Skip to main content
sharethis

กรณีการตัดสินใจยื้อหรือจบชีวิตคนไข้ใกล้ตายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันทั่วโลกทั้งในแง่จริยธรรมและในแง่สิทธิมนุษยชนว่าคนเราควรมีสิทธิเลือกจะตายได้หรือไม่ ล่าสุดรัฐสภาฝรั่งเศสออกกฎหมายใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบทั้งจากสายอนุรักษ์นิยมและสังคมนิยมให้มีการช่วยเหลือคนไข้ใกล้ตายให้จากไปอย่างไม่ต้องทุกข์มรมานด้วยการให้ยาระงับความรู้สึก

28 ม.ค. 2559 รัฐสภาฝรั่งเศสผ่านร่างกฎหมายอนุญาตหมอให้ยาระงับความรู้สึกแก่คนไข้จนกว่าคนไข้จะเสียชีวิตในกรณีที่คนไข้ป่วยใกล้ตาย แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้มีการการุณยฆาตหรือช่วยเหลือในการฆ่าตัวตาย

หลังจากที่มีการอภิปรายถกเถียงในเรื่องนี้มานานหลายปี ในฝรั่งเศสก็มีการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้งในสภาล่างและสภาบนเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ที่เป็นผลมาจากการสามารถตกลงร่วมกันได้ของ ส.ส. ฝ่ายสังคมนิยมและอนุรักษ์นิยมอนุญาตให้คนไข้สามารถเรียกร้องขอแพทย์ให้ยาระงับความรู้สึกกับพวกเขาอย่างต่อเนื่องจนกว่าพวกเขาจะเสียชีวิต โดยมีข้อแม้ว่าสามารถทำได้กับคนไข้ที่ใกล้เสียชีวิตแล้วเท่านั้น

กระบวนการที่กฎหมายใหม่ของฝรั่งเศสอนุญาตคือการเลิกรักษาพยาบาลแบบยืดชีวิต เช่น การให้สารอาหารและน้ำ และอนุญาตให้ใช้ยาระงับความรู้สึกร่วมกับยาแก้ปวดถึงแม้ว่าจะทำให้คนไข้เสียชีวิตเร็วขึ้นก็ตาม แต่การทำเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตคนเช่นนี้ก็มีขั้นตอนตามกฎหมายที่เข้มงวด คือคนไข้ต้องมีความสามารถแสดงเจตจำนงการตัดสินใจด้วยตัวเองได้และมีกระบวนการปรึกษาหารือกับสมาชิกครอบครัวคนไข้แล้ว มีหมอบางคนมองว่าการทำให้เสียชีวิตด้วยกระบวนการนี้เป็นวิธีที่ "มีมนุษยธรรม" มากกว่าวิธีการการุณยฆาตที่หมายถึงการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเพื่อไม่ต้องเผชิญความเจ็บปวดต่อไป

ทางด้านนักการเมืองพรรคสังคมนิยม อลัน เคลย์ส ที่ร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจว่าเขาจะชีวิตอย่างไรในช่วงใกล้ตาย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อให้คนที่ใกล้เสียชีวิตสามารถเลือกที่จะเสียชีวิตอย่างสงบได้ ซึ่งนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมอย่าง ฌอง เลออนเนตติ ผู้ร่วมร่างกฎหมายอีกคนก็มีความเห็นตรงกันในเรื่องนี้ โดยบอกว่าคนที่กำลังจะเสียชีวิตไม่ควรต้องทุกข์ทรมาน ควรจะทำให้เขาได้นอนหลับอย่างสงบสุข

ก่อนหน้านี้การถกเถียงเรื่องการจบชีวิตคนไข้ที่ใกล้เสียชีวิตกลายเป็นประเด็นอีกครั้งจากกรณีผู้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชื่อวินเซนต์ แลมเบิร์ต เมื่อ 8 ปีที่แล้วอยู่ในอาการโคมาทำให้ครอบครัวของเขามีความคิดเห็นแตกต่างกันว่าควรจะทำอย่างไร โดยที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสินเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้วว่าแพทย์สามารถหยุดให้การรักษาเขาได้ อย่างไรก็ตามกรณีของแลมเบิร์ตก็ยังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย

ในกฎหมายใหม่ของฝรั่งเศสยังระบุอีกว่าคนไข้สามารถวางแผนให้มีการให้ยาระงับความรู้สึกของตนไว้ล่วงหน้าได้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรโดยสามารถแต่งตั้ง "บุคคลที่ไว้วางใจได้" ล่วงหน้าในการตัดสินใจแทนเผื่อกรณีที่คนไข้ไม่สามารถแสดงเจตจำนงได้เมื่อถึงเวลา

เรียบเรียงจาก

France adopts sedated dying law as compromise on euthanasia, The Guardian, 28-01-2016 http://www.theguardian.com/society/2016/jan/28/france-adopts-sedated-dying-law-as-compromise-on-euthanasia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net