พบปลูกข้าวนาปรัง ม.ค. 59 ลดลงเหลือ 4 ล้านไร่จาก 8 ล้านไร่

เดือน ม.ค. 59 พบชาวนาปลูกข้าวนาปรังลดลงเหลือประมาณ 4 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ในปี 2557/2558 อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวนายืนยันจะปลูกข้าวนาปรังต่อไปทั้งที่เข้าใจดีว่ามีความเสี่ยง รัฐบาลระบุหากได้รับความเสียหายจะไม่ได้รับเงินชดเชยเพราะไม่ใช่เกิดจากภัยพิบัติ รัฐบาลยืนยันดูแลชาวสวนยางทุกกลุ่ม พร้อมเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
 
 
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่าพลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมเกษตรกร ที่เข้าใจสถานการณ์น้ำของประเทศ หันมาปลูกพืชหน้าแล้งและทำปศุสัตว์แทนการปลูกข้าวนาปรัง เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่ว เลี้ยงสัตว์ปีก และเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งระดับฐานรากตามนโยบายประชารัฐ เช่น การจ้างงานขุดลอกคลองชลประทานชุมชนกว่า 40,000 ราย ทำให้การปลูกข้าวนาปรังลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนมกราคมพบว่าเหลือประมาณ 4 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ในปี 2557/2558 อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรบางรายยังคงยืนยันจะปลูกข้าวนาปรังต่อไป ทั้งที่เข้าใจดีว่ามีความเสี่ยง หากได้รับความเสียหายจะไม่ได้รับเงินชดเชย เพราะไม่ใช่เกิดจากภัยพิบัติ
 
พลตรีสรรเสริญ ยังกล่าวถึงต้นทุนน้ำปี 2558/2559 ว่า มีทั้งสิ้น 4,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแม้จะมีไม่มาก แต่รัฐบาลเชื่อว่าจะบริหารจัดการให้ประชาชนทั้งประเทศ มีน้ำกินน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง และคาดการณ์ว่าช่วงสิ้นสุดหน้าแล้ง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม จะมีน้ำใช้การได้ 1,590 ล้านลูกบาศก์เมตร และยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำในรูปแบบประชารัฐต่อไปตามแผนระยะยาว 12 
 
รัฐบาลยืนยันดูแลชาวสวนยางทุกกลุ่ม พร้อมเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
 
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ยังรายงานว่าพลตรีสรรเสริญกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำแนวทางการทำงานของรัฐบาล ที่ต้องการดูแลประชาชนให้มีความเท่าเทียม ลดความขัดแย้ง ขณะเดียวกันยังมีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้าน / การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงการแก้ปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลมีมาตรการรับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 กิโลกรัมละ 45 บาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวสวนยางได้ในระดับหนึ่ง
"มาตรการรับซื้อยาง กก.ละ 45 บาทของรัฐบาล เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตถือเป็นการช่วยเหลือชาวสวนยางทั่วประเทศในระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มรับซื้อในพื้นที่ภาคใต้ก่อนเพราะตรงกับช่วงฤดูกรีดยาง แต่ชาวสวนยางในภาคอีสานที่ปิดกรีดยางในขณะนี้ก็ยังสามารถเข้าร่วมโครงการได้เมื่อเปิดกรีดอีกครั้งกลางเดือน ก.พ. เพราะรัฐบาลจะรับซื้อไปจนถึง มี.ค.59”
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังขอความร่วมมือสื่อมวลชน นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาชาวนาและชาวสวนยาง โดยยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน และจะทำทุกวิถีทาง เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงในระยะยาว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท