Skip to main content
sharethis

จากกรณีเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา โลกวันนี้ รายงานว่า พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอบทความ “ประชาธิปไตย จิตสำนึกของสังคม” โดยกระตุ้นให้สังคมไทยร่วมกันพิจารณาคุณค่าประชาธิปไตยอย่างครบถ้วนรอบคอบ ขณะเดียวกันก็ขอให้นักการเมืองเปิดใจยอมให้ กรธ.ทำหน้าที่ และประชาชนสามารถใช้ความคิดอย่างอิสระ

โดยรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อ้างอิงบทความ “ปรากฏการณ์ประชาธิปไตยไร้เสรี” (The Rise of Illiberal Democracy) ของนาย Fareed Zakaria ที่ตีพิมพ์ในวารสารการต่างประเทศ เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งหลายคราวรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมักจะมองข้ามอำนาจอันจำกัดของตนตามรัฐธรรมนูญ และมีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน บทความดังกล่าวกระตุ้นให้ขบคิดว่า การพัฒนาของประชาธิปไตยและเสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีรูปแบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก อาจเป็นเพียงหนึ่งในหลายหลักการประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย คือ จิตสำนึกหนึ่งของสังคมแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นอาจจะผิดพลาดได้ หากตีความว่าประชาธิปไตยคือธรรมาภิบาล ซึ่งนาย Zakaria ได้สรุปบทวิเคราะห์ของตนเองว่า “ประธานาธิบดี Woodrow Wilson นำอเมริกาเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ด้วยความท้าทายที่จะทำให้โลกปลอดภัยสำหรับประชาธิปไตย ในขณะที่เราก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ภารกิจเรา คือ การทำให้ประชาธิปไตยปลอดภัยสำหรับโลก”
 
พล.ต.วีรชน กล่าวด้วยว่า 16 ปีหลังเข้าสู่สหัสวรรษใหม่นี้ ข้อคิดเห็นของนาย Zakaria อาจตรงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหลายประเทศที่กำลังขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อวางพื้นฐาน ที่เห็นได้จากบทความ “ปรากฏการณ์ประชาธิปไตยไร้เสรี” (The Rise of Illiberal Democracy) คือ ปฏิกิริยาของนักการเมืองไทยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งถูกเผยแพร่ ขั้วการเมืองไทยต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเดือดเนื้อร้อนใจ เสมือนว่าร่างรัฐธรรมนูญคือสาเหตุที่จะมาจำกัดบทบาทและอำนาจของพรรคการเมือง ทำให้นักการเมืองเสียประโยชน์จากอำนาจทางการเมืองถูกลดลง
 
พล.ต.วีรชน ขอให้สังคมได้ย้อนกลับไปพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาว่า ขณะนั้นนักการเมืองชุดเดียวกันนี้ใช่หรือไม่ที่ไม่ยอมร่วมกันหาทางออกให้ประเทศทั้งๆ ที่มีโอกาส และหลายคนเหมือนจะลืมไปแล้วว่าเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 คณะ คสช. เป็นผู้จัดให้มีเวทีหารือระหว่างกลุ่มการเมืองทุกฝ่าย และบางฝ่ายกลับปฏิเสธที่จะร่วมกันเจรจาหาข้อยุติ แต่ตอนนี้กลับมามีปฏิกิริยาต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พล.ต.วีรชน ได้ตั้งคำถามต่อสังคมว่า การเมืองไทยจะไม่สามารถก้าวพ้นจากนักการเมืองที่ยังมีความเชื่อว่า “ผู้ชนะได้ทุกอย่าง” หรือ
 
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ขณะนี้คำถามที่ควรจะถามขึ้นดังๆ คือ คนไทยจะได้อะไรจากรัฐธรรมนูญฉบับที่จะใช้ในอนาคต มากกว่าที่ถามว่าพรรคการเมืองจะได้อะไรจากรัฐธรรมนูญ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเดินสายทั่วประเทศเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ประชาชนรับทราบโดยตรง และต้องขอโอกาสให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่เสียก่อน และดูว่าประชาชนทั่วไปจะมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะนักการเมืองมิใช่กลุ่มเดียวที่จะทำหน้าที่ผู้รักษาระบบประชาธิปไตยของไทย
 
เกษียรเลคเชอร์อ้างบทความซากาเรีย ช้าไป 20 ปี แนะมองรอบด้าน ไม่ตกวังวนรัฐประหาร
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ' Kasian Tejapira' ในลักษณะสาธารณะ วิจารณ์ข้อเสนอของรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว โดยตั้งหัวข้อว่า "เชยไป 20 ปีเท่านั้นเองครับท่านรองโฆษกฯ" โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
บทความของ Fareed Zakaria ที่รองโฆษกฯพลตรีวีรชนเอ่ยอ้างถึงนั้น เก่านานแล้วร่วม 20 ปีจริง ๆ ออกมาช่วงหลังสงครามเย็นที่กระแส democratization พัดแรง และมีรัฐบาลชนะเลือกตั้งเสียงข้างมาก ขึ้นมาใช้อำนาจรัฐแบบอำนาจนิยม ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเยอะ ด้วยข้ออ้างว่ามาจากการเลือกตั้งประชาธิปไตย เช่น ฟูจิโมริของเปรู, เยลต์ซินของรัสเซีย, ชาเวซของเวเนซูเอล่า, และรวมทั้งรัฐบาลทักษิณของไทยเราด้วย
 
คุณสฤณี (อาชวานันทกุล) มือแปลอิสระคนขยันที่มีผลงานแปลทางสังคมการเมืองมากมาย เคยแปลบทความนี้เป็นไทยลงเว็บไซต์ม.เที่ยงคืน และผมใช้บทความนี้ของซากาเรียมาเป็นบทอ่านในการสอนรัฐศาสตร์ระดับปริญญาโท-เอก เพื่อสอนให้เห็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่อาจมีแนวโน้มอำนาจนิยมได้ หากไม่ประกบประกอบถ่วงทานไว้ด้วยแนวคิดและหลักการเสรีนิยม ติดต่อกันมานานเป็นสิบกว่าปีแล้ว
 
แต่เวลาผมสอนนั้น ก็จะต้องให้อ่านงานด้านกลับด้วยเสมอ เพราะนอกจากแนวโน้มประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal democracy) แล้ว ในด้านกลับก็มีแนวโน้มประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน (democracy without a demos) หรืออัตตาธิปไตย/ประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเสรีนิยมด้วยเช่นกัน (liberal autocracy/semi-democracy) กล่าวคือเน้นการจำกัดอำนาจรัฐเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง ด้วยสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมาก (non-majoritarian institutions) เช่น สถาบันตุลาการ เอ็นจีโอ ฯลฯ จนบั่นทอนบ่อนเบียนหลักความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองด้วยเสียงข้างมากของระบอบประชาธิปไตยลงไปจนเสื่อมทรามหมด และเสียด้านประชาธิปไตยไป
 
ถ้าจุดบอดของประชาธิปไตยด้านเดียวคือคิดง่าย ๆ ว่า elections = democracy จุดอ่อนจุดบอดของเสรีนิยมด้านเดียวแบบซากาเรีย คือคิดง่าย ๆ พอกันว่า judges + NGOs = democracy ซึ่งผิดทั้งคู่ แต่ขอให้สังเกตว่าระเบียบอำนาจแบบคปค. ก็ดี แบบ คสช. ก็ดี ในที่สุดแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญบวรศักดิ์ หรือมีชัยก็ตาม ก็จะรวมศูนย์อำนาจไปไว้กับเหล่าสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก (สถาบันอำมาตย์) เหล่านี้แหละ คือตุลาการ เอ็นจีโอ (นั่งเต็มสภาแต่งตั้งทั้งหลาย) และในกรณีรธน.มีชัยก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญไงครับ
 
ดังนั้นพูดให้เบาที่สุด การที่รองโฆษกฯวีรชนอ้างบทความซากาเรีย ก็ทันสมัย (ช้าไป) 20 ปี และอ้างด้านเดียว มองปัญหาด้านเดียว ไม่อ่านไม่มองปัญหาด้านกลับ ภาพรวมคือต้องมีการสมดุลถ่วงทานทั้งหลักประชาธิปไตยและเสรีนิยม มิฉะนั้นเราก็จะตกอยู่ในวงวน (loop) รัฐประหาร --> ประเคนอำนาจให้สถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมาก --> ความชอบธรรมเสื่อม --> ไม่เป็นที่ยอมรับของเสียงข้างมาก --> ขัดแย้งเป็นวิกฤต และรัฐประหาร --> ซ้ำซากวนเวียนกันไปอยู่อย่างนี้
จะให้ดี ขอแนะนำให้รองโฆษกฯวีรชนอ่านงานด้านกลับของซากาเรียด้วย เช่น งานของ Peter Mair เรื่อง Ruling the Void ซึ่งชี้ภัยของความเสื่อมถอยแบบละทิ้งประชาธิปไตย ไปเน้นแต่เสรีนิยมด้านเดียว (undemocratic liberalism) จึงจะมองปัญหารอบด้านและได้ดุล หรือถ้าลำบาก จะอ่านงานวิชาการชิ้นต่าง ๆ เรื่องนี้ของผมในภาษาไทยก็ได้ เพราะผมเขียนเรื่องปมปัญหาระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยในบริบทไทยไว้ในบทความวิชาการและคอลัมน์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2550 (9 ปีเข้านี่แล้ว)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net