Skip to main content
sharethis

รองผู้ว่านราฯ เข้าเคลียร์ปม ชมรมอิหม่ามค้าน ศอ.บต.ในโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโลมาเนาะ ยัน ศอ.บต.ไม่อยากให้ยกเลิก พร้อมให้ผู้รับเหมาฟังชาวบ้าน ถ้าจะเดินต่อต้องแก้ 3 ปมให้ได้ 'ที่ดิน-การมีส่วนร่วม-ผู้ดูแลหลังสร้าง' ด้านประธานชมรมอิหม่ามชี้ยังไม่พอใจ แต่หากรัฐทำไม่ได้จริงควรเลิกและจะขอให้โอไอซีมาทำแทน

รองผู้ว่านราฯ เข้าเคลียร์ปมค้านศอ.บต.ในโครงการตะโลมาเนาะ

1ก.พ. ที่ผ่านมามา ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเข้าพบนายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส 2 คน คือนายอับดุลอาซิซ เจะมามะ และนายแวสะมะแอ แลแตบาตู ในฐานะประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เพื่อหาทางออกความขัดแย้งในโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ บริเวณมัสยิดวาดีอัลฮูเซ็นหรือมัสยิด 300 ปี และพื้นที่บ้านตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายแวสะมะแอ ได้ประกาศคัดค้านบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการดำเนินโครงการนี้มาแล้ว โดยนายไกรศรได้รับมอบหมายจากนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.ให้มาพูดคุยหาทางออกในเรื่องนี้ โดยมาพร้อมกับนายจิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ ซึ่งการหารือเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

ยัน ศอ.บต.ไม่อยากให้ยกเลิก

นายไกรศร กล่าวภายหลังการหารือว่า โครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะจะมีขึ้นเพื่อสร้างความภูมิใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการนำสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และเผยแพร่แก่คนนอกได้รับรู้ต่อไป ดังนั้น ศอ.บต.จึงไม่อยากให้โครงการนี้มีปัญหาหรือยุติลงอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจตรงกัน ตนจึงมาพบประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและประธานชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ เพื่อพูดคุยและนำข้อมูลที่ได้ไปนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายไกรศร เปิดเผยว่า จากการพูดคุยในครั้งนี้ มีข้อสรุปคือ ศอ.บต.หน่วยงานรัฐเป็นผู้จ้างบริษัทคู่สัญญาเพื่อดำเนินการก่อสร้างให้ไปตามระเบียบราชการ แต่ ศอ.บต.พร้อมที่จะให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้างด้วย ศอ.บต.ไม่มีเจตนาให้โครงการชะงัก อยากให้โครงการนี้เป็นตามจุดประสงค์ตั้งแต่แรกเริ่มและอยากให้ชาวบ้านมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนประเด็นที่มีปัญหานั้นรัฐยินดีที่รับฟังความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่เพื่อนำไปแก้ไขต่อไป

ถ้าเดินต่อต้องแก้ 3 ปม

นายไกรศร กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการดำเนินการมี 2 แนวทาง คือ 1.หากไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ อยากให้ยกเลิกแล้วค่อยมาดำเนินการใหม่อีกครั้งภายหลังและ 2.หากดำเนินการต่อไป รัฐและคู่สัญญาต้องมารับฟังความคิดเห็นของชาวในพื้นที่เพื่อนำไปปรับปรุงในการดำเนินการก่อสร้างต่อไป

นายไกรศร กล่าวต่อไปว่า หากจะดำเนินการต่อไปก็แก้ปัญหาใน 3 ประเด็นให้ได้ คือ 1.เรื่องที่ดินมีจำนวนเท่าไรและมีปัญหาอุปสรรค์อย่างไรบ้าง 2.ชาวบ้านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแค่ไหน อย่างไร และ 3.หน่วยงานไหนที่จะเข้ามาดูแลหลังจากก่อสร้างเสร็จ

“หลังจากนี้ ผมจะนำเสนอต่อศอ.บต.ทันที คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เนื่องจากศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่รับใช้ประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว” นายไกรศร  กล่าว

นายไกรศร กล่าวว่า ทางชมรมอิหม่ามฯกลัวว่าเมื่อหน่วยรัฐลงนามกับคู่สัญญาจ้างไปแล้ว แต่เมื่อก่อสร้างชาวบ้านไม่สามารถเข้ามามีร่วมได้จะทำอำอย่างไร ตนคิดว่าโครงการนี้หน่วยงานรัฐและคู่สัญญาพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน

นายไกรศร กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ตนจะไปดูรายละเอียดต่างๆของโครงการ พร้อมสอบถามผู้รับเหมาว่าจะเข้ามาก่อสร้างได้เมื่อไหร่และมีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ ที่สำคัญหากชาวบ้านต้องการให้เพิ่มอะไรที่นอกเหนือสัญญาจ้าง ทางบริษัทรับได้หรือไม่

นายซาฟีอี กล่าวว่า มัสยิดตะโละมาเนาะเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และมีคนมาเยี่ยมจากทั่วโลก ชาวบ้านรอมานานแล้วที่จะให้มีการปรับภูมิทัศน์รอบมัสยิด แต่การดำเนินการต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ด้วย

ประธานชมรมอิหม่ามชี้ยังไม่พอใจ หากทำไม่ได้จะให้โอไอซีมาทำ

ด้านนายแวสะมะแอ กล่าวหลังการพูดคุยว่า ยังไม่พอใจในผลการพูดคุยครั้งนี้มากนัก แต่ทางชมรมอิหม่ามฯ ต้องกลับไปหารือระหว่างชมรมอิหม่ามกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.บาเจาะ และชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอ.บาเจาะก่อนว่าจะมีความเห็นอย่างไรกับผลการหารือกันในครั้งนี้

“หากการดำเนินโครงการไม่เป็นตามความต้องการของชาวบ้านจริงๆ คิดว่าหน่วยงานรัฐควรยุติโครงการนี้ เพราะชมรมอิหม่ามฯจะเสนอให้โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม :OIC) เข้ามาสนับสนุนโครงการ เพราะโอไอซีเคยรับปากว่าจะให้งบประมาณทำโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ หากหน่วยงานรัฐไม่สามารถดำเนินการได้” นายแวสะมะแอ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net