Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นสงครามอันไม่มีวันสิ้นสุดบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค คำคมสลับกับคำอวยพร โดยมนุษย์คม กับมนุษย์พร

คำคม กำลังใจ ธรรมะ ข้อเสนอมักง่ายสั้นๆ ไม่นับเป็นอะไรนอกไปจากโวหารวาทศิลป์ สิ่งเหล่านี้แทบจะกินพื้นที่มากที่สุดบนหน้าข่าวทั่วไป ถ้าไม่เพื่อมุ่งหาผลประโยชน์เชิงโฆษณาพาณิชย์ ก็เพื่อค้นหาตัวตนและความยอมรับซึ่งกันและกันในสังคม และอื่นๆ

หากมองในแนวทางการมองการเมืองสื่อ (สื่อการเมือง) ของ Noam Chomsky (2002) ก็คงเห็นว่าบางกรณีเนื้อหา (นโยบาย) ไม่มีนัยสำคัญเท่าผู้ประพันธ์ การใช้วาทศิลป์เหล่านี้เป็นเพียงการหาพรรคหาพวกเท่านั้น แต่รูปแบบการมองเช่นนั้นอาจใช้ได้กับเนื้อหาที่มีผู้ประพันธ์ส่อนัยสำคัญสูงเช่นนักการเมือง ในทางตรงกันข้าม เนื้อหาที่อยู่รอดได้บนโซเชียลเน็ตเวิร์คมีนัยของผู้ประพันธ์เป็นปัจจัยรอง กล่าวคือโนเนมที่ไหนก็พูดอะไรให้ดังขึ้นมาได้ เนื้อหาเหล่านั้นอาจกลืนผู้ประพันธ์เข้าในตัวมันเอง ขี้ทิ้งไป และเกิดการเดินทางที่ไร้ต้นฉบับโดยเนื้อหานั้นเองมีนัยสำคัญ

ความประสบความสำเร็จของหน้าเหล่านี้คือการทำทุกอย่างให้สื่อสารได้ง่าย โดยมากเป็นเนื้อหาเพื่อการพูดคุยและเพื่อความสนุกสนาน หากเป็นหน้าที่ให้ความรู้ก็จะเป็นความรู้สรุปรวบยอดมาอย่างง่ายภายในประโยคเดียวเพื่อย่อกระบวนการสื่อสารให้สั้น เข้าถึงง่าย และแพร่กระจายให้ได้โดยเร็ว

หน้าที่มีผู้ติดตามจำนวนมหาศาล เช่น กู 849,125 ราย, มึง 1,559,670 ราย, ห้องปกครองแอร์เย็นมว๊าก 1,124,422 ราย หรือ 9GAG in Thai 1,708,566 ราย (สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2015) และอะไรทำนองนั้นอีกมาก ถือเป็นกระแสใหญ่บนโซเชียลเน็ตเวิร์คไทย หน้าทำนองเดียวกันนี้ผลิตเนื้อหาที่เป็นการสื่อสารในหมู่เยาวชนปัจจุบัน อย่างความรักวัยรุ่น ปัญหาเพื่อนฝูง ปัญหาวัยเรียน ความทรงจำร่วมรุ่น โดยกลุ่มหน้าดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มที่มีความกระตือรือร้นที่จะเคลื่อนไหวในทางการเมืองหรือต้องการวิพากษ์เปลี่ยนแปลงสังคม เนื้อหาต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นบนหน้ากระแสหลักที่ผู้ประพันธ์ไม่มีความสลักสำคัญเท่าเนื้อหาเหล่านี้ จึงสะท้อนมุมมองที่ค่อนข้างสะท้อนธรรมชาติของสภาพวัฒนธรรมทั่วๆ ไปในสังคมนั้นๆ ไม่ใช่ของนักอุดมคติหรือนักกิจกรรมที่ต้องการจะเรียกร้องอะไรเป็นพิเศษ

หากสังเกตเปรียบเทียบระหว่างเนื้อหาผลิตซ้ำทำนองนี้ของเยาวชนกับของผู้ใหญ่ไทย จะเห็นว่าเยาวชนพูดถึงเพียงชีวิตประจำวัน สิ่งรอบตัวและความรู้สึกเป็นหลัก เช่น การเล่นกับแมว คิดถึงยางลบวัยเด็ก ความทุกข์ของการสอบ ในขณะที่ผู้ใหญ่จะพูดเรื่องโชคลาภและความเชื่อเป็นหลัก เช่น วันจันทร์สีเหลืองขอทองไหลมาเทมา วันนี้วันพระ เฮง เฮง อย่าลืมทำบุญ (ศูนย์กลางของวัฒนธรรมเหล่านี้อยู่ที่หน้าของ พระนพดล สิริวํโส ซึ่งน่าจะหลุดศีลข้อห้ามลักขโมยไปนานแล้ว ถ้าถูกคิดค่าลิขสิทธิ์ภาพย้อนหลังคงต้องจ่ายกันเป็นล้าน)

การแทบไม่มีสิ่งเหล่านี้ในวงจรเครือข่ายของเยาวชนไทยอาจสะท้อนถึงความเชื่อทางศาสนาที่น้อยลงของคนรุ่นปัจจุบัน คือการกลับมามองที่ความเป็นจริงรอบตัวที่ไม่ใช่สิ่งเหนือธรรมชาติ และอยู่กับคุณธรรมความเชื่อแบบสมัยใหม่มากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นก่อนยังต้องการกำลังใจและแรงสนับสนุนจากสิ่งเหนือธรรมชาติ อนึ่ง มันถูกวิเคราะห์ไว้หลายแบบ เช่น เป็นคนรุ่นที่เทคโนโลยีและวิทยาการวิชาความรู้ (ทั้งพวกวิธีการตลาดด้วย) ยังไม่แข็งแกร่งพอจะพึ่งพาได้อย่างสะดวกใจ จึงยังต้องมีเรื่องเหนือธรรมชาติไว้เกาะเกี่ยวให้สบายใจอยู่บ้าง หรือเป็นรุ่นสร้างเนื้อสร้างตัวที่ต้องการกำลังใจสูง ต้องการ “แรงบุญ” สนับสนุนสูง เมื่อเครือข่ายเปิดก็เลยพากันสร้างธรรมทาน ส่งความรู้สึกดีๆ กันไม่หยุดยั้ง (ถ้าใครคบคนรุ่นนี้ไว้ใน Line ก็จะเข้าใจ)

อย่างไรก็ดี ความเชื่อที่ไม่เป็นสมัยใหม่ก็พบอยู่ในเยาวชนไทยบ้าง แต่ไม่ได้เป็นกระแสหลัก หากใครสักคนไปบนบานศาลกล่าวขอให้ติดมหาวิทยาลัย ก็อาจถูกท้วงติงจากเพื่อนกันเองว่าให้ตั้งใจอ่านหนังสือหรือแนวข้อสอบดีกว่า ซึ่งเป็นความเชื่อในวิทยาการทางโลก

วาทศิลป์คือเครื่องมือทางอารมณ์ที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปัญญาและเหตุผล แม้ภาษิตไทยก็แท้จริงแล้วมีไว้ด่ากันหรือระบายอารมณ์ ไม่ได้มีไว้ให้การศึกษา การใช้โวหารวาทศิลป์ต่างๆ ที่นิยมและแพร่กระจายอยู่ทั่วไปตามหน้าเหล่านั้นมีลักษณะที่ดูเหมือนจะเชื่อมโยงกันด้วยลีลาของภาษา แต่ไม่มีความเชื่อมโยงในทางความคิดและเหตุผล

เช่น “เรียนเคมียังมีคำนวณ แล้วเมื่อไหร่ความรักที่มีมวลจะหมุนทวนมาที่เราซะที” (กู, 2015) หรือ “หน้าร้อนแนะนำให้ไปทะเล แต่ถ้าอยากมีรักที่ไม่โลเลให้เซมาหาเรา” (เพิ่งอ้าง) แสดงให้เห็นว่าผู้พูดสามารถพูดอะไรก็ได้โดยไม่มีความเชื่อมโยงในเชิงความคิดใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมีความตั้งใจจะที่นำเสนอความหมายเดียว และทำให้ไพเราะด้วยเศษคำที่เหลือ ประโยคหลังไม่มีความหมายอะไรเกี่ยวกับทะเล แต่เป็นการแสดงออกว่าผู้พูดเป็นผู้มีรักมั่นคง

แต่มันก็เป็นแค่เพียงความบันเทิงที่ไม่มีความหมายใช่หรือไม่? ผมมองว่าความหมายที่ไม่ใช่ความหมายหลักเป็นสิ่งที่ส่งผลสำคัญกว่าในการสื่อสาร เช่นในภาพยนตร์ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ที่พูดเรื่องการเห็นคุณค่าของการมีชีวิตและสังคม ได้แฝงฉากต่างๆ ที่อาจส่งผลสำคัญต่อคนดูกว่าแก่นเรื่อง (theme) ที่เป็นอุดมคติไกลตัว เช่นการใช้เกี๊ยวกุ้งเยาวราชเป็นของโปรดของตัวละครหลัก และเกี๊ยวกุ้งเซเว่นอีเลฟเว่น (7-eleven) เป็นตัวแทน ทำให้ความพยายามตามหาเกี๊ยวทั้งคู่นั้นเกิดขึ้นได้ในระยะใกล้ตัว หรือฉากที่ตัวละครเอกเข้าโรงพยาบาลรัฐบาลแล้วต้องเข้าแถว เจอกับความอนาถาและประสบกับปัญหาต่างๆ นั่นก็ทำให้ปกติวิสัยเกี่ยวกับโรงพยาบาลรัฐบาลแบบนั้นจับติดกับความรับรู้ของผู้ชมโดยไม่รู้ตัว

หากมองดังนั้นแล้ว ปกติวิสัยรวมทั้งความเชื่อที่ไม่ใช่เนื้อหาหลักก็แฝงอยู่ในการเดินทางของวาทศิลป์ที่มีใจความเป็นเพียงความบันเทิงเหล่านี้ด้วย สองประโยคที่เพิ่งอ้างถึงก็สะท้อนถึงรสนิยมการท่องเที่ยว ภูมิอากาศ ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และอีกมาก

เป็นไปได้เช่นกันว่าประโยคที่ยกตัวอย่างอาจไม่มีความหมายใดมากไปกว่ากลุ่มคำที่นำเข้ามาเพื่อประดิษฐ์วาทศิลป์ แต่สารที่ส่งต่อไม่อาจควบคุมความไม่มีความหมายไว้เช่นนั้น ในวัฒนธรรมคำคมล้นเหลือ ผู้รับส่งสารอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังเสพส่งอะไรอยู่ เช่นถ้าโวหารนั้นมีความว่า “หากเราเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น คงบอกว่าท้องฟ้ามีดาวไม่กี่ดวง” ก็มีความเป็นไปได้ว่าโวหารนี้นำพาไปสู่ความเชื่อในวิทยาศาสตร์ หรือความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติก็ได้ และหากมันถูกพูดในสังคมไทยก็ย่อมจะนำไปสู่ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติมากกว่าวิทยาศาสตร์ คำคมมากมายที่ล่องลอยอยู่แต่ยังไม่ถูกสะสางอภิปรายก็อยู่ในชะตากรรมเช่นนี้ คือสนับสนุนความเชื่อเดิมและอารมณ์ มากกว่าตั้งคำถามให้สงสัยหรือนำเสนอความเชื่อใหม่ กล่าวคือ ศิลปะที่ให้ค่ากลางๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสนับสนุนวัฒนธรรมเดิมที่ทรงพลังอยู่แล้ว ไม่ตั้งคำถามหรือนำเสนอสิ่งใหม่

โวหารที่ดูไร้พิษภัยเหล่านี้สร้างภูมิต้านทานต่อความไม่มีเหตุผล ทำให้พร้อมเปิดรับวาทกรรมทางการเมืองที่อันตรายและทรงพลังแต่ไร้เหตุผลอย่างไม่เคอะเขิน เช่น “กะหรี่แค่ขายตัว แต่หญิงชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ” หรือ “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” วาทกรรมเหล่านี้เป็นที่ยอมรับอยู่ได้เพราะในเบื้องต้นมันถูกทำให้เคยชินจากการยอมรับโวหารทำนองเดียวกันในเรื่องทั่วไปเรื่องอื่นๆ เริ่มตั้งแต่สำนวน สุภาษิต คำพังเพยของไทย ที่ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน อย่างเช่น “คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว” ที่ทำให้การกล่าวหาของใครก็ตามในสังคมดูจะเป็นการกล่าวหาที่ถูกต้องกว่าผู้ถูกกล่าวหาขึ้นมาทันที “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจว่าคนที่กำลังเผชิญชีวิตลำบากเป็นคนไม่รักดีหรือกำลังชดใช้กรรมตามสมควร “ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว” ที่ทำให้คนดีคิดว่าตนต้องอยู่เหนือคนอื่น จนถึงโวหารวาทศิลป์บนโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ประสบความสำเร็จในการเป็นที่ชืนชอบ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้เสนอว่าเราควรห้ามการแสดงออกที่เป็นวาทศิลป์ ไม่ควรมีวาทศิลป์ แต่กำลังเสนอว่าวาทศิลป์ที่ล่องลอยอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์คต้องการการวิเคราะห์ชำแหละ การทำเช่นนั้นสามารถเป็นการศึกษาได้ในตัวเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net