Skip to main content
sharethis

 

29 ม.ค. 2559 มูลนฺิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า ศาลจังหวัดยะลาได้นัดไต่สวนคำร้องให้เป็นคนสาบสูญในวันจันทร์ที่ 8 ก.พ. 59  เวลา 09.00 น.  กรณีเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2558 นางอาอีเสาะ นะดารานิง มารดานายอิสมาแอ นะดารานิง ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งนายอิสมาแอ นะดารานิง เป็นบุคคลสาบสูญต่อศาลจังหวัดยะลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ 527/2558   ขอเชิญผู้ที่สนใจและสื่อมวลชนเข้ารับฟังการพิจารณาของศาลได้วันและเวลาดังกล่าว

การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งนายอิสมาแอ นะดารานิง เป็นบุคคลสาบสูญ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เครือญาติของผู้สูญหายได้มีโอกาสสื่อสารกับสังคม ถึงความเดือนร้อนทางด้านสังคมและสภาวะจิตใจของญาติที่ยังคงติดตามและต้องการที่จะค้นหาความจริงซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่และรณรงค์ให้สาธารณะได้ตระหนักรู้ถึงปัญหากรณีคนหายซึ่งคนในสังคมต้องช่วยกันและร่วมกันแก้ไข เพื่อให้เกิดกลไกเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทุกคนหายสาบสูญโดยการถูกบังคับ พร้อมทั้งยังแสดงให้เห็นว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายยังเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังดำรงอยู่ การสืบสวนสอบสวนไม่มีประสิทธิภาพ  และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงถึงชะตากรรมของคนหายโดยการบังคับ

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยการถูกบังคับ ซึ่งจะทำให้รัฐมีข้อผูกพันที่จะต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาด้วย        

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีพลทหารอิสมาแอ นะดารานิง

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2558 ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รับให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ครอบครัวนะดารานิง แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นมากว่า 5 ปีแล้ว โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2553 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2553 นายอิสมาแอ นะดารานิง บุตรชายนางอาอีเสาะ นะดารานิง ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นพลทหาร อยู่ที่สังกัดกองร้อยปืนเล็กที่ 4 กองพันทหารราบที่ 8  ค่ายกรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ถนนริมทะเล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยในวันดังกล่าวมารดาได้ให้ข้อมูลว่าบุตรชายได้โทรศัพท์หาตนเมื่อเวลา 10.00 น.ว่าต้องการกลับบ้าน แต่ไม่มารดาไม่ให้กลับบ้าน เนื่องจากยังอยู่ประจำการไม่ถึงเดือน

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2553 นางอาอีเสาะ ฯได้ไปเยี่ยมบุตรชายที่ค่ายดังกล่าว แต่ไม่พบตัวบุตรชายแต่อย่างใด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารที่ค่ายได้บอกว่า พลทหารอิสมาแอฯได้ออกจากค่ายไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2553 หลังจากเกิดเหตุการณ์ครอบครัวได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจอำเภอรามัน จังหวัดยะลา และได้ไปร้องเรียนต่อองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่

 เบื้องต้นทางมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิมประจำจังหวัดยะลาได้ช่วยเหลือสอบถามความคืบหน้ากรณีพลทหารอิสมาแอฯซึ่งบิดาได้ร้องเรียนเกี่ยวกับบุตรชายได้หายตัว ซึ่งทางกรมพันทหารราบที่ 8 กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงสงขลานครินทร์ได้ส่งหนังสือชี้แจงกรณีพลทหารอิสมาแอ ได้หนีราชการไปในขณะรักษาพยาบาลที่หมวดพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2553 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีพลทหารหนีออกนอกกอง และสรุปผลการสอบสวนแล้ว ในเดือนมิ.ย. 2553 พลทหารอิสมาแอ นะดารานิง ได้เข้ารับการรักษาตัวที่หมวดพยาบาล กองร้อยกองบังคับการและบริการฯจริง และได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ 2 และเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2553 พลทหารอิสมาแอ ฯ ได้ขออนุญาตไปตรวจที่โรงพยาบาลโรงพยาบาลฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ 2 และหลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับมาที่หน่วยอีกเลย  นับตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. 2553 วันที่ขาดการติดต่อกลับมายังครอบครัวจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาครบ 5 ปีตามกฎหมาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61) ขอให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

การบังคับให้บุคคลสูญหาย ตามอนุสัญญาการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหายขององค์การสหประชาชาติ(The International Convention on for the Protection of All Persons from  Enforced Disappearance)  หมายถึงการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มคนที่กระทำโดยการได้รับคำสั่ง ได้รับการสนับสนุน หรือการยินยอมจากรัฐ และรวมทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิเสธในการรับรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพหรือ การสูญหายของบุคคล หรือการปิดบังข้อมูลความจริงหรือสถานที่ของบุคคลผู้สูญหาย ภายใต้คำจำกัดความนี้บุคคลทั้งหมดนี้ได้กระทำการหรือสั่งให้มีการปิดบังหรือไม่เปิดเผยถิ่นพำนักของบุคคลที่หายตัวไป ก็จัดว่าเป็นการกระทำภายใต้การทำให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญาฯฉบับนี้ด้วย 

นอกจากนี้ยังยังมี สิทธิในการรับทราบความจริง (Right to know the Truth) ในกรณีการบังคับบุคคลสูญหายถือเป็นหัวใจสำคัญของอนุสัญญาป้องกันการบังคับให้บุคคลสูญหายของสหประชาชาติ ซึ่งสิทธิดังกล่าวยังได้ถูกเน้นย้ำถึงในกฎหมายระหว่างประเทศที่รับรองโดยสหประชาชาติอีกหลายฉบับ ซึ่งต่อมาคณะทำงานด้านปัญหาการบังคับบุคคลสูญหาย หรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances- UNWGEID) นำหลักการแห่งสิทธิดังกล่าวมาอธิบายเพิ่มเติมอย่างเป็นเอกเทศว่า สิทธิการรับทราบความจริง (ในกรณีคดีบังคับบุคคลสูญหาย) หมายถึงสิทธิที่จะรับทราบตลอดกระบวนการและผลลัพธ์ของกระบวนการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งรับทราบชะตากรรมของผู้สูญหาย สภาพการณ์ที่เกิดการสูญหาย และรวมทั้งผู้ก่ออาชญากรรม ทั้งนี้การอธิบายเพิ่มเติมนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้มีการพัฒนาเครื่องมือ และกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ และมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลในการปกป้องส่งเสริมสิทธิทั้งในระดับบุคคลและสังคม เนื่องจากเน้นย้ำการแสดงข้อเท็จจริงที่ได้ต่อสาธารณะ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net