Skip to main content
sharethis

8 ก.พ. 2559  ในการเสวนา หัวข้อ "อวสานโลกสวย: วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559"  จัดโดยโครงการรัฐศาสตร์เสวนา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมชั้น 13 ตึกเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  มีนักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วม รวมถึงวรัญชัย โชคชนะ นักกิจกรรมทางการเมืองอาวุโสที่นำพานรัฐธรรมนูญและ ม.44 ไปด้วยทุกงานเสวนา

ยกที่1: กรธ.ชี้แจง รัฐธรรมนูญแก้ง่ายตามยุคสมัย โจทย์ใหญ่ ปราบ(เฉพาะ) นักการเมืองโกง

อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มต้นด้วยการชี้แจงว่า ตนเองเข้าไปเป็น กรธ. โดยไม่ได้รู้ล่วงหน้า ก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ได้คิดว่าจะได้กลับไปเป็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือเปล่า การเมืองไม่ได้มีอะไรแน่นอน

ในที่ประชุมของ กรธ. มี 21 คน ความเห็นก็ไม่ได้เห็นสอดคล้องกันหมด เรื่องที่มา ส.ว.มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ หลายคนบอกว่าจะบล็อคโหวตได้ เช่นเดียวกับตอนสมัยการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ตนเองได้เอาประสบการณ์ที่เป็น สมช. ซึ่งมี 2,000 กว่าคนทั่วประเทศ มาเล่าให้ฟัง ถัดจากสมช. เป็นสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 คนมาจากหลากหลาย คนที่ได้รับความนิยมมีแน่ แต่ก็มีกลุ่มหลายกลุ่มที่อาศัยการจับมือกัน จึงมีการโต้เถียงกรณีระบบ ส.ส. แต่ก็ยอมรับได้ในท้ายที่สุดกับระบบ ส.ว.ที่ออกมา มีการโต้แย้งและรับไป เช่น เรื่องการเอาผิดกับคนที่ไม่มาประชุม ตนเองยืนยันว่า เอาผิดไม่ได้ การเขียนเช่นนั้นทำไม่ได้จริงและจะถูกหัวเราะเยาะ ที่ประชุมก็ยอมรับความเห็นตรงนี้ของตนเอง

“เรายืนยันว่าไม่มีธง สิ่งที่ทำมากลั่นกรองมากจากเจตนาดี สติปัญญาที่ดี ไม่ได้ตั้งใจส่งเสริมระบอบอะไรที่มุ่งร้าย” 

อมร กล่าวว่า สำหรับบรรยากาศการทำงาน ผมไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องการเมือง อดีตที่ผ่านมาก็รับงานทุกรัฐบาล มีโอกาสเข้าเป็นกรรมาธิการหลายชุด สิ่งที่หล่อหลอมมาไม่ได้ช่วยอะไร เพราะงานที่ทำในเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นงานวิชาการมากกว่างานการเมือง มันต้องนำองค์ความรู้ ศึกษา รัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก่อนจะร่างแต่ละมาตรา ทุกคนทำการบ้านอย่างหนัก มีความระมัดระวังมาก และเตรียมตอบคำถามต่างๆ ต่อสังคม

“เรื่องรัฐธรรมนูญ เราภูมิใจที่ได้ทำงานที่คนให้ความสนใจ มีความสำคัญ” อมรกล่าว

พิชญ์ ถามว่า ในภาพรวมการร่าง อะไรคือโจทย์ใหญ่ที่ 21 คนคิด คือโจทย์ต้านโกงจริงๆ หรือเปล่า หรือไม่เอานักการเมือง

อมรตอบว่า วันแรกที่เข้าไปก็ได้คุยกันว่ารัฐธรรมนูญมีทิศทางอย่างไร บวรศักดิ์บอกว่า พลเมืองเป็นใหญ่ นั่นเป็นฉายา ผมมีส่วนร่วมในการคว่ำร่างที่แล้ว เราคุยกันไปคุยกันมา เราคิดกันว่าประเทศเราทำไมยังอยู่กันตรงนี้ ไม่ได้บอกว่าไม่เจริญ แต่สภาพมันเปลี่ยน การทุจริตคอร์รัปชันมันมากจริงๆ เป็นที่มาของฉบับปราบโกง แต่อันที่จริงเราก็คุยกันทุกเรื่อง

พิชญ์ตั้งคำถามว่า ความเปลี่ยนแปลงของระบบราชการจะเป็นอย่างไร เป็นรัฐราชการดังที่หลายคนกังวลหรือไม่

ศุภชัย ยาวะประภาษ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะ กรธ. ตอบว่า ก่อนอื่นอยากเล่าให้ฟังว่า นี่เป็นการเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกของตนเอง ในวันแรกๆ มีการคุยหลักการในการร่างว่า 1.ตัวรัฐธรรมนูญตั้งใจเขียนเฉพาะตัวหลักการ และต้องการให้อยู่นาน อะไรก็ตามที่จะเปลี่ยนตามเวลาและยุคสมัยจะให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารแต่ละช่วงก็ให้เปลี่ยนแปลงตามแต่ละยุคสมัย 2.อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่วางกรอบกติกาแล้วสามารถเอาไปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เขียนแล้วทำไม่ได้

“ข้อสาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกงไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาใช่ไหม จริงๆ ที่เราคุยกันคือ ไม่ต้องการให้นักการเมืองที่ได้ชื่อว่าขี้โกงเข้ามามากกว่า เพราะจริงๆ แล้วยังไงประเทศก็ต้องมีนักการเมือง”

ภาพใหญ่ตอนร่างกันนั้นมีการแยกอนุกรรมการหลายเรื่อง แต่อนุกรรมการจะไม่ได้เป็นคนคิดเสร็จสรรพว่าอยากเห็นอะไร แต่เป็นคนหาข้อมูล เช่น เลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.มีกี่วิธี อะไรบ้างแล้วนำเสนอที่ประชุมใหญ่ ทำงานสักพักก็เริ่มมองว่า รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะร่างอย่างไรก็ตามมันมี Key Success Factors (ปัจจัยแห่งความสำเร็จ) ที่ถ้าไม่ทำก็คงเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ คือ การปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปรากฏในบทเฉพาะกาล อันไหนที่เราไม่แน่ใจก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญไปกำหนดกฎหมายลูก

“รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมามีคำว่าบัตรเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญนี้จะไม่เขียนว่าบัตรเลือกตั้ง เพราะโลกเปลี่ยนอาจไม่ลงคะแนนกับบัตร มันจะทำให้ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อนอีก การร่างรัฐธรรมนูญคงทำอะไรครบถ้วนลำบาก พยายามคิดหลักใหญ่ ทำให้ต้องมีหลายเรื่องเอาไปไว้ในกฎหมายลูก” 

ช่วงต้นของการร่างรัฐธรรมนูญยังมีการเชิญองค์กรอิสระมาคุยด้วยว่า อยากเห็นอะไร ส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเสนอความเห็น แต่ กรธ.คิดว่า หลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดก็คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ ส่งมาทางไหนก็ได้ แต่ข้อกังวลคือ กรธ.จะย่อยได้หมดหรือไม่

แนวคิดที่ว่าอยากให้หลักการปฏิบัติได้ มาสู่คำถามว่าจะกลายเป็นรัฐราชการหรือเปล่า ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่ให้ประชาชนขอข้อมูลข่าวสารจากราชการได้ ขั้นตอนเยอะทำให้ใช้ไม่ได้จริง หน่วยงานของรัฐถ้าไม่กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ให้ชัดจะทำให้ขอทรัพยากรมาทำสิ่งต่างๆ ที่ประชาชนต้องการได้ยาก หากเขียนว่าเป็นสิทธิ หน่วยงานของรัฐอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ และแม้อยากทำ เขาก็ไม่รู้จะเอาทรัพยากรที่ไหนมาจัดทำให้

“ในช่วงที่รับฟังความคิดเห็นมีเสียงสะท้อนค่อนข้างเยอะในเรื่องการเขียนเป็น “หน้าที่รัฐ” แทน “สิทธิของประชาชน” เราก็เงี่ยหูฟัง ดีไม่ดีเราต้องเขียนสองที่หรือเปล่า เป็นความข้องใจอันเนื่องจากความไม่ไว้ใจหน่วยงานของรัฐหรือเปล่า”

เรื่องไม่อยากให้ได้นักการเมืองทุจริต ถ้าเขาเข้ามาแล้วทำอย่างไรจึงจะทำให้คนทุจริตพวกนี้ต้องออกไป จึงมีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของ กกต. ยกตัวอย่าง กกต. สมัยก่อน กรธ.ท่านหนึ่งเป็นกกต.บอกว่าเวลาไปตรวจหน่วยเลือกตั้ง เวลานับคะแนน เวลาชูเป็นเบอร์ 5 แต่คนอ่านอ่านเบอร์ 2 ไปเรื่อย กกต.ไปเห็นจะสั่งให้หยุดนับหรือยกเลิกการเลือกตั้งก็ต้องประชุมก่อน 5 คน คราวนี้เราเลยคิดใหม่ว่าจะต้องให้อำนาจกับ กกต.แต่ละคน ถ้าใครเห็นว่าการนับคะแนนนั้นบิดเบี้ยวก็สามารถสั่งยกเลิกการเลือกตั้งตรงนั้นได้เลย เพื่อให้คนขี้โกงเข้ามาไม่ได้ และเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระในบางเรื่องอีก เหตุผลก็เพราะให้ได้นักการเมืองที่ไม่คดโกงเข้ามาในสภา

 


ยกที่ 2: สิริพรรณ นกสวน คำตอบระบบใหม่อยู่ที่พรรคขนาดกลาง ดุลยภาพคว่ำ เทไป ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’

สิริพรรณ นกสวน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ แบ่ง 4 ประเด็น  ได้แก่

หนึ่ง ลดการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลอ่อนแอ แต่รัฐเข้มแข็งขึ้น

นี่เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่ต่างไป ไม่ใช่รองรับสิทธิ แต่ถอดสิทธิหลายอย่าง เช่น สิทธิในการถอดถอนหายไป สิทธิในการทำประชามติเป็นอำนาจ กกต. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หายไป

รัฐธรรมนูญนี้จะมีผลต่อการทำให้สถาบันพรรคการเมือง รัฐสภาอ่อนแอลงจนแทบไม่มีความเป็นสถาบันเลย อย่าลืมว่า พรรคการเมืองจะดีหรือเลวอย่างไร เราขาดไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือ ทำให้เขาเป็นสถาบันการเมืองที่ประชาชนตรวจสอบได้มากที่สุด และมีส่วนร่วมในกระบวนการขององค์กรพรรคการเมืองมากที่สุด แต่ในทางกลับกัน ตัวระบบเลือกตั้งทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป

เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือต้องการลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ เห็นด้วยเพราะที่ผ่านมาเอื้อพรรคใหญ่อย่างมาก ทำให้ที่นั่งเกินกว่าที่สมควรจะได้ แต่การลดอิทธิพลพรรคใหญ่ไม่ใช่ทำให้การจัดสรรคะแนนไม่เป็นธรรมแบบนี้ บัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นคะแนน ส.ส.เขต ถูกรวมทั้งประเทศดูว่าพรรคการเมืองควรมีที่นั่งในสภาเท่าไร ทั้งที่ในทางปฏิบัติ คนแบ่งเป็น เลือกคน และ เลือกพรรค ที่ผ่านมาก็แยกเลือกไม่น้อย ประมาณ 37 เขต จาก 375 เขต หรือ 17-18% ถ้าต้องการลดอิทธิพลแบบพรรคใหญ่ ระบบในร่างของบวรศักดิ์จะเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า

“การจัดสรรแบบที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดจะทำให้พรรคใหญ่เสียเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่พรรคขนาดกลางได้ประโยชน์อย่างมาก พรรคขนาดเล็กยิ่งไม่สามารถแข่งได้เลย เพราะบังคับให้พรรคเล็กต้องส่ง ส.ส.เขต ผลที่ตามมาแน่ๆ คือ จะทำให้การซื้อเสียงสูงขึ้น เพราะทุกคนแข่งในสนาม ส.ส.เขต พรรคจะกว้านซื้อตัวบุคคล ที่สำคัญ พรรคจะมีแรงจูงใจในการนำเสนอนโยบายลดลงเพราะการแข่งขันเปลี่ยนจากบัญชีรายชื่อมาเป็น ส.ส.เขต

"ระบบเลือกตั้งนี้น่ากลัวอีกประการคือ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ พรรคละ 3 ชื่อ เป็นใครก็ได้ แน่นอน พรรคใหญ่ก็คงเสนอชื่อคนเป็น ส.ส. แต่ในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า พรรคที่มีสิทธิโหวตชื่อผู้จะเป็นนายกฯได้ ต้องมีที่นั่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  ในสภา ที่ผ่านมา เรามีแค่สามพรรค เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ถูกกุมโดยพรรคใหญ่พอดี พรรคที่สามอาจไม่ได้ชนะ ส.ส.เขตมากนัก เมื่อไม่มีพรรคใดกุมเสียงข้างมากในสภา โดยกลไกมันยากมาก เมื่อเป็นอย่างนั้นพรรคอันดับสามจะเป็นพรรคตัวแปรหลัก ร่วมกับใครพรรคนั้นก็เป็นรัฐบาล พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองเยอะเหลือเกิน เสียงประชาชนอาจถูกบิดเบือนคือ กรธ.โฆษณาว่าระบบนี้กันอีแอบ เห็นว่าพรรคเสนอชื่อใคร แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อโหวตในสภา พรรค ก.อาจเลือกคนอื่นที่ตัวเองไม่ได้เสนอก็ได้ เสียงของประชาชนจะมีน้ำหนักตรงไหน”

อีกประเด็นเล็กๆ คือ ระบบเลือกตั้งนี้ ทำให้จำนวน ส.ส.ในสภาแกว่งเป็นปี เพราะคะแนนบัญชีรายชื่อกำหนดโดย ส.ส.เขต ซึ่งมีระบบใบเหลืองใบแดง ในทางสากลแล้วระบบแบบนี้มีจุดอ่อนมากเกินไปที่จะนำมาใช้

ประเด็น ส.ว. ความกังวลอยู่ที่ 200 คนเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มโดยไม่ได้กำหนดว่าเป็นใคร จำนวนเท่าไร เป็นการกลับไปสู่ระบบราชการ จำนวน 6 กลุ่มใน 20 กลุ่มน่าจะเป็นราชการเก่า เช่น ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ สัดส่วนของแต่ละกลุ่มเป็นเท่าไรน่าจะกำหนดแต่ต้น สัดส่วนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกษตรกร แรงงาน เป็นสัดส่วนที่สูงถ้าได้สัดส่วนเท่ากลุ่มอื่นก็ไม่เป็นธรรม การไม่กำหนดแต่แรก เหมือนยังคิดไม่เสร็จทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ประชาชนตื่นตัวแน่นอนว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มไหน นอกจากนี้ มี 20 กลุ่มไม่ได้เลือกกันเองในกลุ่ม แต่กลุ่มอื่นเลือก คำถามคือ กลุ่มที่จะมาเลือกจะรู้จักคนในกลุ่มได้อย่างไร เป็นการป้องกันการฮั้ว แต่ขณะเดียวกันจะทำให้คนมีชื่อเสียงอยู่แล้วได้รับเลือกแทนที่จะเป็นคนที่เป็นประโยชน์จริงๆ และโดยเฉพาะประเด็นเดิมที่ถูกวิจารณ์ ไม่อนุญาตให้หาเสียง ไม่หาเสียงใครจะรู้จัก

ดุลยภาพเอียงจนอาจคว่ำ มีความพยายามให้มาตรการคัดง้างเสียงข้างมากเข้ามาคุมเสียงประชาชน เลือกตั้งได้แต่การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่องค์กรอิสระ มันเหมือนระบบ “คุณหลอกดาว”

ที่สำคัญมากๆ มาตรา 207 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้ได้ อำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ คำถามคือ 1. ประเพณีการปกครองฯ คืออะไร สมมติ ศาลรัฐธรรมนูญหยิบรัฐธรรมนูญสมัยสฤษดิ์ทำอย่างไร 2. ฐานความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญมาจากไหน เชื่อได้อย่างไรว่าสังคมจะทำตาม ถ้าไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น วิกฤตรอบใหม่อาจมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ และยากจะแก้ไข

ประเด็นปราบคอร์รัปชัน เห็นเจตนาดีของผู้ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งป้องกันไม่ให้นักการเมืองคอรัปต์เข้าสู่ระบบการเมือง แต่เราทราบดีว่าการคอรัปชันไม่ได้มาจากนักการเมืองอย่างเดียว สามเหลี่ยมเหล็กของการคอร์รัปชันคือ นักการเมือง ข้าราชการ กลุ่มทุน ทางที่ดีที่สุดต้องทำให้การตรวจสอบเข้มแข็ง ข้อมูลเปิดเผยโปร่งใส ที่ผ่านมาการคอร์รัปชันที่พบบ่อยคือ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ใช้ช่องโหว่กฎหมาย สิ่งที่ทำให้คอร์รัปชันเกิดมากคือไม่เปิดข้อมูลและกลัวที่จะพูดเปิดเผยข้อมูล

เสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 มีผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สงสัยมากว่า กรณีที่ กรธ.บอกว่า รัฐธรรมนูญตั้งใจให้แก้ได้ง่าย เปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ถ้าอ่านแล้วมันแก้ยากมาก

บทเฉพาะกาลให้อำนาจ คสช.และอำนาจต่างๆ อยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ 15 เดือนหลังจากประชามติผ่าน สภาพที่เราจะเผชิญหลังรับร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการทำประชามติ คือ มีกฎหมายสูงสุดคู่กันไป

ประเด็นสุดท้าย คสช. สนช.อยู่ตรงไหนหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) จะชวนดูมาตรา 255 ซึ่งมิให้นำมาตรา 107 มาบังคับใช้ แสดงว่า ส.ว.ไม่ต้องเว้นวรรคแล้ว กลับมาได้เร็วอย่างที่ต้องการ สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ใกล้คลอดแล้วและมีอายุ 20 ปี แผนนี้มีมาเพื่อกำกับรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาทำหน้าที่ตามที่ คสช.วางแผนไว้ นั่นคือ limited government รัฐบาลใหม่จะมีอำนาจน้อยมาก 

 

ยกที่ 3 พรสันต์ ชี้ปัญหาของ “ระบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีองค์กรตุลาการเป็นหลัก”

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ธรรมชาติของรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายพิเศษชนิดหนึ่ง มีความเชื่อมโยงกับสังคมมาก หน้าที่ของรัฐธรรมนูญคือ ใช้เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการแก้ไขวิกฤตในสังคม กระนั้นไม่ได้ประกันว่าเมื่อมีเจตจำนงว่าจะแก้ไขปัญหาประเทศแล้วจะแก้ไขได้เลย ต้องดูเนื้อหาสาระว่าร่างบนหลักการรัฐธรรมนูญหรือเปล่า รัฐธรรมนูญที่ร่างบนหลักการเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือวิกฤตของสังคมได้

การจะปราบโกงไม่ใช่ว่าจะสามารถใช้วิธีการใดก็ได้ หากเราบอกจะแก้ปัญหาโจรเต็มประเทศ เราไม่สามารถใช้ศาลเตี้ยได้ฉันใด การปราบการทุจริตหรือปราบโกงก็ไม่สามารถใช้หลักตามอำเภอใจได้ฉันนั้น

ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นกรอบให้ กรธ.นำไปร่างด้วยซ้ำ อะไรแย้งกับหลักการนี้มีปัญหา

อ่านคร่าวๆ เห็นว่าร่างนี้ค่อนข้างมีปัญหา 1. ปัญหาในทางหลักการและส่งผลในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2.สถาบันการเมืองจะมีปัญหาดุลยภาพ 3.Counter Majoritarian 4. เรื่องสิทธิเสรีภาพ และ 5.กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ 1 มาตราที่อ่านแล้วตกใจคือ มาตรา 5 จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ บัญญัติให้การรับรองรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หมายถึงกฎเกณฑ์หรือกฎหมายอื่นใดจะมาขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ “การกระทำ” จะขัดรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติในร่างนี้ ในทางหลักวิชาการ การใส่คำนี้อธิบายไม่ได้ในทางหลักวิชา

ส่วนที่ผมใช้คำว่า constitutionality หรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกอันหนึ่งคือ legality หรือความชอบด้วยกฎหมาย ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายใดๆ ขัดแย้งกับตัวรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่การกระทำสามารถขัดกฎหมายได้ น่าจะเป็นความสับสนของคนร่าง

เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ศาลปกครองจะควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลให้เขตอำนาจศาลทั้งสองศาลปนกันมั่วซั่วและเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ

ประเด็นที่ 2 สถาบันการเมือง ร่างนี้ออกแบบมาไม่ได้ดุลยภาพทางการเมืองซึ่งควรต้องได้สัดส่วน สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ แต่ร่างนี้อำนาจจะเทให้องค์กรตุลาการ ในเชิงหลักวิชาเรียกว่า การร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างระบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีองค์กรตุลาการเป็นองค์กรหลักในการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็น ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหลายตัวที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ร่างนี้ยืนยันหลักแบบนั้นซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการเข้าไปในดินแดนการเมือง ทั้งที่ไม่ควรเข้า เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบทางการเมือง เช่น 1. การออกพระราชกำหนด รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีระบบนี้ซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะพระราชกำหนดแตกต่างจากพระราชบัญญัติ เป็นความจำเป็นเร่งด่วนไม่ว่าด้านไหน รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจประกาศใช้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจำเป็นหรือไม่ รัฐธรรมนูญบอกว่าถ้าสงสัยเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

คำถามคือ ความจำเป็นตรงนี้ใครควรเป็นคนตัดสิน โดยหลักการความจำเป็นเร่งด่วนต้องเป็นดุลยพินิจของฝ่ายการเมืองในฐานะบริหารราชการแผ่นดิน เขาย่อมรู้ ร่างมีชัยรับตรงนี้ต่อไม่ได้แก้ไข ขณะที่ร่างของบวรศักดิ์ตัดประเด็นนี้ออก เพราะถือว่านี่คือดุลยพินิจทางการเมืองโดยแท้

นอกจากนี้ยังมีหลักการใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติได้ คือ การวินิจฉัยแล้วสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง พูดง่ายๆ คือ impeachment ในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 เราใส่อำนาจนี้ให้วุฒิสภา ตรงนี้มีผลอย่างไร ถูกต้องไหม คำตอบคือ 1.การที่ร่างนี้เปลี่ยนอำนาจถอดถอนมาให้ศาลรัฐธรรมนูญขัดกับหลักการตรวจสอบและความรับผิดชอบในทางรัฐธรรมนูญ หลักนี้กำหนดว่าคนที่จะใช้อำนาจต้องมีคนอนุญาตให้ใช้ และคนอนุญาตจะเป็นคนตรวจสอบคนที่ถูกอนุญาต พูดง่ายๆ ใครตั้ง คนนั้นถอดถอน เราจึงเห็นว่ารัฐสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนนายกฯ ได้ เพราะรัฐสภาเป็นคนตั้งนายกฯ 2.ความชอบธรรม อำนาจในการถอดถอนมันเกิดในรัฐสมัยใหม่ที่อังกฤษก่อน แต่ใช้แล้วเกิดปัญหามากกลายเป็นอาวุธในทางการเมือง จากนั้นสหรัฐอเมริกาแยกประเทศออกมาแล้วนำกลไกนี้ไปใช้และโด่งดังกับสหรัฐฯ ไทยก็เอามาใช้บ้าง พัฒนาการของ impeachment เป็นกระบวนการในทางการเมืองที่ House of Commons (สภาล่าง) ของอังกฤษ และ Congress (รัฐสภา) ของอเมริกาใช้ในการถอดถอนประธานาธิบดี เป็นกระบวนการทางการเมืองทั้งนั้น แต่ร่างนี้เอากระบวนการทางการเมืองมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าแปลกไหม ไม่แปลก เพราะเทรนด์ในการให้อำนาจทางการเมืองให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สิ่งที่เขาไม่เหมือนกับเราคือ ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญของเขามีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม นี่คือความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย

Counter Majoritarian แปลไทยว่า องค์กรในการถ่วงดุลองค์กรเสียงข้างมาก เราก็จะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญถูกจัดตั้งมาตรวจสอบนักการเมืองจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีใครพูดว่า องค์กรที่จะคัดง้างเสียงข้างมากคือ เสียงข้างน้อย คุณก็ต้องยึดโยงจากเสียงข้างน้อยเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นองค์กรอะไรก็ได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มอบอำนาจตรงนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนักการเมืองจึงต้องมีความยึดโยงกับประชาชนไม่ว่าทางตรงหรออ้อม

สุดท้ายการดีไซน์อำนาจ impeachment ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหามาก ถ้าระบบนี้ถูกเอาไปใช้จริงๆ นั่นคือการดึงเอาศาลเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งในทางการเมืองเต็มตัว ที่ผ่านมามีความขัดแย้งทางการเมืองเยอะมาก แต่ยังไม่ถูกวิจารณ์ตรงๆ เพราะมันอ้อม แต่นี่เป็นการดึงให้ศาลเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเต็มตัว ผ่านรัฐธรรมนูญที่รับรองความเป็นทางการ ต่อไปองค์กรตุลาการจะมีปัญหาทันที มีคำวินิจฉัยก็จะถูกต่อต้านจากคู่ขัดแย้ง และประเทศใดอำนาจตุลาการใช้ไม่ได้ประเทศนั้นเสี่ยงต่อการล่มสลาย สิ่งเหล่านี้เห็นอยู่ในประเทศแถบละตินอเมริกา

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังเข้าไปคุมกฎความประพฤติในทางการเมือง กำหนดมาตรฐานในทางจริยธรรมคู่กับองค์กรอิสระ ใช้กับตัวเองและใช้กับฝ่ายการเมืองด้วย จึงฟังฝ่ายการเมืองเสียหน่อย กำหนดไว้ว่าให้การยกร่างกฎหมายนั้นรับฟังฝ่ายการเมืองด้วย ถ้าทำขัดกับมาตรฐานและถูกตัดสินว่าผิดต้องพ้นจากตำแหน่งและอาจลงเล่นการเมืองไม่ได้ตลอดชีวิต ข้อสังเกตคือ เวลาจะใช้กฎเกณฑ์กับฝ่ายการเมือง ฟังเขามากน้อยขนาดไหน อ่านตรงนี้แล้วรู้สึกเหมือนเวลาที่รัฐจะเวนคืนที่ดินแล้วกำหนดเรื่องผังเมือง เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน คำถามคือฟังจริงไหม ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนให้เปิดรับฟัง ถ้าฝ่ายการเมืองเสนอแนวคิดที่ขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ผลคืออะไร นี่คือประเด็นที่ต้องดีเบต

อีกประเด็นหนึ่งที่กังวล คือ การมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญในการตีความประเพณีการปกครอง ต้องถามเจตนารมณ์ผู้ยกร่าง เปลี่ยนจากเดิมรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่เขียนมาตรา 7 กรณีไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ให้พิจารณาตามประเพณีการปกครองฯ ของเดิมอยู่หมวด 1  หมวดทั่วไป แต่ร่างนี้เปลี่ยนมาอยู่หมวดศาลรัฐธรรมนูญ นัยทางหลักวิชาคือ หมวดทั่วไป หมายถึงกฎเกณฑ์นี้ใช้กับทุกองค์กร ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ สามารถตีความได้ ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจ ไม่ใช่ผูกขาดให้ตุลาการตีความอย่างเดียว พอย้ายหมวดแปลว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญผูกขาดการตีความ ต้องถาม กรธ.ว่าเห็นอย่างไร

ที่กังวลมาก เพราะสายกฎหมายรัฐธรรมนูญ เวลาพูดถึงมาตรา 7 ทุกคนจะขนหัวลุกเพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก มาตรา 7 ต้องหาตัวอย่าง ต้องเปรียบเทียบ สร้างหลักขึ้นมาใช้แก้ปัญหาในกรณีที่เกิดขึ้น

ด้วยความเคารพ ผมตั้งคำถามว่าท่านเหล่านั้นมีความรู้ความสามารถในการตีความไหม เรื่องนี้เป็นดีเบตในทางรัฐธรรมนูญทั่วโลก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศจึงนำผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญเข้าไปนั่งเป็นตุลาการ โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญก็มีการเปลี่ยนด้วย จากเดิมให้โควตานักวิชาการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อย่างละ 2 คนร่างนี้ ให้โควตาอย่างละ 1 ที่ แล้วเอาส่วนที่หายไป ไปเพิ่มให้กับข้าราชการ

ยกที่ 4 ประภาส ปิ่นตบแต่ง รธน.ฉบับไร้จินตนาการ 'การเมืองภาคประชาชน' หายทั้งหลักการ-ภาคปฏิบัติ

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ฐานคิด หลักการมันหายไป สิ่งที่ควรทำให้ปฏิบัติได้ก็หายไปด้วย นี่เป็นปัญหาใหญ่

ถ้ามองจากการเมืองภาคประชาชน จะเห็นความถดถอยอย่างชัดเจน  ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นั้นชัดว่า เป็นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไร้จินตนาการเรื่องการเมืองภาคประชาชนโดยสิ้นเชิง

เรานิยามการเมืองภาคประชาชนได้ง่ายๆ ว่ามันเกิดขึ้นจาก ปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งขอย้ำว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่มันไม่พอ การเมืองภาคประชาชนจึงเป็นการขยายประชาธิปไตย ให้เพิ่มการมีส่วนร่วมหรือเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น เกิดปฏิบัติการเรื่องสิทธิ เรื่องการมีส่วนร่วมใช้อำนาจโดยตรง

อ่านร่างนี้แล้ว พยายามหาคำว่า การเมืองภาคพลเมือง ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่มีเลย ไม่มีโดยสิ้นเชิง หลายเรื่องน่าสนใจในร่างของ อ.บวรศักดิ์ เช่น เรื่องสิทธิการรวมกลุ่ม องค์กรภาคประชาสังคม แต่ร่างนี้ถูกตัดออกเกลี้ยงเลย ไม่มีเหลือ ยกตัวอย่าง สิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญ 40 ประชาชนผลักให้สิ่งนี้เป็นสิทธิที่ใช้อ้างอิงได้ หลักการนี้ก็หายไป กลไกในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญเก่าๆ ก็ได้เขียนพ่วงให้มีองค์กรอิสระคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ และกำหนดให้ออกฎหมายลูกให้เสร็จภายในกำหนด แต่ร่างนี้ไม่มีเลย เป็นต้น

ที่พูดว่ามันย้อนยุค มันจึงมีข้อเท็จจริงอยู่ในเชิงรายละเอียด เวลาพูดถึงการเมืองภาคประชาชน มันคือการถ่ายโอนอำนาจไปให้ประชาชนใช้ในการจัดการชีวิตสาธารณะของพลเมืองโดยตรง สิทธิแบบหลังต้องการการรับรองให้การเมืองเห็นหัวชาวบ้าน จะไปเขียนไว้ในหน้าที่ของรัฐไม่ได้

สำหรับประเด็นย่อย สิทธิของเกษตรกร สิ่งซึ่งหายไป คือ บทบัญญัติเรื่องรัฐต้องกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม โดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีการอื่นๆ ถ้าดูรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เขียนไว้อย่างกว้างขวาง หรือสิทธิในการรวมกลุ่มในลักษณะสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรื่องเหล่านี้ก็หายหมด และยังมีรายละเอียดอีกมากที่หายไป แล้วไปรวมในมาตราหนึ่งในหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสั้นมาก

เรื่องการถอดถอนโดยประชาชนเข้าชื่อสองหมื่นชื่อ ก็หายไปเลย

การเข้าชื่อหมื่นชื่อเสนอกฎหมาย แม้ยังมี แต่ก็หลบๆ ซ่อน ไม่ระบุหลักการที่สำคัญ

เรื่องประชามติ เขียนให้อำนาจไว้เบาบางมาก ในลักษณะเป็นการให้คำปรึกษา ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ออกแบบโดยหวังให้ผูกโยงกับนโยบายสาธารณะสำคัญๆ

ในเรื่องการกระจายอำนาจ มีเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึง รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เราสู้กันเรื่องเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง แต่ฉบับนี้ผู้บริหารท้องถิ่นอาจจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือการยินยอมพร้อมใจของสมาชิกสภาท้องถิ่นก็ได้ หมายความว่า คนนอกก็มาได้ในระดับท้องถิ่น เรื่องนี้เถียงมานานมากจนเราได้เลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ชาวบ้านเขาอยากจะให้การเลือกตั้งโดยตรงไปถึงเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนันแล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับย้อนหลังไปไกล

“(ร่างรัฐธรรมนูญ) มันห่างไกลเหลือเกินกับผู้คนข้างล่าง สิ่งเหล่านี้มันไม่เคยอยู่ในจินตนาการของคณะร่างรัฐธรรมนูญเลย” ประภาส กล่าว

คำถามจากวง #อวสานโลกสวย ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และ คำเตือนจาก สุรชาติ บำรุงสุข

วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายสมัย ถามตัวแทน กรธ. ว่า การร่างรัฐธรรมนูญ มีใบสั่ง จาก คสช.หรือไม่, รัฐธรรมนูญไม่ใช่มีแค่คุณสมบัติปราบโกง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยใช่หรือไม่, หากไม่ผ่าน ท่านจะทำอย่างไร ขณะที่รองนายกฯ บอกว่าจะใช้มาตรา 44 ถามถึงอาจารย์ทั้ง 3 ท่านที่ร่วมเสวนาว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และอาจารย์พิชญ์คิดว่าจากนี้ไป บทบาทของนักศึกษา นักวิชาการ ที่จะแสดงออกเรื่องประชามติ ควรจะเคลื่อนไหวกันอย่างไร ซึ่งพิชญ์ตอบว่า บทบาทนักศึกษาให้ไปดูที่บอลประเพณีอาทิตย์หน้าเลยว่าจะเป็นอย่างไร

ผู้ร่วมฟังเสวนาคนหนึ่งถาม กรธ. ทั้ง 2 คน ว่า เหตุใด มาตรา 4 จึงตัดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมได้รับความคุ้มครอง ออกไป ขณะที่ผู้ร่วมฟังเสวนาองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้มีหลายจุดที่ดี การกำหนดหน้าที่ทำให้รัฐบาลต้องทำ เป็นจุดเด่น แต่ต้องเพิ่มเติมเรื่องสิทธิเข้าไปด้วย ที่สำคัญ กรธ.อย่าดึงดันไปเลยว่าจะเอาบัตรใบเดียว เพราะมันไม่ตอบความต้องการของผู้เลือกตั้งได้ครบถ้วน บัตรสองใบไม่ยากและไม่เบี่ยงเบนคะแนนเสียงมาก ถ้า กรธ.ทำได้แม้จะขยายเวลาออกไปก็เป็นเรื่องดี

อมร ตอบคำถามว่า เราหารือกันใน กรธ.คิดว่า คน 40 ล้านที่มีสิทธิเลือกตั้งจะมีสักกี่คนอ่านทั้งฉบับ เราเชื่อว่าแม้แต่คนใน สปท. สปช.ก็ไม่ได้อ่าน คงมีคนอ่านจริงๆ ไม่เกิน 1,000 คน เรื่องใบสั่ง คสช. ใบสั่งปรากฏในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 มีอยู่ 10 ข้อ และข้อเสนอแนะของ คสช. 5 ข้อซึ่งเป็นเรื่องประกาศอยู่แล้ว เป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ได้มีใบสั่งเป็นพิเศษให้มาตรา 44 อยู่เป็นรัฐซ้อนรัฐอย่างที่พูดๆ กัน

อมร กล่าวต่อว่า เรื่องอำนาจการตีความพระราชกำหนดที่ยกให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่อาจารย์พรสันต์ท้วงติงไว้ อันที่จริงในร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าไว้แล้วว่า การใดที่เร่งด่วนรัฐบาลทำได้อยู่แล้ว ทำไปก่อนเลย แต่ทำไปแล้วในที่สุด พระราชกำหนดต้องผ่านสภาในภายหลังจึงต้องให้ศาลวินิจฉัยว่าเร่งด่วนจริงหรือเปล่าซึ่งก็ต้องไปตีความที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เร่งด่วนก็จะมีกลไกของมัน ยืนยันว่าไม่ได้ไปก้าวก่ายหรือทำลายการแบ่งแยกอำนาจ

นอกจากนี้ เราอาจจะวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกแผนพัฒนาก็ยังเป็นแผนระยะสั้น ไม่มีความเป็นบูรณาการ เราอย่าไปกลัวยุทธศาสตร์ชาติ มันเป็นวิสัยทัศน์ของชาติในอนาคต มาเลเซียก็ทำแล้ว ปี 2020 (พ.ศ.2563) มาเลเซียตั้งใจจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราอาจจะบอกว่าจะเป็นประเทศที่ปราบคอร์รัปชันได้มากขึ้น อาชญากรรมน้อยลง ก็เป็นไปได้
 
กรณีที่แปลงสิทธิให้เป็นหน้าที่รัฐนั้นมีหลายเรื่อง แต่หมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพก็ไม่ได้ทิ้งไป การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เรายึดคำประกาศอิสรภาพและสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศสปี 1789 (พ.ศ.2332) เป็นตัวตั้งในการร่าง อะไรก็ตามที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามไว้ทุกคนมีสิทธิที่จะทำได้ มันจึงไม่ใช่การละเลย หลงๆ ลืมๆ ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อะไรต่างๆ ตามที่พูดกัน

อมรกล่าวต่อว่า แม้แต่มาตรา 7 ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการมีมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ผมเสนอตัดออกในที่ประชุม แต่ กรธ. หลายคนมองว่าการตัดทิ้งไม่มีประโยชน์ มันจะวนไปคำถามว่าจะเชื่อได้อย่างไรที่ 9 คนของศาลรัฐธรรมนูญจะมีความสามารถเพียงพอในเรื่องราชประเพณี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เรามองกันรอบด้าน ยืนยันว่า ก่อนถึงการใช้โบราณราชประเพณีต้องตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรก่อน หากไม่มีกำหนดจึงไปดูเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากยังไม่มี จึงไปถึงเรื่องประเพณี เราก็ไม่ก้าวก่ายศาลรัฐธรรนูญแต่จะมีกรอบการพิจารณาอยู่ ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการถกเถียงกันมาก เราตระหนักถึงปัญหานี้จึงจะเร่งร่งให้เสร็จภายในกำหนด และในอนาคตหากเผชิญสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับการใช้มาตรานี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะตั้งกรรมการไต่สวนอิสระ หรือตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอย่างไรก็แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องประมวลจริยธรรม องค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องทำให้เสร็จในกำหนด และเป็นบททดสอบว่าเขากล้าพอจะเขียนอะไรที่ลิดรอนสิทธิของตนเองไหม ประชาชนจะพิจารณาเอง และมันจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำไปบังคับใช้กับฝ่ายการเมืองด้วย

ด้าน สิริพรรณ ท้วงติงว่าอมรใช้คำผิด ไม่ใช่ “โบราณราชประเพณี” แต่เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น หากจะย้อนไปได้อย่างมากก็แค่ปี 2475

ผู้ฟังเสวนารายหนึ่งถาม กรธ.ว่า 1.ถ้าสุดท้ายแล้วร่างนี้ไม่ผ่านประชามติ คสช.ในฐานะเป็นต้นทางร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับแล้ว ควรต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ 2.ที่ผ่านมามีการขู่การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่รัฐรณรงค์ให้รับไปแล้ว กระบวนการมันแฟร์หรือไม่ 3.ประชามติ จะมีแค่รับกับไม่รับ โดยไม่ระบุว่าหากไม่ผ่าน จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหน การที่เราต้องลงคะแนนโดยไม่รู้อนาคตเป็นกระบวนการที่แฟร์แล้วหรือไม่

ด้าน พิชญ์ กล่าวว่า เห็น อ.สุรชาติ มาด้วย อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับคำว่า ความมั่นคงของรัฐ ที่ปรากฏอยู่จำนวนมากในรัฐธรรมนูญ

สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ถ้ามองในทางรัฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญคือการออกแบบโครงสร้างของระบบการเมือง เป็นการจัดระเบียบทางการเมือง กรณีของไทยจะเห็นโจทย์ 4 ส่วนที่กำลังเกิด โดยร่างใหม่นี้กำลังกำหนดรูปแบบของระบอบการปกครอง, กำหนดความสัมพันธ์ของอำนาจในระบอบ กำหนดความสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ ในอำนาจ และกำหนดการแก้ปัญหา

เขากล่าวว่า เราวิจารณ์เพราะอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่การร่างรัฐธรรมนูญในไทย ไม่เคยเกิดจากชัยชนะของประชาชน รัฐธรรมนูญปี 2517 ของคนยุคผมเกิดหลังเหตุการณ์ตุลาคม 2516 อีกรอบหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลังรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมไทยสนใจการร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น นี่ไม่ใช่กิจกรรมของชนชั้นนำอีกต่อไป วันนี้ รัฐธรรมนูญกำลังถูกทำให้เหมือนปี 2521 หลังการรัฐประหารของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ถอยสังคมไทยกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ มีพรรคการเมืองก็ได้ แต่โอกาสเป็นนายกฯ ไม่มี นายกฯ มาจากคนกลาง ซึ่งมาจากการเลือกของผู้นำทหาร แต่วันนี้มีความกังวลของหลายคนว่ามันจะมากกว่าทหาร วันนี้ อ.สิริพรรณให้สัมภาษณ์ว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตย หรือระบอบราชการกำลังฟื้น แต่ผมคิดว่ามันเป็นระบอบ MBA ระบอบเสนา+อำมาตย์+ความเป็นอำนาจนิยม ที่สำคัญมันเป็น MBA-C คือ บวก Capital หรือทุนเข้าไปด้วย เสนา+วาณิชย์+ราชการ สามส่วนนี้กำลังถูกผนวกเข้าด้วยกัน คนชั้นล่างหรือรากหญ้านั้นไม่ต้องฝันเลย เพราะตอนนี้เอ็นจีโอก็อยู่ในสภาพถดถอย

ความมั่นคงของระบอบยุคนี้ ภัยคุกคามส่วนหนึ่งมาจากความเคลื่อนไหวของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย อุดมการณ์ที่ถูกสร้างในสังคมไทยหลายปีมานี้สามารถย้อนดูตัวแบบในละตินอเมริกานั่นคือ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” ไม่เอาประชาธิปไตย ไม่เอาการเลือกตั้ง มองนักการเมืองเป็นผู้ร้าย มองว่าอนาคตของชาติฝากไว้กับคนส่วนเดียว คือ ผู้นำทหาร เรื่องนี้จบไปนานแล้วในละตินอเมริกา แต่มันกำลังย้อนกลับสู่บ้านเรา

นอกจากนี้นักรัฐศาสตร์มองอาหรับสปริงแล้วคิดคำว่า “มีการเลือกตั้งแต่ไม่มีประชาธิปไตย” นี่จะเป็นหัวใจที่น่ากังวล ในมุมนี้วาทกรรมของภาษาที่เกิดในต่างภูมิภาค สภาพอย่างนั้นจะเกิดกับบ้านเรา

อมร กล่าวตอบคำถามว่า ถ้าประชามติไม่ผ่านจะเป็นอย่างไรว่า เรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจ กรธ. มันเป็นไปได้ทุกกรณี ไม่ว่ากรณีไหนเราไม่สามารถคาดได้ แต่ ณ เวลานี้ตามที่เรามี รัฐธรรมนูญเราไม่ได้บอกว่าดีที่สุดในโลก แต่เรายืนยันว่าทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละและอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น ถ้าท่านพอใจจะไม่ให้มันผ่าน ก็ต้องยอมรับว่าโรดแมปมันอาจต้องยืดไป ท่านต้องพิจารณาเอง อนาคตของประเทศอยู่ในกำมือของท่าน

ผู้ร่วมฟังเสวนาอีกคนอภิปรายว่า ท่านบอกว่าอยากให้รัฐธรรมนูญนี้ใช้ได้นานๆ ผมจะบอกว่า เรามีรัฐธรรมนูญมาเยอะแล้ว ที่อยู่ได้ไม่นาน ประชาชนไม่ใช่คนฉีก แต่เป็นเพราะอำนาจนอกระบบ ถ้าอยากให้รัฐธรรมนูญนี้อยู่นาน น่าจะเขียนทำโครงสร้างให้อำนาจนอกระบบไม่สามารถเข้ามาได้อีกครั้ง

ศุภชัย กล่าวว่า ที่ตั้งใจมาเพราะเป็นรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และอยากฟังเพื่อนนักวิชาการ ประเด็นที่ถาม โดยส่วนตัวไม่ได้มานั่งดีเฟนต์อะไร เพราะคิดว่าร่างนี้ยังร่างไม่เสร็จ เสร็จแล้วคงไม่มารับฟังความเห็น มาฟังเพราะอยากรู้ว่าจุดไหนมองข้าม จุดไหนต้องปรับปรุง ข้อคิดหลายอย่างที่ได้จากเพื่อนๆ โดยส่วนตัวได้เก็บประเด็นไปเยอะ และคิดว่าเดือนครึ่งที่เหลือจะได้นำไปปรับปรุงเท่าที่สติปัญญาจะพอทำได้ แต่ต้องเรียนว่า มาที่นี่ได้ความเห็นอย่างหนึ่ง ไปเวทีอื่นความเห็นก็อีกแบบ ทำออกมาถูกใจคนทุกคนคงจะยากเหมือนกัน แต่รับฟังและจะลองดู

สิริพรรณ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณอาจารย์ศุภชัย ที่ใจกว้างและมีหลักการ ตอบคำถามอย่างจริงใจ ขอเรียนฝากที่ กรธ. ทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญมีต้นทุน ต้นทุนแพงมาก งบประมาณ ความศรัทธาที่ประชาชน มีต่อประชาธิปไตย ความเชื่อมั่นของประชาคมโลก ถ้าจะถามว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้มีต้นทุนต่ำลงอย่างไร คำตอบคือ ต้องใช้จินตนาการที่จะใส่ประชาชนเข้าไปในนี้มากขึ้น ให้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นดุลยภาพจริงๆ และลดอำนาจพิเศษของคนจำนวนหนึ่ง 

พรสันต์ เสนอว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญมีเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญซึ่งยังไม่เห็น คือ บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะบอกว่าเจตนารมณ์ผู้ร่างร่างมาตรานี้เพื่ออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร มีประโยชน์สองอย่าง หนึ่ง การสื่อสารกับประชาชนทำให้ศึกษาตัวรัฐธรรมนูญได้ง่าย และตัดสินใจทำประชามติได้ดีขึ้น สอง ถ้าผ่านการทำประชามติ ตัวบันทึกนี้จะสำคัญอย่างยิ่งในการตีความและบังคับใช้

 


วรัญชัย โชคชนะ 

 
 
หลังการเสวนาและตอบคำถาม พิชญ์ถามผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
 


นานาความเห็นจากผู้ร่วมงานเสวนา #อวสานโลกสวย วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net