้ให้ความเท่าเทียมตั้งแต่ที่เป็นทารก ให้มีจิตใจที่ดี ครอบครัวอบอุ่น จะช่วยประคับประคองให้เด็กและเยาวชนโตขึ้นมีสภาพทางอารมณ์ที่ดี ส่งผลต่อการมีสุขภาพดี ส่วนวัยทำงานจากการศึกษาในคนไทยพบว่าประชากรไทย 40%ทำงานโดยที่ไม่มีนายจ้างชัดเจน ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมการทำงานไม่ดี เพราะต้องดูแลตัวเอง ขณะที่ผู้สูงอายุต้องมีผู้ดูแลและมีการใช้ชีวิตที่เหมาะสมเกิดประโยชน์ 
 
เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพลดลง ต้องพัฒนาครอบครัว สังคมและรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือ พัฒนาอย่างเหมาะสมสังคมจะมีความสุข อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีการรณรงค์ในประเด็นการส่งเสริมสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพมาก เพราะคนที่มีการศึกษาเท่านั้นที่จะเข้าร่วมรับฟังและปฏิบัติ ดังนั้น การจะลดปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพะเรื่องเหล้า บุหรี่จะใช้วิธีการบอกให้หยุดไม่ได้ผล แต่ถ้าใช้การพิ่มภาษีจะช่วยลดปัญหาได้มาก
 
ศ.นพ. มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ กล่าวว่า เมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไปเลือดจะไม่สามารถออกไปเลี้ยงร่างกายได้ทั้งตัว เครื่องรักษาหัวใจที่คิดค้นขึ้นจะช่วยช็อคด้วยพลังงานไฟฟ้าที่สูง ทำให้หัวใจหยุดการเต้นที่เร็วเกินไป และกลับมาเต้นตามปกติ โดยเครื่องนี้ฝังในร่างกายผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆเครื่องก็จะอยู่ในสภาพที่เตรียมพร้อม สำหรับเครื่องในรุ่นใหม่จะช่วยการทำงานของหัวใจทั้งในช่วงที่หัวใจเต้นเร็วเกินไปจะช่วยช็อค แต่หากเต้นช้าเกินไปจะช่วยกระตุ้น ช่วยให้คนไข้หัวใจวายมีชีวิตอยู่ได้
 
“เป็นความประหลาดใจและเป็นเกียรติอย่างสูงสุดในชีวิตที่ได้รับรางวัล อย่างไรก็ตาม การทำงานวิจัยไม่ได้เพื่อให้ได้รางวัล แต่ทำเพราะมีความสุข เมื่อได้รับรางวัลก็ทำให้คนรู้ว่ามีประโยชน์เป็นจุดเริ่มต้นที่จะศึกษาลึกลงไปในการใช้กระแสไฟฟ้าในระดับเซลล์” ศ.นพ. มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์กล่าว 
 
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี2558ในวันพฤหัสบดีที่28มกราคม พ.ศ.2559เวลา17.30น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
 
 
ผลสำรวจธนาคารโลกในรอบหนึ่งทศวรรษเผยไทยติดอันดับหนึ่งขาดแรงงานมีคุณภาพสูงสุดในอาเซียน
 
ที่ห้องประชุมวีนัส โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และภาคีเครือข่ายจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ 14 จังหวัด จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแถลงข่าว "รวมพลัง 14 จังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้สู่นวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัด" เพื่อนำเสนอผลความสำเร็จของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ๆ สามารถตอบโจทย์ในด้านแรงงานและการพัฒนาในด้านต่างๆ ของแต่ละจังหวัด พร้อมผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ไปสู่เป้าหมายในเชิงนโยบายการศึกษาในระดับชาติ
 
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการสำรวจของธนาคารโลกปี 2006-2009 พบว่า ธุรกิจไทยขาดแรงงานที่เหมาะสมกับงานมากที่สุดในอาเซียน โดยสูงถึงร้อยละ 38.8 ขณะที่ค่าเฉลี่ย (ไม่รวมประเทศไทย) อยู่ที่ร้อยละ 12.6 ขณะที่มาเลเซียรองลงมาร้อยละ 20.2 ตามมาด้วยลาวร้อยละ 18.7 กัมพูชาร้อยละ 15.5 เวียดนาม 8.9 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 7.8 และอินโดนีเซียร้อยละ 4.5 และยังพบว่า ไทยติดอันดับการจ้างแรงงานไร้ฝีมือคิดเป็นร้อยละ 83.5 ของแรงงานทั้งหมดในสถานประกอบการที่สำรวจ รองลงมาคือมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาของไทยเน้นการผลิตเชิงปริมาณทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันการศึกษาของไทยไม่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง ทำให้เกิดการผลิตคนไม่เหมาะสมกับงาน การจัดการศึกษาจึงควรมุ่งสู่การเตรียมพร้อมในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง
 
"สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรราว 1.678 ล้านคน มีต้นทุนด้านการเกษตร ท่องเที่ยว และธุรกิจสุขภาพเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มสังคมสูงวัย จังหวัดตราดมีประชากรราว 224,730 คน มีต้นทุนด้านเกษตร ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และภูเก็ตมีประชากรราว 378,364 คน มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวและสามารถพัฒนาเป็นเมืองแห่งอาหาร (Gastronomic City) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียจะพบว่า ทุนมนุษย์ในประเทศไทยยังไม่ได้ถูกใช้ไปในการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ที่เท่ากับประเทศมาเลเซีย จีนและสิงคโปร์ โดยประเทศในกลุ่ม OECD ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มากว่าสิบปีแล้ว ซึ่งบทเรียนจากประเทศในกลุ่ม OECD พบว่าการจัดการศึกษาที่ดีนั้นต้องมีการจัดระบบ 4 ด้าน 1) การจัดการเรียนรู้ 2) การวางแผนและการจัดโครงสร้างการบริหาร 3) การบริหารงานบุคคล และ 4) การจัดสรรทรัพยากร ซึ่งกว่า 3 ใน 4 ของการจัดการศึกษาเกิดในระดับพื้นที่ โดยประเทศฟินแลนด์ระบุว่า การจัดการเรียนรู้ต้องให้สอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเสริมเศรษฐกิจในปัจจุบันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อนาคต ฉะนั้นการจัดการศึกษาเพื่อทุกคนนั้น หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องยึดหยุ่นพอที่จะรองรับการเตรียมคนสู่สายอาชีพและมหาวิทยาลัย"
 
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ สสค. กล่าวว่า การการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องให้พื้นที่ได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดเป้าหมายของตนเองว่าต้องการให้คนในจังหวัดมีการศึกษาอย่างไร ต้องการคนที่มีคุณลักษณะ มีความสามารถแบบไหน "สิ่งที่ สสค. และ สกว. ทำร่วมกับ 14 จังหวัดในขณะนี้นั้นเป็นรูปแบบของการจัดการศึกษาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย เพราะเป็นกระบวนการทำงานที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานประสานร้อยเชื่อมกันตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึงเชิงตะกอนว่าต้องการคนที่มีทักษะแรงงานแบบใด เช่น จังหวัดเชียงใหม่หรือภูเก็ตที่สามารถถอดบทเรียนออกมาให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนทั้งจังหวัด จนกระทั่งเกิดแผนหรือยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัด สิ่งสำคัญคือถ้าเราสามารถที่จะทำงานนี้ไปได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเห็นภาพชัดเจน ก็จะทำให้จังหวัดอื่นๆ ได้มองเห็นโอกาส แนวทางการทำงาน และเข้าร่วมขบวนการพัฒนาการศึกษาของตนเองโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน"
 
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุถึงแนวโน้มของการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ว่าประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่สำคัญคือ 1) การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และประชาคมอาเซียน 2) การศึกษาเพื่อการมีงานทำ และ 3) การศึกษาต้องมีผู้ร่วมจัดการศึกษา ซึ่งเป็นแนวโน้มหรือทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยนับจากนี้
     
"แต่การปฏิรูปการศึกษาจากระบบที่เป็นอยู่สามารถทำได้ยาก ในขณะที่ในระดับล่างสุดเรายังพบความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ใน 14 จังหวัดที่ สสค.ทำอยู่เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ถอดบทเรียนออกมาแล้วพบว่าเป็นการจัดการศึกษาที่ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านที่กล่าวไปแล้ว และทำให้เราเห็นว่าขณะนี้เราจะปล่อยให้รัฐจัดการศึกษาตามลำพัง หรือปฏิรูปการศึกษาตามลำพังไม่ได้ เพราะหน่วยจัดการที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐกับพื้นที่มีความพร้อมมากกว่า เคลื่อนไหวได้เร็วกว่า และปฏิรูปโดยได้ความร่วมมือที่มากกว่า ตรงนี้คือจุดแข็งของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่"
    
 
"สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะต้องนำองค์ความรู้หรือข้อค้นพบเหล่านี้ไปเชื่อมต่อกับนโยบายในระดับบนให้ได้ โดยต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องพยายามกำหนดเรื่องนี้ไว้ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดย สสค.จะต้องทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างมืออาชีพ ซึ่งองค์ความรู้ที่หลากหลายจากทั้ง 14 จังหวัดที่เกิดจากผลของการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและมีความชัดเจน เป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นๆ สามารถนำบทเรียนเหล่านี้นำไปปรับประยุกต์ใช้ ต่อยอด และเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับจังหวัดของตนเอง ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่สุด"ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net