Skip to main content
sharethis
ลำบากมาก! เมื่อ "แรงงานข้ามชาติ" มีสถานะเป็น "แรงงานเหมาช่วง" พ่วงกันไปด้วยกัน ไม่มีตัวตน มีเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม มีรายได้ไม่แน่นอน ขาดการคุ้มครองทั้งทางด้านแรงงานและหลักประกันทางสังคม ต้องเผชิญความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงและบ่อยครั้งกว่าแรงงานในระบบ องค์กรสิทธิฯ แนะรัฐควรรับรองสิทธิและกระบวนการในการเจรจาต่อรองของแรงงานข้ามชาติ
 
 
กลุ่มเเรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงอย่าง "ลูกจ้างรับเหมาค่าเเรง" ยังมีข้อจำกัดทั้งทางกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าเเรงซึ่งถูกละเมิดสิทธิไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของตนภายใต้กฎหมายภายในประเทศเเละพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่ (ที่มาภาพ: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา)
 
31 ม.ค. 2559  สถานะในการจ้างงานส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาติในไทยนั้นมักจะเป็น "ลูกจ้างรับเหมาค่าเเรง" ซึ่งได้ทำให้แรงงานข้ามชาติขาดความมั่นคงในการทำงานลงไปอีก ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเองก็เป็นแรงงานค่าแรงถูกที่สุดในสังคมไทย ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่าปัญหาการใช้แรงงานระยะสั้น/แรงงานที่ขาดความมั่นคงในการทำงาน รวมทั้งการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ถือว่าเป็นปัญหาด้านแรงงานที่สำคัญของไทย และมีการจับจ้องและกดดันจากนานาชาติให้ไทยปรับปรุงและแก้ไขปัญหานี้เสมอมา รวมทั้งข่าวคราวการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การประท้วงนายจ้าง ของแรงงานข้ามชาติที่เรามักจะได้ยินข่าวอยู่บ่อยครั้ง 
 
ตัวอย่างเช่นความพยายามจัดระบบการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงของไทยให้ได้ตามมาตรฐานที่ต่างชาติกดดันนั้น ก็พบว่าผลกระทบได้ตกไปสู่แรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นการ "เลิกจ้าง" และ "กวาดจับ" แรงงานข้ามชาติขนานใหญ่ในกิจการประมงและกิจการล้งแกะกุ้งต่าง ๆ เป็นต้น โดยการเป็น "แรงงานระยะสั้น" หรือบางทีอาจจะเป็นการจ้างงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานแต่ต้น ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ได้มากนัก
 
 
เมื่อล้งแกะกุ้งต้องปิดตัวลงตามมาตรการที่เข้มงวด แรงงานข้ามชาติที่เป็นกำลังแรงงานหลักในอุตสาหกรรมนี้ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย (ที่มาภาพ: มติชน)
 
 
แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เป็นแรงงานรับเหมาค่าเเรง และมักจะถูกนายจ้างเบี้ยวค่าแรงและละเมิดสิทธิอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. 2559 แรงงานข้ามชาติจำนวน 121 คน จากกว่า 200 คน ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับค่าจ้างจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัดเปอร์เฟตโต จ.เชียงใหม่ โดยนายจ้างค้างค่าจ้างและค่าชดเชยในการเลิกจ้างรวมกันถึง 3,461,602.80 บาท (ที่มาภาพ: ไทยรัฐ)
 
ข้อมูลจาก 'รายงานการศึกษา ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายและแนวนโยบายแก่แรงงานข้ามชาติภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศและกฎหมายไทย : กรณีลูกจ้างรับเหมาค่าเเรง' ของ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุว่าสถานการณ์การเข้าถึงความยุติธรรมของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยแปรเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจเเละรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มเเรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงอย่าง "ลูกจ้างรับเหมาค่าเเรง" ที่ยังมีข้อจำกัดทั้งทางกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าเเรงซึ่งถูกละเมิดสิทธิไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของตนภายใต้กฎหมายภายในประเทศเเละพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในฐานะเเรงงานตามกฎหมายค้มุ ครองแรงงาน กฎหมายเงินทดแทน กฎหมายเเรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น ด้วยพบว่ายังมีข้อจำกัดที่เกิดจากการตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายเเละการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายอยู่อีกหลายประการ
 
มูลนิธิฯ จึงได้รวบรวมข้อมูลและกรณีศึกษาของแรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าเเรงที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของตนภายใต้กฎหมายภายในเเละพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยศึกษาผ่านงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติของโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติและคลินิกกฎหมายแรงงาน นับตั้งแต่ช่วงปี 2549 ถึง 2558 เเละนำเสนอในสามประเด็นหลัก คือกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติทีเป็นลูกจ้างเหมาค่าเเรงภายใต้พันธธกรณรีะหว่างประเทศ กลไกการคุ้มครองสิทธมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมภายใต้กฎหมายไทย
 
ทั้งนี้ในความหมายของ "ลูกจ้างรับเหมาค่าเเรง" ภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศนั้น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO)1 ได้ให้ความหมายของ “เศรษฐกิจนอกระบบ” (informal economy) หรือ “ภาคนอกระบบ” (informal sector) ว่าหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภททั้งการผลิตการบริหารหรือการจ้างงานที่ไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองและควบคุมโดยกฎหมายหรือธรรมเนียมปฏิบัติในแต่ละสังคมหรือมีการรับรองคุ้มครองหรือควบคุมไม่เพียงพอหรือต่ำกว่ามาตรฐาน
 
ซึ่งกลุ่มแรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบหมายถึง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับเหมาช่วงงานอุตสาหกรรมไปทำที่บ้าน (Industrial Outworkers) คนงานที่ทำงานไม่ประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างชั่วคราวตามฤดูกาล และลูกจ้างที่ทำงานไม่เต็มเวลา (Part-time workers)ลูกจ้างในโรงงานห้องแถว (Sweatshop) และคนงานที่ทำกิจการของตนเองอยู่ที่บ้าน (Own Account Workers) และโรงงานที่ไม่มีการจดทะเบียน นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงแรงงานอิสระที่ทำงานเพื่อความอยู่รอด เช่น หาบเร่ริมทาง คนขัดรองเท้า คนเก็บขยะและแรงงานรับใช้ในบ้าน เป็นต้น
 
ดังนั้น ลูกจ้างรับเหมาค่าเเรง จึงเป็นเเรงงานประเภทหนึ่งที่อยู่ในความหมายของเเรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบเเละเเป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจนอกระบบมีบทบาทเป็นทั้งแหล่งป้อนปัจจัยการผลิตและแหล่งรองรับหรือเติมเต็มช่องว่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการผลิตรวมเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาลเกี่ยวพันกับคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้หญิงและคนจนที่ด้อยโอกาสเนื่องจากไม่เข้มงวดในเรื่องคุณสมบัติและมีความหลากหลายสูง เศรษฐกิจนอกระบบจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศโดยมีบทบาททำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโต รวมทั้งเป็นสัดส่วนที่สำคัญในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDF (Gross Domestic Product)
 
แต่เมื่อพิจารณาความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบพบว่าสังคมยังขาดข้อมูลแรงงานเหล่านี้ จนเเรงงานนอกระบบเหล่านี้เข้าข่าย ไม่มีตัวตน มีเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม มีรายได้ไม่แน่นอน ขาดการคุ้มครองทั้งทางด้านแรงงานและหลักประกันทางสังคม ต้องเผชิญความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงและบ่อยครั้งกว่าแรงงานในระบบในขณะที่มีความสามารถในการจัดการความเสี่ยงน้อยที่สุดเเละจากการรายงานของ ILO พบว่า ข้อมูลสถิติจำนวนแรงงานนอกระบบของประเทศกำลังพัฒนาที่มักการบันทึกมีเพียง 14 ประเทศเท่านั้น
 
ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเเรงงานนอกระบบคอยสนับสนุนระบบการผลิตในภาพรวมโดยมีเเรงงานที่เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าเเรงอยู่ในกลไกการผลิตนั้นด้วยเมื่อลูกจ้างรับเหมาค่าเเรงอยู่ในสถานะเเรงงาน จึงมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากรัฐไทยตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยมีข้อผูกมัดต้องปฏิบัติตามพันธกรณีนั้นๆ ประกอบกับสิทธิเเรงงานเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เเรงงานทุกคนไม่ว่าเป็นเเรงงานไทยหรือเเรงงานข้ามชาติก็ย่อมมีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองเเละเคารพซึ่งสิทธิเหล่านั้นเช่นกัน
 
ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้เสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้ (1) องค์กรจัดตั้งของแรงงานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เป็นลูกจ้างรับเหมาช่วง ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ควรมีการศึกษาข้อมูล ผลกระทบต่อแรงงานจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทยเพื่อจัดทำข้อเสนอและนโยบายแรงงานต่อรัฐบาลร่วมกัน (2) รัฐควรปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาดที่มีความเป็นธรรมทางสังคมบนพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานอย่างเป็นธรรมและมีระบบสวัสดิการที่ทั่วถึง (3) รัฐควรพิจารณาทบทวนถึงการจ้างงานในรูปแบบที่มั่นคง ซึ่งกรณีของลูกจ้างรับเหมาค่าแรงก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สามารถสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่เมื่อมีการปรับให้ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจการตลาดที่มีความเป็นธรรมแล้ว จึงควรทบทวนด้วยว่าระบบการจ้างงานแบบลูกจ้างรับเหมาค่าแรง แท้จริงแล้วเป็นระบบการจ้างงานที่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร
 
(4) รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (5) รัฐบาลควรรับรองสิทธิและกระบวนการในการเจรจาต่อรองของแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะในสถานประกอบกิจการที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสถานประกอบกิจการที่มีการจ้างแรงงานไทยเป็นส่วนใหญ่หรือมีสหภาพแรงงานแล้ว โดยในเบื้องต้นควรให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าร่วมการยื่นข้อเรียกร้องกับแรงงานไทยหรือเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้อยู่แล้วและ (6) นายจ้างในภาคธุรกิจเอกชนต้องมีนโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยกำหนดโครงสร้างค่าจ้างบนฐานของค่าครองชีพและทักษะฝีมือของแรงงาน ลักษณะงานและความเสี่ยงในการทำงานค่าจ้างที่เป็นธรรมควรเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์และทักษะฝีมือของแรงงานที่เพิ่มขึ้น
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net