Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

พุทธศาสนาไทยที่เรารับรู้ในปัจจุบัน จัดเป็น “พุทธศาสนาของรัฐ” ทั้งในแง่โครงสร้างและอุดมการณ์ โดยพุทธศาสนาหน้าตาแบบนี้ได้ถูกสถาปนาขึ้น ตั้งแต่การแยกนิกายเป็น “ธรรมยุติกนิกาย” และ “มหานิกาย” ในสมัย ร.4 ผ่านการสถาปนาองค์กรสงฆ์แบบระบบราชการในสมัย ร.5 และการผนึกรวมพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ในสมัย ร.6

หลังการปฏิบัติสยาม 2475 ไม่มีการเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาให้สอดคล้องกับความเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตย คือไม่ได้เปลี่ยนองค์กรสงฆ์ของรัฐให้เป็นองค์กรเอกชน ให้รัฐมีหน้าที่รักษาเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น ไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในขององค์กรศาสนา และองค์กรศาสนาต่างๆก็ไม่มีสิทธิ์เข้ามาแชร์อำนาจรัฐ หรือให้รัฐออกกฎหมายเฉพาะใดๆ เพื่อรักษาสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของตน แต่ละศาสนา นิกายศาสนา หรือพระสงฆ์กลุ่มต่างๆ มีอิสระในการศึกษาตีความและปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตนอย่างเสรี ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

เหตุที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะอ้างเหตุผลเรื่องรักษาความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จึงต้องให้รัฐประชาธิปไตยทำหน้าที่ทางศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตยและรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เหตุผลดังกล่าว ได้ถูกเน้นให้หนักแน่นขึ้นในการเสนอความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ปรากฏในหนังสือหลายเล่ม เช่น “ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ” และ “รัฐกับพระพุทธศาสนาถึงเวลาชำระล้างหรือยัง?.” เป็นต้น

ความคิดสำคัญของพระพรหมคุณาภรณ์คือ รัฐไทยสมัยใหม่ควรทำหน้าที่ทางศาสนาแบบรัฐสมัยเก่า เช่นรัฐสมัยพระเจ้าอโศก, สุโขทัย เรื่อยมาถึงรัตนโกสินทร์ นั่นคือรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความความเจริญและความเสื่อมของพุทธศาสนา โดยรัฐต้องออกกฎหมายวางระบบการปกครองและการศึกษาสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการนำพุทธธรรมไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตประชาชน ให้จัดการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ควรยอมรับว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และรัฐควรมีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องของพระธรรมวินัย มีกฎหมายเอาผิดพระที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยเหมือนรัฐสมัยเก่าได้

จะเห็นได้ว่า รัฐตามความคิดของพระพรหมคุณาภรณ์คือ “รัฐกึ่งศาสนา” (semi-religious state) ได้แก่ รัฐที่ปกครองด้วยหลักการทางโลกแต่มีหน้าที่ทางศาสนาแบบรัฐโบราณด้วยเหตุผลเรื่องรักษาความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ

ปัญหาของความเป็นรัฐกึ่งศาสนาคือ ทำให้รัฐไทยไม่สามารถเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตยได้ เพราะรัฐเสรีประชาธิปไตยไม่ได้มีหน้าที่ทางศาสนาแบบรัฐโบราณ แต่ต้องเป็นกลางทางศาสนา และมีหน้าที่รักษาเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น จึงต้องแยกศาสนาจากรัฐ ให้องค์กรศาสนาเป็นเอกชน พระสงฆ์มีอิสระปกครองกันตามหลักธรรมวินัยและข้อตกลงของพระสงฆ์ตามสายครูอาจารย์ต่างๆ เท่านั้น ศาสนาอื่นๆก็ต้องเป็นองค์กรเอกชนเช่นเดียวกัน

เมื่อเปลี่ยนจากรัฐกึ่งศาสนาเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย รัฐไทยก็จะไม่ตกเป็นเวทีการเมืองภายในคณะสงฆ์ในเรื่องสมณศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจ ดังที่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์ หรือที่เห็นได้ในกรณีธรรมกายและการแต่งตั้งพระสังฆราชในปัจจุบัน ปัญหาการที่รัฐละเมิดเสรีภาพทางศาสนา เช่นกรณีห้ามบวชภิกษุณี กรณีห้ามกลุ่มสันติอโศกไม่ให้มีสถานภาพเป็นพระสงฆ์เป็นต้นก็จะหมดไป อีกทั้งการปฏิรูปศาสนาก็จะไม่ตกอยู่ในเกมอำนาจของชนชั้นปกครองอีกต่อไป

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พุทธศาสนาไทยได้เป็นฐานของการ “ผลิตซ้ำ” ความคิดการเมืองเชิงศีลธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ถ้าเป็นสมัยเก่าก็คือความคิดเรื่องการจัดระดับชั้นทางสังคมตามระดับสูง-ต่ำของบุญบารมีที่บำเพ็ญมาไม่เท่ากัน ชนชั้นปกครองสมควรเป็นผู้ปกครองเพราะทำบุญมามาก ไพร่ ทาสสมควรถูกปกครองก็เพราะทำบุญมาน้อยกว่า จึงจำต้องพึ่งบุญญาธิการของผู้ปกครอง เพื่อมีชีวิตที่ดีตามควรแก่ฐานะสูง-ต่ำทางสังคม

ถ้าเป็นสมัยใหม่ก็คือ ความคิดการเมืองเชิงศีลธรรมของพุทธทาสภิกขุ คือ “ธรรมิกสังคมนิยม” หรือ “เผด็จการโดยธรรม” ที่ถือว่าการปกครองที่ดีต้องถือ “ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่” และต้องใช้วิธีเผด็จการโดยธรรมคือ ต้องหาคนดีมีคุณธรรมผู้ปกครองเช่นทศพิธราชธรรมเป็นต้นมาเป็นผู้ปกครอง ระบบประชาธิปไตยหรือระบบปกครองใดๆไม่สามารถดีด้วยตัวมันเองได้ หากไม่มีธรรมะหรือศีลธรรมเป็นรากฐาน ซึ่งการมีธรรมะหรือศีลธรรมเป็นรากฐานก็ปรากฏเป็นจริงได้ด้วยการมี “คนดี” เป็นผู้ปกครองเท่านั้น

ความคิดดังกล่าวถูกนำมาตีความ ผลิตซ้ำอย่างแพร่หลายจนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ชนชั้นกลาง โดยมีผู้นำทางความคิดสำคัญ เช่น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์,นายแพทย์ประเวศ วะสี นักวิชาการในมหาวิทยาลัย กวี ศิลปิน เอ็นจีโอสายนิยมความโปร่งใส คุณธรรมจริยธรรม การกระจายอำนาจ เป็นปากเป็นเสียงแทนคนเล็กคนน้อยในสังคม แต่ให้ความสำคัญน้อยกว่ากับเสรีภาพทางการเมืองและไม่ยืนหยัดในกระบวนการหรือหลักการและกติกาประชาธิปไตยอย่างมั่นคง

ผลที่ตามมาคือ ในทศวรรษแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสการอ้างความคิดการเมืองเชิงศีลธรรมสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองที่ยึดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น จนนำมาสู่รัฐประหาร 2549 และ 2557 และให้กำเนิดร่างรัฐธรรมนูญ 2559 อันเป็นการสถาปนา “ระบบอภิชนาธิปไตย” ที่ทำให้อำนาจการปกครองโดยกลุ่มอภิชนคนดีเข้มแข็งขึ้น อย่างท้าทายต่อกระแสการตื่นขึ้นของประชาชนฝ่ายข้างมากที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย

แน่นอนว่า กระบวนการบริหารจัดการอำนาจรัฐของเครือข่ายอภิชน ที่นำมาสู่การสถาปนาระบบอภิชนาธิปไตยผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันมากขณะนี้ ย่อมมีปัจจัยเชิงความคิด กลุ่มอำนาจ ผลประโยชน์และเงื่อนไขอื่นๆ ทางประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยที่สลับซับซ้อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐที่ตกทอดมาจากยุคเก่า และความคิดของปราชญ์ทางพุทธศาสนาทั้งสองท่านที่กล่าวมาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาประชาธิปไตยไทย

แม้เราจะยอมรับคุณูปการด้านอื่นๆของปราชญ์พุทธศาสนาทั้งสองท่าน และศรัทธาในวัตรปฏิบัติในฐานะพระภิกษุที่น่าเคารพของทั้งสองท่านเพียงใด แต่การตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของทั้งสองท่านอย่างตรงไปตรงมา ก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งไม่ใช่หรือ ตราบที่เรายังหวังความก้าวหน้าทางปัญญาและอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ยุติธรรมมากขึ้น

 

  

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net