Skip to main content
sharethis

จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วยเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ได้ร่วมกันเปิดรายงานสถานการณ์การทรมานและจัดโครงการการสร้างการตระหนักรู้การป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่รายงานดังกล่าวมีจำนวนรวม 120 หน้า ที่รวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้เสียหายจากการทรมานทั้งสิ้นจำนวน 54 รายและบทวิเคราะห์เรื่องการป้องกันการทรมาน  

โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า ในปี 2557-2558 คณะทำงานฯได้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ได้ทั้งสิ้น 54 กรณี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2558 จำนวน 15 กรณี ปี 2557 จำนวน 17 กรณี อีก 22 กรณีเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2547-2556  ผู้เสียหายทั้งหมดเป็นคนมุสลิมสัญชาติไทยเชื้อสายมลายู (อ่านรายละเอียด)
 
พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธซ้อมทรมานในภาคใต้
 
วันเดียวกัน VOICE TV รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ที่อ้างว่ากองทัพไทยซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 50 รายระหว่างปี 2557-2558 โดยยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ และไม่มีเหตุการณ์ซ้อมทรมานอย่างแน่นนอน
     
ขณะที่ พ.เอ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยบอกว่า การสูญเสียเสรีภาพอาจเป็นเรื่องทรมานสำหรับผู้ถูกคุมตัว แต่ฝ่ายความมั่นคงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้ถูกคุมตัวได้รับอนุญาตให้พบครอบครัว การจับกุมกระทำต่อหน้าพยาน
 
กอ.รมน. ยันสถานการณ์มีแนวโน้มคลี่คลาย 
 
วันต่อมา 11 ก.พ.59  MGR Online รายงานคำชี้แจงของ พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ถึงกรณีรายงานดังกล่าวด้วย โดย พล.ต.บรรพต กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ อันเป็นผลทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันมีแนวโน้มคลี่คลาย ไปสู่การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันตามแนวทางสันติวิธี โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน สังเกตได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มบรรเทาเบาบางลงไปอย่างเห็นได้ชัด จนอาจกล่าวได้ว่า สภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ทุกภาคส่วนได้ตระหนักรู้ถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเครือข่ายภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ตื่นตัวจัดการระดมความคิดเห็นเตรียมการรองรับในหลากหลายรูปแบบ
       
“แต่ขณะเดียวกัน องค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กร ยังคงใช้ลักษณะการขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิธีการแบบเดิมๆ โดยไม่มีท่าทีในการปรับบทบาทตามเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ แม้แต่การกำหนดชื่อองค์กรหรือวัตถุประสงค์ที่ยังขัดแย้งกันในตัวเอง ในรายงานข้างต้นนี้อาจเข้าใจได้ว่า องค์กรฯ เขียนโครงการไปขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศ แต่เมื่อเหตุรุนแรงลดลง จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเก่านำมารายงานใหม่ให้สมกับเงินทุนที่ได้รับมา และที่น่ากังวลคือ รายงานฉบับดังกล่าวเมื่อถูกเผยแพร่ออกไปต่างประเทศอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงได้ สอดคล้องกับข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผอ.รมน. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 59 ถึงรายงานข้อมูลเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่องค์กรระหว่างประเทศได้รับ ไม่ตรงตามสถานการณ์ที่เป็นจริง และขอให้ช่วยกันชี้แจงแก้ไข โดยเฉพาะการจัดอันดับประเทศที่มีภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ด้วยการนำสถิติเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเหมารวมเป็นความเสี่ยงของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในภาพรวมของประเทศ” พล.ต.บรรพต กล่าว
       
พล.ต.บรรพต กล่าวอีกว่า การปฏิบัติงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงได้จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจ รวมทั้งความพยายามทั้งปวงในการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนเสมอมา ทั้งนี้ ได้อาศัยความร่วมมือของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เครือญาติ และหน่วยงานภายนอกต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับ มาร่วมกันเป็นสักขีพยานในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมาย หรือในภายหลังหากมีข้อสงสัยประการใดหน่วยงานในพื้นที่ก็พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน ในโอกาสนี้ กอ.รมน. มีข้อสังเกต 4 ประการ ประการแรกคือ บรรดาองค์กรที่จัดทำรายงานฉบับนี้มีสถานะเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ และถ้าหากมีอำนาจหน้าที่แล้ว องค์กรมีสถานะตามข้อกฎหมายภายในประเทศฉบับใด ประการที่สองคือ การจัดทำรายงานห้วงระหว่างปี 2557-2558 ปรากฏมีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือไม่ ประการที่สามคือ ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยเป็นเรื่องเก่าจากคำบอกเล่าเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงใช่หรือไม่ ประการที่สี่คือ เหตุใดจึงอ้างข้อกฎหมายระหว่างประเทศโดยละเลยต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยกลไกตามกฎหมายพื้นฐานภายในประเทศ จึงอาจสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทต่อหน่วยงานของรัฐได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net