เมื่อสตรีนิยมกลายเป็นสาวรับใช้ของทุนนิยม และวิธีกอบกู้สถานการณ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในฐานะที่เป็นทั้งนักสตรีนิยมที่สนใจปัญหาของผู้หญิง และยังเป็นนักทฤษฎีวิพากษ์ที่สนใจปัญหาเศรษฐศาสตร์การเมืองรวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม Nancy Fraser ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์ของสตรีนิยมในปัจจุบันจากสายตาของเธอ โดยนำเอาความสนใจทั้งสองด้านมาประกอบกัน

การเป็นนักสตรีนิยมทำให้เธอเชื่อมาตลอดว่าภารกิจหลักในการปลดปล่อยผู้หญิงจะช่วยทำให้พวกเธอสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ นั่นคือโลกที่เสมอภาค มีความยุติธรรมและมีเสรี แต่เมื่อไม่นานมานีอุดมคติของการปลดปล่อยผู้หญิงที่ริเริ่มโดยบรรดานักสตรีนิยม กลับให้ผลลัพธ์และหันไปรับใช้เป้าหมายที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการวิพากษ์การกีดกันทางเพศ (sexism) ของนักสตรีนิยม กำลังกลายเป็นเหตุผลสนับสนุนความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ขูดรีดรูปแบบใหม่ที่เกิดจากระบบทุนนิยมโดยไม่รู้ตัว  ปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นการบิดผันอันโหดร้ายของโชคชะตา เมื่อการปลดปล่อยผู้หญิงตามแนวทางของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง[3] กำลังกลายเป็นหุ้นส่วนที่อันตรายของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ที่พยายามจะสร้างสังคมตลาดเสรีขึ้นมา

แต่เดิมนั้นความคิดแบบสตรีนิยมเคยเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสร้างโลกทัศน์ในเชิงวิพากษ์ แต่ในปัจจุบันมันกลับค่อย ๆ กลายเป็นคำอธิบายที่มีลักษณะในเชิงปัจเจกบุคคลมากขึ้นเรื่อย ๆ ครั้งหนึ่งที่สตรีนิยมเคยวิพากษ์วิจารณ์สังคมซึ่งส่งเสริมแนวคิดความก้าวหน้าทางอาชีพ ตอนนี้มันกำลังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าไปต่อสู้ "เผชิญความท้าทาย" ในระบบตลาดเสรี การเคลื่อนไหวซึ่งครั้งหนึ่งเคยให้ความสำคัญกับภราดรภาพทางสังคม ตอนนี้กลับสนับสนุนการมีผู้ประกอบการหญิงที่เข้าไปแข่งขันในระบบทุนนิยม ทัศนคติที่ครั้งหนึ่งเคยให้คุณค่ากับ "การเอาใจใส่" (care) และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ตอนนี้มันกลับหันมาส่งเสริมความก้าวหน้าและความสำเร็จในอาชีพโดยความสามารถส่วนตัวของปัจเจกแบบแยกขาดจากผู้อื่น

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คือการเปลี่ยนแปลงในคุณลักษณะพื้นฐานของระบบทุนนิยม จากเดิมที่เคยเป็นระบบทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ (state-managed capitalism) ในช่วงเวลาหลังสงคราม กลายเป็นระบบทุนนิยมรูปแบบใหม่ที่ "ยุ่งเหยิง" ที่มีลักษณะครอบคลุมทั่วทั้งโลกและเป็นเสรีนิยมใหม่ สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองถือกำเนิดขึ้นจากการวิพากษ์สิ่งแรก (ทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ) และกำลังกลายเป็นสาวรับใช้ของสิ่งหลัง (ทุนนิยมแบบเสรีนิยมโลกาภิวัตน์)

เมื่อมองย้อนกลับไป เราจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยผู้หญิงได้ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในอนาคตที่แตกต่างกันสองสถานการณ์ไปพร้อมๆกัน สถานการณ์แรก การปลดปล่อยผู้หญิงได้นำเสนอโลกซึ่งการปลดปล่อยในเชิงเพศสภาพเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) และภราดรภาพทางสังคม ขณะที่สถานการณ์ที่สอง การปลดปล่อยผู้หญิงได้ให้คำมั่นสัญญาต่อเสรีนิยมรูปแบบใหม่ว่าจะอนุญาตและส่งเสริมให้ผู้หญิงมีอำนาจในการจัดการชีวิตของตนเอง ให้พวกเธอได้มีทางเลือกในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น และมีความก้าวหน้าด้วยความสามารถของตนเองเช่นเดียวกับผู้ชาย ในแง่นี้สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองจึงมีความสับสนและขัดแย้งในตัวเองอยู่

ความสับสนของสตรีนิยมดังกล่าวคลี่คลายลงด้วยการหันไปสนับสนุนและเลือกข้างกรณีที่สอง คือการส่งเสริมปัจเจกบุคคลแบบเสรีนิยมใหม่ แต่ที่ลงเอยเช่นนั้นไม่ใช่เป็นเพราะสตรีนิยมตกเป็นเหยื่อของสิ่งเย้ายวนล่อลวงใจของลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยดุษณี ในทางตรงกันข้าม สตรีนิยมเองกลับมีส่วนในการส่งเสริมแนวความคิดหลักที่สำคัญ 3 ประการให้กับพัฒนาการดังกล่าว

ความช่วยเหลือประการที่หนึ่งของสตรีนิยมต่อระบบทุนนิยมแบบใหม่ คือการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อ “ระดับค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงครอบครัว” (family wage) อันเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าผู้ชายคือผู้หาเลี้ยงครอบครัวและผู้หญิงคือผู้ดูแลครัวเรือน ความคิดดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญของระบบทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ

การวิพากษ์ของสตรีนิยมต่ออุดมคติทางความคิดดังกล่าวกำลังสร้างความชอบธรรมให้กับ "ระบบทุนนิยมที่ยืดหยุ่น" (flexible capitalism) ซึ่งพึ่งพิงแรงงานลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานค่าแรงต่ำในภาคบริการและภาคการผลิต ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงวัยรุ่นที่เป็นโสดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้หญิงที่แต่งงานและผู้หญิงที่มีลูกแล้ว ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง แต่รวมถึงผู้หญิงทุกสัญชาติและชาติพันธุ์ เมื่อผู้หญิงทั่วโลกถูกผลักดันเข้าสู่ตลาดแรงงาน อุดมคติของระบบทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐแต่เดิมจึงถูกแทนที่ด้วยบรรทัดฐานที่ใหม่กว่าและมีความเป็นสมัยใหม่กว่าซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างชัดแจ้งจากสตรีนิยม นั่นคือบรรทัดฐานของครอบครัวที่มีรายได้มาจากทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ถึงแม้สภาพความเป็นจริงที่เป็นรากฐานของอุดมคติแบบใหม่คือการกดค่าจ้างแรงงาน ลดความมั่นคงในการทำงาน มาตรฐานคุณภาพชีวิตที่เสื่อมถอย การเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณของอัตราชั่วโมงการทำงานแลกค่าจ้างต่อครัวเรือน และการเพิ่มขึ้นของความยากจน โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่เสรีนิยมใหม่กลับพยายามกลบเกลื่อนสิ่งที่เลวร้ายทั้งปวงเหล่านี้ โดยการประดิษฐ์สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับการเสริมสร้างอำนาจให้ผู้หญิง ซ้ำร้าย การที่ทุนนิยมสวมรอยอ้างการวิพากษ์วิจารณ์ของสตรีนิยมที่มีต่อระดับค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงครอบครัวเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการขูดรีดเอาเปรียบในตลาดแรงงาน ยังเป็นการควบคุมความใฝ่ฝันที่จะปลดปล่อยผู้หญิงเพื่อใช้สนับสนุนการสะสมทุนของระบบทุนนิยมเอง

สตรีนิยมยังให้ความช่วยเหลือประการที่สองแก่จิตวิญญาณของเสรีนิยมใหม่ ครั้งหนึ่งในยุคของทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ สตรีนิยมเคยวิพากษ์วิจารณ์วิสัยทัศน์ทางการเมืองที่คับแคบซึ่งพุ่งเป้าไปที่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น จนมองไม่เห็นประเด็นเรื่องความอยุติธรรม "ที่ไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐกิจ" อย่างเช่นความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ และการบีบบังคับให้ตั้งครรภ์  การปฏิเสธแนวคิด “เศรษฐกิจนิยม” (economism) และพยายามทำให้ “เรื่องส่วนตัว” (the personal) กลายเป็นเรื่องทางการเมือง ทำให้สตรีนิยมในเวลานั้นขยายขอบเขตของวาระทางการเมืองเพื่อท้าทายสถานะของความเหลื่อมล้ำที่วางอยู่บนฐานของความแตกต่างในเชิงเพศสภาพอันเป็นผลมาจากการประกอบสร้างทางวัฒนธรรม

ผลลัพธ์ที่คาดหวังควรเป็นการขยายตัวของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ แต่ผลลัพธ์จริงๆ กลับกลายเป็นการให้ความสำคัญแต่เฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ “อัตลักษณ์ทางเพศ” (gender identity) และละเลยประเด็นเรื่องปากท้องไป ที่แย่ไปกว่านั้น การที่สตรีนิยมได้หันไปหาการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ยังสอดรับอย่างประจวบเหมาะกับการเติบโตขึ้นของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการปิดกั้นทุกความทรงจำที่มีต่อความเท่าเทียมทางสังคม ผลกระทบต่อเรื่องนี้คือการที่สตรีนิยมให้ความสำคัญกับการวิพากษ์การกีดกันทางเพศในเชิงวัฒนธรรมอย่างมากในเวลาที่สภาพแวดล้อมทางสังคมกำลังต้องการความสนใจเป็นทวีคูณต่อการวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง

สุดท้าย สตรีนิยมได้ให้ความช่วยเหลือทางความคิดประการที่สามต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่ นั่นคือการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อรัฐสวัสดิการแบบนิยมชาย (welfare-state paternalism) ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างปฏิเสธไม่ได้ในช่วงเวลาของทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ การวิพากษ์ดังกล่าวได้ผสานเข้ากับการทำสงครามของลัทธิเสรีนิยมใหม่ต่อ “รัฐพี่เลี้ยงเด็ก” (the nanny state) รวมทั้งยังบรรจบกับการถากถางของเหล่า NGOs เมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย

ตัวอย่างสำคัญคือการปล่อยสินเชื่อในระดับรากหญ้า (microcredit) ซึ่งเป็นโครงการของธนาคารขนาดเล็กที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้หญิงในซีกโลกทางใต้ โครงการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิง ทั้งยังได้รับยกย่องว่าเป็นยาถอนพิษความยากจนและการถูกครอบงำของผู้หญิง อย่างไรก็ตามการปล่อยสินเชื่อในระดับรากหญ้ากลับส่งผลให้รัฐเมินเฉยต่อการต่อสู้กับความยากจนในโครงสร้างระดับมหภาค ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เสรีนิยมใหม่ฉวยใช้ความพยายามของสตรีนิยมเพื่อเป็นข้ออ้างในการให้ความชอบธรรมกับการขยายตัวของตลาดและการลดรายจ่ายทางสังคมของภาครัฐ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยืนยันว่าความสับสนและขัดแย้งภายในของสตรีนิยมคลี่คลายไปในหนทางที่สนับสนุนลัทธิปัจเจกนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ แต่ทว่าสถานการณ์ของภราดรภาพทางสังคมในอีกด้านหนึ่งยังอาจไม่ได้ตายจากไปไหนอย่างสิ้นเชิง วิกฤติในรอบปัจจุบันได้สร้างโอกาสในการเชื่อมต่อความฝันที่จะปลดปล่อยผู้หญิงเข้ากับวิสัยทัศน์ของสังคมที่มีภราดรภาพได้อีกครั้ง เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สตรีนิยมจำเป็นต้องทำลายความสัมพันธ์ที่อันตรายกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ และกอบกู้ “ความช่วยเหลือ” 3 ประการเพื่อเป้าหมายของสตรีนิยมเอง

ประการแรก สตรีนิยมอาจทำลายการเชื่อมโยงจอมปลอมระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อระดับค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงครอบครัวกับระบบทุนนิยมแบบยืดหยุ่น ด้วยการต่อสู้เพื่อสร้างรูปแบบของชีวิตที่ไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่งานที่มีค่าจ้าง และหันมาให้คุณค่ากับกิจกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทนมากขึ้น เช่น งานสังคมสงเคราะห์ (care work)

ประการที่สอง สตรีนิยมอาจหยุดยั้งเส้นทางของตนเองที่ผันตัวจากการวิพากษ์ลัทธิเศรษฐกิจนิยมไปสู่การเมืองเชิงอัตลักษณ์ ด้วยการบูรณาการการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระเบียบของสถานภาพทางสังคมที่วางอยู่บนคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมแบบผู้ชาย เข้ากับการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

ประการสุดท้าย สตรีนิยมอาจตัดสายสัมพันธ์ที่จอมปลอมระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์ของตนเองที่มีต่อระบบราชการและแนวคิดที่เชื่อมั่นในตลาดเสรีอย่างสุดขั้ว (free-market fundamentalism) ด้วยการทวงคืนบทบาทของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในฐานะเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจสาธารณะอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการจำกัดอำนาจทุนเพื่อสร้างความยุติธรรม

 



[3] สตีนิยมคลื่นลูกที่สอง (The second-wave feminism) นั้นสามารถระบุได้ว่าปรากฏตัวขึ้นเป็นกระแสในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 พร้อมกับการตีพิมพ์หนังสือสำคัญของ Simone de Beauvoir ที่ชื่อ The Second Sex ขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองนั้นมีลักษณะสำคัญคือเป็นกระแสที่พยายามจะก้าวไปให้ไกลกว่าการต่อสู้และข้อเรียกร้องของสตรีนิยมคลื่นลูกที่หนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับสถานะความไม่เท่าเทียมทางการเมืองและกฎหมายของผู้หญิง โดยสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองเสนอว่าแม้การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางการเมืองและกฎหมายจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการยุติการกดขี่ที่มีต่อผู้หญิงให้หมดไป ในมุมมองของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองการกดขี่ทางเพศไม่ได้มีรากอยู่แค่ในระบบกฎหมายและการจัดการทางการเมืองเท่านั้น แต่การกดขี่ทางเพศมีสาเหตุมาจากทุกแง่มุมที่ฝังลึกและแพร่กระจายอยู่ในแทบทุกมิติของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ ซึ่งหมายรวมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตลอดจนบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่ถูกตั้งคำถาม กิจวัตรและปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองยังได้วิพากษ์วิจารณ์สตรีนิยมคลื่นลูกที่หนึ่งเอาไว้ว่านำเสนอข้อเรียกร้องที่ไม่ไกลพอในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองเสนอว่า สตรีนิยมจำเป็นต้องเรียกร้องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มขั้นสำหรับผู้หญิงมากกว่าการเรียกร้องเพียงแค่การมีชีวิตรอดในทางเศรษฐกิจเท่านั้น

อีกประการที่สำคัญ สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองวิพากษ์วิจารณ์และท้าทายการแบ่งแยกพื้นที่สาธารณะ/ส่วนตัว (public/private) ออกเป็นคู่ขั้วตรงข้าม ซึ่งสตรีนิยมคลื่นลูกที่หนึ่งให้ความสำคัญแต่การเมืองในพื้นที่สาธารณะโดยเรียกร้องการเพิ่มบทบาทและอำนาจให้แก่ผู้หญิงมากขึ้น แต่สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองเสนอให้ลองหันไปตรวจสอบและสำรวจพื้นที่ส่วนตัวของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ เช่น สถาบันการแต่งงาน ความเป็นแม่ ความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ เพศวิถีของผู้หญิง และพื้นที่อื่นๆ ว่าพื้นที่เหล่านี้ต่างก็มีความเป็นการเมืองแฝงอยู่เช่นกัน (The personal is the political) ดังนั้นแทนที่จะเคลื่อนไหวและผลักดันแค่การปฏิรูปกฎหมายหรือโครงสร้างทางการเมืองที่ดำรงอยู่ สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองกลับมีเป้าหมายที่การเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุมของชีวิตทางการเมืองและชีวิตส่วนตัวของมนุษย์อย่างถอนรากถอนโคน ไม่ใช่แค่ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น (โปรดดู Cudd, Ann E., and Robin O. Andreasen. 2005. Feminist theory: a philosophical anthology. Oxford, UK: Blackwell Pub. p.7-9)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท