ความเป็นอยู่ในรัฐยะไข่: บทเรียนการทำงานพัฒนาในพื้นที่ขัดแย้งทางสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การเรียนการสอนในชั้นเรียน ภายในค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ซึ่งผู้อาศัยในค่ายมาจากชุมชนชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธ

ค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ของชาวยะไข่ที่นับถือพุทธ ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากรัฐบาลความตั้งใจของรัฐคือเพือมาตรฐานความเป็นอยู่ที่มีความแตกต่างระหว่างผู้ลี้ภัยชาวพุทธและชาวมุสลิม ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ห่างจากชุมชนมุสลิมที่ถูกเผาไปในเหตุกาณณ์จลาจลปี ค.ศ. 2012

รอบๆ ชุมชนผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ของชาวยะไข่ที่นับถือพุทธ

ค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ซึ่งสมาชิกค่ายเป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งแทบไม่มีการพัฒนาเพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ภายในค่าย

เด็กๆ ที่กำลังวิ่งเล่นอยู่นี้ อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ของชาวโรฮิงยา อย่างไรก็ตาม ในค่ายแห่งนี้ไม่มีการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็ก

บทความนี้เขียนขึ้นจากส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ประสบการณ์ทำงานของชาวไทยใหญ่ (สัญชาติพม่า) อดีตเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่ทำงานให้ความช่วยเหลือด้าน Technical Support แก่ชุมชนท้องถิ่นในเขตเมืองเมาง์ดอ(Maungdaw) และ เมืองบูติเดาง์ (Buthidaung) รัฐยะไข่ ประเทศพม่า ระหว่างปี ค.ศ. 2001-2004 และปัจจุบันยังทำงานกับองค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่โครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและโครงการพัฒนาในประเทศพม่า

ในช่วงระยะเวลาที่ผู้ให้ข้อมูลทำงานในรัฐยะไข่ พื้นที่แห่งนี้ถือเป็นเขตที่ประชากรประสบปัญหาความยากจนมากสุดแห่งในประเทศพม่า และเมืองโมงดอว์ซึ่งประชากรกว่าร้อยเก้าสิบเป็นชาวมุสลิม เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาความยากจนมากที่สุดของรัฐยะไข่ อันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนตกหนาแน่นที่มักทำให้การเกษตรได้รับความเสียหาย การถูกกีดกันทางกฎหมาย ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้ง และการถูกควบคุมด้วยนโยบายความมั่นคงที่เข้มงวด เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดนที่เคยมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธชาวมุสลิม

ประชากรในรัฐยะไข่ประกอบด้วยคนสองกลุ่มหลัก คือ ชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของพื้นที่ และชาวมุสลิม-โรฮิงญา อาศัยหนาแน่นในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ถึงแม้ว่าความแตกแยกทางสังคมและความขัดแย้งที่มีความรุนแรงดังที่ปรากฏในปัจจุบัน แต่มิติทางศาสนาและชาติพันธุ์เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนของพื้นที่นี้ตลอดมา และประเด็นด้านอัตลักษณ์เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากในกลุ่มคนมุสลิม-โรฮิงญา เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายพม่า แม้ว่าในขณะนั้นชาวพุทธและเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นจะเรียกชาวมุสลิมส่วนมากว่า ‘โรฮิงญา’ แต่เพื่อหลีกเหลี่ยงความขัดแย้งและการเผชิญหน้า คนโรฮิงญามักปิดซ่อนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และแสดงตัวตนผ่านความเชื่อทางศาสนาในฐานะชาวมุสลิม และหากต้องกล่าวถึงคำว่าโรฮิงญาในที่สาธารณะ พวกเขามักจะกระซิบกระซาบด้วยซุ่มเสียงที่แผ่วเบา เพื่อไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นได้ยินคำนี้

องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งในขณะนั้นมีเพียงองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้นที่ทำงานในรัฐยะไข่ ตระหนักดีถึงความอ่อนไหวของประเด็นศาสนาและชาติพันธุ์ ในการทำงานจึงหลีกเลี่ยงไม่ข้องเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขแหล่งทุนจากกลุ่มประเทศผู้นำด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ทำงานรัฐยะไข่ขณะนั้น กำหนดให้ผู้รับทุนต้องค้นหาและทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปาะบางมากที่สุด ชาวมุสลิม-โรฮิงญาจึงถูกกำหนดให้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการพัฒนาจำนวนมากที่ขับเคลื่อนภายใต้แหล่งเงินทุนดังกล่าว และในเวลาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งและภาวะด้อยพัฒนาของรัฐยะไข่

ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินโครงการด้านพัฒนาศักยภาพและสิทธิผู้หญิงในรัฐยะไข่ ที่แม้ว่าผู้หญิงชาวพุทธจะประสบปัญหาความยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ด้วยปัจจัยประกอบหลายด้าน ทำให้ปัญหาที่เกิดกับกลุ่มชาวมุสลิมถูกมองจากองค์กรพัฒนาว่ามีความรุนแรงมากกว่าชาวพุทธ โดยเฉพาะการถูกกีดกันทางกฎหมายจากการไม่รับสัญชาติ เช่น ถูกจำกัดสิทธิในด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ จำกัดสิทธิในการเดินทาง ฯลฯ ทำให้ชาวมุสลิม-โรฮิงญาขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งรายได้และไม่มีความมั่นคงในดำรงชีวิต ปัญหาเหล่านี้มีความเลวร้ายมากในกลุ่มผู้หญิง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ที่ผู้หญิงในสังคมอิสลามมีหน้าที่ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ดูแลสามี และแทบไม่มีโอกาสออกไปทำงานนอกบ้าน

เงื่อนไขทางวัฒนธรรมและความยากจนทำให้ผู้หญิงมุสลิมที่ส่วนมากมีอายุ 10 กว่าปี ต้องแต่งงานกับชายมีอายุสูงมากเพื่อหาคนอุปการะ ในหลายกรณีพบว่า เมื่อสามีซึ่งมีอายุมากกว่ามักเสียชีวิตลงก่อน ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนเพิ่มมากยิ่งขึ้น จากการเลี้ยงดูลูกซึ่งมักมีจำนวนมาก เนื่องจากข้อกำหนดทางศาสนาที่ห้ามคุมกำเนิด และการแต่งงานใหม่ที่หมายถึงการเพิ่มจำนวนบุตรเป็นแนวปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดของหลายคน ผู้หญิงซึ่งรวมถึงเด็กที่เกิดขึ้นมาต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน ปัญหาสุขภาพ และปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนตามมาอีกหลายด้าน ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาจำนวนมากจึงมุ่งความสนใจไปที่ตอบสนองต่อปัญหาของผู้หญิงในสังคมอิสลามเป็นสำคัญ

การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาจากแหล่งทุน โดยขาดความรู้ความเข้าใจถึงเงื่อนไขภายในสังคมของพื้นที่ทำงาน และดำเนินโครงการพัฒนาของผู้รับทุน ที่มุ่งตอบสนองต่อโจทย์ของแหล่งทุน โดยไม่ทันได้ฉุดคิดถึงกระทบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ได้ทำให้ชาวยะไข่ที่นับถือพุทธเกิดความรู้สึกไม่ได้รับการเหลียวแลจากองค์กรระหว่างประเทศ และปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกเหล่านี้ ได้กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้อคติหวาดระแวงของชาวพุทธที่มีต่อชาวมุสลิมร้าวลึกมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่การทำงานในพื้นที่เน้นประเด็นด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาคุณภาพ โดยแทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นศาสนาและชาติพันธุ์ แต่เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนเริ่มสัมผัสได้ว่า การทำงานเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของพื้นที่โดยรวมและความเปราะบางทางสังคม ได้ทำให้ชาวพุทธที่มองว่าตัวเองเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตไม่แตกต่างไปจากชาวมุสลิม เกิดความไม่พอใจต่อดำเนินทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน ความตึงเครียดทางสังคมระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม คำครหาของชาวพุทธต่อองค์กรพัฒนาเอกชน และท่าทีต่อต้านเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศเริ่มเผยตัวขึ้นในหลายพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการพัฒนา

เพื่อรับมือปัญหาที่อาจเกิดจากความไม่พึงพอใจของชาวพุทธในอนาคต องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรแหล่งทุนได้เริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน จากเดิมที่มุ่งตอบสนองต่อปัญหาของกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบางมากที่สุด ไปสู่การตอบสนองต่อประเด็นปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม แต่ไม่สามารถสลายความคลางแคลงใจของชาวพุทธที่มีต่อองค์กรระหว่างประเทศซึ่งสั่งสมมานานลงได้ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนด้วยอื่นด้วย เช่น การปรับเปลี่ยนท่าที่การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่อาจทยอยเกิดขึ้นล่าช้าเกินไป ในที่ปัญหานี้ได้ถูกตอกย้ำจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ฉกฉวยโอกาสนี้ สร้างฐานสนับสนุนจากชุมชนชาวพุทธในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น

รัฐบาลพม่า ภายใต้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้พัฒนาชุมชนผู้ลี้ภัยชาวพุทธให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีแตกต่างจากชาวมุสลิมอย่างชัดเจน รวมถึงการออกกฎหมาย การละเว้นการบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ที่ทำให้ชาวพุทธรู้สึกว่าได้รับมีสิทธิพิเศษเหนือชาวมุสลิม เพื่อสร้างฐานสนับสนุนให้แก่รัฐบาลในการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายต่อกลุ่มชาวมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มโรฮิงญา และเพื่อลดกระแสความไม่พอใจของชาวยะไข่ที่มีต่อรัฐบาลพม่า ด้วยการแสดงออกว่า รัฐบาลใส่ใจในความทุกข์ร้อนของชาวยะไข่ ทั้งที่ในความเป็นจริง รัฐบาลพม่าแทบไม่เคยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่นี้ ดังที่เห็นได้จาก รัฐยะไข่ประสบปัญหาความยากจนมากที่สุดพื้นที่หนึ่งในพม่า

“สมาคมปกป้องเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา” หรือ “มะบะต๊ะ” ซึ่งนำโดยพระสงฆ์หัวรุนแรง ใช้โอกาสนี้ปลุกกระแสต่อต้านชาวต่างชาติ และทำให้ศาสนาพุทธมีบทบาทในสังคมการเมืองพม่ามากยิ่งขึ้น พระสงฆ์กลุ่มนี้ได้ปลุกระดมให้กระแสต่อต้านองค์กรระหว่างประเทศในรัฐยะไข่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเหตุจลาจล และมีบทบาทในการฉุดรั้งการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในมิติทางศาสนาและการแก้ไขปัญหาชาวมุสลิม-โรฮิงญา อาทิเช่น การผลักดันกฎหมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิทางศาสนาและลิดรอนสิทธิชาวมุสลิม-โรฮิงญา การสร้างเงื่อนให้ประเด็นทางศาสนาและชาวมุสลิม-โรฮิงญามีความอ่อนไหวในระดับที่สามารถยกระดับไปสู่การเผชิญหน้าและการใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลา

การต่อต้านองค์กรระหว่างประเทศในรัฐยะไข่ ซึ่งเกิดจากกระตุ้นของหลายปัจจัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสาเหตุมาจากการสั่งสมความไม่พึงพอใจของชาวพุทธต่อการทำงานองค์กรเหล่านี้ ปรากฏชัดเจนในเหตุจลาจลเมื่อปี ค.ศ. 2012 สำนักงานและเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติขององค์กรองค์กรระหว่างประเทศกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายการใช้รุนแรงในเหตุจลาจล ด้านเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นบางส่วนถูกทำร้ายร่างกาย และส่วนมากถูกกดดันให้ลาออกจากการทำงาน

ผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอันเกิดจากการผสมโรงจากหลายปัจจัย และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงได้ในระยะเวลาสั้นนี้ คือ รัฐยะไข่ โดยเฉพาะในชุมชนมุสลิม และกลุ่มคนมุสลิม-โรฮิงญา กลายเป็นพื้นที่ด้อยพัฒนาท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางบวกของสังคมพม่าในภาพรวม ปัญหาความอยากจน ความอดอยาก และปัญหาทางสังคมหลายด้านยังคงดำรงอยู่ ปัญหาแตกแยกและความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมมีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่ง ในขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งที่ยุติบทบาทลงในช่วงเหตุจลาจล ไม่สามารถกลับเข้าตั้งสำนักงานและดำเนินโครงการในรัฐยะไข่ได้อีก โครงการพัฒนาที่ดำเนินงานโดยองค์ระหว่างประเทศในรัฐยะไข่มีปริมาณน้อยลง และมีความยากลำบากในการดำเนินงานเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎเกณฑ์ของรัฐ และวิกฤตความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของชาวพุทธ ที่มองว่าองค์กรเหล่านี้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกับชาวมุสลิม นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลจากการประเมินความปลอดภัยในการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลดหรือยุติบทบาทองค์กรในรัฐยะไข่

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนในของการดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง บทบาทของภาคประชาชนสังคมพม่าภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ.2010 : กรณีโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวาย ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากโครงการ ASEAN Expert ปีงบประมาณ 2558 ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บทวิเคราะห์ในบทความเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท